xs
xsm
sm
md
lg

นามนั้นสำคัญนัก ตอนที่ 2

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์


ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies


ชื่อไทยเรียกลำบาก

คำต่อท้ายชื่อแบบญี่ปุ่นซึ่งมีหลายคำ อาจทำให้คนไทยรู้สึกยุ่งยากที่ต้องจดจำการใช้ แต่ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับชื่อแล้ว ไม่ใช่คนไทยฝ่ายเดียวที่รู้สึกลำบาก คนญี่ปุ่นเองก็เจอความยุ่งยากเมื่อต้องเรียกชื่อของคนไทยเช่นกัน

เมื่อจะแนะนำตัวให้คนญี่ปุ่นฟัง ผมเจอปัญหาเกี่ยวกับชื่อและนามสกุลของตัวเองอยู่บ่อยๆ คนไทยที่ทำงานหรือมีปฏิสัมพันธ์กับคนญี่ปุ่นคงเคยมีประสบการณ์คล้ายกัน ปัญหาที่ว่านี้คือนามสกุลคนไทยยาว คนญี่ปุ่นเรียกไม่ค่อยถูก

คนไทยด้วยกันเอง คงไม่รู้สึกว่ายาว เพราะเราชินกับภาษาไทย แต่คนญี่ปุ่นและคนในประเทศอื่น (ที่ไม่ใช่คนลาว นามสกุลคนลาวก็ยาวเช่นกัน) อีกเป็นจำนวนมากรู้สึกว่ายาวและเรียกยาก ยิ่งในกรณีของคนญี่ปุ่น ยิ่งรู้สึกว่ายาวเป็นพิเศษเพราะธรรมชาติการออกเสียงคำญี่ปุ่นกับคำไทยต่างกัน คนไทยชินกับการนับความยาวด้วยพยางค์ไทย ถ้าสัก 3 พยางค์คงไม่เท่าไร ขึ้นสี่หรือห้าเมื่อไรถึงจะเริ่มรู้สึกว่ายาว แต่พอเป็นภาษาญี่ปุ่น เนื่องจากมีเสียงน้อยกว่าภาษาไทย และนับความยาวด้วยหน่วยเสียง ซึ่งศัพท์ทางภาษาศาสตร์เรียกว่า “โมระ” (mōra) จากภาษาไทยที่เราคิดว่าไม่น่าจะเรียกลำบากสักเท่าไร จะกลายเป็นความหินขึ้นมาทันที

ตามวัฒนธรรมญี่ปุ่น เวลาเขียนชื่อ-นามสกุลของบุคคล จะเขียนนามสกุลขึ้นก่อน เวลาเรียกขานกันในแบบสุภาพและเป็นทางการ ก็จะเรียกโดยใช้นามสกุลเป็นหลัก เมื่อคนญี่ปุ่นเรียกชื่อคนต่างชาติก็จะพยายามเรียกตามวัฒนธรรมญี่ปุ่น จึงน่าเห็นใจมากเมื่อคนญี่ปุ่นพยายามจะเรียกชื่อคนไทย

เมื่อคนญี่ปุ่นจะเรียกผม ผมมักแอบเห็นเขาจ้องรายชื่อนั้นอยู่นานสองนาน บางทีทำปากขมุบขมิบด้วย คาดว่าคงซ้อมเพื่อเรียกให้ถูกต้อง นามสกุล “ทิพย์เทียมพงษ์” มีแค่ 3 พยางค์ ท่าทางไม่น่าจะเรียกยาก แต่ถ้าหากถอดเป็นภาษาญี่ปุ่นออกมา จะได้ว่า “ทิ-ป-ปุ-ทิ-เอะ-น-โพะ-ง” (Ti-p-pu-ti-e-n-po-n) มีตั้ง 8 หน่วยเสียงที่จะต้องเรียงตัวสวนสนามออกมาจากปากคนญี่ปุ่น จึงวุ่นวายกันน่าดู บางทีไม่เพียงแต่เรียกผมเข้ารกเข้าพง ในใบลงทะเบียนทั้งหลายยังเขียนได้ไม่หมดเพราะยาวเกินกว่าเนื้อที่จะอำนวยอีกด้วย

แรกๆ ผมทำตัวเข้ากับวัฒนธรรมญี่ปุ่น โดยยอมให้คนญี่ปุ่นโดยเฉพาะอาจารย์และเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัย เรียกว่า คุณทิพย์เทียมพงษ์—“ทิปปุทิเอ็นพง-ซัง” แต่หลังๆ ชักจะไม่ไหว เพราะท่านจะเรียกผมทีไรก็จะโหยหาโพยรายชื่อกันใหญ่ ปล่อยเอาไว้อย่างนี้คงจะรู้จักแต่หน้าดำๆ แต่จำชื่อผมไม่ได้สักที ด้วยเหตุนี้ จึงต้องปรับกระบวนท่า คือ เวลาเขียนชื่อจะเขียนแบบไทย เอาชื่อขึ้นก่อน แล้วตามด้วยนามสกุล และบอกสำทับอีกว่า กรุณาเรียกผมว่า “โฆษิต”

