xs
xsm
sm
md
lg

คลื่นลงทุนญี่ปุ่นระลอกใหม่มาแน่! “อุตตม” ลงนาม METI ดันไทยสู่ฮับ CLMV

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“อุตตม” เผย METI พร้อมผลักดันให้บริษัทรายใหญ่ และ SMES เข้ามาลงทุนและขยายกิจการในพื้นที่ EEC และร่วมปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมไทยเพื่อขับเคลื่อน Thailand 4. 0 พร้อมดัน EEC ขึ้นแท่นฮับศูนย์กลางการลงทุน CLMV

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือกับ Mr. Hiroshige Seko รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (METI) ที่กรุงโตเกียว เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.ว่า ญี่ปุ่นแสดงความสนใจในนโยบาย Thailand 4.0 รวมถึงการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม และการยกระดับพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ขึ้นเป็นกลไกใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ (New Engine of Growth)นอกจากนี้ METI พร้อม ผลักดันให้บริษัทญี่ปุ่นรายใหญ่ เช่น บริษัท ฮิตาชิ และบริษัทที่เป็น SMEs เข้ามาลงทุนหรือขยายการลงทุนใน EEC ร่วมกับประเทศไทย

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการเร่งด่วนภายใต้ EEC ที่จะเริ่มดําเนินการในปี 2560 ซึ่งญี่ปุ่นมีความสนใจเป็นพิเศษในการสนับสนุนและร่วมลงทุนว่ามีจํานวน 5 โครงการ คือ 1) การก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภาให้เป็นสนามบินเชิงพาณิชย์แห่งที่ 3 2) การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง (ช่วงกรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง) 3) การพัฒนาท่าเรือ 3 ท่าเรือ (แหลมฉบัง-สัตหีบ-มาบตาพุด) 4) โครงการดึงดูด อุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 S-curve และ 5) การพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco-Cities) รวมทั้งได้มีการหารือถึงแนวทางความร่วมมือในด้านการวิจัยพัฒนาและการพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับ อุตสาหกรรมยุคใหม่ที่มีการนําเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ด้วย

สําหรับการลงนามในหนังสือแสดงเจตจํานง (Memorandum of Intent) ระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมของไทย กับกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น โดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ให้เกียรติเป็นสักขีพยาน ถือเป็นครั้งแรกที่ทั้งสองฝ่ายได้มีพันธสัญญาจับมือกัน อย่างเป็นทางการ โดยมีความร่วมมือใน 2 ประเด็นหลัก คือ

1) ความร่วมมือในการพัฒนา 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) เช่น เครื่องมือแพทย์ หุ่นยนต์ อุตสาหกรรมชีวภาพ อุตสาหกรรมอากาศยาน อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต ซึ่ง METI ญี่ปุ่นพร้อมจะให้ การสนับสนุนกิจกรรมการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทยโดยเฉพาะ 10 อุตสาหกรรม S-curve ผ่านการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่จะขับเคลื่อนไทยไปสู่ Industry 4.0 ซึ่งญี่ปุ่นเรียกแนวคิดนี้ว่า Connected Industries ที่นําเอาเทคโนโลยีดิจิตอลมาประยุกต์ผสมผสานกับเทคโนโลยีอุตสาหกรรมให้เป็นรูปแบบของการทํางานอย่างชาญฉลาด นอกจากนี้ METI ยังคาดหวังว่าเมื่อมีการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมแล้ว ไทยจะเป็นข้อต่อที่สําคัญในห่วงโซ่การผลิตที่เชื่อมโยงสู่ CLMVT หรืออนุภูมิภาคลุ่มแม่นํ้าโขง ขยายไปสู่อาเซียน และห่วงโซ่การผลิตของโลกต่อไปด้วย

