xs
xsm
sm
md
lg

สะดุดคำ “ซื้อระเบิดระเบ้อ...คำประจำปี”

เผยแพร่:   โดย: ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์

การมอบรางวัล “คำประจำปี” (ที่มา www.yahoo.co.jp)
ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies


สะดุดคำ คือ มุมพิเศษซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึกที่ลงทุกวันจันทร์ มุมนี้จะเป็นการบอกเล่า ‘ความเคลื่อนไหว’ หรือ ‘สิ่งที่อยู่ในความสนใจ’ ของคนญี่ปุ่นตามโอกาสพิเศษผ่าน ‘คำสำคัญ’ หรือ ‘คำเด่น’ ในช่วงเวลาหรือฤดูกาลนั้น มีกำหนดนำเสนอเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อให้ผู้อ่านสามารถติดตามสิ่งที่เป็นปัจจุบันหรือร่วมสมัยได้ในเวลาใกล้เคียงกับคนญี่ปุ่น อีกทั้งยังต้องการให้ผู้ที่เรียนหรือสนใจภาษาญี่ปุ่นได้นำคำหลักและคำที่เกี่ยวข้องไปใช้พูดคุยกับคนญี่ปุ่นหากมีโอกาสเพื่อให้บทสนทนาน่าสนใจและมีชีวิตชีวา โดยได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับชื่อคนหรือคำญี่ปุ่นไว้ในระดับหนึ่งเพื่ออำนวยประโยชน์แก่ผู้ที่ต้องการค้นคว้าเพิ่มเติม อนึ่ง การถ่ายเสียงจากภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาไทยในทุกบทความอิงหลักการเขียนคำทับศัพท์ภาษาญี่ปุ่นของราชบัณฑิตยสถานเป็นหลักแม้ไม่ทั้งหมดก็ตาม โดยเฉพาะเรื่องการใช้เสียงสั้นและเสียงยาวตามหลักภาษาญี่ปุ่น

ภาษาญี่ปุ่นมีตัวอักษรคันจิ 爆 อ่านว่า “บะกุ” (baku) มีความหมายตามตัวอักษรว่า “ระเบิด” ใช้ประกอบคำที่เกี่ยวข้องกับการระเบิดจริง ๆ เช่น ระเบิด (爆発する; บะกุฮะสึ ซุรุ; bakuhatsu suru) , ลูกระเบิด (爆弾; บะกุดัง; bakudan), ระเบิดปรมาณู (原爆; เก็มบะกุ; genbaku)และใช้ประกอบคำอื่นเพื่อสื่อถึงพลังรุนแรงอย่างได้อารมรณ์ เช่น หัวเราะหนักมาก (爆笑する;บะกุโช;bakushō suru), นอนอย่างเอาเป็นเอาตาย(爆睡する;บะกุซุอิ ซุรุ; bakusui suru) หรือแม้แต่คำว่า คำว่า “บะกุนีว” (爆乳;baku-nyū)—อกระเบิด (หมายถึง หน้าอกใหญ่) ก็ด้วย

คำที่มี “บะกุ” ประกอบและสะท้อนปรากฏการณ์เด่นประจำปี 2558 ของญี่ปุ่นได้เด่นชัด คือคำว่า “บะกุไง” (爆買い; bakugai) —ซื้อระเบิดระเบ้อ (หมายถึง ซื้อมากมาย ซื้อแหลก) ซึ่งถือได้ว่าเป็นคำเกิดใหม่ในภาษาญี่ปุ่น พจนานุกรมหลายเล่มอาจจะยังไม่ได้บรรจุไว้ ในญี่ปุ่นช่วงปลายปีจะมีการประกาศคำประจำปี ซึ่งเป็นคำที่สะท้อนเหตุการณ์เด่น หรือกระแสที่อยู่ในความสนใจของผู้คนสำหรับปีนั้น พร้อมทั้งมอบรางวัลให้แก่ผู้ที่ทำให้เกิดคำนั้นขึ้นมา การประกาศรางวัลคำประจำปีจัดโดยสำนักพิมพ์เก่าแก่แห่งหนึ่งของญี่ปุ่น “จิยูโกะกุมินชะ” (自由国民社;Jiyūkokuminsha) และเป็นที่สนใจของประชาชนทั่วไป สื่อมวลชนก็นำเสนอข่าวอย่างกว้างขวาง

