“อุตตม” ร่วมเดินทางโรดโชว์ญี่ปุ่นกับคณะ “สมคิด” รองนายกรัฐมนตรี ร่วมลงนาม (MOU) กับจังหวัดฟุกุชิมา เพื่อเชื่อมโยงเอสเอ็มอีถ่ายทอดเทคโนโลยีอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ พร้อมจับมือหน่วยงาน 3 แห่งต่อยอดงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากการเดินทางไปยังประเทศญี่ปุ่นพร้อมคณะของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ระหว่างวันที่ 4-9 มิถุนายน 2560 กระทรวงฯ ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ให้เกียรติเป็นสักขีพยาน มี 2 ฉบับเพื่อแสดงความร่วมมือในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมเป้าหมาย การพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมทั้งการส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนา SMEs ของทั้งสองประเทศด้วย
1) บันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กับจังหวัดฟุกุชิมา มีเนื้อหาสำคัญของบันทึกความเข้าใจคือ การพัฒนาและเชื่อมโยง SMEs ของไทยและญี่ปุ่น โดยมุ่งเน้นการยกระดับอุตสาหกรรมเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve ในอนาคตของไทย โดยการลงนามความร่วมมือกับจังหวัดฟุกุชิมาในครั้งนี้ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่ก่อให้เกิดเวทีแห่งความร่วมมือในหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในด้านเทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์ การส่งเสริมเชื่อมโยงธุรกิจ การพัฒนาสถานประกอบการและบุคลากรในภาคอุตสาหกรรม รวมไปถึงการส่งเสริมให้เกิดการต่อยอดงานวิจัยและพัฒนา อันจะก่อให้เกิดนวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้จริง
2) บันทึกความเข้าใจ (MOU) 3 ฝ่ายระหว่างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กลุ่มคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมส่งเสริมอุตสาหกรรมอุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์แห่งฟุกุชิมา (FMDIPA) โดยหน่วยงานทั้ง 3 แห่งจะร่วมมือกันต่อยอดงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ของ SMEs ของไทย และฟุกุชิมาให้มีมาตรฐานเพื่อการขยายตลาดทั้งในไทย อาเซียน และญี่ปุ่น โดยใช้ห้องปฏิบัติการทดสอบเครื่องมือแพทย์ที่มีมาตรฐานสากล โดยกลุ่มผู้ประกอบการกลุ่มคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รวมทั้งการชักจูงให้อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ของฟุกุชิมามาลงทุนในอีอีซีด้วย โดยจะเชิญให้ไปประเทศเร็วๆ นี้
นอกจากนี้ นายอุตตม กล่าวว่า ที่เมืองโกเบก็มีอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์เช่นกัน แต่เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มาก มีเขตเศรษฐกิจพิเศษด้านเครื่องมือแพทย์โดยเฉพาะ และสนใจที่จะมาลงทุนใน อีอีซี เราก็จะไปเชื้อเชิญเขามาลงทุนด้วย โดยเราจะไปพบนายกเทศมนตรีของเมืองโกเบ มีเลขาธิการ อีอีซี คือนายคณิศ แสงสุพรรณ มาร่วมด้วย โดยจะแนะนำลงรายละเอียดว่า อีอีซีเป็นอย่างไร จะเสนอโอกาสการลงทุนให้ทางญี่ปุ่นอย่างไรบ้าง
นายวินิจ ฤทธิ์ฉิ้ม ประธานกลุ่มคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และเจ้าของบริษัทออโธพีเซีย กล่าวว่า เครื่องมือแพทย์และสุขภาพนับเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมหนึ่งที่มีความสำคัญและมีศักยภาพทางด้านเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดรายได้และการจ้างงานเป็นจำนวนมาก โดยธุรกิจผลิตเครื่องมือแพทย์และสุขภาพมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 10% ในปี 2558 มีมูลค่าอุตสาหกรรม 149,300 ล้านบาท แบ่งเป็นยอดนำเข้า 56,745 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 38% ส่วนใหญ่นำเข้าจากสหรัฐฯ ขณะที่ยอดการส่งออกมีมูลค่า 92,603 ล้านบาท หรือสัดส่วน 62% เมื่อเทียบตัวเลขของการใช้ในประเทศ