xs
xsm
sm
md
lg

“ราโชมอน” กับ รีวโนะซุเกะ อะกุตะงะวะ

เผยแพร่:   โดย: โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์


ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies


ด้วยภารกิจการประชุมวิชาการที่อิตาลีกลางเดือนกรกฎาคมนี้ ผมจึงต้องออกจากญี่ปุ่นสักระยะ เพื่อไปเสวนาด้านภาษาและวัฒนธรรมเปรียบเทียบ สิ่งที่เลือกไปนำเสนอให้เพื่อนนักวิชาการชาวต่างชาติได้รู้จักนั้นเกี่ยวกับผลงานของญี่ปุ่นและไทย คือ ภาพยนตร์เรื่อง Rashomon (1950) ของญี่ปุ่น กับ “อุโมงค์ผาเมือง” (2011) ของไทยซึ่งเป็นการนำเรื่อง “ราโชมอน” มาสร้างใหม่ โดยห่างจากต้นฉบับหกสิบปีเศษ

สำหรับการวิเคราะห์เกี่ยวกับตัวภาพยนตร์ คงจะได้ประมวลมานำเสนอใน “ญี่ปุ่นมุมลึก” ต่อไปหลังจากบทความวิชาการตีพิมพ์แล้ว แต่ในเบื้องต้นนี้ สิ่งที่อยากให้นักอ่านชาวไทยได้รู้จักกันก่อนคือ ‘เนื้อเรื่อง’ ของราโชมอน หรือ “ระโชมง” ซึ่งมีบางแง่มุมที่คนไทยจำนวนไม่น้อยยังไม่ทราบ กับนักเขียนชื่อ รีวโนะซุเกะ อะกุตะงะวะเจ้าของเรื่อง ซึ่งพ้องกับโอกาสที่เดือนนี้จะมีการประกาศผลรางวัลอะกุตะงะวะ อันเป็นรางวัลวรรณกรรมทรงเกียรติที่สุดในญี่ปุ่นสำหรับนักเขียนหน้าใหม่
ประตูระโชมงจากภาพยนตร์ญี่ปุ่น
สิ่งที่ควรทราบเกี่ยวกับ “ระโชมง” อันดับแรก ได้แก่ ความหมายของ “ระโชมง” (羅生門;Rashōmon) คือ “ประตูเมือง” คำว่า “มง” (門;mon) แปลว่า “ประตู” ในที่นี้ก็คือ “ประตูระโช” นั่นเอง พอเขียนด้วยอักษรโรมันเป็น Rashomon และอ่านตามความเข้าใจของคนไทย ชื่อ “ราโชมอน” (ตามที่คนไทยคุ้นหู) จึงเกิดขึ้น ประเด็นต่อมาคือ “ระโชมง” ในภาษาญี่ปุ่น หมายถึง ประตูพระนคร ซึ่งได้แก่พระนครเกียวโต และเนื้อเรื่องตามบทประพันธ์ได้บรรยายภาพของพระนครเกียวโตในยุคเสื่อมโทรมไว้

ประการต่อมาคือ เนื้อหาในภาพยนตร์เรื่อง Rashomon ที่กำกับโดยอะกิระ คุโระซะวะนั้น ไม่ใช่เนื้อเรื่องจากบทประพันธ์ “ระโชมง” แต่มาจากบทประพันธ์อีกเรื่องหนึ่งของผู้แต่งคนเดียวกัน ทว่าฉากเปิดของภาพยนตร์คือฉากประตูระโชมง ภาพยนตร์จึงได้ชื่อตามนั้น ครั้นหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช นำเนื้อหาจากภาพยนตร์มาดัดแปลงเป็นบทละครไทย ก็อิงเนื้อหาหลักตามนั้นและใช้ชื่อว่า “ราโชมอน”
ภาพจากภาพยนตร์เรื่อง “อุโมงค์ผาเมือง”
ภาพจากภาพยนตร์เรื่อง “อุโมงค์ผาเมือง”
ภาพจากภาพยนตร์เรื่อง “อุโมงค์ผาเมือง”
และอีกประการหนึ่งคือ เรื่อง “ระโชมง” เป็นเรื่องสั้น แต่งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2457 โดยรีวโนะซุเกะ อะกุตะงะวะ (芥川龍之介;Akutagawa, Ryūnosuke ; 1892-1927) อะกุตะงะวะเป็นคนโตเกียว เกิดเมื่อปี 1892 (พ.ศ. 2435) หลังจากเกิดมาได้ไม่นาน แม่ก็เสียสติ จากนั้นลุงฝ่ายแม่ก็รับเลี้ยงดูต่อมา อะกุตะงะวะสนใจวรรณคดีมาตั้งแต่เด็ก และเมื่อเติบใหญ่ ได้เข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยโตเกียว (ชื่อในปัจจุบัน) เอกวรรณคดีอังกฤษ อะกุตะงะวะกินยาตายเมื่ออายุได้ 35 ปี

