xs
xsm
sm
md
lg

ขนมญี่ปุ่นเปลี่ยนชีวิต..จากวิศวกร สู่เชฟขนมมือฉมัง “โสรจ ไตรตียะประเสริฐ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เพราะรสชาติความอร่อยของขนมนั้นเรียกร้อง จึงทำให้เขาผู้กำลังไปได้สวยบนสายวิศวะ สลัดตัวตนเก่า ก้าวสู่เส้นทางคนทำขนม กลายเป็นเชฟมือรางวัล เปิดร้านออนไลน์ขายขนมสไตล์ญี่ปุ่นที่อุ่นหนาฝาคั่งด้วยยอดสั่งซื้อแบบดีวันดีคืน

“โสรจ ไตรตียะประเสริฐ” หรือ “เชฟป๊อบ” อดีตวิศวกรเครื่องกล ดีกรีปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยโตเกียวและเข้าทำงานในตำแหน่งวิศวกรบริษัทญี่ปุ่นเป็นเวลากว่าสิบปี จากนั้นเขาก็ตัดสินใจลาออกมาเรียนทำขนมเพียงเพราะชอบทานขนม เขาไปเรียนทำขนมที่โตเกียวเป็นระยะเวลาหนึ่งปี เก็บเกี่ยวประสบการณ์จนสำเร็จการศึกษาและได้รับรางวัลเหรียญทองมาเชยชม

หลังจากเรียนจบ เขาได้ไปฝึกงานที่บริษัทขนมเค้กชื่อดังแห่งโกเบ พร้อมถูกทาบทามให้ไปทำงานด้วย แต่ทว่าเชฟป๊อบตัดสินใจกลับเมืองไทยเพื่อเปิดร้านขนมของตนเอง แบ่งปันความหวานอร่อยแก่คนไทย

สำหรับผู้รักชอบขนมสไตล์ญี่ปุ่น บางคนคงคุ้นชื่อร้านขนม “The Confiture” ที่เปิดให้สั่งซื้อทางออนไลน์ แต่ถ้ายังไม่เคยรู้จัก เรายินดีแนะนำให้คุณความรู้จัก ณ บัดนาว...

 • เส้นทางกว่าจะมาเป็นเชฟอย่างทุกวันนี้ เห็นว่าเคยเป็นวิศวกรมาก่อน

ผมเรียนมัธยมสายวิทย์มาครับ ผมคลั่งไคล้สายนี้มากๆ จนได้ไปแข่งโอลิมปิก เพราะผมเป็นคนที่ว่าชอบสิ่งไหนแล้วก็จะพยายามทำในสิ่งนั้น อย่างตอนเรียนจบมัธยมต้น ก็เริ่มรู้สึกแล้วว่าตัวเองชอบวิทยาศาสตร์ และในวิทยาศาสตร์นั้นเราชอบอะไร ก็เริ่มรู้ตัวว่าชอบด้านฟิสิกส์ เรารู้สึกว่ามีความสุข สนุก อะไรประมาณนี้ พอเริ่มอินกับมันแล้วก็จะเข้าไปได้เรื่อยๆ

ผมเลือกเรียนวิศวะก็เพราะว่าตอนนั้นมันเทรนด์อย่างหนึ่ง ผมมองว่าประเทศเรากำลังพัฒนาไปทางด้านอุตสาหกรรมต่างๆ แล้วต้องการบุคลากร ตอนนั้นความนิยมวิศวะและหมอ จะพอๆ กันเลย ส่วนตัวผมชื่นชอบวิทยาศาสตร์ทางฟิสิกส์อยู่แล้ว จึงสนใจตรงนี้ และคิดว่าการทำงานในด้านนี้ เราจะได้ทำในสิ่งที่ชอบและเราก็จะมีความสุข ซึ่งก็น่าจะทำให้งานออกมาดีด้วย ผมเลยเลือกเรียนวิศวกรรมศาสตร์ (ยิ้ม)

