xs
xsm
sm
md
lg

สะดุดคำ “เรียนจบแล้วเป็นคนสังคม”

เผยแพร่:   โดย: ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์


ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies


สะดุดคำ คือ มุมพิเศษซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึกที่ลงทุกวันจันทร์ มุมนี้จะเป็นการบอกเล่า ‘ความเคลื่อนไหว’ หรือ ‘สิ่งที่อยู่ในความสนใจ’ ของคนญี่ปุ่นตามโอกาสพิเศษผ่าน ‘คำสำคัญ’ หรือ ‘คำเด่น’ ในช่วงเวลาหรือฤดูกาลนั้น มีกำหนดนำเสนอเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อให้ผู้อ่านสามารถติดตามสิ่งที่เป็นปัจจุบันหรือร่วมสมัยได้ในเวลาใกล้เคียงกับคนญี่ปุ่น อีกทั้งยังต้องการให้ผู้ที่เรียนหรือสนใจภาษาญี่ปุ่นได้นำคำหลักและคำที่เกี่ยวข้องไปใช้พูดคุยกับคนญี่ปุ่นหากมีโอกาสเพื่อให้บทสนทนาน่าสนใจและมีชีวิตชีวา โดยได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับชื่อคนหรือคำญี่ปุ่นไว้ในระดับหนึ่งเพื่ออำนวยประโยชน์แก่ผู้ที่ต้องการค้นคว้าเพิ่มเติม อนึ่ง การถ่ายเสียงจากภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาไทยในทุกบทความอิงหลักการเขียนคำทับศัพท์ภาษาญี่ปุ่นของราชบัณฑิตยสถานเป็นหลักแม้ไม่ทั้งหมดก็ตาม โดยเฉพาะเรื่องการใช้เสียงสั้นและเสียงยาวตามหลักภาษาญี่ปุ่น

คนญี่ปุ่นชอบทำอะไรเป็นขั้นเป็นตอน ไม่เฉพาะแต่เรื่องงานเท่านั้น แต่การมองสิ่งต่างๆ เป็นลำดับขั้นก็ถูกนำมาเป็นเกณฑ์ในการดำเนินชีวิตด้วย เดือนมีนาคมคือช่วงเวลาของการเปลี่ยนขั้นตอนชีวิตสำหรับคนญี่ปุ่นจำนวนมากเพราะเป็นเดือนสุดท้ายในปีงบประมาณ และสำหรับหนุ่มสาวนักเรียนนักศึกษา เดือนนี้คือช่วงเวลาแห่งการจากลาและการฉลองควบคู่กันไป เพราะนี่คือเดือนสำเร็จการศึกษา สถาบันการศึกษาทั่วประเทศจัดพิธีมอบประกาศนียบัตรหรือปริญญาบัตรในช่วงวันที่ 20 กว่าของเดือนนี้กันเป็นส่วนใหญ่ และคำที่ผม (และคนญี่ปุ่นอีกไม่น้อย) ใช้บ่อยมากจึงได้แก่ “โซะสึเงียว” กับ “โอะเมะเดะโต”

“โซะสึเงียว” (卒業;sotsugyō) แปลว่า การจบการศึกษา เมื่อจะใช้เป็นคำกริยาแบบสุภาพ พูดว่า “โซะสึเงียว ชิมะซุ” (卒業します;sotsugyō shimasu) เช่น “ปีหน้าจะเรียนจบครับ” พูดว่า “ไรเน็ง โซะสึเงียว ชิมะซุ” (来年卒業します。;Rainen sotsugyō shimasu) การเรียนจบในที่นี้มัก หมายถึง การเรียนจบช่วงสำคัญในระบบการศึกษา เช่น มัธยมต้น มัธยมปลาย มหาวิทยาลัย แต่คำเดียวกันอาจใช้หมายถึงการเลิกทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งด้วย เช่น จบจากการเป็นโสด จบจากการดื่มเหล้า จบจากวง (ออกจากวงดนตรี)

เมื่อเรียนจบก็จะมีพิธีสำเร็จการศึกษา ซึ่งเรียกว่า “โซะสึเงียว-ชิกิ” (卒業式;sotsugyō-shiki ; ในการศึกษาระดับปริญญาโทและเอกจะใช้คำอื่น คือ “ชูเรียว-ชิกิ” [修了式;shūryō-shiki] ) คนญี่ปุ่นจะพยายามทำอะไรๆ ให้เสร็จภายในปีงบประมาณ ดังนั้น หลังจากการเรียนการสอนและการสอบเสร็จสิ้นลงไม่นาน ก็จะจัดพิธีสำเร็จการศึกษาเลย เดือนมีนาคมจึงเป็นเดือนแห่งการรับปริญญาของมหาวิทยาลัยทั่วญี่ปุ่น จะไม่ทิ้งช่วงสามเดือนห้าเดือนแล้วค่อยจัดเหมือนอย่างของไทย และแน่นอนว่าช่วงรับปริญญาของญี่ปุ่น รถไม่ติด

