ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies
Tokyo University of Foreign Studies
จากอดีตถึงปัจจุบัน
ด้วยความงามและด้วยปรัชญาที่แฝงอยู่ ดอกซากุระจึงกลายเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของแดนอาทิตย์อุทัย สำหรับญี่ปุ่น คงไม่มีอะไรจะสะท้อนเอกลักษณ์ความเป็นญี่ปุ่นได้ดีเท่าดอกซากุระ และเมื่อพูดถึงวัฒนธรรมญี่ปุ่น หากไม่พูดถึงดอกซากุระก็ดูเหมือนเป็นการมองข้ามสุนทรียรสตามแบบฉบับญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นเองก็ถือว่าดอกซากุระคือดอกไม้แห่งดอกไม้ แปลไทยเป็นไทยคือเป็นเจ้าแม่แห่งดอกไม้ เป็นสุดยอดของดอกไม้ ชีวิตจึงเกี่ยวพันกับดอกไม้ชนิดนี้มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันในหลายด้าน
เมื่อมองแนวคิดเชิงขนบตั้งแต่อดีตจะพบว่า “โอะฮะนะมิ” หรือการชมดอกซากุระ มีเหตุผลมากกว่าการนิยมความงามของดอกไม้ แต่มีแง่มุมด้านความเชื่อด้วย คือ เชื่อกันว่าดอกไม้คือสื่อที่เทพเจ้าลงมาสถิต การได้จัดงานเลี้ยงอาหารภายใต้ต้นไม้จึงเปรียบได้กับการจัดพิธีรับประทานอาหารร่วมกันระหว่างคนกับเทพเจ้า หลังจากถวายอาหารให้เทพแล้วคนก็กินอาหาร ทำให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างคนกับเทพ
นอกจากนี้ ซากุระยังเกี่ยวพันกับการเกษตรด้วย สมัยก่อน เกษตรกรจะพากันออกไปร่วมวงเพื่อกระชับความสัมพันธ์กันในโอกาสอย่างนี้ และโดยเฉพาะในด้านการลงมือทำเกษตร ดอกซากุระก็มีความสำคัญเป็นพิเศษ เพราะดอกซากุระบานคือสัญญาณบอกเวลาว่าฤดูเพาะปลูกกำลังจะเริ่มต้น ถ้าดอกซากุระร่วงเมื่อไร แสดงว่าถึงฤดูทำนา
และในอีกด้านหนึ่งคือ โอะฮะนะมิคือวัฒนธรรมที่สะท้อนการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับธรรมชาติ การได้ดื่มกินภายใต้ชายร่มดอกไม้ เป็นพฤติกรรมการนำชีวิตซึ่งเกิดจากธรรมชาติไปสัมผัสกับธรรมชาติ อีกทั้งการดื่มซะเกะ (酒;sake) หรือเหล้าญี่ปุ่น (ไม่ใช่เหล้าที่ทำจากลูกสาเก) และเชื่อกันว่าการกินข้าวปลาอาหารที่มีละอองเกสรร่วงหล่นมาใส่ จะทำให้สุขภาพแข็งแรง อีกทั้งยังเป็นการประสานความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนที่ออกมาร่วมวงกันให้แนบแน่นยิ่งขึ้นด้วย
ในปัจจุบัน ดอกซากุระซึ่งเป็นของคู่กับฤดูใบไม้ผลิก็ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมญี่ปุ่นอย่างแยกกันไม่ออก โดยเข้าไปเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตซึ่งมีให้เห็นหลายตัวอย่าง ตอนใกล้สิ้นเดือนมีนาคมหรือต้นเดือนเมษายน ผู้คนจะเฝ้ารอดอกซากุระซึ่งจะเป็นสัญญาณชี้ว่าความหนาวเย็นกำลังผ่านพ้นไป และความกระปรี้กระเปร่าของการเริ่มรอบปีกำลังจะมาถึง