ผมมองว่าในเมืองไทย ทางสายวิศวะน่าจะไปได้ในระดับหนึ่ง แต่คิดว่าอยากจะไปหาแหล่งที่เขาผลิตเทคโนโลยีออกมา ก็พบว่าวิศวะที่ใหญ่และเด่นก็คือประเทศญี่ปุ่น อเมริกา เยอรมนี และพอดีว่าจังหวะนั้นมันมีทุนรัฐบาล เราก็ไปสอบชิง ก็ได้ทุนรัฐบาลของญี่ปุ่น ทำให้ได้ไปเรียนต่อที่นั่นครับ ผมไปเรียนปริญญาตรี แล้วก็ต่อปริญญาโทเลย จบปริญญาตรีแล้วก็ได้สิทธิ์คือสามารถต่อปริญญาโทได้ในสายวิศวะเหมือนกัน ผมจบปริญญาตรีในสาขาเครื่องกลเชิงอุตสาหกรรม แต่เรามองแล้วว่าทางคอมพิวเตอร์น่าจะมีโอกาสและท้าทายมากกว่า พอเรียนจบ ทางญี่ปุ่นเขาจะมีการสมัครงานก่อนประมาณ 1 ปี คือตอนนั้นก็ลองไปดูหลายบริษัท ลองไปฟังการอธิบายของแต่ละบริษัท แล้วผมก็เลือกทำงานกับบริษัท SONY

 • ทำงานบริษัท SONY ที่ประเทศญี่ปุ่น? ได้ข่าวว่าทำงานด้านนี้มาเป็นสิบปีเลย

ใช่ครับ ผมทำงานบริษัท SONY ที่ญี่ปุ่นเลยครับ อยู่ที่โตเกียว ผมเลือกที่นี่เพราะเขาค่อนข้างพัฒนาอะไรใหม่ๆ ถ้าเทียบตอนนั้นกับตอนนี้อาจจะรู้สึกต่างกันพอสมควร ตอนนั้นบริษัทนี้เรียกว่าพอๆ กับไอโฟนเลย เราเลยอยากเข้าไปลอง อยากเข้าไปทำงาน แต่ว่าเข้าไปในแผนกพัฒนาซอฟต์แวร์

ผมเป็นวิศวกรมาประมาณ 11 ปี แต่ถ้าทำจริงถึงระดับที่ได้ลงไปคลุกคลีกับซอฟต์แวร์จริงๆ ก็ทำได้ประมาณ 4 ปี เพราะหลังจากนั้นก็กลับมาเมืองไทย ตอนนั้นอุตสาหกรรมด้านรถยนต์ของเราถือว่ายังดีอยู่ พอกลับมาไทยผมก็มาทำที่โตโยต้าทูโช อิเล็คทรอนิคส์ เกี่ยวกับการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่มาปรับใช้ในรถไฮบริด หลังจากนั้นเราก็มองว่าเรารู้เรื่องซอฟต์แวร์มาระดับหนึ่งแล้ว เราอยากจะเพิ่มความรู้ใหม่ๆ เลยย้ายไปอยู่บริษัทเด็นโซที่ผลิตในเครืออาเซียน

 • จากวิศวกรแล้วทำไมพลิกผันมาเป็นเชฟได้ล่ะคะ

ตอนนั้นผมคิดว่าเราอยากจะหาเป้าหมายอะไรต่อดี เพราะเราก็ทำงานตรงนี้มาสักระยะหนึ่งแล้ว เราอยากลองทำอะไรของเราเอง อันนั้นก็คือส่วนหนึ่ง แล้วส่วนตัวเดิมทีเป็นคนที่ชอบทานขนมอยู่แล้วด้วย ตอนอยู่ญี่ปุ่น วันไหนทำงานเสร็จ เหนื่อยมากเราก็จะให้รางวัลตัวเองหรือไม่อย่างนั้น วันเสาร์อาทิตย์ก็จะไปทาน ซึ่งเราจะคุ้นเคยกับอาหารและขนมญี่ปุ่นพอสมควร พอกลับมาเมืองไทย ผมมองว่าขนมที่เราชอบยังไม่ค่อยมี ก็เลยคิดว่าถ้าเราลองไปทำ จะดีไหม เพราะเท่าที่ฟังมา คนที่เขาเคยไปญี่ปุ่นเขาก็ชอบขนมพวกนี้ ก็เลยมองว่าถ้าเราสามารถทำขนมได้ มันก็น่าจะตอบโจทย์คนที่อยากทานขนมสไตล์ญี่ปุ่นเหมือนกัน

