xs
xsm
sm
md
lg

ซากุระระบัดดอก (1)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์


เดือนมีนาคม ลมหนาวเริ่มทิ้งช่วง อีกไม่นานดอกซากุระอันเป็นสัญลักษณ์เด่นประจำฤดูใบไม้ผลิจะเริ่มบาน ปีนี้ทางการพยากรณ์ว่าในโตเกียวน่าจะเริ่มบานประมาณปลายเดือน และเพื่อรอรับฤดูกาลที่ทั้งคนญี่ปุ่นและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติต่างก็ตั้งตารอ ผมขอหยิบยกแง่มุมด้านความสัมพันธ์ระหว่างคนญี่ปุ่นกับดอกไม้ชนิดนี้มาเล่า

พูดถึงเรื่องซากุระทีไร ผมจะนึกถึงการได้เห็นดอกซากุระครั้งแรกในชีวิตขึ้นมาทุกครั้ง พร้อมกับนึกขำพฤติกรรมบางอย่างของคนญี่ปุ่นด้วย

“จองที่ จองที่ ต้องรีบไปจองที่!”

ได้ยินคำว่า “จองที่” ทีไร พลอยทำให้นึกถึงสมัยเป็นนักเรียนมัธยมอยู่บ่อยๆ ด้วยระบบเดินเรียนเปลี่ยนห้อง เพื่อนพ้องนักเรียนทั้งหลายจะตะเกียกตะกายไปจองที่นั่งให้ได้ก่อนใคร...เพื่อแสดงความใส่ใจกระนั้นหรือ?...เปล่าเลย

ไปจองเพื่อให้ได้ที่นั่งห่างไกลจากอาจารย์มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ...จองที่นั่งหลังห้อง

...นั่นคือเรื่องจองที่ตอนอยู่เมืองไทย

พอได้ยินคำว่า “จองที่” ตอนอยู่ในญี่ปุ่น ผมก็ต้องมองหน้าคนพูดเสียหน่อยว่าวัยขนาดไหน จะเหมือนกับที่เมืองไทยหรือไม่?

ปรากฏว่าไม่ใช่อื่นไกล คุณพ่ออุปถัมภ์วัยห้าสิบกว่าของผมซึ่งผมเรียกว่าโอะโตซัง เหตุผลต้นเรื่องมาจากดอกซากุระ เกี่ยวกันอย่างไร ทำไมต้องไปจองที่? เคยได้ยินคำว่า “ฮะนะมิ” กันหรือไม่

ประเพณีฮะนะมิ หรือเรียกให้สุภาพยิ่งขึ้นคือ โอะฮะนะมิ (お花見;O-hanami) คือ การชมดอกไม้ ซึ่งตามความหมายปัจจุบันที่คนญี่ปุ่นใช้ หมายเจาะจงถึง การชมดอกซากุระพร้อมกับการสังสรรค์ดื่มกิน

คราวที่ได้ยินคำนี้ครั้งแรก ผมนึกภาพไม่ออกว่าคนญี่ปุ่นทำกิจกรรมนี้กันอย่างไร จนเมื่อถึงฤดูกาล และตัวเองมีโอกาสได้ไปร่วมด้วยจึงเข้าใจยิ่งขึ้น ปีแรกที่ไปญี่ปุ่น ช่วงเวลาที่ได้เห็นดอกซากุระบานสะพรั่งคือตอนที่นั่งรถไฟข้ามแม่น้ำซุมิดะแล้วมองสองฝั่งแม่น้ำ เห็นเป็นสีชมพูยาวเกือบตลอดแนว เนื่องจากกำลังจะถึงเดือนเมษายนแล้ว จึงแน่ใจว่าต้องเป็นซากุระแน่ๆ พอถามคุณแม่อุปถัมภ์ซึ่งผมเรียกว่าโอะกาซัง ก็ได้รับคำยืนยันว่า “ที่เห็นมานั้น คือดอกซากุระจริงๆ ไม่ผิดหรอก” พร้อมกับคำชวนว่า “อีกไม่กี่วัน เราจะไปโอะฮะนะมิกัน เตรียมตัวไว้นะ”


แล้วโอะโตซังก็เสริมขึ้นว่า “ต้องไปจองที่” เรื่องจองที่ในญี่ปุ่นจึงเริ่มต้นด้วยประการฉะนี้

“จองที่” ที่คุณพ่อพูดถึงคือการไปจองพื้นที่ใต้ต้นซากุระ ให้ได้ที่นั่งใกล้ชิดติดต้นซากุระที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อดื่มด่ำบรรยากาศของโอะฮะนะมิอย่างลึกซึ้งที่สุด

ตอนนั้นพอได้ยินคุณพ่อพูดเรื่องจองที่เพื่อชมดอกซากุระ ผมก็แอบยิ้ม เพราะนึกว่าตัวเองซึ่งเป็นคนต่างชาติจะเห่ออยู่คนเดียว ที่ไหนได้ คนญี่ปุ่นเองก็ตื่นเต้นไม่น้อยทั้งๆ ที่ได้เห็นมาตั้งแต่เกิดแล้ว สองสามวันต่อมา ผมได้ยินคุณพ่อพูดยิ้มๆ อีกว่า ยุทธการจองที่ลุล่วงไปได้ด้วยดี แล้วทุกคนในครอบครัวก็ยิ้มรับ