อะไรใหม่ๆ ในญี่ปุ่นมักเริ่มต้นขึ้นในเดือนเมษายนซึ่งเป็นเวลาที่ดอกซากุระบาน ดอกที่บานสะพรั่งทำให้ผู้คนเบิกบาน และสร้างบรรยากาศเหมาะแก่การเริ่มต้น ปีงบประมาณ ปีธุรกิจ และปีการศึกษาของญี่ปุ่นเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พนักงานใหม่เริ่มงานในบริษัท นักเรียนนักศึกษาเริ่มเข้าเรียนในปีการศึกษาใหม่ พิธีต้อนรับก็จัดท่ามกลางทัศนียภาพที่มีดอกซากุระชูช่อ และมีการนำดอกซากุระมาประดับในงานพิธี
“ซากุระ” เป็นชื่อคน (ผู้หญิง) ด้วย เหรียญหนึ่งร้อยเยนของญี่ปุ่นก็พิมพ์รูปดอกซากุระลงไป ภาพวาดหรือภาพถ่ายจำนวนมากก็ใช้ซากุระเป็นสัญลักษณ์แทนญี่ปุ่น ชื่ออาหารที่ใช้คำว่าซากุระก็มีหลายอย่าง เช่น ซากุระนิกุ (桜肉;sakura-niku = เนื้อม้า/ เรียกเช่นนี้เพราะเนื้อม้ามีสีชมพูเหมือนดอกซากุระ), ซากุระยุ (桜湯;sakura-yu = น้ำดื่ม (อุ่น) ซากุระ/ ทำโดยนำน้ำร้อนใส่ดอกซากุระแช่เกลือ ใช้ในงานฉลอง), ซากุระโมะชิ (桜餅;sakuramochi = ขนมญี่ปุ่นไส้ถั่ว หุ้มด้วยข้าวเหนียวทำเป็นสีชมพู ห่อด้วยใบซากุระอีกที ทานในการฉลองวันเด็กผู้หญิง 3 มีนาคม) หรือลักษณะด้านความฉาบฉวยอันเกิดจากการร่วงเร็วของดอกซากุระก็นำมาใช้เรียกมนุษย์หน้าตาอาชาไนยด้วย ...ชื่อฟังไพเราะ แต่เพราะความประเดี๋ยวประด๋าว ชาวญี่ปุ่นจึงเรียกบรรดา “หน้าม้า” ทั้งหลายว่า “ซากุระ”
เพลงญี่ปุ่นที่ใช้ชื่อว่าซากุระก็มีซ้ำกันมากมาย แต่คนญี่ปุ่นก็ยังคงตั้งชื่อแบบนี้ต่อไป แล้วก็ฟังกันไม่รู้เบื่อ หลายเพลงกลายเป็นเพลงฮิต ในช่วงสหัสวรรษใหม่นี้ เพลงป็อปที่เคยฮิตติดตลาดนานจนกลายเป็นเพลงประจำฤดูไปในที่สุดก็มีชื่อว่า “ซากุระ” เป็นผลงานของนะโอะตะโร โมะริยะมะ (ฟังได้ทางยูทิวบ์)
หรือถ้าเป็นเพลงที่คนญี่ปุ่นรู้จักมาช้านานและแพร่หลายที่สุดเพลงหนึ่ง ก็ไม่พ้นเพลงคลาสสิกที่ชื่อว่า “ซากุระ ซากุระ” (さくらさくら;Sakura Sakura) ซึ่งคนญี่ปุ่นเริ่มร้องกันตั้งแต่เรียนชั้นประถม ใครที่จำเนื้อร้องไม่ได้ แต่ถ้าเกิดและเติบโตที่ญี่ปุ่นต้องเคยได้ยินแน่ ๆ ผมได้ยินทีแรก รู้สึกว่ามีความเป็นญี่ปุ่นมาก ทั้งการเลื่อนไหลของทำนอง เสียงเครื่องดนตรี และเนื้อร้อง สถานีรถไฟบางแห่งในกรุงโตเกียวก็ใช้ทำนองเพลงนี้เป็นสัญญาณประจำสถานี
ผมเคยไปร้านอาหารญี่ปุ่นในเมืองไทย บางทีก็มีเพลง “ซากุระ ซากุระ” ลอยมาเข้าหูด้วย คนไทยทั่วไปอาจไม่ทราบว่าในบรรดาเพลงที่เปิดคลอตามร้านอาหารญี่ปุ่นมีเพลงนี้อยู่ด้วย แต่ในญี่ปุ่น เพลงนี้คุ้นหูกันดี ถึงกับมีบางคนบอกว่า แหม...น่าจะยกให้เป็นเพลงชาติเลยดีไหม เนื้อเพลง “ซากุระ ซากุระ”ในยุคหลัง มีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างวรรคสองวรรค ของเดิมว่าไว้อย่างนี้