พูดจริงๆ ผมทานขนมมาเยอะนะครับ (หัวเราะ) ไม่มีตัวใดตัวหนึ่งเป็นพิเศษ แต่ทานมาเยอะ เป็นเหมือนการเก็บความทรงจำ ก็เลยอยากลองทำบ้าง คือทานขนมที่ญี่ปุ่นมาอร่อยนะ แต่เรายังไม่เจอในไทย ก็เลยอยากทำเองบ้าง อะไรทำนองนี้ครับ

 • ตัดสินใจลาออกจากอาชีพวิศวกรไปเรียนทำขนมที่ญี่ปุ่น เห็นว่าได้รับรางวัลเหรียญทองมาด้วย

ใช่ครับ (ยิ้ม) ตอนแรกก็ดูอยู่เหมือนกันว่าจะเรียนโรงเรียนไหนดี ซึ่งเราต้องดูเรื่องของวีซ่าด้วย ผมดูอะไรหลายๆ อย่าง เปรียบเทียบดูแล้วก็เลือกโรงเรียนสอนทำขนมที่โตเกียว ผมไปเรียนทำขนมอยู่ได้หนึ่งปี แล้วก็ไปฝึกงานต่ออีก 8 เดือน ที่ Henri Charpentier บริษัทขนมเค้กชื่อดังในโกเบ พอเรียนจบแล้วผมมองว่าถ้าเรียนอย่างเดียว มันก็จะรู้แค่ทฤษฎี ก็เลยอยากจะเข้าไปฝึกงาน ผมเริ่มจากงานเล็กๆ น้อยๆ ก่อน เพราะเขายังไม่กล้าจ่ายงานที่เขาทำ โอเค เราก็ทำฟรี ตอนกลับบ้าน เขาก็ให้ขนมเรามากินบ้าง เหมือนไปเป็นลูกมือช่วยเขา ด้วยระยะเวลามันน้อย แม้จะไม่ได้ค่าตอบแทน แต่ยังไงเราก็ได้ประสบการณ์กลับมา นอกจากนี้ก็จะมีไปฝึกงานตามร้านขนมต่างๆ บ้าง พอจบแล้ว ช่วงระยะเวลาวีซ่ายังเหลืออยู่ เราก็ได้เข้าไปทำงานจริงจัง และก็กลับมาเมืองไทยช่วงปลายๆ ปีที่แล้วครับ

ผมเป็นคนที่ลักษณะชอบหรืออยากรู้อะไร อยากทำจริงจังแบบลงลึก เพราะฉะนั้นคือแทนที่จะมาเรียนก็ลองทำทันทีเลย ผมมองว่าเรามีแบ็กกราวนด์ที่นู่นอยู่แล้ว ผมก็เลยกลับไปเรียนที่นู่น กลับไปเอาอะไรที่มันน่าจะใหม่สำหรับที่นี่ หรือดูลักษณะแล้ว ผมคิดว่าคนไทยน่าจะชอบเค้กสไตล์ญี่ปุ่นซึ่งน่าจะเอามาตอบโจทย์ให้กับคนไทยได้มากกว่า ผมเลยตัดสินใจลาออกจากอาชีพวิศวกรไปเรียนทำขนม เพราะผมมองว่าถ้าเราทำงานไปด้วยแล้วเรียนไปด้วย มันอาจจะทำให้เรารู้ไม่ลึกพอ ผมเลยหยุดงานไปเรียน เพื่อไปเก็บพื้นฐาน ไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากประเทศญี่ปุ่น

 • มีอุปสรรคมากน้อยแค่ไหนคะ เพราะก่อนหน้านี้เราเรียนมาทางด้านวิศวะ คนละสายกับการทำขนมเลย

