xs
xsm
sm
md
lg

มุมลึกของการศึกษาญี่ปุ่น (3) : สอนให้รู้สึกและสอนให้รู้ลึก

เผยแพร่:   โดย: ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์


ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies


ผู้ใหญ่มักบ่นว่า “เด็กไทยคิดไม่เป็น” คำว่า “คิด” ในเชิงสังคม คงหมายถึงการใช้ปัญญาพิจารณาวิเคราะห์และตัดสินด้วยเหตุผลทั้งในด้านวิชาการและคุณธรรม เมื่อเด็กคิดไม่เป็น ต่อไปก็กลายเป็นผู้ใหญ่ที่คิดไม่เป็นอีก เกิดวงจรไร้จุดจบวนอยู่อย่างนั้น คำบ่นแบบนี้ผมได้ยินมาตั้งแต่เล็กๆ และตัวเองก็คงเคยเป็นเด็กที่คิดอะไรไม่เป็นมาก่อนเช่นกัน หรือแม้แต่ในปัจจุบันก็ยังไม่กล้ายืนยันกับใครว่าเราใช่ผู้ใหญ่ที่คิดเป็นหรือไม่ เพราะเติบโตในระบบการศึกษาของไทยมาเหมือนกัน

ผ่านมานานแล้วตั้งแต่ผมเริ่มอ่านออกเขียนได้ แต่ไม่ว่ายุคไหนๆ เสียงบ่นทำนองนี้ก็ยังมีให้ได้ยิน เอ...สรุปว่าเด็กผิด หรือผู้ใหญ่ผิดที่สอนเด็กให้คิดเป็นไม่ได้? การปรับการศึกษาให้สามารถสร้างคนที่มีคุณภาพออกมาได้เป็นเรื่องใหญ่และควรทำทั้งระบบ ผมไม่ใช่นักการศึกษาในระดับนโยบาย จึงไม่อาจเสนอแนะสิ่งใดในแบบผู้เชี่ยวชาญได้โดยตรง คงทำได้แค่แบ่งปันข้อสังเกตจากวงการศึกษาของญี่ปุ่นที่อาจจุดประกายความเคลื่อนไหวให้แก่การศึกษาของไทยบ้าง สิ่งที่ผมคิดว่าการศึกษาญี่ปุ่นสอนให้เด็กมีติดตัวเป็นพื้นฐาน อาจจะโดยตั้งใจหรือโดยลักษณะประจำชาติของคนญี่ปุ่นก็แล้วแต่ คือ การสอนให้รู้สึกและการสอนให้รู้ลึก

เมื่อมองประเด็น “เด็กไทยคิดไม่เป็น” คำถามคือ “เด็กจำเป็นต้องคิดไหม” ตามธรรมชาติของเด็ก เด็กต้องคิดอะไรมากมายหรือไม่? ถ้าผู้ใหญ่หวังผลเลิศ ก็คงจะตอบว่า “เด็กควรคิด” และผู้ใหญ่ก็จะ ‘พยายาม’ สอนให้คิด เมื่อเกิดการสอน เราวัดได้แน่ชัดแค่ไหนว่าสอนให้คิดมากน้อยขนาดไหนถึงจะไม่กลายเป็นภาระทางสมองและอารมณ์สำหรับเด็ก? หากการวัดเป็นเรื่องยาก ก็ไม่ควรยัดเยียดเป้าหมายของผู้ใหญ่ให้เด็กจำใจรับโดยไม่รู้ตัว เมื่อมองทางญี่ปุ่น ผมรู้สึกว่าเด็กญี่ปุ่นไม่ค่อยถูกบังคับให้คิด แต่มีทักษะการคิดติดตัวมาตั้งแต่เด็ก และจะแสดงความสามารถในการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลออกมาเมื่อเริ่มเข้าสู่วัยผู้ใหญ่

ลักษณะเด่นอย่างหนึ่งของคนญี่ปุ่นคือ ให้ความสำคัญต่อกระบวนการ ส่วนผลจะเป็นอย่างไรเดี๋ยวค่อยว่ากัน เป้าหมายก็ตั้งไว้ แต่จะบรรลุหรือไม่ นั่นคือเรื่องทีหลัง เรื่องนี้สะท้อนออกมาในการศึกษาสำหรับเด็กด้วย คือ ส่งเสริมให้รู้สึกเสียก่อน เดี๋ยวต่อไปกระบวนการนั้นจะกลายเป็นความคิด การคิดเป็นเรื่องที่ต้องสอน แต่ความรู้สึกเป็นสิ่งที่มีติดตัวมาแต่เกิดและนำมาใช้ได้ง่ายมาก การให้เด็กแสดงความรู้สึกแบบไม่ปรุงแต่งด้วยคำถามพื้นๆ ของครู รู้สึกอย่างไรก็ให้พูดแบบนั้น ฝึกให้เด็กตรวจสอบความรู้สึกของตัวเอง โดยมีครูตะล่อมไปในแนวทางที่เหมาะสมจะเป็นการสอนให้เด็กรู้จักมองตัวเองกับสิ่งแวดล้อม และนำไปสู่การคิดเป็นในที่สุด

