ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies
Tokyo University of Foreign Studies
ได้บัตรดูฟรี
ไม่นานหลังจากเรียนเรื่องซูโม่ในห้อง ฟ้าทรงโปรดหรืออย่างไร ปรากฏว่ามีองค์กรไม่แสวงกำไรติดต่อผ่านมหาวิทยาลัยมาว่ามีบัตรให้นักศึกษาต่างชาติไปดูซูโม่ฟรี เรื่องพลาด...ไม่มีซะละ ผมรีบโทรศัพท์ติดต่อองค์กรใจบุญนี้ทันที จะได้ไปพิสูจน์คำเล่าขานที่ว่า ดูซูโม่ให้มันส์ถึงใจ ต้องไปดูของจริง
การแข่งขันซูโม่ จัดเดือนคี่ ปีละ 6 ครั้ง จัดที่โตเกียว 3 ครั้ง อีก 3 ครั้งจัดที่ โอซะกะ นะโงะยะ และฟุกุโอะกะ บัตรฟรีที่ได้มาคือซูโม่รอบที่จัดในโตเกียว ตอนที่ไปดูนั้น กำหนดวันไปดูอยู่ในช่วงปลายเดือนกันยายน ต้นฤดูใบไม้ร่วงเป็นช่วงที่อากาศภายนอกเย็นลงและมีฝนมรสุมตกแทบทุกวัน วันไปดูซูโม่ ฝนตกมาตั้งแต่เช้า ฝนญี่ปุ่นเป็นเหมือนคนญี่ปุ่น คือ ถ้าเป็นคนคงเรียกว่าสุภาพและอดทน แต่พอเป็นฝนต้องเรียกว่าตกไม่หยาบคาย ตกสบายๆ ตกอึด ไม่กระหน่ำ แต่น่ารำคาญเพราะตกนานเป็นวันๆ
ผมไม่ได้ชวนใครไปเป็นเพื่อนช่วยลุ้นซูโม่ เพราะเกรงว่าตัวเองจะอับอายเสียมากกว่าถ้าออกท่าเชียร์เย้วๆ จนเลยเถิดเกิดเสียมาดขึ้นมา
เจ้าหน้าที่รออยู่แล้วเมื่อผมเดินทางไปถึงสถานีเรียวโงะกุ (両国;Ryōgoku) ตอนบ่าย และเป็นเวลาเดียวกับที่นักศึกษาชายอีกคนหนึ่งมาถึงสถานี เจ้าหน้าที่มอบตั๋วให้เราสองคน พร้อมกับบอกให้เดินไปจองที่นั่งบนอัฒจันทร์ในโรงแข่งซึ่งมีชื่อว่าโคะกุงิกัง (国技館;Kokugi-kan) เผื่อคนอื่นที่จะตามมาด้วย
บุรุษผิวขาวผู้มีผมยาวกระเซิงคนนั้น กับผม ต่างคนต่างกางร่มเดินย่ำน้ำที่นองพื้น...จ๋อม ๆ ฝ่าฝนที่ลงหยิมๆ ออกจากสถานีรถไฟไปยังโคะกุงิกัง ในยามที่มีคนตั้งแต่สองคนขึ้นไป ความเงียบมักสร้างความอิหลักอิเหลื่อเสมอ แต่ผมเผ้าของเขาที่ดูรกตา สร้างความไม่น่าไว้ใจเกินกว่าที่นักศึกษาต่างชาติอย่างผมจะกล้าชวนคุย ผมจึงได้แต่นิ่งเงียบ ตั้งหน้าตั้งตาเดิน แต่เขาเอ่ยขึ้นก่อน
“คนนิชิวะ ฮะจิเมะ มะชิเตะ (こんにちは。初めまして。; Konnichiwa. Hajime mashite.) - สวัสดี ยินดีที่ได้รู้จักครับ”
เมื่อผมตอบกลับไปด้วยประโยคเดียวกัน เขาก็เริ่มสนทนาต่อ
“โอะ นะมะเอะ วะ ? (お名前は?;O-namae wa?) - ชื่ออะไรครับ?”