เนื้อเรื่องจริงๆ ของเรื่องสั้น “ระโชมง” เป็นอย่างไร? ผมจะแนะนำบางส่วนไว้โดยแปลจากต้นฉบับภาษาญี่ปุ่นให้ได้ทราบกันดังนี้

เรื่องเกิดเมื่อเย็นวันหนึ่ง ชายรับใช้กำลังรอให้ฝนหายอยู่ที่ใต้ประตูระโชมง
ที่ใต้ประตูกว้างนั้นไร้คนอื่นใดนอกชายคนนี้ ทว่ามีจิ้งหรีดตัวหนึ่งเกาะอยู่ตรงเสากลมต้นใหญ่ซึ่งชาดหลุดลอกเป็นหย่อม ด้วยประตูระโชมงตั้งอยู่บนถนนซุซะกุ ฉะนั้นนอกจากชายคนนี้แล้ว ก็น่าจะมีผู้อื่นอีกสักสองสามคน ที่อาจจะเป็นหญิงสวมหมวกอิชิเมะหรือชายสวมหมวกโมะมิเอะหลบฝนอยู่บ้าง แต่นอกจากชายคนนี้แล้ว ไม่มีผู้ใด

ที่เป็นเช่นนี้เพราะในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ได้เกิดภัยพิบัติติดต่อกันที่พระนครเกียวโต ทั้งแผ่นดินไหว พายุหมุน เพลิงไหม้ และฉาตกภัย ลักษณาการความโทรมเสื่อมในพระนครเกียวโตจึงใหญ่หลวงอย่างที่ไม่เคยปรากฏ ตามที่บันทึกเก่าแก่เล่าไว้คือ ผู้คนทุบทำลายพระพุทธรูปและเครื่องใช้ไม้สอยสำหรับพุทธบูชา แล้วเอาไม้ที่ยังมีชาด มีทองคำเปลว และเงินเปลวติดอยู่ ไปกองสุมริมถนนขายเป็นฟืน เนื่องจากพระนครเกียวโตตกอยู่ในสภาพเยี่ยงนี้ แน่ทีเดียวว่าใครต่อใครจึงปล่อยปละประตูระโชมงทิ้งไว้โดยไม่เหลียวแล ไร้การบูรณะ พอเป็นเช่นนั้น ประโยชน์ที่พอจะมีอยู่จากความทรุดโทรมอย่างหนักคือ พวกหมาจิ้งจอกและหมาทะนุกิเข้าไปอาศัยอยู่ ขโมยเข้าไปอาศัยอยู่ ผลสุดท้าย แม้แต่การนำศพไม่มีญาติไปทิ้งที่ประตูนี้ก็กลายเป็นขนบไป พอสิ้นแสงอาทิตย์ ไม่ว่าใครก็จะไม่ย่างกรายมายังละแวกใกล้เคียงกับประตูนี้ เพราะบังเกิดความรู้สึกสยองแหยงหวาดหวั่น

แทนที่จะมีผู้คน กลับมีอีกาจากไหนสักแห่งมาชุมนุมกันมากมาย ถ้ามองตอนกลางวันจะเห็นอีกาพวกนั้นไม่รู้กี่ตัวต่อกี่ตัวบินวนวาดเป็นวงรอบช่อฟ้าที่ชูสูงพลางส่งเสียงร้องไปด้วย โดยเฉพาะยามท้องฟ้าเหนือประตูกลายเป็นสีแดงในช่วงโพล้เพล้ จะมองเห็นได้ชัดเจนราวกับมีใครโปรยงาดำ ไม่ผิดแน่ อีกามาจิกกินเนื้อคนตายที่อยู่บนประตู แต่วันนี้ คงเพราะเวลาล่วงเลยไปกระมัง จึงไม่มีอีกาให้เห็นแม้แต่ตัวเดียว เห็นก็แต่มูลสีขาวของอีกาเป็นจุดๆ ติดอยู่บนขั้นบันไดหินที่เริ่มแตกตรงโน้นบ้างตรงนี้บ้างและมีหญ้าขึ้นสูงตามรอยแตกนั้น ข้ารับใช้ในเสื้อคลุมสีกรมท่าที่ซีดเพราะซัก นั่งจ่อมอยู่ที่ขั้นบนสุดของบันไดหินเจ็ดขั้น มองดูฝนตกอย่างเหม่อลอย พลางพะวงถึงสิวเม็ดใหญ่ที่ขึ้นบนแก้มขวา…


