xs
xsm
sm
md
lg

ฤดูฤดีแด

เผยแพร่:   โดย: ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์


ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies


ภูมิใจในฤดูของตัวเอง

ทางการประกาศว่าดอกซากุระที่เมืองฟุกุโอะกะทางใต้ของประเทศ กับเมืองนะโงะยะทางตอนกลางของประเทศ บานแล้วในวันที่ 19 มีนาคม เป็นการบานระลอกแรกของดอกซากุระในปีนี้ พอดอกซากุระบานความเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลก็เห็นได้ชัดเจนขึ้น หลายสิ่งกำลังจะจบลง และอีกหลายสิ่งกำลังจะเริ่มต้น เช่นเดียวกับฤดูเก่าและฤดูใหม่ที่หมุนเวียนแบบนี้มานานปี ด้วยฤดูกาลที่ผันผ่านเช่นนี้ ถือเป็นโอกาสดีที่ผมจะได้แนะนำให้ทราบกันว่าในช่วง 1 ปี คนญี่ปุ่นมีกิจกรรมที่สัมพันธ์กับฤดูกาลอย่างไรบ้าง โดยเริ่มมองจากเดือนเมษายนซึ่งเป็นเดือนเริ่มต้นปีงบประมาณใหม่

ก่อนอื่น ตามความรู้สึกส่วนตัว ถ้าไม่นับเรื่องการเกษตรแบบดั้งเดิม ที่ไม่ว่าไทยหรือญี่ปุ่นต่างก็ต้องพึ่งพาดินฟ้าอากาศแล้ว ผมคิดว่าคนญี่ปุ่นโดยทั่วไปใส่ใจและอ่อนไหวต่อฤดูกาลมากกว่าคนไทย อันเป็นผลมาจากความแตกต่างอย่างเด่นชัดของแต่ละฤดูกาล และแต่ละช่วงเวลาที่แตกต่างกันในญี่ปุ่น ผลไม้ ทัศนียภาพ หรืออาหารการกินหลากชนิด จะผลัดกันออกมาทำให้อารมณ์และจิตใจของคนญี่ปุ่นหมุนเวียนเปลี่ยนสีสันไปตามฤดูนั้นๆ จนผมเองก็ซึมซับและมีอารมณ์ร่วมไปด้วย เฝ้ารอซากุระ ดอกไม้ไฟ ใบไม้เปลี่ยนสี รอหิมะ และอะไรๆ อีกหลายรอ อย่างที่คนญี่ปุ่นรอกันทุกฤดู

ฤดูกาลที่แตกต่างนี้ นอกจากจะเอื้อให้คนญี่ปุ่นมีอะไรทำหลากหลายในแต่ละช่วงแล้ว ยังกลายเป็นความภาคภูมิใจของคนญี่ปุ่นด้วย ลองถามหาความภูมิใจในห้วงสำนึกของคนแดนอาทิตย์อุทัยดูเถิด คนญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยจะภูมิใจเสนอคำตอบว่า “ชิกิ” (四季;shiki)

“ชิ” แปลว่า สี่, “คิ” (หรือที่ออกเสียงเป็น “กิ” ในคำนี้) แปลว่า ฤดู ญี่ปุ่นโชคดีตรงที่มีสี่ฤดูสลับกันมาช่วยสร้างบรรยากาศและปรับอารมณ์ แบ่งแยกอย่างชัดเจนให้ ‘รู้สึก’ และให้ ‘เห็น’ คือ “ฮะรุ” (春;haru – ฤดูใบไม้ผลิ; มีนาคม - พฤษภาคม), “นะสึ” (夏;natsu – ฤดูร้อน; มิถุนายน - สิงหาคม), “อะกิ” (秋;aki – ฤดูใบไม้ร่วง; กันยายน - พฤศจิกายน), “ฟุยุ” (冬;fuyu – ฤดูหนาว; ธันวาคม - กุมภาพันธ์) โดยมีช่วงฝนชุกซึ่งเรียกว่า “สึยุ” (梅雨;tsuyu) แทรกอยู่ราวเดือนเศษ คือตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนกรกฎาคม ชื่อที่ใช้เรียกฤดูยังได้กลายเป็นชื่อคนญี่ปุ่นที่คุ้นหูคนไทยหลายคนด้วย ไม่ว่าจะเป็น ฮะรุโกะ นะสึโกะ อะกิโกะ ถ้าได้ยินชื่อเหล่านี้ พึงสันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้หญิงที่เป็นเจ้าของชื่อ น่าจะเกิดในฤดูตามที่ชื่อนั้นระบุ