โรงเรียนญี่ปุ่นทำอย่างไร? นี่ไม่ใช่เรื่องซับซ้อนอะไรเลย ภาษาญี่ปุ่นมีคำว่า “คันโซ” (感想;kansō) แปลว่า ความรู้สึกต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ครูมักให้เด็กแสดงความรู้สึกต่อเรื่องที่ฟัง หรือได้อ่าน หรือได้ทำ ทั้งแบบปากเปล่าและด้วยการเขียน ตัวอย่างที่ง่ายที่สุดคือ เด็กเล็กๆ ชอบฟังนิทาน เรื่องเล่า ละครกระดาษประกอบคำบรรยาย เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ตรึงความสนใจของเด็กได้เสมอ ครูอนุบาลหรือครูประถมของญี่ปุ่นจะเล่าหรืออ่านเรื่องพวกนี้ให้เด็กฟังเป็นระยะ หรือไม่ก็ให้เด็กอ่านเอง พอจบเรื่องก็จะถาม “คันโซ” คือถามความรู้สึก ซึ่งก็ง่ายมาก ขั้นแรกคือถามความรู้สึกที่สัมผัสได้ทันที เช่น ชอบไหม? ชอบตัวละครไหน? ชอบฉากไหน? เอาใจช่วยตัวละครตัวไหน? ขั้นต่อไปคือความรู้สึกที่ประกอบด้วยเหตุผล ทำไมถึงชอบ? ทำไมถึงไม่ชอบ? ถ้าหนูเลือกได้ อยากเป็นตัวละครตัวไหน? เพราะอะไร? และจะได้คำตอบสั้นๆ จากเด็ก ไม่มีคำตอบไหนที่ผิด ทำให้เด็กๆ สนุกและมีส่วนร่วมไปกับเรื่องที่ตัวเองได้ฟัง นำไปสู่ทัศนคติที่ดีต่อการเรียนตลอดจนการฟังและการพูด และการให้เด็กแสดงความรู้สึกยังเป็นช่องทางที่จะใช้ประยุกต์เพื่อสอนคุณธรรมให้เด็กด้วย เช่น เมื่อรู้สึกสงสารก็อยากช่วย เมื่อรู้สึกถูกเอาเปรียบ ครูก็สามารถสอนให้รักความยุติธรรม เมื่อเด็กรู้สึกโกรธ ครูก็จะสบช่องสอนให้รู้จักอภัย

จะเห็นได้ว่า จากความรู้สึก ก็เริ่มคาบเกี่ยวกลายเป็นจินตนาการกับความคิดและการหาเหตุผลในใจตัวเอง นั่นจะพัฒนาไปสู่การเรียบเรียงความคิดและการเขียนได้ จากประสบการณ์ส่วนตัวของผมเองที่ผ่านการศึกษาของไทย จำได้แม่นยำจนถึงทุกวันนี้ว่าเกลียดวิชาเรียงความมาก เพราะเขียนไม่ได้ เขียนไม่เป็น โดยที่ไม่รู้สาเหตุว่าเพราะอะไร ตอนนั้นอยู่ ป.6 เริ่มเรียนวิชาเรียงความ ครูบอกแค่ว่าไปเขียนเรียงความมาโดยจะต้องมีคำนำ เนื้อเรื่อง และบทสรุป หัวข้อคือ “ทุเรียน” ว่าแต่คำนำคืออะไร? เนื้อเรื่องคืออะไร? บทสรุปคืออะไร? เด็ก ป.6 คิดไม่ออก ทำได้ไม่ดี ก็เขียนแค่พอส่งๆ ไป ไม่ชอบการเขียนจนโตและไม่ได้คิดว่าจะมาเป็นนักเขียนอย่างทุกวันนี้ จนไปเรียนที่ญี่ปุ่นแล้วจึงรู้สาเหตุว่าตอนเด็กๆ เราเขียนไม่ได้เพราะเราไม่เคยสำรวจความรู้สึกของตัวเองต่อหัวข้อ ถ้าครูชี้นำด้วยคำถามง่ายๆ ว่าเธอชอบทุเรียนไหม? มันอร่อยไหม? กลิ่นหอมไหม? ถ้ามีคนบอกว่ามันเหม็น เธอรู้สึกยังไง? ถามความรู้สึกแค่นี้เอง ก็จะเริ่มได้เนื้อหา นำมาเรียบเรียงแล้วใส่โครงสร้าง ก็จะกลายเป็นงานเขียนชิ้นเล็กๆ ของเด็กคนหนึ่งขึ้นมา แต่การณ์หาได้เป็นเช่นนั้นไม่ ผมถึงไม่รู้สึกรักการเขียนกระทั่งไปเรียนที่ญี่ปุ่น