อะกุตะงะวะเปิดเรื่องไว้เช่นนั้น โดยให้ตัวเอกตัวหนึ่งปรากฏตัวก่อน ชายคนนี้ตกอยู่ในสภาพสิ้นหวัง และกำลังคิดหาทางเอาชีวิตรอด เขารอให้ฝนหายอยู่ที่ใต้ประตูระโชมง ซึ่งมีขนาดใหญ่ ประตูนี้มีหอหรือห้องโถงอยู่ที่ชั้นสองของประตู ยามนี้ประตูเมืองกลายเป็น “ประตูผี” (ตามที่ ม.ร.ว. ตั้งชื่อบทละครว่าราโชมอนประตูผี) เพราะใครๆ ก็นำศพคนตายไปทิ้งไว้บนชั้นสองของประตู ต่อมาตัวเอกก็พบกับยายเฒ่า ซึ่งเป็นตัวละครอีกตัวหนึ่ง
หนังสือ “ราโชมอน” (บทละคร) โดย ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
หลังจากนั้นไม่กี่นาทีต่อมา ที่กลางบันไดช่วงกว้างซึ่งนำออกไปสู่ห้องโถงด้านบนของประตูระโชมง ชายรับใช้ซึ่งหดตัวราวกับแมว กลั้นลมหายใจพลางสอดส่องดูสภาพด้านบน แสงไฟที่ส่องจากบนห้องโถงตกต้องแก้มขวาของชายผู้นั้นรางๆ เป็นแก้มที่มีสิวกลัดหนองเป็นสีแดงอยู่ในหนวดสั้นๆ ข้ารับใช้คาดการณ์ไว้ดีเกินไปตั้งแต่ต้นว่าผู้ที่อยู่ข้างบนจะมีแต่คนตาย พอขึ้นบันไดไปสองสามขั้นแล้วมองดู ปรากฏว่าที่ข้างบนนั้นมีใครคนหนึ่งจุดไฟอยู่ ไม่เพียงเท่านั้น ดูเหมือนกำลังขยับไฟนั้นไปมาอีกด้วย ที่รู้ได้ทันทีก็เพราะแสงสว่างสีเหลืองหม่นที่เต้นวูบวาบอยู่นั้นส่องกระทบด้านบนของเพดานซึ่งมีใยแมงมุมเกาะเกี่ยวอยู่ทุกซอกมุม ในคืนฝนตกเช่นนี้ ผู้ใดก็ตามที่มาจุดไฟอยู่บนประตูระโชมง ย่อมไม่ใช่คนธรรมดาแน่...

แล้วตัวเอก 2 ตัวก็ปะทะคารมกัน และนำไปสู่เหตุการณ์ ‘บางอย่าง’ จนในที่สุด อะกุตะงะวะก็ขมวดปมท้ายเรื่องไว้ดังนี้

หลังจากนั้นไม่นานนัก หญิงเฒ่าซึ่งล้มลงราวกับตายไปแล้วชั่วครู่ก็ยันร่างเปลือยเปล่าร่างนั้นขึ้นจากหมู่ซากศพ ขณะที่ส่งเสียงพึมพำกึ่งคราง นางก็คลานไปถึงช่องบันไดโดยอาศัยแสงสว่างจากคบไฟที่ยังคงลุกไหม้อยู่ และจากตรงนั้นก็ชะโงกมองด้านล่างของประตู ผมหงอกเส้นสั้นๆ ทิ่มย้อนลง ภายนอกนั้น มีแค่เพียงค่ำคืนอันมืดมิด