โดยทั่วไป พิธีประสาทปริญญาบัตรแก่บัณฑิตปริญญาตรีได้รับความสำคัญมาก เพราะถือว่าเป็นหน้าเป็นตาทั้งแก่ตัวเองและครอบครัว อีกทั้งยังเป็นการสิ้นสุดชีวิตนักเรียนที่ใช้เวลามาอย่างน้อย 16 ปี สิ่งที่แตกต่างกันระหว่างพิธีของญี่ปุ่นกับไทยคือ พิธีของญี่ปุ่นจัดสั้นๆ จัด ‘เป็นพิธี’ ประมาณ 2-3 ชั่วโมงเท่านั้น และส่วนใหญ่จะไม่มีการประกาศรายชื่อนักศึกษาผู้เรียนจบทุกคนเนื่องจากมีจำนวนมาก ไม่มีการมอบปริญญาบัตรให้ทีละคนๆ แต่จะมอบให้ตัวแทนไม่กี่คน ผู้มอบคืออธิการบดี ไม่ใช่เชื้อพระวงศ์

ชุดที่ใส่รับปริญญาของปริญญาตรีและโทคือชุดสุภาพอย่างเป็นทางการ ซึ่งก็คือสูทนั่นเอง จะได้เห็นครุยน้อยมากในระดับนี้ ผู้ที่จะใส่ครุยคืออาจารย์ (แต่ถ้าเป็นการประสาทปริญญาดุษฎีบัณฑิต ผู้สำเร็จการศึกษาจะใส่ครุย) บัณฑิตปริญญาตรีจำนวนไม่น้อยทั้งชายและหญิงเลือกที่จะใส่ “ฮะกะมะ” (袴;hakama) ซึ่งเป็นกิโมโนชนิดหนึ่ง และที่แปลกหน่อยสำหรับมหาวิทยาลัยที่ผมสอนอยู่คือ บัณฑิตจำนวนหนึ่งใส่ชุดประจำชาติของภาควิชาภาษาที่ตัวเองเรียนจบ ในงานที่เพิ่งผ่านไป ผมจึงได้เห็นชุดราชปะแตนของบัณฑิตเอกไทยศึกษาด้วย

การถ่ายรูปรับปริญญาในงานของญี่ปุ่นไม่ได้ทำใหญ่โตเป็นอุตสาหกรรมเหมือนของไทย ใครใคร่ถ่ายก็ถ่ายไป แต่เป็นการถ่ายกันเอง แทบไม่มีการจ้างช่างภาพประจำตัวมาถ่ายให้เป็นพิเศษ แต่สิ่งที่เป็นธุรกิจคือการให้เช่าฮะกะมะ โดยเฉพาะสำหรับผู้หญิง ค่าเช่าไม่ต่ำกว่า 4-5 หมื่นเยน และต้องรีบไปจองล่วงหน้าตั้งแต่เนิ่นๆ ต้องซ้อมการสวมใส่และการเดินไว้ด้วยเพราะไม่ใช่ชุดที่ใช้ในชีวิตประจำวัน วิธีใส่ก็ซับซ้อน และผู้ใส่ก็เดินไม่ค่อยถนัดในช่วงแรกๆ ร้านให้เช่าบางแห่งมีบริการถึงที่ คือเมื่อถึงวันจริงก็ขนเสื้อผ้าอาภรณ์และบุคลากรของร้านไปที่มหาวิทยาลัยเลย และเปิดซุ้มแต่งตัวให้แก่ผู้เช่ากันตรงนั้น เมื่อเสร็จพิธีก็ถอดคืนกันเดี๋ยวนั้น ฮะกะมะเป็นชุดที่มีหลายชั้น แต่ก็กลายเป็นเรื่องดีสำหรับช่วงเวลานี้ของปีเพราะอากาศยังเย็นอยู่