ในญี่ปุ่น การถาม “คันโซ”—ความรู้สึก และให้เขียน “คันโซบุง”—เรียงความ (แสดงความรู้สึก) (感想文;kansōbun) มีตั้งแต่ระดับประถม สั้นยาวตามระดับของเด็ก และเริ่มจากหัวข้อใกล้ตัว ต่อมา จากเรียงความประเภท “คันโซบุง” เมื่อผู้เรียนชำนาญขึ้นก็จะพัฒนาเป็น “ซะกุบุง”—เรียงความทั่วไป (作文;sakubun) ที่ต้องใช้ความคิดกลั่นกรอง ความคิดสร้างสรรค์ หรือการวิเคราะห์มากขึ้น ซึ่งพื้นฐานที่สำคัญได้มาจากเรียงความสื่อความรู้สึกนั่นเอง ในอีกมุมหนึ่ง ถ้าให้ “แสดงความคิดเห็น” อย่าว่าแต่เด็ก แม้แต่ผู้ใหญ่ก็รู้สึกเกร็งขึ้นมา เพราะคำว่า “ความคิดเห็น” มีนัยว่าเนื้อหาที่ออกมานั้นจะต้องผ่านขั้นตอนการคิดและจะต้องยากแน่ๆ หากพูดอะไรไม่เข้าท่าออกไป ใครๆ จะหาว่าเราโง่ จึงเงียบเสีย ไม่พูดอะไรทั้งสิ้น กลายเป็นที่มาของเด็กไทยคิดไม่เป็น แสดงความคิดเห็นไม่ออก และเมื่อถึงเวลาที่จำต้องแสดงความคิดเห็นจริงๆ จึงขาดโครงสร้างและเหตุผลที่จะโน้มน้าวผู้รับสาร ของไทย ถ้าเราเปลี่ยนเสียใหม่ ครูไทยบอกเด็กให้ “แสดงความรู้สึก” แทนที่จะเป็น “แสดงความคิดเห็น” ความกดดันอาจจะลดลง และเด็กก็อาจจะฝึกพูดเพื่อสื่ออะไรๆ ได้ดีตั้งแต่ยังเล็ก

ลักษณะเด่นอีกประการหนึ่งของคนญี่ปุ่นคือ ชอบค้นคว้า ถ้าผมบอกคนไทยว่าเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยของญี่ปุ่น แต่ไม่มีห้องพักอาจารย์ ใครๆ ก็คงไม่เชื่อ ทว่านั่นเป็นความจริงตามแง่มุมของถ้อยคำที่ใช้ กล่าวคือ คำว่า “ห้องพักอาจารย์” ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “เค็งกีวชิสึ” (研究室;kenkyū-shitsu) แปลตรงๆ ว่า ห้องวิจัย นั่นหมายความว่าเมื่อว่างเว้นจากการสอนและกลับมาที่ห้อง อาจารย์จะต้องวิจัย ไม่ใช่พัก ห้องที่ได้รับจึงไม่ใช่ห้องพัก แต่เป็นห้องทำงาน สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นมุมมองของความคาดหวังจากสังคมที่มีต่ออาจารย์ว่าจะต้องค้นคว้าหาความรู้ อู้ไม่ได้ มีหน้าที่สอนก็สอนไป ว่างเมื่อไรต้องวิจัย และยังเป็นการสะท้อนลักษณะนิสัยของคนญี่ปุ่นที่ให้ความสำคัญต่อการรู้ลึกและรู้จริงด้วย

สำหรับคำว่า “เค็งกีว” (研究;kenkyū) ซึ่งแปลโดยทั่วไปว่าการวิจัยนั้น อาจดูเหมือนเป็นคำที่ใช้ในการศึกษาระดับสูง แต่เปล่าเลย คำนี้เป็นคำที่ธรรมดามากในสังคมญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นรู้จักคำนี้ตั้งแต่เรียนชั้นประถมกันแล้วเพราะโรงเรียนส่งเสริมให้ “เค็งกีว” ตั้งแต่เด็กโดยเฉพาะในวิชาวิทยาศาสตร์ และในความหมายที่กว้างขึ้น คำนี้แปลว่าศึกษาค้นคว้า แน่นอนว่าผลของการค้นคว้าก็ไม่ใช่การค้นพบสิ่งใดที่ยิ่งใหญ่ แต่เป้าหมายหลักคือต้องการให้เด็กรู้จักค้นคว้าเพื่อหาคำตอบสำหรับสิ่งที่ตัวเองสนใจ ซึ่งกลายเป็นนิสัยติดตัวคนญี่ปุ่นจนโต และสิ่งที่คนญี่ปุ่นในสังคมจะพูดติดปากเมื่อมีเรื่องที่ตัวเองไม่รู้ คือ “จะค้นดู” หรือ “จะศึกษาดู” ก่อนจะตอบอะไรส่งเดชโดยไม่ได้อิงแหล่งข้อมูล