ผมบอกชื่อตัวเอง แล้วจึงได้ทราบว่าเขาชื่อเค็น
เค็นเป็นคนญี่ปุ่น แต่ได้รับสิทธิ์ให้มาดูซูโม่ด้วย ชักทะแม่งๆ ยังไงอยู่ เพราะผมคิดว่างานนี้น่าจะมีแต่นักเรียนต่างชาติ
เมื่อซักไซ้เข้า เค็นเล่าว่า รู้ว่าบัตรฟรีครั้งนี้มีกลุ่มเป้าหมายคือนักศึกษาต่างชาติ แต่ด้วยความที่เค็นอยากมีเพื่อนเป็นคนต่างชาติจึงโทร. ไปอ้อนวอนขอบัตรจากเจ้าหน้าที่ บังเอิญบัตรเหลือจึงได้มาด้วย
‘โชคดีเหลือเกินนะนาย’ ผมนึกในใจแต่ไม่ได้พูดออกไป ด้วยหวั่นๆ ใบหน้าเคราครึ้มของเขาอยู่
หลังจากได้คุยกันมากขึ้น แววระแวงจึงลดลงกว่าเดิมหน่อย เราเดินคุยกันไปเรื่อย ผ่านรูปปั้นซูโม่ที่ยืนทำท่าจังก้าอยู่หน้าโรงแข่ง เมื่อไปถึง เราก็เข้าไปข้างใน แล้วไต่บันไดขึ้นไปจนถึงที่นั่งสมนาคุณของเรา ข้างล่างตรงกลางโรงแข่งมี “โดะเฮียว” (土俵;dohyō) หรือ “สังเวียน” ซึ่งเป็นเวทีแข่งยกสูงจากพื้น 2 ฟุต มีเชือกขดเป็นวงบนลานดินอยู่กลางเวทีเพื่อกำหนดเขตประลองกำลัง สังเวียนอยู่กลางวงล้อมของที่นั่งนับพันทั้งแบบติดเวทีและแบบสูงส่ง แต่ก็ส่งไปสุดไกลอย่างที่ผมกับเค็นได้ สิ่งที่เด่นสะดุดตาเมื่อมองลงมาคือหลังคาที่ทำลอยห้อยขึงอยู่กลางอากาศ รูปร่างคล้ายหลังคาของศาลเจ้าชินโต และที่มุมทั้งสี่ของหลังคามีพู่ห้อย พวกเราได้ที่นั่งสูงขนาดนี้ ถึงตาดีขนาดไหน พอมองลงไป ยักษ์ก็กลายเป็นมดได้เหมือนกัน
ผ่านไปครึ่งชั่วโมง คนดูเข้ามาเกือบเต็มแล้ว การแข่งขันซูโม่กำลังจะเริ่มขึ้น เค็นนั่งติดกับผมตลอด ผมเชื่อว่าเขาจงใจทำเช่นนั้นเพื่อผูกมิตรกับมนุษย์ต่างชาติ ซึ่งผมก็ไม่รังเกียจเพราะมีแผน ซึ่ง (อาจจะ) ไม่ใช่แผนร้าย แต่เป็นแผน ‘ใช้’ คือจะใช้ให้เค็นอธิบายคำบรรยายของโฆษกสนามให้ผมฟัง (...ก็ใครใช้ให้อยากมานั่งใกล้ล่ะครับ)
เสียงประกาศการแข่งขันดังขึ้น ผู้ชมปรบมือกันสนั่น ริกิชิชั้นจูเรียวกับมะกุอุชิทั้งหลายในชุดผ้าเตี่ยวพิธีการแบบเต็มยศพากันชักขบวนเดินเข้าสู่สนาม มีเสียงดนตรี เสียงโห่ร้องต้อนรับ เสียงปรบมือ สลับกับเสียงโฆษกเป็นระยะ แต่ยังไม่ใช่การแข่ง เป็นเพียงการเข้าสู่พิธีเปิด