จตุฤดูของญี่ปุ่นมีลักษณะเฉพาะผิดแผกกันไป ทำให้คนไทยจำนวนไม่น้อยรู้สึกอิจฉา อยากเห็นใบไม้เปลี่ยนสี ได้เล่นสกีในหน้าหิมะ ชมดอกซากุระในเดือนสามเดือนสี่ หรือได้กินบะหมี่เย็นในหน้าร้อนกับเขาบ้าง หลายอย่างนี้ไม่มีให้เราทำ เพราะเราไม่ได้มีสี่ฤดูอย่างเขา...แต่เราก็มีความสุขแบบร้อนๆ ของเรา

หลายครั้งมีคนญี่ปุ่นถามผมว่า “เมืองไทยมีชิกิไหม?”
“ไม่” ผมตอบโดยไม่ต้องคิด แต่ก็ภูมิใจในความ ‘ไม่มี’ ของเรา แล้วว่าต่อ
“ถ้าเป็นฤดูไทยต้องร้อนแบบไตรภาค” สามตอนจบดังว่าไม่ต้องคอยท่าข้ามปีเหมือนหนังสไปเดอร์แมน เพราะร้อนแดนสยามตามมุกไทย ๆ ... “คือ อะสึอิ, โทะเตะโมะ อะสึอิ, อิชิบัง อะสึอิ! (Atsui. Totemo atsui. Ichi-ban atsui!) – ร้อน ร้อนมาก และร้อนที่ซู้ด!”

พออธิบายแบบนี้เท่านั้นแหละ…คนญี่ปุ่นปล่อยก๊าก

ตอบด้วยมุกสามฤดูแบบไทย แต่ได้เสียงหัวเราะเป็นสัญชาติญี่ปุ่น แสดงว่าฤดูร้อนแบบไทยเป็นที่ยอมรับในระดับสากล (คนไทยก็น่าจะภูมิใจยิ่งกว่าการมีสี่ฤดู? )

กิจกรรมตามฤดูของญี่ปุ่น

เมื่อมองเหตุการณ์หรือกิจกรรมประจำฤดู คนญี่ปุ่นโดยทั่วไป ถ้าได้ยินชื่อกิจกรรมเด่นๆ ขึ้นมา ไม่ต้องหลับตานึกก็จะเห็นภาพได้ทันทีว่าเหตุการณ์แบบนั้นแบบนี้เป็นของฤดูอะไร ฤดูที่ทำให้คนญี่ปุ่นตื่นเต้นที่สุด คือ ฤดูใบไม้ผลิ ถึงหน้านี้เมื่อไร ในหัวของคนญี่ปุ่นจะมีแต่ภาพของความปีติ เพราะมีแต่เรื่องน่ายินดี บรรยากาศก็ดี อากาศก็เย็นสบาย มีดอกซากุระบานให้ดู มีแต่การฉลองและการเริ่มต้น ไล่มาตั้งแต่เทศกาลวันเด็กผู้หญิงหรืออีกนัยหนึ่งคือ “เทศกาลตุ๊กตา” ตอนต้นเดือนมีนาคม ซึ่งแต่ละบ้านจะเอาตุ๊กตาสวยงามออกมาตั้งประดับบนหิ้ง ว่ากันว่า ถ้าเอาออกมาโชว์แล้วไม่รีบเก็บ ลูกสาวบ้านนั้นจะแต่งงานช้า ปลายเดือนมีนาคมจะเป็นช่วงฉลองเรียนจบของนักเรียนนักศึกษา พอเข้าเดือนเมษายนก็ถึงช่วงเวลาเข้าเรียนและเข้าทำงาน พอมีคนใหม่เข้ามา ก็ฉลองกันอีก ถัดไปในเดือนพฤษภาคมมี “โคะอิโนะโบะริ” (こいのぼり;koi-nobori - การประดับธงปลาคาร์ป) ในเทศกาลวันเด็ก (ผู้ชาย) ซึ่งก็ถือว่าเป็นการฉลองอีก ภาพลักษณ์ของฤดูนี้จึงมีแต่ความสดใสร่าเริง




