ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies
Tokyo University of Foreign Studies
หมูเห็ดเป็ดไก่...ชื่อไทยทำอึ้ง
แง่มุมเชิงวัฒนธรรมเรื่องชื่อของคนไทยกับคนญี่ปุ่นมีทั้งต่างกันและเหมือนกันอยู่ ในด้านความเชื่อเรื่องการตั้งชื่อนั้นมีส่วนคล้ายกัน คือ ถ้าจะตั้งชื่อจริงให้ลูก ทั้งคนไทยและญี่ปุ่นจะกางตำรา ไปหาพระ ให้ผู้ใหญ่ตั้ง หรือไปใช้บริการหมอดู คนไทยใส่ใจความหมายและเลือกตัวอักษรมงคล คนญี่ปุ่นก็ทำเหมือนกัน เพียงแต่เกณฑ์อาจต่างกันบ้างในรายละเอียด เช่น คนไทยต้องพิจารณาด้วยว่าเกิดวันอะไร ส่วนคนญี่ปุ่นไม่สนใจ (ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองเกิดวันอะไร รู้แต่ว่าเกิดวันที่เท่าไร) คนไทยใช้ตัวอักษรอะไรก็ได้จาก 42 ตัวที่ใช้ในปัจจุบัน ส่วนคนญี่ปุ่นมีตัวอักษรคันจิเป็นพันๆ จะเอาตัวไหนมาใช้ตั้งชื่อต้องดูว่าอยู่ในจำนวน 1,990 ตัวธรรมดากับอีก 284 ตัวพิเศษสำหรับใช้เขียนชื่อตามที่รัฐบาลกำหนดหรือเปล่า
ส่วนความแตกต่างข้อใหญ่ในการตั้งชื่อของไทยกับญี่ปุ่นอยู่ที่ชื่อเล่น คนญี่ปุ่นมักไม่ตั้งชื่อเล่นเป็นชื่อต่างหากให้ลูก เวลาเรียก จะเรียกโดยลดชื่อจริงให้สั้นลง หรือชื่อเล่นของคนญี่ปุ่นบางคนก็อาจเป็นชื่อที่เพื่อนในโรงเรียน (รวมศีรษะ?) พร้อมใจกันเรียกเมื่อโตแล้ว เหมือนที่นักเรียนไทยเที่ยวตั้งฉายาให้เพื่อนร่วมห้อง คนญี่ปุ่นจึงประหลาดใจเมื่อรู้ว่า พอเด็กไทยเกิดมา ทุกคนจะมีชื่อเล่นเป็นของตัวเองตั้งแต่ยังจำความไม่ได้ และยิ่งแปลกใจเมื่อรู้ว่าคนไทยมีชื่อเล่นเป็นหมูเห็ดเป็ดไก่ เป็นต้นไม้นานาพรรณ ยี่ห้อรถ คำอุทาน ชื่ออาหาร หรือเป็นภาษาต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น นก มะลิ เข็ม เฟิร์น เบนซ์ โฟค ฟอร์ด เอ๊ะ อ๋า จ๋า จ๊ะ เชียร์ เบียร์ วุ้นเส้น เอ็ม เอ็กซ์ นัท สารพัดที่คนไทยคิดว่าธรรมดา
แล้วผมจึงเทียบให้คนญี่ปุ่นฟังว่า เวลาคนไทยเรียกชื่อเล่นกันว่าหมูเห็ดเป็ดไก่หรืออะไรก็แล้วแต่ ไม่มีใครคิดลึกนึกไปถึงภาพที่แท้จริงของชื่อนั้นหรอกนะ ชื่อก็คือชื่อ ไม่ใช่ว่าเรียกคุณเบนซ์แล้วมองเห็นภาพรถเบนซ์มาลอยอยู่ตรงหน้า ก็เหมือนกับคนญี่ปุ่นนั่นแหละ ถ้าเรียกใครแล้วนึกถึงคำแปลของนามสกุลไปด้วยคงอึดอัดกันน่าดู เพราะแต่ละนามสกุลที่แพร่หลายก็ไม่ได้มีความหมายวิจิตรพิสดารอะไร เช่น ทะนะกะ-ซัง (田中;Tanaka) แปลว่า คุณกลางนา, อุเอะดะ-ซัง (上田;Ueda) แปลว่า คุณบนนา, ยะมะดะ-ซัง(山田;Yamada)แปลว่า คุณภูเขาและท้องนา... อะไรอย่างนี้ เวลาเรียกกัน ไม่เห็นมีคนญี่ปุ่นที่ไหนนึกถึงความหมายที่แท้จริงเลย
พออธิบายอย่างนี้ คนญี่ปุ่นเริ่มคล้อยตาม แต่อย่างไรเสีย ก็ยังบอกอยู่ดีว่า ชื่อเล่นของคนไทยแปลกและน่าสนใจ ชื่อต้นไม้ยังไม่เท่าไร พอได้ยินว่ามีคนไทยชื่อหมู ช้าง เป็ด คนญี่ปุ่นหัวเราะจนน้ำตาเล็ด ผมจึงต้องปิดท้ายด้วยการบอกไปว่า “อ้าว...ไม่รู้หรอกเหรอ นี่แหละศิลปะการชื่นชมธรรมชาติผ่านชื่อ แล้วก็ไม่ต้องหัวเราะไป นี่ยังดีที่ไม่มีเด็กไทยชื่ออีซูซุ หรือคูโบต้า” (เอ๊ะ...หรือว่ามี แต่ผมไม่รู้?)