ผู้ชมทั่วไปที่ไม่ใช่คนญี่ปุ่นอาจมองว่าซูโม่คือกีฬาอย่างหนึ่ง แต่ความลึกซึ้งของซูโม่ในด้านพิธีกรรม พิธีการ และการแสดง ซึ่งตกทอดมาแต่โบราณยังคงเหลืออยู่ในซูโม่ปัจจุบัน โลกของซูโม่เต็มไปด้วยความเชื่อและพิธี เช่น ผู้หญิงจะขึ้นเวทีซูโม่ไม่ได้และจะเป็นนักปล้ำซูโม่ไม่ได้เพราะเป็นความเชื่อทางศาสนาชินโตว่าผู้หญิงจะทำให้เวทีซูโม่ไม่บริสุทธิ์ หรืออย่างพิธีที่ผมดูอยู่ตอนนี้คือ โดะเฮียว-อิริ (土俵入り;dohyō-iri) หมายถึง พิธีเข้าสู่สังเวียน ซึ่งถ้าใครเป็นโยะโกะซุนะ จะได้รับเกียรติสูงสุด ฉายเดี่ยวเข้าโดะเฮียวเป็นเอกเทศในพิธี “โยะโกะซุนะโดะเฮียวอิริ” (横綱土俵入り;Yokozuna Dohyō-iri)
พอพิธีทั้งหลายและการแนะนำกรรมการจบลง ต่อไปก็ถึงคิวของการแสดง มีเหล่าริกิชิออกมาร้องเพลงให้ฟัง และมีการแสดงจำอวดแกล้งปล้ำกัน ทำเป็นแนวชวนหัวร่วมสมัย ถูกผลักถลันออกนอกวงเชือกบ้าง ทำท่าโอดโอยบ้าง เรียกเสียงหัวเราะจากคนดูได้ล้นหลาม นับเป็นประสบการณ์น่าประทับใจที่ได้รับรู้ว่า นักปล้ำซูโม่ตัวยักษ์ใหญ่ก็เล่นตลกเก่งเหมือนกันแฮะ
ผู้บรรยายจำเป็น
ช่วงแรกเค็นกับผมต่างคนต่างนั่งเงียบ จะมีบ้างก็คือเสียงหัวเราะให้กับท่าทางของริกิชิที่กลายร่างเป็นดาราตลกชั่วขณะ สักพักเมื่อถึงเวลาปล้ำจริง เราสองคนจึงช่วยกันนั่งหารายชื่ออยู่บนบันสุเกะ (番付;banzuke) ซึ่งเป็นแผ่นกระดาษแสดงรายชื่อว่าใครจะสู้กับใคร ตัวหนังสือยิบย่อยเหลือเกิน ผมจึงใช้ความบังเอิญที่เป็นเจตนาของเค็น ให้เขาเป็นคนหาแล้วอ่านให้ผมฟัง จึงค่อยยังชั่ว ไม่งั้นถ้ามัวแต่นั่งแกะตัวอักษรอยู่ กว่าจะได้รู้ก็คงแข่งเสร็จพอดี
คราวนี้นักปล้ำอยู่ในชุดผ้าเตี่ยวซูโม่ หรือ “มะวะชิ” (廻し;mawashi) เตรียมพร้อมประลองกำลัง ทั้งสองฝ่ายเดินขึ้นสังเวียน เอาเกลือหว่านสองสามทีตามความเชื่อแบบซูโม่ที่ว่าเป็นการขับไล่ความไม่บริสุทธิ์ ในการประลองกำลังกันนั้น เนื่องจากซูโม่ไม่มีข้อห้ามด้านน้ำหนัก บางทีตัวเล็กก็ได้เจอกับตัวใหญ่ ซึ่งอาจดูไม่เข้าทีเท่าไร แต่คนญี่ปุ่นบอกว่า ‘ท่า’ ต่างหากที่เป็นตัวตัดสินว่าใครเก่ง หาใช่น้ำหนักไม่