さくら さくらSakura Sakura
やよいの空はYayoi no sora wa
見わたすかぎりMiwatasu kagiri
かすみか雲かKasumika kumoka
匂いぞNioi zo
出ずるIzuru
いざや いざやIzaya izaya
見にゆかん Mini yukan
ถอดความตามเนื้อร้องได้ว่า
ซากุระ ซากุระพื้นโพยมเดือนสามไพรู
โพ้นไกลสุดนัยน์เพ่งดูฤๅรู้หมอกฤๅเมฆา
งามผาดเผยกลิ่นลิ่วลิตงามพิศชวนชิดใฝ่หา
เชิญชมเถิดเชิญทัศนาเจ้าข้าเร็วมาไปชม
พันธุ์และการบาน
สิ่งหนึ่งที่ดอกซากุระเหมือนกับดอกไม้ชนิดอื่นคือ มีมากกว่าหนึ่งสีและมีหลายพันธุ์ แต่ละพันธุ์จะบานช้า-เร็วเหลื่อมล้ำกันนิดหน่อย ซากุระไม่ได้มีแค่สีชมพูโทนเดียวอย่างที่คนต่างชาติจำนวนมากเข้าใจ แต่มีทั้งชมพูเข้มและชมพูอ่อน และมีสีขาวด้วย พันธุ์ของดอกซากุระ ถ้าแบ่งกว้างๆ มี 2 ประเภท คือ ซากุระป่ากับซากุระสวน
ซากุระป่าเป็นดังที่ชื่อบอก คือ ขึ้นตามป่า เช่น พันธุ์โอชิมะซากุระ (ดอกสีขาว), เอะโดะฮิงัง (ดอกสีชมพูอ่อน) พันธุ์ที่ถือว่าเป็นตัวแทนพันธุ์ป่าของญี่ปุ่นคือ ยะมะซากุระ (ดอกสีชมพู) ซึ่งคนโบราณขับขานพรรณนาซากุระพันธุ์นี้ไว้ในโคลงกลอนมากมาย
ส่วนซากุระสวน คือ ซากุระที่คนผสมสายพันธุ์ขึ้นมาและปลูกไว้ชมความงาม พันธุ์ที่ถือว่าเป็นตัวแทนของซากุระสวน คือ โซะเมโยะชิโนะ ซึ่งพบเห็นได้กว้างขวางและกลายเป็นภาพปฏิทินอยู่บ่อยๆ พันธุ์นี้ไม่ใช่ไม้โบราณ คนญี่ปุ่นเพิ่งขยายสายพันธุ์ขึ้นมาเมื่อปลายสมัยเอะโดะ ถ้าเดินอยู่ในกรุงโตเกียวแล้วเห็นดอกซากุระสีชมพูอ่อน ดูบอบบาง ออกดอกเป็นพุ่มคลุมต้น เป็นไปได้สูงว่านั่นคือโซะเมโยะชิโนะ เนื่องจากคนญี่ปุ่นนิยมชมชอบเป็นพิเศษ จึงนำไปปลูกไว้มากมายตามสวนสาธารณะ มหาวิทยาลัย ตามริมถนน นอกจากนี้ยังมีอีกหลายพันธุ์ เช่น ฟุเก็นโซ (ดอกสีชมพูอมขาว), คันซัง (ดอกสีชมพูเข้ม กลีบดอกซ้อน) เป็นต้น ส่วนพันธุ์ที่ผมชอบเป็นการส่วนตัวคือ ชิดะเระซากุระ (ดอกสีชมพูจัด ช่อดอกชูสูงและย้อยเป็นระย้าคล้ายร่ม)
ผมรู้สึกว่าซากุระเป็นต้นไม้ที่พิเศษมาก ตอนอากาศอุ่นก็เป็นต้นไม้ใบเขียวตามปกติ เมื่อเหมันต์มาเยือนก็จะแปลงโฉม สลัดใบทิ้งจนเปลือยเปล่า เหลือแต่กิ่งก้านกับลำต้นสู้ทนลมหนาว พออากาศเริ่มอุ่นอีกก็ออกดอกบานสะพรั่งเต็มต้น ไม่มีใบโผล่เข้ามาแทรก ดอกออกมาก่อนใบ ทั้งต้นจึงกลายเป็นสีชมพู ส่วนใบจะค่อยๆ ผลิออกทีหลังเมื่ออากาศอุ่นยิ่งขึ้น
