“กกร.” เผยทิศทางค่าเงินบาทแข็งค่าเร็วไปหน่อย! เตรียมร่วมมือ ธปท.หนุนเอสเอ็มอีไทยเร่งทำประกันความเสี่ยงเพื่อลดผลกระทบ ด้าน “ส.อ.ท.” จ่อหารือ ธปท.หนุนใช้มาตรการทางภาษีสกัดเงินไหลเข้า-ออกระยะสั้น
นายกลินทร์ สารสิน ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยในฐานะทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ประกอบด้วย สภาหอฯ สมาคมธนาคารไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวต่อเนื่องและคาดว่าเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังจะฟื้นตัวกว่าครึ่งปีแรก แต่ กกร.ยังคงกังวลประเด็นทางการเมืองทั้งในสหรัฐอเมริกาและยุโรปว่าจะมีทิศทางอย่างไร จึงได้ตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบให้ชัดเจน รวมไปถึงการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) 13-14 มิ.ย.นี้ที่มีแนวโน้มจะปรับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อทิศทางค่าเงินบาทของไทย
“คงจะต้องดูเฟดว่าจะปรับขึ้นหรือลงแล้วจะกระทบอย่างไร ซึ่งทิศทางน่าจะปรับขึ้นมากกว่า แต่ประเด็นการเมืองโลกเองก็มีผลต่อทิศทางของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเช่นกันคงจะต้องติดตามใกล้ชิด ซึ่งเราเองก็ต้องรอให้มีการเลือกตั้งโดยเฉพาะอังกฤษวันที่ 8 มิ.ย. และเยอรมนีในเดือน ก.ย.เสร็จก่อนคณะทำงานจึงจะสรุปว่าจะมีผลดีผลเสียอย่างไรที่ชัดเจนต่อกรณีนี้” นายกลินทร์กล่าว
อย่างไรก็ตาม ภาวะเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นค่อนข้างเร็วในช่วงปลายเดือน พ.ค.จนถึงขณะนี้มีผลกระทบต่อการแข่งขันด้านการส่งออกของไทยแต่คู่แข่งเองก็แข็งค่าเช่นกัน ดังนั้น กกร.จึงคิดว่าควรที่จะมีมาตรการสนับสนุนดูแลผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) จึงเตรียมร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทยให้ผู้ประกอบการรายย่อยมีเครื่องมือในการทำประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (เฮดจิ้ง) เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น เพราะปัจจุบันมีรายย่อยทำประกันความเสี่ยงเพียง 10-20% เท่านั้น
ทั้งนี้ กกร.ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งปีหลังปี 2560 น่าจะขยายตัวได้ดีกว่าครึ่งปีแรกจากปัจจัยหนุนด้านฤดูกาล ทั้งการเร่งเบิกจ่ายงบ คำสั่งซื้อจากต่างประเทศ ตลอดจนนโยบายพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (EEC) ที่น่าจะมีความชัดเจนมากขึ้น ดังนั้นจึงยังคงกรอบประมาณการอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยในปีนี้ไว้ที่ 3.5-4% และคาดว่าส่งออกจะโต 2-3.5%
นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ส.อ.ท.อาจจะหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อที่จะกำหนดให้มีมาตรการป้องกันเงินทุนไหลเข้า-ออกระยะสั้นในการป้องกันไม่ให้ค่าเงินบาทผันผวนหรือแข็งค่าเร็วเกินไปโดยเฉพาะมาตรการทางด้านภาษี ทั้งนี้ เนื่องจากไทยเองเป็นประเทศที่ไม่ได้มีระบบเศรษฐกิจที่ใหญ่พอจำเป็นจะต้องดูแลเพื่อลดผลกระทบต่อภาคการส่งออก
“ผมมองว่าบาทแข็งค่าเร็วไปนิดหนึ่ง ที่ผ่านมา ธปท.ก็พยายามออกมาตรการดูแลก็เป็นสิ่งที่ดี แต่ ธปท.คงจะต้องมีมาตรการด้านภาษีในการสกัดเงินที่จะเข้าออกระยะสั้น อย่างไรก็ตาม เฟดเองน่าจะขึ้นดอกเบี้ยซึ่งจะมีผลให้ดอลลาร์แข็งค่าและบาทน่าจะอ่อนค่าลงบ้าง แต่ก็ยังไม่ใช่เสมอไปเพราะคงต้องดูนโยบายของผู้นำสหรัฐฯ เพราะไม่มีอะไรแน่นอนก็จะมีผลต่อทิศทางเงินดอลลาร์เช่นกัน” นายเจนกล่าว