แต่ก็อีกนั่นแหละ คนญี่ปุ่นพูด “โฆษิต” ไม่ได้อีก เสียง “ซิ” หรือ “สิ” (si) ไม่มีในภาษาญี่ปุ่นปกติ จึงใช้เสียงใกล้เคียงคือ “ชิ” (shi) ชื่อผมจึงแปลงร่างเป็น “โฆ-ชิต-โตะ” (Kō-shit-to)

ได้ยินทีแรก รู้สึกว่า ‘เอ...เสียงแบบนี้มันแหม่งๆ อยู่นา’ เพราะนอกจาก “โฆ” จะมีเสียงเหมือน “โค” ตามที่เพื่อนปากเปราะบางคนเคยล้อผมตอนเด็กๆ แล้ว “ชิต” ยังเหมือนเสียง “shit” ของภาษาอังกฤษที่เป็นคำหยาบของ “อุจจาระ”...ซึ่งฟังดูไม่น่าจะเป็นมงคลแก่ตัว จึงขออนุญาตฝืนธรรมชาติปากคนญี่ปุ่นนิดหน่อยด้วยการให้เขาเรียกเราว่า “โฆ-ซุ-อิต-โตะ” และตั้งแต่นั้นมา คนญี่ปุ่นที่ผมรู้จัก (ส่วนใหญ่) จึงให้เกียรติเรียกผมว่า “โฆซุอิตโตะ-ซัง” ซึ่งจำง่ายกว่านามสกุล และแม้ไม่คุ้นหูเหมือนเสียงไทยแท้ แต่ก็พอทำใจรับได้

คำแนะนำสำหรับผู้ที่ทำงานร่วมกับคนญี่ปุ่นคือ หากไม่รังเกียจ ก็ให้เขาเรียกชื่อเล่นของเราก็ได้ สั้นดี เรียกง่าย สบายปาก และเราไม่ต้องลุ้นด้วยว่ากว่าจะเรียกชื่อจริงของเราออกมาได้ เขาจะขาดใจตายไปเสียก่อนหรือเปล่า

ชื่อญี่ปุ่นก็เรียกยากสำหรับเรา

อันที่จริง ก็ไม่ใช่แต่เขา เราคนไทยเองก็เรียกชื่อคนญี่ปุ่นได้ไม่ถนัดเท่าไร จึงเรียกแบบสบายปากกันอยู่ไม่น้อย เท่าที่สังเกตดู รู้สึกได้ว่าหูคนไทยไม่นิยมคำที่มีเสียงสั้น และด้วยธรรมชาติของภาษาไทย คนไทยพูดเสียงสั้นติดๆ กันไม่เก่ง จะลองออกเสียงประโยคนี้ดูก็ได้

“หลังพิพิธภัณฑ์ รถกระบะโตะโยะตะบรรทุกกระทะ พุ่งปะทะเก๋งฮนดะซะกระทะกระเด็น”

เสียงแบบนี้ฟังกระชั้นหู หรือขาดเป็นห้วงๆ ดังนั้น ชื่อไหนที่เป็นเสียงสั้นๆ คนไทยจะหาทางเปลี่ยนให้เป็นเสียงยาวให้จงได้ เอาง่ายๆ แค่ To-yo-ta หรือ Hon-da สองชื่อนี้นอกจากเป็นยี่ห้อรถที่คนไทยคุ้นหูกันดีแล้ว ยังเป็นนามสกุลคนญี่ปุ่นด้วย และผมเองก็เคยพูดคุยกับคนสกุลเหล่านี้ รวมทั้งอาจารย์สอนภาษาญี่ปุ่นของผมเอง

โทะ-โยะ-ตะ หรือ ฮน-ดะ ก็ตาม [1] ออกเสียงสั้นทั้งหมด แต่เราก็อดไม่ได้ ขอขยายให้เขาเสียหน่อย เราถึงได้มียี่ห้อโตโยต้า ฮอนด้า หรือยี่ห้ออื่นอีก เช่น คาวาซากิ (คะวะซะกิ) ซูซูกิ (ซุซุกิ) แม้แต่ชื่อเมืองหรือสถานที่หลายแห่ง เช่น ฮิ-โระ-ชิ-มะ (Hi-ro-shi-ma), นะ-งะ-ซะ-กิ (Na-ga-sa-ki), นะ-โงะ-ยะ (Na-go-ya), กิน-ซะ (Gin-za), ฮะ-ระ-จุ-กุ (Ha-ra-ju-ku), นะ-ระ (Na-ra), โยะ-โกะ-ฮะ-มะ (Yo-ko-ha-ma) เหล่านี้ก็ออกเสียงสั้น อย่ากระนั้นเลย เนื่องจากพูดไม่สบายปากเรา ขอเอาเสียงยาวเข้าแทรกให้พูดง่ายหน่อย เราจึงรู้จัก ฮิโรชิม่า นางาซากิ นาโงย่า กินซ่า ฮาราจูกุ นารา โยโกฮาม่า และอีกหลายๆ เมืองที่เรายืดเสียงให้เขา