มีอุปสรรคนะครับ แต่เมื่อเราตัดสินใจจะทำแล้วก็ต้องพยายาม ซึ่งตอนเรียนเราก็ต้องตั้งใจและก็คิดตามว่าทำไมทำอย่างนั้น ทำไมเวลาคนต้องคนอย่างนี้ ทำไมเวลาหั่นต้องหั่นอย่างนั้น อย่างหั่นเนย จะละลายเนยก็จะมีสไลซ์ให้เป็นแผ่นบ้าง หั่นให้เป็นลูกเต๋าบ้าง แล้วทำไมต้องทำลูกเต๋า ทำไมต้องทำสไลซ์ล่ะ อาจารย์เขาจะสอนแค่นั้นว่าอันนี้ต้องสไลซ์นะ อันนี้ต้องลูกเต๋านะ เราก็นั่งนึกว่า อ๋อ ถ้าอยากให้ละลายเร็ว อย่างลูกเต๋าพื้นที่โดยรอบมันก็เพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นเราต้ม มันก็จะละลายเร็วและสัดส่วนพวกน้ำมันก็ไม่ระเหยมาก สามารถละลายได้ในระยะเวลาอันสั้น เพราะฉะนั้น ถ้าอยากให้มันอ่อนตัวความหนามันก็จะต้องน้อยลงอะไรประมาณนี้

สรุปสั้นๆ ว่าเราจะต้องเป็นคนช่างสังเกตครับ อย่างทำมูสเค้กครั้งแรก อยู่กับอาจารย์ไม่มีปัญหาอะไร แต่พอกลับมา ปกติเป็นคนที่ชอบทานกีวี่ คือเราก็ถ้าลองทำมูสกีวี่ จะเป็นยังไง ก็ไปซื้อกีวี่มาลองนั่งทำเป็นมูสขึ้นมาแช่ช่องฟรีซเป็นรูปเป็นอะไรเสร็จเรียบร้อย ไม่มีปัญหา พอดึงออกมาทำไมเราวางไว้ผ่านไป 3-4 ชั่วโมงทำไมเริ่มละลาย ตัวมูสเริ่มสลาย ก็งงว่าเกิดอะไรขึ้นตอนนั้นก็คือมาทำครั้งแรก ก็คือสังเกตแล้วจะหาเองส่วนหนึ่ง แล้วก็ไปถามอาจารย์ด้วยส่วนหนึ่ง ซึ่งเขาก็บอกในกีวี่มันมีเอนไซม์ ถ้ามีเอนไซม์ปุ๊บ มันจะย่อยสลายโปรตีนในโครงสร้างปกติมูสมันจะใช้พวกเจลาตินเป็นพวกโปรตีนหรืออะไรอย่างนี้ มันก็จะย่อยสลายไป พอทิ้งไว้นานมันก็ละลาย อันนี้ก็เหมือนว่าทำเอง รู้เอง ก็จะเป็นการเรียนรู้จากความผิดพลาดได้อย่างหนึ่ง ก็ต้องมานั่งนึก พยายามอ่าน อ่านและจินตนาการว่าทำไมต้องอย่างนั้น ทำไมต้องอย่างนี้ คือพยายามหาแก่นของมัน

 • ถามตามตรง เคยนึกเสียดายไหมที่ลาออกจากงานประจำ

ก็มีเสียดายบ้างนะครับ แต่มันก็เหมือนเป็นการแลกอย่างหนึ่ง ผมจะมองโลกในแง่ดีเสมอว่าอะไรที่เป็นสิ่งใหม่ คิดว่ามันจะดีกว่า ตอนแรกที่ไปใหม่ๆ ค่อนข้างท้อ เคยหันมามองว่าเราเอาตัวเองมาลำบากทำไม ก็เคยรู้สึกสงสารตัวเองเหมือนกันนะว่าทำไมเราต้องมาหาเรื่องใส่ตัว แต่พอผ่านจุดนั้นไปได้ ก็คิดว่าเราก็ได้โอกาสนะ คือคนหลายคนเขาอยากจะมาเหมือนกัน ซึ่งการที่เราแลกกับความสบายใจตรงนั้น มันต้องมีอะไรที่เราได้กลับมา

อย่างช่วงแรกคือเราไม่ได้มีทักษะทางด้านการทำขนมมาก่อนเลย แล้วยิ่งต้องไปเรียนกับเด็กอายุ 18-19 ปีที่เขาเพิ่งจบมัธยมมาด้วย แต่เราสิไปเรียนตอนอายุ 30 กว่าแล้ว สู้เขาก็ไม่ได้ ไปช้ากว่าเขา ก็มีรู้สึกละอายใจนิดๆ แต่ผมก็คิดอยู่เสมอว่าในเมื่อเราตัดสินใจเข้ามาเราต้องไม่ยอมแพ้ ต้องหาทางพัฒนาตัวเอง พอคิดได้ก็เลยตัดสินใจสู้ต่อ (ยิ้ม)