คำที่ได้รับรางวัลใหญ่ในปี 2558 และประกาศไปเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม มี 2 คำคือ “ทริปเปิลทรี” และ “บะกุไง” คำว่า “ทริปเปิลทรี” ค่อนข้างไกลตัวคนไทยเพราะเป็นคำในวงการเบสบอล ซึ่งเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมในญี่ปุ่น แต่ไม่แพร่หลายในเมืองไทย ในที่นี้ผมจะอธิบายไว้โดยสังเขปเท่านั้น กล่าวคือ “ทริปเปิลทรี” หมายถึงการทำสถิติของผู้ตีที่มีอัตราการตีได้เฉลี่ย 30 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป ทำโฮมรันได้ 30 ครั้งขึ้นไป และทำสโตลึนเบส (เบสขโมย) ได้ 30 ครั้งขึ้นไปในฤดูกาลเดียวกัน บังเอิญปีนี้มีนักกีฬาที่ทำ “ทริปเปิลทรี” ได้ 2 คน กลายเป็นประเด็นเด่นในญี่ปุ่น คำนี้จึงได้รับเลือกให้เป็นคำประจำปี และนักกีฬาเบสบอล 2 คนนี้ก็ได้รับรางวัลไป
“บะกุไง” (ที่มา blog.fujitv.co.jp)
ทว่าคำที่เลือกมาอธิบายโดยละเอียดในครั้งนี้คือคำว่า “บะกุไง” เพราะใกล้ตัวคนไทยมากกว่าและทำให้นึกภาพสิ่งที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่นได้ง่ายกว่า เมื่อพิจารณาคำนี้ จะเห็นว่าประกอบด้วย 2 คำคือ “บะกุ” กับ “ไง” (งะอิ) และดังที่กล่าวนำไว้ข้างต้น คำว่า “บะกุ” แปลว่า ระเบิด, ส่วน “ไง” มาจาก “ไค” (買い;kai) แปลว่า การซื้อ เมื่อนำมาประกอบกัน เสียง “ไค” เปลี่ยนเป็น “ไง” และกลายเป็นคำประสม “บะกุไง” ในที่สุด คำนี้เกิดขึ้นมาสักระยะแล้ว สื่อมวลชนเริ่มใช้ครั้งแรกเมื่อประมาณปี 2552 แต่แพร่หลายจริง ๆ ในช่วงปี 2557 และ 2558 นี้ ผู้ที่ซื้อระเบิดเถิดเทิง หรือซื้อไม่บันยะบันยังอย่างโดดเด่นที่สุด จนคำนี้สะท้อนปรากฏการณ์ทางสังคมในญี่ปุ่นคือคนจีน

ตัวเลขปี 2558 ชี้ว่ามีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมาญี่ปุ่นมากมาย ตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤศจิกายน ญี่ปุ่นต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ 17,964,400 คน เพิ่มขึ้น 47.5 เปอร์เซ็นต์จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว คนจีนมามากที่สุดคือ 4,646,700 คน เพิ่มขึ้น 109.4 เปอร์เซ็นต์ อันดับรองลงมามีดังนี้คือ

เกาหลีใต้3,586,400คน
ไต้หวัน 3,411,300คน
ฮ่องกง1,366,900คน
อเมริกา 943,300คน

ต่อมาคือไทยซึ่งมีคนมาเที่ยวญี่ปุ่นมากเป็นอันดับ 6 ในช่วงเดียวกันนี้คือ 703,200 คน เพิ่มขึ้น 21 เปอร์เซ็นต์จากปีที่แล้ว เมื่อมองตัวเลขของไทย จะเห็นได้ว่าคนไทยนี่ไม่เบา อยู่ไกลญี่ปุ่นมากกว่าจีน เกาหลีใต้ หรือไต้หวัน และขนาดเศรษฐกิจก็เล็กกว่าอเมริกา แต่มีคนไทยมาญี่ปุ่นเกือบล้าน ด้วยเหตุนี้กระมัง ปัจจุบันจึงมีป้ายเขียนคำอธิบายเป็นภาษาไทยปรากฏอยู่ตรงโน้นตรงนี้ในญี่ปุ่น และแทบไม่มีวันไหนที่ผมไปย่านดังๆ ในกรุงโตเกียวแล้วจะไม่ได้ยินภาษาไทย