ส่วนข้ารับใช้ไปแห่งหนใด ไม่มีใครรู้


นั่นคือเรื่องราวทั้งหมดของบทประพันธ์นี้ ทว่า “ราโชมอน” ที่คนไทยรู้จักมาเนิ่นนานคือ “การเล่าเรื่องฆาตกรรมเรื่องเดียวกันไปคนละทิศคนละทาง” จนไม่รู้ว่าใครกันแน่ที่พูดความจริง อันที่จริงแล้ว เนื้อเรื่องที่ว่านั้นมาจากเรื่องสั้นอีกเรื่องหนึ่ง ชื่อว่า “ยะบุ โนะ นะกะ” (藪の中;Yabu no naka) แปลตามตัวอักษรได้ว่า “ในป่าละเมาะ” ซึ่งอะกุตะงะวะแต่งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2465

ทั้งเรื่อง “ระโชมง” และ “ยะบุ โนะ นะกะ” ต่างก็เป็นเรื่องที่อะกุตะงะวะนำเค้าโครงของบันทึกเรื่องเล่าโบราณมาแต่งใหม่ โดยตีความผสมผสานกับองค์ประกอบอื่นๆ ที่ได้จากบันทึกอื่นๆ อีก จนกลายเป็นบทประพันธ์ใหม่ขึ้นมา นั่นคือทักษะการสร้างสรรค์ส่วนหนึ่งของนักเขียนผู้นี้ ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นเจ้าแห่งเรื่องสั้นของวงวรรณกรรมญี่ปุ่น (ในแง่นี้ หากเทียบกับของไทยคงได้แก่ มนัส จรรยงค์) และเรื่องระโชมงได้รับการบรรจุลงในแบบเรียนภาษาญี่ปุ่นของนักเรียนญี่ปุ่นด้วย
รีวโนะซุเกะ อะกุตะงะวะ
อะกุตะงะวะแต่งเรื่องสั้นไว้กว่า 150 เรื่อง โดยไม่มีผลงานนวนิยายขนาดยาวเลย เรื่องที่ค่อนข้างยาวได้แก่ “กัปปะ” (แปลเป็นภาษาไทยแล้ว) นักเขียนผู้นี้สร้างคุณประโยชน์แก่วงวรรณกรรมญี่ปุ่นไว้มาก เพื่อนนักเขียนอีกคนหนึ่งจึงตั้ง “รางวัลอะกุตะงะวะ” ขึ้นเพื่อเป็นเกียรติ เป็นรางวัลที่มอบให้แก่ นักเขียนหน้าใหม่ผู้มีศักยภาพที่จะพัฒนาฝีมือต่อไป และสำหรับการสร้างสรรค์ผลงานนวนิยายที่ประพันธ์โดยใช้ศิลปะเป็นเลิศ (มิใช่เพื่อความบันเทิงอย่างเดียว)

ผลงานของอะกุตะงะวะมีความเป็นสากลที่ใครๆ ก็เข้าถึงได้โดยไม่ละทิ้งบริบทของความเป็นญี่ปุ่น นี่คือความโดดเด่นที่ทำให้มีการแปลผลงานของเขาเป็นภาษาอังกฤษออกมามากมาย ส่วนการแปลเป็นไทยนั้นยังมีไม่มาก และเพราะความเป็นสากลนี่เอง ทำให้มองได้ว่าวรรณกรรมของญี่ปุ่นเริ่มพัฒนาสู่ความเป็นสากลมานานแล้ว จนเกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างเห็นได้ชัดเมื่อมีนักเขียนญี่ปุ่นได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมถึง 2 คน

และเมื่อว่ากันถึงวรรณกรรมระดับโลก ญี่ปุ่นเป็นเพียงประเทศเดียวในเอเชียที่มีนักเขียนรางวัลโนเบล 2 คน (ประเทศอื่นในเอเชีย ได้แก่ อินเดีย อิสราเอล จีน และตุรกี มีนักเขียนที่ได้รางวัลโนเบลสาขานี้ประเทศละคน) คือ ยะซุนะริ คะวะบะตะ (1968) และเค็นซะบุโร โอเอะ (1994) และอีกคนหนึ่งซึ่งได้รับการจับตามองมาหลายปี (แต่ก็ชวดทุกปี) คือ ฮะรุกิ มุระกะมิ น่าเสียดายที่อะกุตะงะวะตัดสินใจจากโลกนี้ไปตั้งแต่อายุยังน้อย มิฉะนั้น ญี่ปุ่นอาจมีนักเขียนรางวัลโนเบลถึง 3 คนแล้วก็ได้
ยะซุนะริ คะวะบะตะ
เค็นซะบุโร โอเอะ
**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.manager.co.th

กำลังโหลดความคิดเห็น