ในช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อนหรือฤดูหนาวของโรงเรียนประถม โรงเรียนจะมอบหมายให้นักเรียนทำ “จิยู-เค็งกีว” (自由研究;jiyū-kenkyū) แปลว่า การค้นคว้าอิสระ หรือพูดง่ายๆ นี่คือการบ้านปิดเทอม หัวข้อที่จะค้นคว้านำมาส่งครูจะเป็นเรื่องอะไรก็ได้ที่ตัวเองสนใจ พอบอกอย่างนี้แล้ว คนไทยอาจมองว่าคงจะต้องลำบาก ต้องทำการทดลอง ต้องเตรียมตัวมากมายแน่เลย แต่ไม่ใช่ การส่งเสริมให้เด็กมีนิสัยรักการค้นคว้านี้ทำโดยให้เริ่มจากสิ่งที่ชอบ อยู่ในชีวิตประจำวัน อยู่ในชุมชน และไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องทางวิทยาศาสตร์ ตัวอย่างหัวข้อที่เด็กๆ พยายามค้นคว้าให้รู้ลึกยิ่งขึ้น เช่น สำรวจประวัติของเขตที่ตัวเองอาศัยอยู่ สำรวจชีวิตประจำวันของคนในชุมชน ลองทำเต้าหู้เองที่บ้าน ศึกษาประวัติบุคคลสำคัญ ลองทำสบู่เอง ปลูกพืชเอง สิ่งเหล่านี้โรงเรียนแนะแนวไว้แล้ว และให้เด็กไปต่อยอดศึกษาเอง บางครั้งก็เป็นสิ่งที่ผู้ปกครองกับเด็กต้องร่วมมือกัน แต่พ่อแม่ญี่ปุ่นก็ชินกับการค้นคว้าอยู่แล้ว และให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

ทักษะเหล่านี้นักเรียนญี่ปุ่นรู้จักมาตั้งแต่ชั้นประถม พอเรียนมัธยมต้น จะเกิดการแข่งขันทางการศึกษามากขึ้น เพราะเด็กจำนวนมากมุ่งจะสอบเข้าโรงเรียนมัธยมปลายดีๆ และต่อไปคือมหาวิทยาลัยชั้นนำ จุดนี้เป็นปัญหาของระบบการศึกษาของญี่ปุ่นอยู่เหมือนกัน เด็กต้องเรียนคร่ำเคร่งเพื่อจะเข้ามหาวิทยาลัยที่ดีให้ได้เพราะนั่นหมายถึงอนาคตในการทำงาน อีกทั้งพ่อแม่ต้องเสียเงินให้ลูกไปโรงเรียนกวดวิชาอีกมากมาย ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นจุดบกพร่องของการศึกษาญี่ปุ่น

ทว่า ผมในฐานะอาจารย์ที่สอนระดับมหาวิทยาลัย สังเกตได้ว่าคุณสมบัติด้านการเรียบเรียงถ่ายทอดความคิดและทักษะการค้นคว้าของนักศึกษามหาวิทยาลัยญี่ปุ่นเป็นที่น่าชื่นชม อาจารย์พูดชี้แนะเพียงนิดเดียว นักศึกษาสามารถทำความเข้าใจได้ถูกต้อง และค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมกลับมานำเสนอได้อย่างดี ผมจึงมองว่า แม้ว่าการศึกษาในช่วงมัธยมของญี่ปุนมุ่งเน้นการสอนหนังสือเพื่อสอบเข้า แต่พื้นฐานที่คนญี่ปุ่นได้รับการปลูกฝังจนติดตัวมาตั้งแต่เด็ก อาทิ เรื่องการอยู่ร่วมกัน ระเบียบวินัย ทักษะการเรียนผ่านการสำรวจความรู้สึก และการค้นคว้าให้รู้ลึกนั้น ได้รับการถ่ายทอดมาในระดับประถมอย่างเข้มข้น พอฐานดี ครั้นจะต่อยอดสิ่งใดก็ทำได้ง่ายทั้งในระดับมหาวิทยาลัยและระดับสังคม ญี่ปุ่นจึงก้าวหน้าทางวิชาการและมีคนต่างชาติไปเรียนมากมาย และมีคนที่ถึงพร้อมด้วยคุณภาพอย่างที่คนไทยชื่นชม

**********

คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.manager.co.th

กำลังโหลดความคิดเห็น