xs
xsm
sm
md
lg

เงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง มีโอกาสหลุด 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ธนาคารกรุงศรีฯ มองเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง มีโอกาสหลุด 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ พร้อมมอง กนง. คงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.5% ตลอดปี

นายตรรก บุนนาค ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่า เคลื่อนไหวสอดคล้องกับเงินสกุลภูมิภาค แต่คาดว่าระยะสั้นไม่หลุดแนวรับ 33.90 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้ามาดูแล เพื่อไม่ให้แข็งค่าจนเกินไป และมีผลกระทบต่อผู้ส่งออก โดยยังเชื่อว่า หากเงินบาทเคลื่อนไหวระดับ 34 บาท ผู้ส่งออกยังสามารถปรับตัวได้ เพราะมีการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนไว้แล้ว

ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปี 2560 เงินบาทแข็งค่าขึ้นร้อยละ 5.1 อยู่ในระดับกลางๆ หากเทียบกับเงินสกุลเพื่อนบ้าน โดยเงินวอนเกาหลีใต้ แข็งค่าสุดร้อยละ 7.9 รองลงมา คือ เงินไต้หวันดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าร้อยละ 7.2 และแนวโน้มค่าเงินบาทเฉลี่ยช่วงสิ้นปีนี้คาดอยู่ที่ระดับ 34.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งแข็งค่าขึ้นจากการประมาณการณ์ครั้งก่อนที่ 35.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากเงินดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มอ่อนค่า หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด ปรับขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้ง ตามที่ตลาดคาดหมาย ปัจจัยสนับสนุนเงินดอลลาร์สหรัฐจะหมดลง

ดังนั้น ตลาดจะกลับมามีความกังวลเกี่ยวกับสภาวะทางการเมืองระหว่างสหรัฐฯ และประเทศมหาอำนาจอื่นๆ ยังไม่ชัดเจน และนโยบายเศรษฐกิจรัฐบาลนายโดนัลด์ ทรัมป์ สร้างผลเชิงลบต่อเงินดอลลาร์สหรัฐต่อเนื่องจนถึงครึ่งแรกปี 2561 ส่งผลให้เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้นทะลุ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และมีโอกาสแข็งค่าสุดที่ 32.75 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2561

ทั้งนี้ ต้องติดตามวันที่ 8 มิถุนายนนี้ ที่สำนักสอบสวนกลางสหรัฐฯ หรือเอฟบีไอ ที่จะสอบสวนความสัมพันธ์ระหว่างนายโดนัลด์ ทรัมป์ กับรัสเซีย ที่จะกระทบต่อตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ

ส่วนแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.จะคงดอกเบี้ยร้อยละ 1.50 จนถึงสิ้นปีนี้ เพื่อเป็นการเก็บกระสุนไว้ใช้ในยามจำเป็น แต่มีโอกาสที่ กนง.จะขยับดอกเบี้ยขึ้นปี 2561 จะส่งผลให้ดอกเบี้ยนโยบายไทยเท่ากับดอกเบี้ยสหรัฐฯ เพราะคาดว่า เฟดจะปรับดอกเบี้ยขึ้นอีก 2 ครั้ง ประมาณร้อยละ 0.50 มาอยู่ที่ร้อยละ 1.25-1.50 ท่ามกลางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเงินเฟ้อที่จะสูงขึ้น

ทั้งนี้ คาดว่ากระแสเงินทุนต่างชาติไหลเข้าไทยยังมีต่อเนื่อง เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มดีขึ้น ทั้งจากการส่งออก การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐที่จะช่วยหนุนการลงทุนภาคเอกชนให้ขยายตัวดีขึ้น การท่องเที่ยว และการบริโภคที่ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และการเกินดุลบัญชีเงินสะพัดของไทยยังสูง ซึ่งคาดว่า ธปท.จะต้องมีมาตรการดูแลกระแสเงินทุนไหลเข้าระยะสั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น