เมื่อไปเที่ยว นักท่องเที่ยวก็ต้องกินต้องซื้อเป็นเรื่องธรรมดา รัฐบาลญี่ปุ่นตั้งตารอมูลค่าตรงนี้อย่างใจจดใจจ่อ พอตัวเลขเดือนมกราคม-กันยายนปีนี้ออกมาก็เป็นที่น่าชื่นใจสมกับการตั้งความหวัง มูลค่าการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวคือ 2 ล้าน 6 แสนล้านเยน (ประมาณ 860,000 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วถึง 600,000 แสนล้านเยน และเป็นที่คาดหมายว่าแนวโน้มนี้จะดำเนินต่อไปในปีหน้าอีกเช่นกัน เป้าหมายแรกเริ่มของรัฐบาลญี่ปุ่นคือต้องการให้มีนักท่องเที่ยวมาญี่ปุ่นถึง 20 ล้านคนในปี 2563 แต่แนวโน้มในช่วงปีสองปีที่ผ่านมาชวนให้คิดว่าตัวเลขอาจจะทะลุเป้าในปี 2559 นี้แล้ว และเป็นที่คาดหมายด้วยว่าการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวก็อาจจะถึง 3 ล้านล้านเยนในปีหน้าเช่นกัน
“บะกุไง” (ที่มา  www.iza.ne.jp)
เมื่อมองเหตุผลที่คนจีนมาเที่ยวญี่ปุ่นและซื้อของมากมาย จะพบว่าไม่ใช่เพราะคนจีนมีเงินมากขึ้นสืบเนื่องจากปัจจัยภายในประเทศโดยตรงอย่างเดียวเท่านั้น แต่มีปัจจัยภายนอกที่ช่วยดึงดูดอีก หลักๆ คือเงินเยนอ่อนค่า สายการบินราคาประหยัด และการซื้อของปลอดภาษีในญี่ปุ่นถูกกว่าการซื้อในจีนอันเป็นผลจากระบบภาษีในจีนที่เรียกเก็บจากสินค้าบางชนิด แม้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้มีข่าวตลาดหุ้นจีนปั่นป่วนและเศรษฐกิจเริ่มชะลอตัว แต่หลายประเทศทั่วโลกก็ตระหนักดีว่าจีนยังคงเป็นคู่ค้าที่สำคัญยิ่ง คนจีนรวยขึ้นและญาติเยอะ ถ้าทำของที่ถูกใจคนจีนได้ ก็จะขายได้มากมาย เงินจะไหลมาเทมา ดังที่ญี่ปุ่นกำลังประสบอยู่ในขณะนี้เมื่อนักท่องเที่ยวชาวจีนมาญี่ปุ่นและซื้อสะบั้นหั่นแหลกเหมือนของแจกฟรีจนเกิดเป็นคำยอดฮิต “บะกุไง”

อันที่จริง ปรากฏการณ์ “บะกุไง” ไม่ได้เกิดจากคนจีนเท่านั้น นักท่องเที่ยวจากที่ไหน ๆ รวมทั้งจากไทยก็มีส่วนเช่นกัน แต่ในบรรดานักช้อปหลากสัญชาติทั้งหลาย คงต้องบอกว่าไม่มีใครสู้คนจีนได้ คำว่า “บะกุไง” จึงมีภาพลักษณ์ของคนจีนติดไปโดยปริยาย สิ่งที่คนชาติอื่นคงต้องหลีกทางให้คนจีนในการซื้อของคือเรื่อง ‘ปริมาณ’ และ ‘ประเภท’ ของสิ่งที่ซื้อ ถ้าว่ากันเรื่องปริมาณ ยิ่งขายของได้มาก คนขายย่อมดีใจเป็นธรรมดา แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกฝ่ายจะยิ้มรับได้ทุกอย่าง เพราะคนจีนซื้อระเบิดระเบ้อลุกลามไปถึงสนามบิน จนมีข่าวออกมาเป็นระยะว่าเกิดกรณีเครื่องบินที่สนามบินนะริตะบินออกได้ล่าช้ากว่าปกติ อีกทั้งทางสนามบินต้องเรียกร้องให้ผู้โดยสารรักษาระเบียบเรื่องปริมาณและขนาดสิ่งของที่จะถือขึ้นเครื่องบินอย่างเข้มงวดด้วย หรืออีกตัวอย่างหนึ่งที่เป็นข่าวในหนังสือพิมพ์ซินเหวินเฉินเป้า (新闻晨报) ของจีนวันที่ 27 กุมภาพันธ์ปีนี้คือ ชายจีนคนหนึ่งมาญี่ปุ่นและซื้อของจนขนไม่ไหว ต้องเรียกเพื่อนที่อยู่ในญี่ปุ่นมาช่วย เพื่อนก็พลอยเดือดร้อนไปด้วยเพราะสิ่งที่ชายผู้นั้นซื้อคือ โทรทัศน์ 3 เครื่อง, เครื่องปรับอากาศ 2 เครื่อง, ตู้เย็น, เครื่องครัว, เครื่องฟอกอากาศ และอื่น ๆ อีก รวมเป็นเงินประมาณ 600,000 บาท เมื่อซื้อมากขนาดนี้จึงต้องใช้ตู้คอนเทนเนอร์ส่งกลับ ค่าส่งคือประมาณ 1 ล้าน 2 แสนบาท นอกจากเรื่องปริมาณสินค้าซึ่งบางครั้งมากจนเกะกะขวางทางผู้อื่นในร้านหรือตามถนนแล้ว จำนวนคนจีนที่มาเที่ยวกันเป็นกลุ่มใหญ่ก็กลายเป็นจุดเพ่งเล็งในญี่ปุ่นด้วยในเรื่องมารยาททางสังคม เช่น การใช้ห้องน้ำ และการปฏิบัติตัวในที่สาธารณะ