พอถึงกลางปีจะเริ่มเข้าสู่ฤดูร้อน สิ่งที่มาก่อนคือฝนรับร้อนในเดือนมิถุนายน เดือนนี้จึงเป็นหน้าทำนาของญี่ปุ่น ครั้นเข้าเดือนกรกฎาคม มีเทศกาล “ทะนะบะตะ” (七夕;Tanabata) คนญี่ปุ่นจะเขียนความปรารถนาลงบนริ้วกระดาษ เอาไปห้อยติดไม้ไผ่ (ตำนานเล่าว่า ดวงดาวเจ้าหญิงโอะริฮิเมะกับดวงดาวฮิโกะโบะริซึ่งเป็นชายคนรักที่ถูกห้ามพบกัน จะโคจรมาพบกันได้ปีละครั้งในวันที่ 7 กรกฎาคม ซึ่งเป็นวันจัดเทศกาลทะนะบะตะ) และในเดือนสิงหาคม ซึ่งถือว่าเป็นไฮไลต์ของฤดูร้อนในญี่ปุ่น และเป็นเดือนที่ร้อนที่สุด มีมหกรรมดอกไม้ไฟที่น่าตื่นตาตื่นใจทุกปี

ถัดไปอีกนิดจะถึงฤดูใบไม้ร่วงซึ่งเป็นหน้าเก็บเกี่ยวของญี่ปุ่น มีผลหมากรากไม้ออกมามากมาย ช่วงนี้เป็นฤดูมรสุม มีพายุเข้าญี่ปุ่นมาก (กันยา/ตุลา) อากาศเย็นลง คนเริ่มกินอาหารหม้อไฟกันบ่อยขึ้นเพื่อดับหนาว (ตลอดฤดู) และมีเทศกาลชมจันทร์ (กันยา) ถ้าเป็นเด็กนักเรียน กิจกรรมประจำหน้านี้คือการเดินทางไกล (กันยา) และการแข่งกีฬา (ตุลา) พอถึงเดือนพฤศจิกายน คนญี่ปุ่นจะตั้งตารอชมใบไม้เปลี่ยนสี ซึ่งเรียกว่า “โคโย” (紅葉;kōyō)

เมื่อเข้าฤดูหนาว บรรยากาศของกีฬาประจำฤดูทั้งสกีและสโนว์บอร์ดจะคึกคัก พนักงานบริษัทและนักศึกษานัดแนะกันไปเล่นสกีตามภูเขา ฤดูนี้เป็นช่วงที่มีปาร์ตี้ชุกที่สุด มีการฉลองคริสต์มาส (ธันวา) ซึ่งคนญี่ปุ่นที่ไม่ได้นับถือศาสนาคริสต์ก็ตื่นเต้นไปกับเขาด้วย มีปาร์ตี้ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ (ธันวา/มกรา) พอถึงเดือนกุมภาพันธ์ก็ถึงช่วงเวลาของ “เซะสึบุง” (節分;setsu-bun) มีการโปรยถั่วไล่ความชั่วร้าย
ดอกทานตะวันในหน้าร้อน
ชุดกิโมโนลำลองสำหรับหน้าร้อน

