xs
xsm
sm
md
lg

มุมลึกของการศึกษาญี่ปุ่น (4) : สอบเข้ามหาวิทยาลัย

เผยแพร่:   โดย: ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์

นักเรียนที่กำลังสอบเข้า (ที่มา : http://mainichi.jp)
ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies


จากวัยเด็กซึ่งดูเหมือนเรียนกันสบายๆ พอเข้าสู่วัยรุ่น การเรียนของเด็กญี่ปุ่นจะพลิกโฉมในหลายด้าน เด็กมัธยมต้นและมัธยมปลายจะแต่งเครื่องแบบนักเรียนซึ่งมีทั้งเครื่องแบบประจำฤดูใบไม้ผลิและเครื่องแบบประจำฤดูหนาว โครงสร้างการใช้เวลาก็จะเปลี่ยนไป นอนน้อยลง อยู่กับการเรียนยาวนานขึ้น เรียนหนัก โดยเฉพาะเมื่อใกล้เวลาจะสอบเข้ามหาวิทยาลัย ก็จะต้องเตรียมตัวหนักขึ้น

อัตราการเรียนต่อมหาวิทยาลัยหลังจบ ม.6 ของคนญี่ปุ่น จากผลการสำรวจของปี 2558 คือ 55.4% ถ้ารวมวิทยาลัยระยะสั้นด้วย อัตราจะสูงขึ้นเล็กน้อยเป็น 56.4% การสอบแข่งขันคือจุดที่ถูกวิจารณ์มากจุดหนึ่งในการศึกษาของญี่ปุ่น ระดับผลการเรียนใน ม.ปลาย ไม่ได้ถูกนำไปคำนวณในการสอบเข้าด้วย เด็กจำนวนมากทุ่มเทให้แก่การเรียนกวดวิชา ทำให้เกิดความเครียดและเป็นภาระทางเศรษฐกิจต่อครอบครัว

การเข้ามหาวิทยาลัยคือบันไดสำคัญขั้นหนึ่งสำหรับชีวิตคนญี่ปุ่นจำนวนมาก และชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยก็แทบจะกำหนดชีวิตการทำงานของคนญี่ปุ่นไปทั้งชีวิต มหาวิทยาลัยชั้นนำมีอัตราการแข่งขันกันสอบเข้าดุเดือดทุกปี อย่างมหาวิทยาลัยของรัฐ เช่น โตเกียว เกียวโต โอซะกะ ฮิโตะสึบะชิ หรือมหาวิทยาลัยเอกชน เช่น วาเซดะ เคโอ โจจิ ค่านิยมแบบนี้มีผลต่อการเรียนของเด็กนักเรียนญี่ปุ่นมาก

เป็นที่ทราบกันว่าการสอบเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำของญี่ปุ่นแข่งขันกันสูง ข้อสอบยาก และต้องสอบหลายวิชา มีทั้งข้อสอบกลางและข้อสอบเฉพาะที่มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งจัดสอบเพิ่ม ข้อสอบกลางคือการสอบเก็บคะแนนพร้อมกันทั่วประเทศประมาณกลางเดือนมกราคม และให้นักเรียนนำคะแนนไปยื่นต่อมหาวิทยาลัยที่เปิดรับตามเกณฑ์ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยของรัฐ (แห่งชาติและท้องถิ่น) ส่วนข้อสอบเฉพาะคือข้อสอบที่มหาวิทยาลัยจัดสอบเองต่างหากทั้งของรัฐและเอกชน ซึ่งแต่ละคณะมักออกข้อสอบเป็นเอกเทศ จึงมีแนวโน้มว่าจำนวนวิชาของการสอบก็จะเพิ่มตามจำนวนมหาวิทยาลัยและจำนวนคณะที่นักเรียนเลือก บางคนอาจต้องสอบถึง 10 กว่าวิชาถ้าเลือกหลายที่เผื่อพลาด

เด็กญี่ปุ่นที่หน้าดำคร่ำเครียดเรียนกันอย่างหนักรู้สึกอย่างไร ผมคงอธิบายแทนได้ยาก เอาเป็นว่า ขอนำตัวอย่างข้อสอบเก่าในปีการศึกษาหนึ่งมาให้ช่วยพิจารณา แล้วช่วยกันตัดสินว่าคำพูดของคนญี่ปุ่นที่ว่า “นรกแห่งการสอบเข้า” เป็นความจริงแค่ไหน
มหาวิทยาลัยโตเกียว
ก่อนอื่น ลองทำข้อสอบวิชาประวัติศาสตร์โลก (แปลจากภาษาญี่ปุ่นเป็นไทย) สำหรับการสอบเข้าคณะอักษรศาสตร์มหาวิทยาลัยริกเกียว (นพพรในเรื่อง “ข้างหลังภาพ” ไปเรียนที่มหาวิทยาลัยนี้) จากนั้นลองดูข้อสอบภาษาอังกฤษของที่อื่น แล้วจะทราบว่ากว่าจะได้เป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยของญี่ปุ่น นักเรียนต้องอึดขนาดไหน [1]