ต่อมาคือเรื่องประเภท ผมเชื่อว่านักท่องเที่ยวชาวไทยที่มาญี่ปุ่นคงมีน้อยคนมากหรืออาจจะไม่มีเลยที่ซื้อหม้อหุงข้าวกลับไปใช้ที่เมืองไทย สำหรับคนจีน “หม้อหุงข้าว” ญี่ปุ่นนี่แหละคือสินค้ายอดฮิตมาพักใหญ่ทั้ง ๆ ที่ราคาก็สูงถึงหลักหมื่น(บาท) แต่คนจีนมองว่าหม้อหุงข้าวญี่ปุ่นคุณภาพดีมีฟังก์ชันหลากหลายที่ทำให้หุงข้าวได้อร่อย นอกจากหม้อหุงข้าวแล้ว นิตยสารไดอะมอนด์ของญี่ปุ่น (ฉบับวันที่ 26 ธันวาคม 2558 – 2 มกราคม 2559) ให้ข้อมูลไว้ว่า สินค้าทั่วไปที่ได้รับความนิยมคือเครื่องสำอาง ขนมญี่ปุ่นรสชาเขียว แนวโน้มล่าสุดคือน้ำยาล้างผักและผลไม้ เพราะผลิตภัณฑ์เกษตรในจีนมักมียาฆ่าแมลงตกค้างมาก น้ำยาของญี่ปุ่นที่สกัดจากสารธรรมชาติจึงถูกใจคนจีนมาก ปากกาลูกลื่นที่ลบหมึกได้ก็กำลังดัง ในสังคมออนไลน์ของจีนมีการแสดงความคิดเห็นต่อๆ กันแพร่หลายออกไปอย่างรวดเร็วประมาณว่า “มีของที่สะดวกขนาดนี้เชียวหรอ!” และสิ่งที่คงจะหลุดพ้นช่วง ‘แอบฮิต’ เข้าสู่ช่วง ‘ติดลมบน’ ก็คือถุงยางอนามัยเมดอินเจแปน คงจะฮิตเพราะได้อานิสงส์จากการที่จีนยกเลิกนโยบายลูกคนเดียว ไดอะมอนด์ว่าไว้อย่างนั้น
นิตยสารไดอะมอนด์ฉบับล่าสุด
ในปีนี้คำว่า “บะกุไง” ได้รับเลือกให้เป็นคำประจำปี แต่การจะระบุตัวคนที่ได้รับรางวัลจากคำนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะเป็นคำที่ใครๆ ก็ใช้กันทั่วไปและผู้ที่ทำให้เกิดคำนี้คือสื่อมวลชนหลายแขนงกับนักท่องเที่ยวจำนวนมหาศาล ในที่สุดคณะกรรมการก็เลือกหลัว อี๋เหวิน (羅怡文; ภาษาญี่ปุ่นออกเสียงว่า ระอิบุง) อายุ 52 ปี ซึ่งเป็นชาวจีนเซี่ยงไฮ้ที่มาศึกษาในญี่ปุ่นและปัจจุบันเป็นประธานบริษัทละออกซ์ (Laox) เครือข่ายร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้าในญี่ปุ่น เหตุผลที่กรรมการเลือกคงเป็นเพราะร้านละออกซ์คือจุดหมายปลายทางหลักแห่งหนึ่งของนักช้อปชาวจีน โดยมีร้านอยู่ในย่านสำคัญๆ ของโตเกียวทั้งอะกิฮะบะระและกินซ่า
ร้าน LAOX ในย่านอะกิฮะบะระ
หลัว อี๋เหวิน ประธาน LAOX กับรางวัล “คำประจำปี”
“บะกุไง” คือคำประจำปีนี้ แต่ปีหน้าหรือปีต่อไป “บะกุไง” ของคนจีนจะยังมาแรงอยู่หรือไม่ก็ต้องจับตาดู ใครจะรู้..ไม่แน่นะ ถ้า “บะกุไง” ของคนจีนอ่อนแรงลงไป อาจจะได้พลัง “บะกุไง” ของคนไทยมาช่วยเศรษฐกิจญี่ปุ่นต่อยอดก็ได้ เพราะตอนนี้คนญี่ปุ่นที่รู้จักเมืองไทย ใครๆ ก็พูดกันว่าคนไทยรวยกว่าเมื่อก่อน ก็ดูราคาอาหารญี่ปุ่นที่ขายในกรุงเทพฯ สิ...แทบจะไม่ต่างจากในโตเกียว

**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.manager.co.th

กำลังโหลดความคิดเห็น