พอทุกฝ่ายพร้อม กรรมการบนเวทีซึ่งเรียกว่า “เกียวจิ” (行司;gyōji) บอกว่า “เริ่มได้” นักปล้ำสองฝ่ายจะเข้าปะทะกัน ทั้งดัน ทั้งผลัก กอดรัดกันอยู่กลางเวที แป๊บเดียวเท่านั้นแหละ...บางคู่ไม่ถึงนาทีด้วยซ้ำ...เป็นอันว่ารู้แพ้รู้ชนะ การแพ้ในซูโม่นั้นไม่ยาก ไม่จำเป็นต้องล้มลงในวงหรือถูกผลักให้หลุดออกไปนอกวงเชือกหมดทั้งตัว แค่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายนอกจากฝ่าเท้า ไม่ว่าจะปลายนิ้วมือหรือเข่า ไปถูกพื้นเข้าก็แพ้เลย ตอนที่ดูซูโม่ในโทรทัศน์ ผมไม่รู้จักท่า นึกว่าเขาแค่ผลักๆ กันให้หลุดออกนอกสังเวียนไป ไม่ต้องใช้ไม้ตายอะไร ปรากฏว่าความคิดตื้นๆ นั้นผิดไปถนัดใจ
“เมื่อกี้ชนะด้วยท่า...” โฆษกประกาศชื่อฝ่ายชนะ และบอกท่าที่ฝ่ายนั้นใช้
ผมฟังไม่ทันหรอก แต่เค็นกระซิบบอกว่า “เมื่อกี้เขาพูดว่าท่าโยะริกิริ”
เป็นอย่างนี้อยู่ทุกๆ คู่ ผมจึงเข้าใจชัดเจนเดี๋ยวนี้ว่า แม้ซูโม่ไม่มีบาทาลูบพักตร์ หักงวงไอยรา ปักษาแหวกรัง หรือมณโฑนั่งแท่น แต่ท่าแบบแผนที่เอาไว้ใช้เป็นอาวุธของนักปล้ำมีอยู่เยอะพอสมควร ที่ได้ยินผู้บรรยายส่วนตัวพูดให้ฟังข้างหูอยู่บ่อยๆ ตลอดการแข่ง คือ ผลักออก—โอะชิดะชิ (押し出し;Oshidashi), จับผ้าเตี่ยวแล้วดันออก—โยะริกิริ (寄り切り;Yorikiri), ผลักด้านหลังให้หลุดวง—โอะกุริดะชิ (送り出し;Okuridashi), ยกออก—สึริดะชิ (吊り出し;Tsuridashi), เอามือดัน ๆ ๆ และดัน สลับซ้ายขวา—สึคิดะชิ (突き出し;Tsukidashi), กระชากลงด้านหน้า—ฮิกิโอะโตะชิ (引き落とし;Hikiotoshi), ช้อนช่วงขาอ่อนแล้วดันออก—วะตะชิโกะมิ (渡し込み;Watashikomi) และภายหลังผมมารู้ว่าท่าของซูโม่มีถึง 70 กว่าท่า แต่อย่าเพิ่งนึกว่าจะเหมือนมวยปล้ำ เพราะซูโม่ห้ามใช้หมัด จิกผม ถ่มน้ำลาย ตะกายปีนเชือก จิ้มลูกตา ตีลังกา เตะท้องหรือยอดอกโดยเด็ดขาด
แข่งไปถึงคู่หลังๆ จะเป็นคู่เก่ง ยิ่งดูยิ่งมันส์ ทึ้งกันไป รั้งกันมา ได้ลุ้นจนหายใจไม่ทั่วท้องจริงๆ สิ่งที่อาจารย์เคยพูดไว้ได้เห็นจริงก็วันนี้ และแล้วก็มาถึงคู่สุดท้ายที่ทุกคนต่างตั้งตารอ คู่นี้คือคู่ของโยะโกะซุนะ ตอนที่ผมได้ดูนั้นคือโยะโกะซุนะ ผู้มีชื่อว่าอะซะโชริว (朝青龍;Asashōryū) เป็นชาวมองโกล
