xs
xsm
sm
md
lg

ไซ่ฟ่อนเงินตั๋วบี/อี ”เคซี”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


     บริษัท เค.ซี.พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด(มหาชน) หรือหุ้น KC ยังคงวุ่นวายอยู่กับการแก้ไขปัญหาภายใน ซึ่งยืดเยื้อมาตั้งแต่ปลายปี 2559 และทำให้หุ้นถูกแขวนป้าย ”เอสพี” พักการซื้อขายยาว ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2560
     ผู้ถือหุ้นรายย่อยจำนวน 3,584 ราย ได้แต่ชะเง้อว่า เมื่อไหร่ฝ่ายบริหาร “เคซี” จะสางปัญหาภายในได้จบสิ้น เมื่อไหร่หุ้นเคซีจะได้กลับมาเคาะซื้อขาย
    “เคซี” เกิดวิกฤตปัญหาหนี้ เมื่อช่วงปลายเดือนธันวาคม 2559 หลังจากแจ้งตลาดหลักทรัพย์ถึงการผิดนัดชำระหนี้ตัวแลกเงินจำนวน 350 ล้านบาท
     การผิดนัดชำระหนี้ตั๋วบี/อี เกิดขึ้นกับบริษัทจดทะเบียนหลายแห่งช่วงปลายปี 2559 และกลายเป็นวิกฤต “ตั๋วบี/อี เน่า” โดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม โซลาริส จำกัด เป็นผู้รับเหมาตั๋วบี/อีเน่า เพราะลงทุนตั๋วบี/อีที่มีปัญหาผิดนัดชำระหนี้อยู่จำนวนมาก

     กรณีตั๋วบี/อีของ “เคซี” แตกต่างจากบริษัทจดทะเบียนอื่น เพราะตั๋วบี/อีที่ออกวงเงิน 350 ล้านบาทนั้น ไม่ได้ลงบันทึกบัญชีในงบการเงิน
    และตัวบี/อีที่ออกก็ไม่ได้เข้าบัญชีบริษัท แต่เงินที่ระดมจากการออกตั๋ว เข้าบัญชีของอดีตกรรมการผู้จัดการเคซี ก่อนโอนเข้าบัญชีบุคคลอื่นที่ไม่อาจยืนยันว่า เกี่ยวข้องในฐานะใดกับบริษัท ซึ่งน่าจะเป็นตัวแทนหรือ ”นอมินี” อดีตกรรมการผู้จัดการ
    การไม่บันทึกบัญชีหนี้ตั๋วบี/อี ทำให้งบการเงินไม่ได้สะท้อนฐานะการเงินที่แท้จริงของกิจการ ตลาดหลักทรัพย์จึงสั่งให้ “เคซี” แก้ไขงบการเงินปี2588และงบการเงินไตรมาสที่ 3 ปี2559 สั่งให้ชี้แจงแนวทางการแก้ปัญหาผิดนัดชำระหนี้ตั๋วบี/อี และสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ
    หลังจากนั้นคณะกรรมการเคซีเกิดความระส่ำระสาย กรรมการทยอยลาออก รวมทั้งกรรมการผู้จัดการและกรรมการบริหารที่งุบงิบออกตั๋วบี/อี
    แม้จะมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบกรณีพิเศษและกรรมการคนใหม่ทดแทนกรรมการที่ออก แต่กรรมการตรวบสอบกรณีพิเศษและกรรมการใหม่ เข้าทำงานพียงไม่นาน ก็ทยอยลาออกกันอีก ล่าสุดเหลือคณะกรรมการทั้งหมดเพียง 6 คน