ด้วยลักษณะการยืดเสียงตามอำเภอใจแบบไทยๆ ปัญหาที่ผมมักจะประสบคือ แต่ละคนยืด (หรือบางครั้งก็หด) ตามมาตรฐานของตัวเอง ซึ่งมักกลายเป็นปัญหาใหญ่เมื่อต้องแปลเอกสารทางการ เพราะแต่ละคนก็ถ่ายเสียงไปตามแบบของใครของมัน ยืดมั่งหดมั่ง จนไม่รู้ว่าจะเชื่อใครดี ชื่อเดียวกันแต่เขียนไม่เหมือนกันจึงปรากฏมากมาย เช่น ฮาราจูกุ-ฮาราจุกุ, นะระ-นารา, ฮาโกเนะ-ฮาโกเน่ (ที่ถูกต้องคือ “ฮะโกะเนะ”)

โชคดีก็ยังพอมีอยู่บ้าง คือ ราชบัณฑิตยสถานของไทยได้กำหนดการถ่ายเสียงภาษาญี่ปุ่นและบัญญัติชื่อเมืองไว้อย่างเป็นกิจจะลักษณะมานานแล้ว แต่โชคร้ายก็ยังไม่หายไปหมด คือ คนไทยจำนวนมากไม่รู้ว่ามีเกณฑ์นี้ขึ้นมาแล้ว และยังพูด-เขียนตามที่ ‘เชื่อ’ ว่าถูก ลูกศิษย์ชาวญี่ปุ่นของผม ซึ่งอยู่ในยุคอินเทอร์เน็ตและเรียนรู้ภาษาไทยจากสื่อออนไลน์ด้วย จึงมักเขียนชื่อญี่ปุ่นเป็นภาษาไทยโดยมีหลากหลายตัวสะกดส่งมาอยู่เป็นประจำ เพราะเชื่อว่าสิ่งที่ปรากฏออนไลน์นั้นถูกต้อง หนักๆ เข้า ผมจึงต้องเอาหลักเกณฑ์ของราชบัณฑิตย์ฯ มาบรรจุไว้ในหลักสูตรการสอนภาษาไทยให้แก่นักศึกษาญี่ปุ่นด้วย ที่หยิบยกเรื่องเหล่านี้ขึ้นมาก็ไม่ใช่ว่าขัดข้องเรื่องการยืดหดแต่ประการใดเพราะมันเป็นไปตามธรรมชาติของภาษาไทย แต่ชี้ไว้เพื่อจะบอกว่า ถ้าจะพูด ก็ยืดหดแล้วแต่จะสะดวก แต่ถ้าจะเขียน น่าจะอิงหลักเกณฑ์ที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ คนต่างชาติจะได้ไม่งง หรือคนไทยเองก็จะได้มีมาตรฐานเดียวกัน

อีกอย่างหนึ่งที่อยากจะบอกไว้สำหรับผู้ที่สนใจเรียนภาษาญี่ปุ่น คือ ถ้าพูดกับคนไทยด้วยกันโดยถือว่าคำญี่ปุ่นเหล่านี้เป็นเสียงไทยก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าพูดกับคนญี่ปุ่นต้องระลึกไว้เสมอว่า เราพูดคำญี่ปุ่นกับคนญี่ปุ่น ซึ่งไม่คุ้นสำเนียงไทย ถ้าไม่ใส่ใจเสียเลยอาจจะทำให้...

1) คนญี่ปุ่นบางคนอาจรู้สึกว่าผู้พูดเสียมารยาท เพราะการยืดเสียงมากๆ อาจฟังดูไม่สุภาพ และที่สำคัญคือ คนฟังต้องไม่ชอบใจแน่หากได้ยินชื่อตัวเองถูกเรียกอย่างยานคาง หรือ

2) สื่อกันไม่เข้าใจ ถ้าไม่เชื่อลองดู ลองบอกคนญี่ปุ่นสิว่า “ที่บ้านมีรถยี่ห้อ ฮอ—น ด้—า” แวบแรก ถ้าเขาไม่ทำหน้างงกลับมา แสดงว่าเขาคงเคยมาเมืองไทย หรือลองบอกเขาก็ได้ว่า “ไปเที่ยวญี่ปุ่น ไปกิ—น ซ่ —า มาด้วย” ถ้าเขาไม่ทำหน้างงกลับมา เป็นไปได้ว่าอาจเคยมีแฟนเป็นคนไทย
สถานี นะ-งะ-ซะ-กิ
ย่าน กิน-ซะ
ย่าน กิน-ซะ
หมายเหตุ :
[1] (สำหรับผู้ที่เรียนภาษาญี่ปุ่น ควรตระหนักว่าภาษาญี่ปุ่นไม่มีเสียงสระออ ดังนั้น การออกเสียงว่า “ฮอนด้า”[Honda] หรือ “ฮอกไกโด” [Hokkaido] หรือ “นิปปอน” [Nippon] จึงเป็นการออกเสียงที่ผิดไปจากภาษาญี่ปุ่น ต้องออกเสียงว่า “ฮนดะ”, “ฮกไกโด”, “นิปปง”)

**********

คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.manager.co.th

กำลังโหลดความคิดเห็น