ถึงตอนนี้ หนึ่งเลย ผมได้ภาษาญี่ปุ่น เราเริ่มเข้าใจวัฒนธรรมของเขา ความรู้ต่างๆ หรือโอกาสที่เราได้เห็น คือได้ไปเห็นส่วนที่เป็นวิจัย ส่วนที่มันล้ำจริงๆ ก็เลยมองว่าของอย่างนี้ต้องแลกมา มีได้ก็ต้องมีเสีย

 • แสดงว่าส่วนตัวเป็นคนที่มุ่งมั่นทำอะไรก็ต้องทำให้ได้อยู่แล้วใช่ไหมคะ

ใช่ครับ ถ้าชอบปุ๊บก็คือแลก ผมเป็นคนที่อยากทำอะไร ทำจริง และก็จัดสิ่งแวดล้อมให้พาเราไปตรงนั้น ทุ่มไปกับมันให้เต็มที่ ชีวิตเราสนุกได้หลายแบบ ถามว่าวิศวะสนุกไหม ตอนนั้นก็ยอมรับว่าสนุก ครั้งนี้มาทำงานด้านขนม เราเข้าไปทำแล้ว เราเข้าใจ และก็หาทางสร้างสรรค์สิ่งใหม่มันก็สนุก ยิ่งถ้าลูกค้าเขาทานแล้ว ตอบรับกลับมาว่า ขนมนี้ถูกใจนะ อร่อยนะ ก็ยิ่งได้กำลังใจตรงนั้น

ตอนที่ลาออกแรกๆ ทางครอบครัวผมก็มองว่า เฮ้ย! เอาจริงเหรอ แต่เราคิดว่าเราอยากทำ และไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เรารับผิดชอบตรงนี้ได้

 • แล้วชีวิตเปลี่ยนไปยังไงบ้างคะ หลังจากที่ได้มาเป็นเชฟอย่างเต็มตัวแล้ว

เปลี่ยนพอสมควรเลย เปลี่ยนไปเพราะใช้แรงมากขึ้น (หัวเราะ) เรียกได้ว่าทำขนมต้องทำทุกอย่างด้วยตัวเอง เวลาการทำงานอาจจะนานขึ้น ขณะที่งานด้านวิศวะ วันหยุดเราก็จะคิดว่าถ้ามันมีปัญหา เราจะแก้มันยังไง แต่การทำขนมนี้ไม่ได้คิดแค่อย่างเดียว แต่เราต้องทดลองทำด้วย แต่ยอมรับว่าเรื่องของรายได้ งานวิศวกรดีกว่านะครับ แต่สำหรับการทำขนม เรามองว่ามันเป็นการลงทุนในตอนเริ่มต้น คือรายได้มันก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้นมา ก็เชื่อว่า พอถึงจุดหนึ่งจะบาลานซ์ได้ การเริ่มต้นทุกอย่างต้องให้เวลา เพราะถ้ามันคือความรักความชอบ ในอนาคตก็คงจะเป็นเงินกลับมาได้ (ยิ้ม) ซึ่งตอนนี้ผมมีความสุขมากขึ้นนะครับเหมือนกับว่าทำอะไรที่ตัวเองชอบแล้วเราก็มีความสุข มันไม่เบื่อ และคิดว่าจะไม่หยุดทำแน่ๆ (ยิ้ม)

 • อยากจะแนะนำอะไรสำหรับคนที่มีความฝัน หรืออยากจะทำในสิ่งที่ตัวเองรัก แต่ยังไม่ได้ลงมือทำบ้างคะ

ผมอยากให้คิดให้ดีก่อน พอคิดได้แล้วมั่นใจว่าตัวเองจะไม่เสียใจกับการตัดสินใจนั้นแล้วค่อยลงมือทำ เราจะได้ไม่เสียใจกับการตัดสินใจ เพราะไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เรามั่นใจว่าเราพร้อมแล้ว พอเราตัดสินใจได้แล้ว เราต้องเอาใจไปใส่มัน แล้วจากนั้นก็ทุ่มเทไปกับสิ่งที่เราอยากทำ