ก่อนจะไปโอะฮะนะมิ ด้วยความที่ไม่เคยจึงอดแปลกใจไม่ได้ว่า อะไรกัน? ก็แค่การไปดูดอกไม้ ทำไมต้องรีบไปจองที่ด้วย? แต่ก็ไม่ได้ถามไถ่เหตุผลให้ชัดเจนเดี๋ยวนั้น จนกระทั่งวันจริงมาถึง

การไปโอะฮะนะมิครั้งแรกของผมไม่ใช่การชมซากุระธรรมดา แต่เรียกว่า “โยะซะกุระ” (夜桜;Yozakura) หรือ “ซากุระราตรี” เพราะเราไปกันตอนกลางคืน ขบวนของพวกเรามีโอะโตซัง โอะกาซัง เพื่อนพ้องของครอบครัว และตัวผม รวม 6-7 คน เมื่อเดินเข้าใกล้ที่หมาย สิ่งที่เห็นมาแต่ไกลคือโคมไฟกระดาษสีเหลืองนวลติดห้อยเป็นแถว ส่องสะท้อนกับแนวสีชมพูของดอกซากุระบนต้นที่เรียงรายอยู่
ภาพเขียนตามเนื้อเรื่องใน “เก็นจิโมะโนะงะตะริ” ตอน Wakamurasaki
พอขยับเข้าใกล้อีกไม่เท่าไร ผมตกใจมากที่เห็นคนญี่ปุ่นมาประกอบกิจกรรมสามัคคีชุมนุมกันมากมายขนาดนี้ มองไปทางไหนก็เห็นคนนั่งล้อมวง มีข้าวปลาอาหาร และเครื่องดื่มทั้งแบบเมาและแบบไม่เมาตั้งอยู่เพียบ บางวงเอาโต๊ะเล็กๆ มากางตั้งนั่งเฮฮากันอย่างสำราญ คนญี่ปุ่นบอกว่า ถ้าเป็นกลางวัน บางคนขนคาราโอเกะแบบหิ้วได้มาร้องเพลงกันกลางแจ้งด้วยก็มี

เคยเห็นลานลิเกที่มีคนเอาเสื่อหรือผ้ารองนั่งไปปูรอดูลิเกกันไหม? ทัศนียภาพของลานที่มีดอกซากุระบานสะพรั่งไม่ต่างจากลานลิเกชื่อดัง ถ้าจะต่างก็คงเป็นเรื่องที่ว่าดูซากุระไม่มีแม่ยกเท่านั้นเอง ผมเคยคิดว่าคนญี่ปุ่นชมซากุระเป็นงานอดิเรก แต่ผิดถนัดเพราะดูเหมือนว่าเขาชมซากุระกันเป็นอุตสาหกรรม ที่ไหนซากุระบานสะพรั่งสวยงาม คนญี่ปุ่นจะแห่แหนไปดู เนืองแน่นอย่างกับมีคอนเสิร์ตนักร้องดัง อย่าว่าแต่ไทยมุง ถึงหน้าซากุระบาน ญี่ปุ่นก็หอบลูกหอบหลานมามุงเหมือนกัน

จึงเข้าใจเหตุผลที่แท้จริงแล้วว่า นี่ถ้าไม่มาหมายตาปักหลักจับจองไว้ก่อนละก็ ต้องรออีกหนึ่งปีเป็นแน่แท้ กระจ่างแล้วว่าทำไมโอะโตซังถึงได้บอกว่า “ต้องไปจองที่”

เราเริ่มปูที่นั่ง จัดแจงนำอาหารเย็นที่โอะกาซังเตรียมไว้ออกมาจากตะกร้า มีข้าวปั้นโอะนิงิริรวมอยู่ด้วย เตรียมถ้วย แล้วก็รินเบียร์ คุณพ่อประกาศลั่น “คัมไป!” (乾杯;kampai = ดื่มม!) แล้วโอะฮะนะมิครั้งปฐมของผมก็เปิดฉาก

