xs
xsm
sm
md
lg

บาทแข็งหลุด34 จี้เอกชนคุมความเสี่ยง ธปท.ยันเกาะติด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน360-แบงก์ชาติชี้บาทแข็งค่าเกิดจากปัจจัยต่างประเทศ โดยเฉพาะการเมืองสหรัฐฯ แนะเอกชนบริหารความเสี่ยง ยันแบงก์ชาติยังจับตาใกล้ชิด หากพบความผิดปกติพร้อมออกมาตรการป้องกันทันที ปฏิเสธการผ่อนคลายหลักเกณฑ์การแลกเปลี่ยนเงิน ไม่ใช่มาตรการป้องกันค่าเงินบาท แค่ช่วยอำนวยความสะดวกให้ภาคธุรกิจ ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้การปรับเกณฑ์ของธปท. ช่วยเสริมศักยภาพการแข่งขันให้ภาคธุรกิจไทย ขณะที่เงินบาทแข็งค่าหลุด 34 บาทต่อดอลลาร์

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงกรณีที่เงินบาทปรับแข็งค่าหลุดระดับ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงบ่ายวานนี้ (5 มิ.ย.) ว่า เงินบาทในบางช่วงอาจจะมีการแข็งค่าขึ้นบ้าง ซึ่งประเด็นสำคัญมาจากเงินดอลลาร์สหรัฐที่ได้รับผลกระทบมาจากสถานการณ์ต่างๆ ในสหรัฐฯ รวมทั้งสถานการณ์ด้านการเมืองของสหรัฐฯ เอง ดังนั้น ขอให้ผู้ประกอบการให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เพราะปัจจัยที่มีผลต่อค่าเงินนั้นส่วนใหญ่จะเป็นปัจจัยที่มาจากต่างประเทศ

ส่วนการปฏิรูปกฎเกณฑ์ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน (Foreign Exchange Regulation Reform) ที่ ธปท. ประกาศใช้ในครั้งนี้ ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อจะนำมาใช้ควบคุมเงินทุนไหลเข้าที่จะมีผลกดดันต่ออัตราแลกเปลี่ยนตามที่ตลาดได้คาดการณ์กันไปเอง ซึ่งในวัตถุประสงค์ที่แท้จริง สิ่งที่ ธปท.ประกาศเป็นการนำมาใช้เพื่อเพิ่มความสะดวกในการประกอบธุรกิจของภาคเอกชน ด้วยการปรับปรุงให้มีการผ่อนคลายกฎเกณฑ์บางอย่างให้สอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจและการเงินที่เปลี่ยนแปลงไป

"ธปท. ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันหรือป้องปรามไม่ให้เกิดความผิดปกติของการเก็งกำไรการไหลเข้าออกของเงินที่ผิดปกติ อย่างการปฎิรูปดังกล่าวถือว่าเป็นการช่วยสนับสนุนให้ภาคเอกชนมีการบริหารความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น" นายวิรไทกล่าว

น.ส.วชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงิน ธปท.กล่าวว่า แนวทางการผ่อนคลายกฎเกณฑ์การแลกเปลี่ยนเงินที่คณะทำงานได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนธ.ค.ปีที่ผ่านมา มาตรการที่มีผลบังคับใช้ทันทีตั้งแต่วันนี้ ได้แก่ 1.ลดขั้นตอนและเอกสาร เพื่ออำนวยความสะดวก รวดเร็ว รวมทั้งสนับสนุนการใช้อิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น 2.ให้ธุรกิจรายย่อยสามารถโอนเงินชำระค่าสินค้าในต่างประเทศผ่านตัวแทนที่เป็นร้านค้าที่ให้บริการรับแลกเปลี่ยนเงินหรือโอนเงินตราต่างประเทศ (Money transfer Agent) ที่ได้รับอนุญาตได้ จากเดิมที่ให้ทำได้กับเฉพาะธนาคารพาณิชย์เท่านั้น แต่ให้ทำได้ไม่เกินวงเงิน 8 แสนบาทต่อวัน ส่วนหนึ่งเพราะต้องการส่งเสริมการค้าและการลงทุนชายแดน และ 3.ให้ธนาคารพาณิชย์สามารถปล่อยกู้เงินบาทให้แก่ผู้ประกอบการในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านในลุ่มแม่น้ำโขงที่มีธุรกิจในไทยได้โดยตรง

ส่วนการผ่อนคลายกฎเกณฑ์อื่น เช่น การให้ยกเลิกธุรกรรมการซื้อป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน (Unwind Hedging) ได้เสรีสำหรับธุรกรรมที่มีการค้าและการลงทุนรองรับ หรือการผ่อนผันให้นักลงทุนรายย่อยที่มีสินทรัพย์ 50 ล้านบาท ออกไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศได้โดยตรงไม่ผ่านตัวกลางทางการเงิน แต่ให้วงเงินไม่เกิน 1 ล้านเหรียญสหรัฐต่อรายต่อปี จากเดิมที่อนุญาตให้นักลงทุนที่มีสินทรัพย์ 100 ล้านบาทขึ้นไปออกไปลงทุนได้ 5 ล้านเหรียญสหรัฐต่อรายต่อปีเท่านั้น ซึ่งธปท.จะทยอยออกประกาศเพื่อให้บังคับใช้ได้ภายในปีนี้

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การผ่อนคลายเกณฑ์ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินของธปท. ประเด็นสำคัญอยู่ที่การเสริมบทบาทของผู้เล่นหน้าใหม่ ทั้ง Money Transfer Agent และ Money Changer เข้ามาทำการแข่งขันให้บริการทางการเงิน เพื่อชำระค่าสินค้าและบริการ การโอนเงินระหว่างประเทศ กับประชาชนรายย่อยและผู้ประกอบการขนาดเล็ก ซึ่งย่อมเป็นประโยชน์ต่อการขยายโอกาสธุรกรรมการค้าการลงทุนตามชายแดนและข้ามพรมแดนมากขึ้น ขณะที่การอนุญาตให้บริษัทหลักทรัพย์สามารถทำการซื้อ-ขายเงินต่างประเทศได้เอง จะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการให้บริการลูกค้าที่เป็นผู้ลงทุนไทยและลูกค้าต่างประเทศได้มากขึ้น

ขณะที่ความเคลื่อนไหวค่าเงินบาทปิดตลาด วานนี้ (5 มิ.ย.) อยู่ที่ระดับ 34.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากช่วงเช้าที่เปิดตลาดที่ระดับ 34.04 บาท โดยระหว่างวันเงินบาทแข็งค่าสุดที่ระดับ 33.95 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หลังจากที่ตลาดรอฟังการแถลงมาตรการปฏิรูปกฎเกณฑ์การควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินแล้ว ไม่พบมีมาตรการใดที่จะเข้ามาควบคุมในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยน หรือควบคุมเรื่องเงินทุนไหลเข้าแต่อย่างใด จึงทำให้เงินบาทแข็งค่าหลุด 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่สามารถปรับอ่อนค่ามาอยู่ที่ระดับ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐได้
กำลังโหลดความคิดเห็น