สำหรับผม ผมถือคติง่ายๆ ว่า ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น พยายามเรียนรู้ ใส่ใจ ให้เวลากับมัน ให้ทั้งความรู้และความพยายาม ผลสุดท้ายมันก็ดีเอง อย่างผมเรียนจบมา ผมก็ได้เป็นที่ 1 ในกลุ่มที่ทำขนม แต่จริงๆ แล้วเรามองว่ามันเป็นจุดเริ่มต้น คือหลังจากนั้นชีวิตจริงที่เราต้องออกมาทำขนมเอง

 • ตรงนี้เผื่อคนสนใจอยากลองทานขนม ไม่ทราบว่าจุดเด่นขนมของที่ร้านมีอะไรบ้างคะ

ถ้าเป็นสไตล์ญี่ปุ่นก็จะพิถีพิถันในรายละเอียด เราใช้ของที่ดีต่อสุขภาพ เพราะผมคิดว่าเมื่อจะทานขนม เราจะทานยังไงให้มันดีกว่า อย่างเนยที่ใช้ก็จะเป็นเนยแท้ ผลไม้ก็จะเลือกผลไม้ที่เป็นผลไม้สดตามฤดูกาล เพราะว่าของจะดี มันต้องสด ต้องอร่อย มันเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งครับ (ยิ้ม)

มีคนถามผมว่าทำไมถึงไม่นำเข้ามาขาย ทำเองทำไม ตรงนี้ผมว่าทำเองของที่ได้จะสดใหม่และดีกว่า อย่างพวกมูสที่นำเข้า แช่แข็งข้ามประเทศมา มันก็ไม่เป็นอะไรหรอก แต่ว่าแป้งที่มันติดกับมูสมา ถ้าเราอบปุ๊บ มันจะเริ่มเสื่อม กลิ่นมันก็จะเริ่มหมดไป เพราะฉะนั้นสภาพที่ดีที่สุดของมันคือสภาพตอนทำเสร็จแล้วก็ทานตอนนั้นเลย เพราะฉะนั้น ขนมร้านผมจึงสดใหม่ทุกอย่างครับ (ยิ้ม)

ในอนาคตวางแผนที่จะทำอะไรต่อไปอีกบ้าง

ผมเปิดร้านยังไม่ถึงปีครับ ยอมรับว่าก็ยังใหม่อยู่ ตอนนี้ก็มีลูกค้าที่ซื้อไปทาน เขาก็แนะนำคนอื่นต่อ มีมาซื้อซ้ำบ้าง ยอดการสั่งก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้น ถ้าในอนาคตพัฒนาไปถึงจุดจุดหนึ่งแล้ว ผมอยากจะขยายให้คนหลายคนได้ทาน ก็คือจะต้องพัฒนาขนม พัฒนาช่องทาง พัฒนาการขาย อยากทำออกมาให้ดีที่สุด ทำให้คนทานได้มากขึ้น และประทับใจมากขึ้น จากตอนแรกที่โฟกัสไปแค่ทางออนไลน์ อาจจะมีไปวางขาย ไปฝากในร้านค้า หรือไม่ก็เปิดหน้าร้านของตัวเอง หรืออาจจะไปร่วมพัฒนากับคนอื่นเพื่อขยายกิจการต่อไป แต่ตอนนี้ถ้าอยากทานก็สามารถสั่งทานทางออนไลน์เป็นหลัก ซึ่งสามารถเข้าไปสั่งได้ที่เฟซบุ๊ก The Confiture ครับ

ขนมร้าน The Confiture








 
Profile

ชื่อ สกุล : โสรจ ไตรตียะประเสริฐ
ชื่อเล่น : ป๊อบ
อายุ : 38 ปี
การศึกษา : ปริญญาโท มหาวิทยาลัย โตเกียว
อาชีพ : เชฟ ร้าน The Confiture
คติประจำใจ : ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น เชื่อมั่นว่าวันพรุ่งนี้จะดีกว่าปัจจุบัน



 

 
ขนมร้าน The Confiture
รางวัลเหรียญทองจากการเรียนทำขนม

เรื่อง : วรัญญา งามขำ, กมลชนก บุญเพ็ง
ภาพ : ปวริศร์ แพงราช และ Facebook : The Confiture

กำลังโหลดความคิดเห็น