ลูกพลับ ผลไม้ประจำฤดูใบไม้ร่วง
ดูเหมือนว่าในหนึ่งปีของญี่ปุ่น สี่ฤดูได้ขีดเส้นกำหนดไว้ชัดเจนว่าคนญี่ปุ่นจะทำอะไร หรือจะใช้ประโยชน์จากสี่ฤดูอย่างไรให้เพลินใจที่สุด คนญี่ปุ่นแต่ละคนอาจเห็นภาพลักษณ์ของสี่ฤดูกาลเป็นสีที่ต่างกันตามแต่ภูมิหลังหรือถิ่นที่อยู่ของตน แต่สำหรับคนต่างชาติอย่างผมที่ได้สัมผัสสี่ฤดูของญี่ปุ่นด้วยนั้น สีประจำฤดูที่ติดตาผม คือ ฤดูใบไม้ผลิ - สีชมพู (ด้วยดอกซากุระ), ฤดูร้อน - สีเขียว (ด้วยต้นไม้ใบหญ้า), ฤดูใบไม้ร่วง - สีแดง (ด้วยใบไม้เปลี่ยนสี), ฤดูหนาว - สีขาว (ด้วยหิมะ)

สีที่คนญี่ปุ่นแต่ละคนรู้สึกติดตาอาจต่างกันออกไปเล็กน้อยตามภูมิภาค แต่สิ่งหนึ่งที่แน่ชัดทั่วประเทศคือ ขณะนี้คนญี่ปุ่นพูดถึงฤดูกาลในทำนองที่ว่า ความรู้สึกของคนญี่ปุ่นต่อฤดูกาลจางลงกว่าเมื่อก่อนมาก เพราะความเจริญด้านเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงไปของภูมิทัศน์ตามที่ต่างๆ ยิ่งคนในเมืองยิ่งแล้วใหญ่ อยู่ในฤดูหนาวก็ไม่ค่อยรู้สึกว่าหนาวมาก เพราะมีเครื่องทำความร้อนในบ้าน ตามถนนหนทางก็ไม่เห็นดอกไม้ของฤดูใบไม้ผลิหลากหลายชนิดเหมือนก่อน ผลไม้ก็มีให้กินตลอดปี ที่กลายเป็นอย่างนี้ไม่ใช่เพราะคนญี่ปุ่นอยากจะละทิ้งความรู้สึกด้านฤดูกาล แต่เป็นเพราะปัจจัยภายนอกทำให้หลายอย่างเปลี่ยนไป



อย่างไรก็ตาม ดังที่ทราบกันดีว่า สิ่งที่จะได้จากการไปเรียนต่างประเทศคือ การเรียนรู้วัฒนธรรมและความเป็นอยู่ของคนชาตินั้น จากประสบการณ์ของตัวเอง พูดได้เต็มปากว่าการได้มาเรียนที่ญี่ปุ่น ไม่เพียงแต่ทำให้รู้กว้างขึ้นในเชิงวิชาการเท่านั้น แต่ในด้านจิตใจแล้ว ยังได้รับการกล่อมเกลาให้อ่อนไหวยิ่งขึ้นด้วยวัฒนธรรมการชื่นชมธรรมชาติผ่านฤดูกาลของคนญี่ปุ่น

พอนั่งทบทวนถึงวันแรกที่ตัวเองได้มาญี่ปุ่นจวบจนกระทั่งถึงวันนี้ พบความแตกต่างในใจได้อย่างชัดเจนคือ กลายเป็นคนที่ช่างสังเกตความเปลี่ยนแปลงในธรรมชาติรอบตัวมากขึ้นกว่าก่อน และจิตใจมีมิติมากขึ้น แทนที่จะมองอะไรแบบทื่อๆ ตรง ๆ อย่างเดียว ตอนนี้กลับรู้สึกซาบซึ้งกับภูมิอากาศ และทัศนียภาพได้อย่างอิ่มเอมใจด้วย ข้อสรุปจึงได้รับการตอกย้ำอีกครั้งว่าฤดูกาลส่งอิทธิพลต่อชีวิตจิตใจทั้งทางตรงและทางอ้อม และเมื่อถึงฤดู ไม่ใช่แค่ “ฤดูฤดีแด สัตว์สู่ กันนา” เท่านั้น แต่ชีวิตประจำวันของมนุษย์สองขา...แม้อาจจะเป็นคนละเรื่องกับที่ศรีปราชญ์ว่าไว้...ก็ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของฤดูอย่างแนบแน่น

**********

คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.manager.co.th

กำลังโหลดความคิดเห็น