เรื่องต่อมาที่อยากเล่าคือแง่มุมด้านประวัติศาสตร์ของการชมดอกซากุระ นับจากอดีต วิธีการชมดอกไม้ของคนญี่ปุ่นเปลี่ยนแปลงไปมากโดยดูได้จากรายละเอียด ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์การกิน บรรยากาศ ตลอดจนแนวคิดและความพร้อมในการเตรียม ย้อนกลับไปเมื่อครั้งโบราณ ประเพณีชมดอกไม้มีมานานนับพันปี แต่ครั้งหนึ่งโอะฮะนะมินี้ไม่ใช่เรื่องธรรมดา และไม่ใช่ว่าใครๆ ก็ทำได้ ว่ากันว่าเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยนะระ (奈良;Nara; พ.ศ. 1253 – 1336) ผู้ชมเป็นคนชนชั้นเจ้านายในรั้วในวัง แต่ยังไม่ใช่การชมดอกซากุระ ตอนนั้นชมดอกบ๊วยกัน ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่าอุเมะ (梅;ume) ต่อมาในสมัยเฮอัง (平安;Hēan; พ.ศ. 1337 – 1728) ถึงได้เปลี่ยนมาชมดอกซากุระ เป็นอันว่าบ๊วยตกกระป๋องทั้งๆ ที่ก็สวยเช่นกัน ผมเชื่อว่าไม่น่าจะเป็นเพราะคนญี่ปุ่นเบื่อบ๊วยจึงได้หันไปหาซากุระ แต่มาจากการที่บ๊วยเริ่มบานประมาณเดือนกุมภาพันธ์ หรือคาบเกี่ยวไปถึงต้นเดือนมีนาคมซึ่งลมหนาวยังไม่หมดดี เสียทีที่บานเร็วไปหน่อย จากอุเมะกลายเป็น ‘อุเหม่! หนาวอะไรอย่างนี้’ ชมดอกบ๊วยไปอาจต้องนั่งสั่นไป ซึ่งคงจะไม่ใช่ความสำราญ แต่พานจะเป็นหวัดเสียมากกว่า
ภาพเขียนตามเนื้อเรื่องใน “เก็นจิโมะโนะงะตะริ” ตอน Suma
สมัยเฮอังนี่เองที่ซากุระกลายเป็นดอกไม้ยอดฮิตขึ้นมา ในโคลงกลอนทั้งหลาย ถ้าพูดคำว่า “ดอกไม้” เมื่อไร นั่นหมายถึง “ดอกซากุระ” ในสมัยเฮอังอีกเช่นกันที่คำว่า “ฮะนะมิ” เริ่มมีความหมายบ่งบอกถึงการชมดอกซากุระดังที่บทประพันธ์คลาสสิกเรื่อง “เก็นจิโมะโนะงะตะริ” (源氏物語;Genji Monogatari – ตำนานเก็นจิ) ได้กล่าวไว้ และความหมายก็เป็นเช่นนั้นเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้ โดยที่การชมดอกซากุระเริ่มแพร่หลายสู่สามัญชนเมื่อสมัยเอะโดะ (江戸;Edo; พ.ศ. 2143 - 2411)

หลังจากโอะฮะนะมิครั้งแรกผ่านไป สามสี่วันต่อมา ผมนั่งรถไฟผ่านแม่น้ำซุมิดะ ปรากฏว่าแนวซากุระสีชมพู บัดนี้ดูกะพร่องกะแพร่งแหว่งกะดำกะด่างชอบกล นั่นคือผลแห่งความไม่ยั่งยืนของดอกซากุระ ที่พอถูกฝนชะและถูกลมปะทะก็ร่วงโรยสู่ดินเหมือนไม่ยินดียินร้ายว่าใครจะชวดหรือได้ชม สมกับที่คนญี่ปุ่นมองดอกซากุระเป็นปรัชญาว่า สวยน่ะสวยจริง แต่สิ่งที่แน่กว่าความสวยคือความเสื่อม

ดอกซากุระจะบานอยู่กับต้นประมาณหนึ่งสัปดาห์ก่อนจะร่วง โดยเฉพาะพันธุ์ที่คนญี่ปุ่นชื่นชอบและมีอยู่ทั่วไปอย่างพันธุ์ “โซะเมโยะชิโนะ” (ソメイヨシノ;Somē Yoshino) นั้นบอบบางมาก แค่ถูกลมพัดก็ร่วงผล็อยแล้ว ยิ่งช่วงเปลี่ยนฤดู จากหนาวเป็นใบไม้ผลิ อากาศจะยิ่งแปรปรวน เดี๋ยวอุ่น เดี๋ยวหนาว เดี๋ยวฝนตกบ้าง ถ้าปีไหนฝนถี่ ก็สามสี่วันเท่านั้นเองที่จะมีดอกซากุระสวยๆ ให้ดูกัน ไม่ทันไรก็ร่วงหมด ความงามชั่วครู่ชั่วยามอย่างนี้สอนคนญี่ปุ่นว่า “ฮะนะ โยะริ ดังโงะ (花より団子;Hana yori dango)” ซึ่งแปลว่า เอาลูกชิ้นดีกว่าเอาดอกไม้ (hana = ดอกไม้, dango = ลูกชิ้นแป้ง) ตรงกับสำนวนไทยว่าอย่างไร ใคร่ขอไม่แปล เพราะฟังไม่น่ารับประทาน สำนวนไทยของเราไม่เกี่ยวกับอาหาร แต่เป็นการ “กำ..??..ดีกว่ากำ....” อะไรสักอย่าง
ซากุระพันธุ์โซะเมโยะชิโนะ สีชมพูอ่อนจาง บอบบางมาก พบเห็นได้ทั่วไป
ซากุระพันธุ์โซะเมโยะชิโนะ สีชมพูอ่อนจาง บอบบางมาก พบเห็นได้ทั่วไป

**********

คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.manager.co.th

กำลังโหลดความคิดเห็น