ญี่ปุ่นมีต้นซากุระอยู่ทุกพื้นที่ ปีไหนอากาศอุ่นเร็วหน่อยดอกซากุระอาจบานเร็ว ปีไหนหนาวนานก็บานช้า ดอกซากุระบานไล่ขึ้นมาจากภาคใต้ คือ โอะกินะวะ คิวชู ฮอนชู ไล่ขึ้นไปทางเหนือสุดถึงฮอกไกโดตามอุณหภูมิที่อุ่นขึ้น ดูเหมือนว่าถ้าขาดซากุระ ชีวิตคนญี่ปุ่นคงจืดชืดลงไปอีกมาก ฉะนั้น เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนได้เพลิดเพลินไปกับความรื่นรมย์อย่างหนึ่งในชีวิต ทุกปีจะมีการพยากรณ์ช่วงวันที่ดอกซากุระบาน สื่อมวลชนก็จะขานรับ ช่วยกันออกอากาศให้คนได้เตรียมตัว หน้าที่พยากรณ์นี้ไม่ใช่ของกรมป่าไม้ แต่เป็นของสำนักงานอุตุนิยมวิทยาเพราะซากุระบานตามอากาศ ที่ญี่ปุ่น นอกจากแนวความกดอากาศสูง-ต่ำแล้ว คนญี่ปุ่นยังมี “แนวซากุระ” (桜前線;sakurazensen) ให้พยากรณ์ทุกปีเป็นของแถม
โดยทั่วไปดอกซากุระที่ทางการใช้เป็นเกณฑ์พยากรณ์การบาน คือ พันธุ์โซะเมโยะชิโนะ ในการพยากรณ์ได้มีการกำหนดต้นซากุระมาตรฐานเอาไว้ตามแต่ละพื้นที่ สำหรับของกรุงโตเกียว ต้นซากุระมาตรฐานอยู่ที่ศาลเจ้ายะซุกุนิใจกลางกรุง ถ้าต้นเหล่านี้เริ่มผลิดอกตูมออกมาสัก 5 – 6 ดอก ก็เตรียมตั้งตารอได้
ถ้าปีไหนคนญี่ปุ่นไม่ได้ออกไปโอะฮะนะมิ ปีนั้นจะรู้สึกว่าชีวิตขาดอะไรบางอย่าง ฉะนั้น ตามสถานที่โด่งดังในกรุงโตเกียว เช่น ริมแม่น้ำซุมิดะ สวนอุเอะโนะ สวนอิโนะกะชิระ สวนชินจุกุเกียวเอ็ง หรือในนครเกียวโตที่อะระชิยะมะ และศาลเจ้าเฮอัง ถ้าซากุระบานเมื่อไร ไม่มีปีไหนที่จะไม่แน่น
ใครๆ ต่างก็ปรารถนาจะได้นั่งอยู่ท่ามกลางหมู่มวลดอกซากุระอันเป็นความสุขแบบญี่ปุ่น จะว่าไปก็น่าสงสารซากุระอยู่เหมือนกัน เพราะชั่วนาตาปีแทบไม่มีใครสนใจต้น แต่พอถึงช่วงดอกซากุระบาน คนจะตะลีตะลานไปจองที่ปิกนิกใต้ต้น ยิ่งสมัยนี้ถ้าใครได้มาเห็นคนญี่ปุ่นไปโอะฮะนะมิกันคงนึกไม่ออกว่า ตกลงจะไปชมดอกไม้หรือจะไปตั้งวงก๊งเหล้ากันแน่ และการจองที่ก็ได้กลายเป็น ‘งาน’ อย่างหนึ่งของพนักงานรุ่นเล็กในบริษัทญี่ปุ่นด้วย ซึ่งจะได้รับมอบหมายจากเจ้านายเมื่อถึงฤดูกาล ถ้างานการพิชิตทำเลเหมาะๆ ไม่ลุล่วง...ต่อไปจะร่วงเร็วเหมือนซากุระหรือไม่...ไม่มีใครรู้
หลังจากปีแรกในญี่ปุ่นผ่านไป ปีต่อๆ มาผมก็ยังเฝ้ารอชมซากุระอีกเช่นเคยและไปโอะฮะนะมิทุกปีไม่เคยพลาด สลับสับเปลี่ยนไปกับเพื่อนร่วมชั้นหรือเพื่อนที่ชมรมบ้างเมื่อสมัยเรียน หรือไปกับเพื่อนร่วมงานบ้าง แต่ยังไม่เคยรับบทไปจองที่ให้ใคร โอะฮะนะมิปีหลังๆ นี้ รู้สึกว่าตัวเองเน้นการกินอาหารมากกว่าการชมดอกไม้ แต่ใครว่าเป็นเรื่องแปลก?
เปล่าเลย...ขนาดคนญี่ปุ่นเองยังบอกว่า
“แปลกตรงไหน? สมัยนี้ คนญี่ปุ่นก็แค่เอาดอกไม้มาอ้าง จริงๆ แล้วก็แค่หาเรื่องเพลินกับการดื่มกินเสียมากกว่า”
นั่นน่ะสิ...ถึงว่า!
ภาษิตญี่ปุ่นยุคใหม่ถึงได้กลายเป็น “ฮะนะ โยะริ ซะเกะ (花より酒;Hana yori sake) – ดอกไม้ไม่เอา ขอเหล้าดีกว่า”
**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.manager.co.th