เรื่องที่ผมคิดว่าน่าสนใจและเกี่ยวข้องกับ “โซะสึเงียว” โดยตรงคือ การวางช่วงเวลาหางานของนักศึกษา และแนวคิด “คนสังคม” ของญี่ปุ่น ตามปกตินักศึกษาที่ไม่ได้มีแผนจะเรียนต่อในระดับบัณฑิตศึกษา จะเริ่มหางานกันตั้งแต่เรียนจบปี 3 ซึ่งรวมถึงการหาข้อมูลด้วยตนเอง การสอบถามรุ่นพี่ การไปฟังบรรยายของบริษัท จากนั้นจะเริ่มกรอกใบสมัครและส่งไปยังบริษัทที่ตัวเองอยากเข้าโดยเริ่มอย่างจริงจังประมาณเดือนมีนาคม-เมษายน การส่งใบสมัครไม่ใช่การส่งแค่ที่สองที่ แต่ส่ง ‘หลายสิบ’ ตั้งแต่ยี่สิบสามสิบ จนถึงเจ็ดสิบแปดสิบในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี

ทางฝั่งบริษัทจะจัดการบรรยายให้นักศึกษาได้รู้ว่าบริษัทของตัวเองทำธุรกิจอะไร บรรยากาศการทำงานเป็นอย่างไร เงินเดือนประมาณเท่าไร ส่วนหนึ่งคือการโฆษณาบริษัท เพราะส่วนใหญ่ก็พูดถึงแต่ส่วนดีของบริษัทตัวเอง และบางแห่งก็บันทึกไว้ด้วยว่านักศึกษาคนไหนเข้าฟัง หากไม่ไปฟังและยื่นสมัคร บางครั้งเมื่อผ่านไปจนถึงรอบลึกๆ กรรมการสอบสัมภาษณ์อาจถามว่า “ทำไมคุณไม่มาฟัง” การไปฟังบรรยายจึงเป็นเงื่อนไขกลายๆ อย่างหนึ่งของการได้งาน แต่จุดหนึ่งที่ถือว่าเป็นเรื่องดีของบริษัทญี่ปุ่นคือ บริษัทเหล่านี้ต้องการรับนักศึกษาจบใหม่ จึงไม่มีการตั้งข้อกำหนดว่า ‘ต้องมีประสบการณ์’

บริษัทญี่ปุ่นดีตรงที่ ‘สอนคนให้เป็นคนของบริษัท’ เมื่อเข้าทำงานแล้วก็จะสอนงานให้โดยละเอียด หรืออาจจะละเอียดมากไปสำหรับคนไทย คนไทยจำนวนมากที่ทำงานอยู่ในบริษัทญี่ปุ่นจึงมักบ่นว่าบริษัทญี่ปุ่นจุกจิก หรืออีกกระแสหนึ่งคือ บริษัทญี่ปุ่นให้เงินเดือนเยอะก็จริง แต่ใช้งานหนัก เรียกว่า ‘ใช้คุ้ม’ เลยทีเดียว ในทางกลับกัน บริษัทญี่ปุ่นถือว่าเป็นการสอนงานและสร้างคนให้เป็นส่วนหนึ่งของบริษัท ยึดถือบริษัทเป็นบ้าน คนทำงานจึงต้องทุ่มเทให้แก่ครอบครัว

ในการรับนักศึกษาจบใหม่เข้าทำงาน ทางบริษัทจะคัดคนออกในรอบแรกๆ ด้วยวิธีการสอบหรือวัดคุณลักษณะประจำตัวผ่านการสอบข้อเขียน (ทางออนไลน์) ทั้งด้านความรู้และบุคลิกภาพ ในรอบแรกนั้นมีผู้สมัครเป็นพันๆ เพราะนักศึกษาต่างคนต่าง ‘หว่าน’ ด้วยกลัวว่าจะไม่ได้งาน เมื่อผ่านจุดนี้ไปแล้ว รอบต่อไปคือการสัมภาษณ์ อาจจะมีทั้งการสัมภาษณ์ตัวต่อตัว หรือถูกจับกลุ่มอภิปรายโดยมีผู้ประเมินคอยสังเกตการณ์ การสัมภาษณ์มักจะมีขึ้นมากกว่า 1 ครั้ง บางคนต้องสอบสัมภาษณ์ถึง 5 ครั้ง ดังนั้น เมื่อเปิดภาคเรียนในเดือนเมษายน เรื่อยไปจนถึงพฤษภาคม นักศึกษาปี 4 จะขาดเรียนบ่อยเพราะติดการหางาน ซึ่งอาจคาบเกี่ยวไปจนถึงก่อนฤดูร้อนประมาณเดือนกรกฎาคม หรือในกรณีที่ไม่ราบรื่นอาจจะลากยาวไปถึงปลายปีก็มีจนกว่าจะได้รับ “การเสนองาน” ซึ่งเรียกว่า “ไนเต” (内定;naitei) และจะถือว่าได้งานอย่างแท้จริงเมื่อ “โซะสึเงียว”—เรียนจบ เปลี่ยนสถานะจากนักศึกษากลายเป็น “คนสังคม”