2) ความร่วมมือด้านแผนงาน EEC โดยทั้งสองฝ่ายจะผลักดันให้เกิดการหารือร่วมกันระหว่างกลุ่มธุรกิจญี่ปุ่นกับหน่วยงานภาครัฐของประเทศไทย เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายและการดําเนินโครงการการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ EEC โดยการเผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้กับนักลงทุนญี่ปุ่นที่มีศักยภาพ ในขณะที่ METI ญี่ปุ่นจะช่วยสนับสนุนการเผยแพร่ข้อมูลให้กับนักลงทุนญี่ปุ่นด้วย นอกจากนี้ METI ญี่ปุ่นยังเชิญให้คณะฝ่ายไทยไปเยี่ยมชม Kobe Biomedical Innovation Cluster ณ เมืองโกเบ แคว้นคันไซ เพื่อศึกษาแนวทางนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งจะนํามาประยุกต์ใช้กับการขับเคลื่อน EEC ของไทยด้วย

นายอุตตมกล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้หารือกับทางญี่ปุ่นมาระยะหนึ่งแล้ว จนนำไปสู่การลงนามบันทึกความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้ โดยมีหัวใจสำคัญคือการที่ญี่ปุ่นจะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมไทยไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งถือว่าญุี่ปุ่นเป็นผู้นำของโลก ความร่วมมือนี้จะทำให้อุตสาหกรรมของไทยเข้าถึงห่วงโซ่มูลค่าการผลิตของโลก(global value chain) ได้เร็วขึ้น ทั้งนี้ จากการพบปะกับสมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น(Keidanren) เมื่อวันก่อน ก็แสดงความสใจ บริษัทที่คนไทยรู้จักกันดี เช่น อายิโนะโมะโต๊ะ ฮิตาชิ ซึ่งเป็นผู้นำเรื่อง Connected Industries ก็จะสนับสนุนตามเป้าหมายเหล่านี้

นายอุตตมกล่าวอีกว่า ในส่วนของความร่วมมือพัฒนา EEC นั้น ทางกระทรวง METI ให้ความสำคัญมาก โดยรัฐมนตรีได้รับปากว่าจะเดินทางมาประเทศไทยอย่างแน่นอน และจะลงพื้นที่ด้วยตนเอง พร้อมจะร่วมมือกับ Keidanren พัฒนาอุตสาหกรรมสมัยใหม่ในไทย โดยจะเดินทางเยือนไทยภายในปีนี้ เพื่อฉลองความสัมพันธ์ 130 ปีด้วย และเราจะให้ท่านชี้แจงว่า Connected Industries เป็นประโยชน์อย่างไร รวมทั้งให้บริษัทญี่ปุ่นหารือกับบริษัทไทยเพื่อร่วมมือกัน นำไปสู่การทำคู่มืออุตสหกรรม global value chain ด้วยกัน เพื่อให้มีกรอบความเข้าใจในกระบวนการผลิตที่ตรงกัน ให้ทางญี่ปุ่นได้รู้ว่าฝ่ายไทยมีความสามารถอะไร และต้องการอะไร โดยกระทรวง METI จะเป็นเจ้าภาพในการทำคู่มือ และกระทรวงอุตสหกรรมกับกระทรวงพาณิชย์ของไทยเข้ามาร่วม


นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

ด้านนางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวง METI จะร่วมพัฒนาบุคลากรให้ไทยด้วย ทั้งอุตสาหกรรม เทคโนโลยี เพื่อให้ผู้ประกอบการ วิศวกร ช่าง ของไทยเข้าอยู่ใน global value chain และจะช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมไทยซึ่งส่วนใหญ่เป็น SME ทั้งนี้ รัฐมนตรีกระทรวง METI คนปัจจุบัน มีความรู้เรื่องประเทศไทยเป็นอย่างดี เพราะเคยทำงานแผนกประชาสัมพันธ์ให้บริษัทเอ็นทีที เคยไปหลายจังหวัด เช่น เชียงใหม่ เชียงราย จึงเห็นศักยภาพของประเทศไทยเป็นอย่างดี นอกจากนี้ก็เคยไปเยอรมนี เพื่อเสนอการทำ Connected Industries ระหว่างญี่ปุ่นกับเยอรมนี ถ้าไทยเข้าไปร่วมด้วยก็จะเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมไทยขึ้นไปอีกระดับ
กำลังโหลดความคิดเห็น