เป็นไปตามความคาดหมาย แชมป์เหนือแชมป์คนนี้คว้าชัยไปได้ คนดูตื่นเต้นชอบใจ ปรบมือกันเกรียวกราว คนดูที่อยู่ในที่นั่งแพงๆ แบบมีเบาะรองก้น ก็คว้าเบาะโยนกันใหญ่ (ในการแข่งซูโม่ ถ้าถูกอกถูกใจ คนญี่ปุ่นจะทำเช่นนี้กัน) ผมกับเค็นก็อยากทำ แต่ที่นั่งตอนนี้คือเก้าอี้พลาสติกที่ตรึงกับซีเมนต์ คงจะกลายเป็นการก่อความไม่สงบถ้าเราพยายามทำ เราทั้งคู่จึงระบายอารมณ์มันส์ด้วยวิธีการสากลจนมือแดง แล้วการชมกีฬาประจำชาติของญี่ปุ่นก็ปิดฉากลงด้วยความตื่นเต้น รอยยิ้ม และมิตรภาพระหว่างคนไทยกับผู้บรรยายจำเป็น
ผมรู้สึกว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มักมีอะไรไม่เหมือนใครในโลก มีอะไรที่เป็นแบบฉบับของตัวเอง...แบบที่สุดของตัวเอง...อยู่หลายอย่าง เรื่องซูโม่ก็เช่นกัน แค่เอาคนมาทำยังไงก็ได้ให้ตัวใหญ่แล้วดันอีกฝ่ายให้ออกจากวงกลมที่ขีดไว้ เล่นกันแค่นี้ แต่ทำไปทำมาได้ก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์แบบเรียบง่ายที่กลายเป็นเอกลักษณ์ของญี่ปุ่นไป และไม่ใช่เฉพาะในญี่ปุ่นเท่านั้น คนนอกญี่ปุ่นก็รู้จักซูโม่ด้วย
วันที่ไปดูซูโม่ ผมยังจำได้ว่าสนุกมาก คงเป็นความสนุกเพราะดูรู้เรื่อง ได้เห็นของจริง และบังเอิญมีคนนั่งอธิบายให้ฟังอยู่ข้างๆ นับจากครั้งนั้น ตอนนี้ผ่านมาเกือบสิบเอ็ดปีแล้ว นึกซูโม่ทีไรก็นึกถึงเค็น หรือเมื่อนึกถึงเค็นทีไรก็นึกถึงซูโม่ การสนทนาวันนั้น ทั้งเรื่องซูโม่และเรื่องการเรียนในต่างประเทศที่เค็นวางแผนไว้ ทำให้รู้ว่าเรามีหลายเรื่องที่คุยถูกคอ มิตรภาพในบรรยากาศซูโม่ก่อตัวจนข้ามเส้นแบ่งของการเป็นแค่คนรู้จัก กลายเป็นเพื่อน และเพราะซูโม่เราจึงได้สนิทกันต่อมา
ผมยังอยากไปดูซูโม่ในสถานที่จริงอีก แต่เป็นความอยากที่ถูกระงับไปนาน เพราะ ณ เวลาหนึ่ง ผมเกิดความไม่กล้า ด้วยกลัวว่าเมื่อดูซูโม่แล้วจะนึกถึงเค็น
**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.manager.co.th