ที่ผมบอกว่าคนญี่ปุ่นมองชีวิตเป็นขั้นตอนนั้นจะเห็นชัดก็ตรงนี้ กล่าวคือ ภาษาญี่ปุ่นมีคำว่า “ชะไกจิง” (社会人;shakai-jin)คำแปลตามรูปศัพท์ คือ “ชะไก”—สังคม และ “จิง”—คน ผมจึงใช้คำว่า “คนสังคม” แต่อาจฟังเข้าใจยากเมื่อเป็นภาษาไทย จึงต้องอธิบายตามที่คนญี่ปุ่นใช้สื่อสารกัน คือเมื่อเรียนจบและ “เข้าสู่สังคม” ชีวิตก็จะเปลี่ยนสภาพจากนักเรียนไปเป็น “คนสังคม” การเรียนจบจึงเป็นเส้นแบ่งชีวิตของคนญี่ปุ่น ความเป็นผู้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในสังคมจะเกิดขึ้นเมื่อนักศึกษาจบใหม่เริ่มทำงาน ซึ่งหมายรวมถึงคนที่เรียนจบระดับมัธยมหรือระดับอื่นๆ แล้วออกมาทำงานเลยด้วย ฉะนั้น ความเป็น “ชะไกจิง” ของคนญี่ปุ่นแต่ละคนจึงช้าเร็วไม่เท่ากัน

คำว่า “เข้าสู่สังคม” ไม่ได้หมายถึงการออกงานพบปะสังสรรค์ แต่หมายถึงการเป็นคนทำงานผู้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนสังคมให้ดำเนินไป ถ้ามองจากมุมนี้จะเห็นได้ว่า คนญี่ปุ่นถือว่า “สังคม” ของคนญี่ปุ่นคือ การที่กลุ่มคนมีส่วนร่วมใน “การผลิต” ให้เกิดดอกออกผลแก่สิ่งแวดล้อมรอบตัวและหน่วยที่ตนสังกัด ผมเคยถกกับคนญี่ปุ่นว่า “นั่นหมายความว่า พวกคุณมองว่านักเรียนนักศึกษาไม่ใช่คนในสังคมหรือ” คู่อภิปรายของผมก็ไม่ได้ตอบตรงๆ แต่บอกว่า นักเรียนนักศึกษาในญี่ปุ่นได้รับสิทธิพิเศษหลายอย่าง เช่น ซื้อตั๋วเดือนโดยสารรถไฟก็ซื้อได้ในราคานักเรียน ได้ส่วนลดในการจ่ายค่าโทรศัพท์มือถือ ได้รับการยกเว้นไม่ต้องจ่ายเบี้ยประกันสังคม ซื้อตั๋วรถไฟชิงกันเซ็งได้ในราคาถูกกว่า

เมื่อประมวลความแล้ว “ชะไกจิง” หรือ “คนสังคม” ก็คือ “คนทำงาน” นั่นเอง และเมื่อมองแบบญี่ปุ่น พวกนักเรียนนักศึกษาคือ “ผู้รับ” ประโยชน์จากสังคมเสียมากกว่า แต่ “คนทำงาน” คือ “ผู้ให้” ที่สร้างประโยชน์แก่สังคม ใครจะมองว่าเป็นเกียรติหรือเป็นภาระย่อมแล้วแต่คน แต่การ “โซะสึเงียว” ย่อมถือว่าเป็นเรื่องน่ายินดีแน่นอนเพราะเป็นขั้นตอนที่สำคัญในชีวิต ทั้งการจบจากสถาบันการศึกษา และจบจากการเป็นผู้รับไปเป็นผู้ให้ในคราวเดียวกัน คำสุดท้ายที่ฝากไปกับลูกศิษย์ทั้งหลายในเดือนนี้จึงเป็น “โอะ-เมะเดะโต โกะซะอิมะซุ” (おめでとうございます;O-medetō gozaimasu) – “ขอแสดงความยินดีด้วยครับ”

**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.manager.co.th

กำลังโหลดความคิดเห็น