      ผลการตรวจสอบการออกตั๋วบี/อี วงเงิน 350 ล้านบาท ซึ่งไม่บันทึกบัญชีไว้ในงบการเงินพบว่า การออกตั๋วมีลักษณะพฤติกรรมอำพราง เข้าข่ายการยักย้ายถ่ายเทเงิน นอกจากนั้นยังตรวจสอบพบการซื้อขายที่ดิน ซึ่งดำเนินการโดยอดีตกรรมการบริหารที่มีความไม่โปร่งใส
     วันจันทร์ที่ 12 มิถุนายน ฝ่ายบริหารเคซีแจ้งความคืบหน้าการแก้ปัญหาต่างๆ โดยระบุว่า ได้จ้างบริษัททนายความ ดำเนินคดีในทุกข้อหาและทุกฐานความผิดที่เกี่ยวข้องกับการออกตั๋วบี/อีวงเงิน 350 ล้านบาท ทั้งอดีตกรรมการบริหารและบุคคลที่เกี่ยวข้อง และอยู่ระหว่างการเจรจาค่าเสียหาย โดยให้อดีตกรรมการบริหารเสนอแผนการชำระหนี้เสนอบริษัท
    รวมทั้งว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน จัดทำแผนการชำระหนี้คืนกับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม โซลาริส จำกัด
    “เคซี” จะดำเนินคดีอย่างไรกับอดีตกรรมการบริหาร จะประนีประนอมยอมความกันหรือไม่ เป็นเรื่องภายในของ ”เคซี”

    แต่ในฐานะสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ซึ่งกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียนโดยตรง จะต้องเร่งดำเนินการกล่าวโทษอดีตกรรมการบริหารบริษัท รวมทั้งความผิดที่อาจเข้าข่ายการฟอกเงินด้วย
    ไม่มีข่าวว่า ก.ล.ต.เข้าไปตรวจสอบ ติดตามเส้นทางการเงิน รวมรวบหลักฐานความผิด เพื่อกล่าวโทษอดีตผู้บริหารเคซีแต่อย่างใด
    ก.ล.ต.อาจกำลังตรวจสอบและรวบรวมหลักฐานความผิดอยู่ก็ได้ แต่ต้องรีบสรุปสำนวน เพราะคดีนี้ ถ้าเข้าข่ายความผิดการฟอกเงิน สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) สามารถสั่งอายัดทรัพย์อดีตผู้บริหารเคซีได้ทันที ซึ่งจะช่วยทุเลาความเสียหายของผู้ถือหุ้นบริษัทจดทะเบียนแห่งนี้
    จะอืดอาดล่าช้า ปล่อยเวลาให้ผ่านไป 2-3 ปี ค่อยล่าวโทษเหมือนคดีอื่นไม่ได้ เพราะความเสียหายของผู้ถือหุ้นเคซีจะลุกลาม จึงจำเป็นต้องเร่งปิดคดี และหลักฐานความผิดติดต่อขอได้จากฝ่ายบริหารเคซีชุดปัจจุบันได้ทุนทีอยู่แล้ว

     ปัญหาใน ”เคซี” เกิดจากพฤติกรรมโกงกันอย่างโจ่งแจ้ง สร้างธุรกรรมอำพรางเพื่อไซ่ฟ่อนเงินกันชัดๆ และแม้ไม่มีพ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กฎหมายอาญาทั่วไปก็สามารถดำเนินคดีอดีตผู้บริหารบริษัทได้
    คดีโกงตั๋วบี/อีใน ”เคซี” อดีตผู้บริหารบริษัท จึงไม่น่ารอดจากความผิด แต่กลัวกันอย่างเดียว กลัวว่าคดีนี้จะไม่ปิดฉากลง โดยอดีตผู้บริหาร ยินยอมควักเงินจ่ายค่าปรับ ความผิดอาญาทั้งหมดจะถูกยกไป
    คดีความผิดร้ายแรงต่างๆในตลาดหุ้นนับสิบคดี เพยงแค่ผู้ต้อวงหายอมรับสารภาพ ยอมควักเงินจ่ายค่าปรับ ทุกอย่างก็จบ อาชญากรในตลาดหุ้นจึงลอยนวลอย่างสบายใจเฉิบนับไม่ถ้วน
    คดีไซ่ฟ่อนเงินตั๋วบี/อี วงเงิน 350 ล้านบาท อย่าเพิ่งมั่นใจว่า ก.ล.ต.จะนำตัวอดีตผู้บริหาร ”เคซี” มาลงโทษหนักได้
กำลังโหลดความคิดเห็น