จัดแสดง “เรือใบฝีพระหัตถ์” ถึง 2 ลำ “ เรือซูเปอร์มด AX7” และ “เรือเวคา 2” ภายใน “มหกรรมวิทยาศาสตร์” ระหว่าง 18-28 ส.ค.นี้ เพื่อเสนอถึงพระอัจฉริยภาพด้านงานช่าง การออกแบบ และการต่อเรือใบพระที่นั่งด้วยพระองค์เอง
ภายในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2559 เนื่องในสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-28 ส.ค.59 ณ อาคารเอ็กซิบิชั่น ฮอลล์ 2 – 8 อิมแพ็ค เมืองทองธานี ได้จัดแสดง “เรือใบฝีพระหัตถ์” จำนวน 2 ลำ ได้แก่ เรือซูเปอร์มด AX7 และ เรือเวคา 2 โดยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้รับพระบรมราชานุญาตให้เชิญเรือใบฝีพระหัตถ์ทั้งสองลำดังกล่าวมาจัดแสดง
ทั้งนี้ งานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ เนื่องในสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติจัดขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย” และ “พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย” รวมทั้งจัดแสดงผลงานความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ทั้งในและต่างประเทศกว่า 100 หน่วยงาน
นายสาคร ชนะไพฑูรย์ รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการ อพวช.เปิดเผยว่า ปีนี้ในส่วนนิทรรศการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้เน้นการนำเสนอถึงพระอัจฉริยภาพด้านงานช่าง การออกแบบ และการต่อเรือใบพระที่นั่งด้วยพระองค์เอง อพวช. จึงได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเชิญเรือใบพระที่นั่ง ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของฝ่ายเรือยนต์หลวง ท่าวาสุกรี สำนักพระราชวัง มาร่วมจัดแสดงในนิทรรศการฯ เพื่อให้ประชาชนชาวไทยได้ชื่นชมในพระอัจฉริยภาพ
"ในส่วนของเรือเวคา 2 พระองค์ทรงเคยนำเข้าร่วมแข่งขันในกีฬาแหลมทองครั้งที่ 4 ณ ประเทศไทย เมื่อเดือนธันวาคม 2510 และทรงเป็นผู้ชนะเลิศรางวัลเหรียญทองในการแข่งขันคราวนั้น ล่าสุด ทางสำนักราชเลขาธิการ (กองการในพระองค์) ได้แจ้งว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เชิญเรือใบส่วนพระองค์ทั้ง 2 ลำมาจัดแสดงได้ ยังความปลื้มปิติเป็นล้นพ้นให้แก่คณะทำงาน และถือเป็นข่าวดีสำหรับพสกนิกรชาวไทยที่จะได้มีโอกาสชื่นชมเรือใบฝีพระหัตถ์ของพระองค์ท่านอย่างใกล้ชิด" นายสาครระบุ
ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดกีฬาเรือใบเป็นอย่างยิ่งและเนื่องจากสนพระราชหฤทัยในงานช่างมาแต่เดิมแล้วจึงโปรดที่จะต่อเรือใบพระที่นั่งด้วยพระองค์เองและทรงทดลองแล่นเรือในสระภายในสวนจิตรลดา เรือใบฝีพระหัตถ์ที่สำคัญมี 3 ประเภทได้แก่เรือใบประเภทเอ็นเตอร์ไพรส์ (International Enterprise Class), เรือใบประเภทโอเค (International OK Class) และเรือใบประเภทม็อธ (International Moth Class)
เรือใบลำแรกที่ทรงต่อเองเมื่อวันที่ 7 ธันวาคมพุทธศักราช 2507 เป็นเรือใบประเภทเอ็นเตอร์ไพรส์ (International Enterprise Class) ชื่อ "เรือราชปะแตน" และลำต่อมาชื่อ "เรือเอจี" โดยทรงต่อตามแบบสากลและทรงนำลงแข่งขันแล่นใบหลายครั้งทั้งในและนอกประเทศ
ในปีพุทธศักราช 2508 นี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงต่อเรือใบประเภทโอเค (International OK Class) ตามแบบสากลลำแรก ที่ทรงต่อชื่อ "เรือนวฤกษ์" หลังจากนั้นทรงต่อเรือใบประเภทนี้อีกหลายลำ เช่น เรือเวคา 1, เรือเวคา 2 และเรือเวคา 3 เป็นต้นและทรงนำ เรือเวคา 2 เข้าร่วมแข่งขันในกีฬาแหลมทองครั้งที่ 4 ณ ประเทศไทยเมื่อเดือนธันวาคมพุทธศักราช 2510 ซึ่งและทรงเป็นผู้ชนะเลิศรางวัลเหรียญทอง
ต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงออกแบบและต่อเรือใบประเภทม็อธ (International Moth Class) จำนวนหลายลำเรือประเภทนี้เป็นเรือที่กำหนดความยาวตัวเรือไม่เกิน 11 ฟุตเนื้อที่ใบไม่เกิน 75 ตารางฟุต ส่วนความกว้างของเรือรูปร่างลักษณะของเรือความสูงของเสาออกแบบได้โดยไม่จำกัดวัสดุที่ใช้สร้างเรืออาจทำด้วยโลหะไฟเบอร์กลาสหรือไม้ก็ได้ เรือม็อธที่ทรงออกแบบและทรงต่อด้วยพระองค์เองในระหว่างปีพุทธศักราช 2509 - 2510 มีอยู่ 3 แบบซึ่งได้พระราชทานชื่อ ดังนี้ เรือมด, เรือซูเปอร์มด และเรือไมโครมด
สำหรับเรือใบฝีพระหัตถ์ทั้ง 2 ลำ จัดแสดงในนิทรรศการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย” และ “พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย” ซึ่งเป็นหนึ่งในนิทรรศการหลักภายในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2559 ระหว่างวันที่ 18 – 28 ส.ค.59 เวลา 09.00 – 19.00 น. ณ อาคารเอ็กซิบิชั่น ฮอลล์ 2 – 8 อิมแพ็ค เมืองทองธานี