จงเติมคำลงในช่องที่เว้นไว้และเลือกคำตอบที่ถูกต้องมาเติมในข้อที่มีตัวเลขกำกับ (ประวัติศาสตร์โลก ม.ริกเกียว)

ในศตวรรษที่ 19 สหรัฐอเมริกาพัฒนาประเทศตามแนวทางเฉพาะของตนเอง และประสบความสำเร็จอย่างสูงเนื่องจากมีที่ดินที่ยังไม่ได้พัฒนาเป็นบริเวณกว้างใหญ่ไพศาลอยู่ทางตะวันตก ในปี(1)..........หลังจากที่ซื้อ...................จากฝรั่งเศสแล้ว ปี (2)..........ก็ซื้อฟลอริดาจากสเปน ปี(3)..........ผนวกเทกซัสซึ่งเป็นของเม็กซิโก และปี(4)..........ซื้ออะแลสกาจากรัสเซีย นอกจากนี้ ในการทำสงครามกับเม็กซิโกเมื่อปี 1846 – 48 ได้ครอบครองแคลิฟอร์เนีย ปี(5)............ได้ครอบครองออริกอนจากการทำสนธิสัญญากับอังกฤษ ปี(6)............หลังจากที่เริ่มเกิดการตื่นทอง ผู้คนต่างหลั่งไหลเข้าไปในแคลิฟอร์เนีย

1a. 1801b. 1802c. 1803 d. 1804
2a. 1818b. 1819c. 1820d. 1821
3a. 1845b. 1846c. 1847d. 1848
4a. 1864b. 1865c. 1866d. 1867
5a. 1845b. 1846c. 1847d. 1848
6a. 1844b. 1846c. 1848d. 1850

จงเลือกข้อที่เติมแล้วทำให้ประโยคผิดหลักไวยากรณ์ (คณะนิติศาสตร์ ม.วาเซดะ)

1. The picnic will be cancelled if it ( ).
A. is rainingB. looks likely to rain C. rains
D. starts raining E. will rain

2. During my visit I ( ) to go to Hiroshima to visit the Peace Memorial.
A. am hoping B. have hoped C. hope
D. hoped E. was hoping

3. The weather forecast said that it ( ) snow tomorrow.
A. may B. might C. mustn’t
D. probably won’t  E. will probably

จงเลือกข้อที่ตำแหน่งเน้นเสียงหนักที่สุดต่างจากคำอื่น (คณะนิติศาสตร์ ม.เคโอ)
(1) 1 attorney2 solicitor3 barrister4 legitimate
(2) 1 assembly2 parliament3 cabinet4 bureaucrat
(3) 1 manuscript2 seniority3 substitute4 corporate

จะเห็นได้ว่าเนื้อหาบางอย่างก็เป็นเรื่องที่ต้องท่องจำล้วนๆ โดยส่วนตัวแล้วผมไม่ค่อยต่อต้านการสอนแบบให้จำ เพราะถ้าไม่จำอะไรเป็นพื้นฐานบ้างเลย ย่อมไม่เกิดความคิดต่อยอด แต่ถ้าให้จำตัวเลขมากๆ อย่างเช่นการจำปีที่เกิดเหตุการณ์โน้นเหตุการณ์นี้ นี่ก็น่าเห็นใจผู้เข้าสอบอยู่เหมือนกัน ทว่าถ้ามองในมุมที่ว่านี่คือการออกข้อสอบเพื่อขจัดคนออก ก็พอจะเข้าใจวัตถุประสงค์ของผู้ออกข้อสอบ และดูเหมือนนักเรียนญี่ปุ่นก็ยอมรับสภาพเพราะถือว่าเป็นการลงทุนเพื่ออนาคต

ผมเล่าสิ่งที่ได้พบเห็นในฐานะคนต่างชาติผู้มีโอกาสสัมผัสการศึกษาของญี่ปุ่นในบางแง่มุม ซึ่งอาจจะยังไม่ครอบคลุมทั้งหมด แต่ก็หวังว่าคงจะมีบางสิ่งบางอย่างเป็นแนวทางให้เราได้นำไปคิดต่อตามความเหมาะสมในสังคมไทย สิ่งไหนดีเราก็นำมาประยุกต์ใช้ แต่สิ่งไหนไม่เหมาะก็ขอให้ถือเป็นตัวอย่างเตือนใจว่าอย่าได้ทำตาม
มหาวิทยาลัยวาเซดะ
มหาวิทยาลัยเคโอ
มหาวิทยาลัยเคโอ
มหาวิทยาลัยริกเกียว
หมายเหตุ :
เฉลยคำตอบ
ประวัติศาสตร์โลก ม.ริกเกียว : 1) c /ลุยเซียนา , 2) b, 3) a, 4) d, 5) b, 6) c
ภาษาอังกฤษ ม.วาเซดะ : 1) E , 2) B, 3) C
ภาษาอังกฤษ ม. เคโอ : 1) 3, 2) 1, 3) 2


**********

คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.manager.co.th

กำลังโหลดความคิดเห็น