คนไทยเปลี่ยนชื่อกันง่ายจัง
อีกเรื่องหนึ่งที่คนญี่ปุ่นรู้สึกประหลาดใจมากคือ การเปลี่ยนชื่อของคนไทย เพื่อนญี่ปุ่นคนหนึ่งของผมเล่าให้ฟังว่า ตอนที่เขาไปเรียนอยู่ในสหรัฐฯ ได้รู้จักเพื่อนคนไทยที่โน่นด้วย เพื่อนคนนั้นใช้ชื่อถึง 4 ชื่อในเวลาเดียวกัน คือ ชื่อจริง ชื่อเล่นภาษาไทย และชื่อภาษาอังกฤษอีก 2 ชื่อ และไม่ว่าจะเรียกชื่ออะไรก็หันตามเสียงเรียกได้ทุกที เขาแปลกใจเพราะคนญี่ปุ่นจะไม่ใช้ชื่อเยอะขนาดนั้น และรู้สึกแปลกใจยิ่งขึ้นไปอีกเมื่อทราบว่าคนไทยเปลี่ยนชื่อจริงกันได้ง่ายๆ
สมัยก่อน คนญี่ปุ่นเองก็เคยมีวัฒนธรรมการเปลี่ยนชื่อ ในสมัยเอะโดะ (江戸; Edo; พ.ศ. 2143-2411) ชื่อจะเปลี่ยนไปตามตำแหน่งและสถานที่ทำงานที่เปลี่ยนไป เพราะช่วงนั้นถือเคล็ดเกี่ยวกับจุดเปลี่ยนของชีวิตกันมาก ตอนเป็นเด็กมีชื่อวัยเด็ก พอเป็นผู้ใหญ่ใช้ชื่อผู้ใหญ่ พอเกษียณอายุก็เปลี่ยนชื่ออีก สมัยนี้วัฒนธรรมแบบนั้นไม่มีแล้ว และการเปลี่ยนชื่อในญี่ปุ่นเป็นเรื่องที่ยุ่งยากมากด้วย ของญี่ปุ่นต้องดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด กฎหมายว่าด้วยระเบียนประชาชนมาตรา 107 ของญี่ปุ่นบัญญัติว่า จะต้องเป็นกรณี “สุดวิสัย” และมี “เหตุผลอันเหมาะสม” และถ้าเทียบกันแล้ว การเปลี่ยนนามสกุลก็ยากกว่าเปลี่ยนชื่อ
ในการเปลี่ยนชื่อหรือนามสกุล ต้องหาทนายทำเรื่องยื่นต่อศาลครอบครัว และมีการสืบค้นเหตุผลที่จะเปลี่ยน เช่น เป็นชื่อที่แปลกมาก อ่านยากเขียนยาก มีคนชื่อและนามสกุลซ้ำกัน ชื่อและนามสกุลซ้ำกับคนดังหรือฆาตกร ถูกเข้าใจผิดว่าเป็นเพศตรงข้าม ถูกเข้าใจผิดว่าเป็นคนต่างชาติ (เช่น คนจีน คนเกาหลี) เป็นต้น เมื่อได้รับอนุญาตจากศาลครอบครัวแล้ว จึงจะดำเนินการได้
พอผมได้ฟังเพื่อนญี่ปุ่นเล่าความแตกต่างในจุดนี้ให้ฟัง จึงรู้สึกขึ้นมาเหมือนกันว่า จริงแฮะ...คนไทยเปลี่ยนหรือตั้งชื่อกันง่ายๆ อย่างที่เขาว่าจริง ๆ ทั้งชื่อเล่นชื่อจริง ถ้าคนไทยคิดจะเปลี่ยน ก็เปลี่ยนกันตามความพอใจของเจ้าตัว เพื่อนผมคนหนึ่งเปลี่ยนไปแล้วตั้งสามหนคน หรือแม้แต่ตัวเอง หมอดูก็เคยบอกให้ไปเปลี่ยนเหมือนกัน แต่ยังไม่คิดจะเปลี่ยน
นามสกุลที่มีมาก
พอพูดถึงนามสกุล ทำให้นึกถึงเรื่องนี้ขึ้นมาด้วย กล่าวคือ ผมเคยสงสัยและเชื่อว่าคนไทยอีกมากมายก็คงสงสัยเหมือนกันคือ คนญี่ปุ่นมีนามสกุลเหมือนๆ กันมากมาย นามสกุลอะไรมีมากที่สุด และในเมื่อมีวัฒนธรรมเอ่ยถึงบุคคลโดยเรียกด้วยนามสกุล ไม่สับสนกันหรืออย่างไร
ผมหาคำตอบมาแล้วทั้งสองประเด็นดังนี้คือ นามสกุลที่มีคนใช้มากที่สุดในประเทศญี่ปุ่น 3 อันดับแรกได้แก่ อันดับ 1 “ซะโต” (Satō) ประมาณ 2 ล้านคน (อันนี้ขอยืนยันว่าจริง เพราะรอบตัวผมนี่ มี “คุณซะโต” 5 คน), อันดับ 2 “ซุซุกิ” (Suzuki) ประมาณ 1.75 ล้านคน (อันนี้ก็ขอยืนยันอีกเช่นกัน เพราะรอบตัวผม มี “คุณซุซุกิ” 5 คนเช่นกัน) , อันดับ 3 “ทะกะฮะชิ” (Takahashi) ประมาณ 1.45 ล้านคน (ยืนยันอีกว่าจริง เพราะรอบตัว มี “คุณทะกะฮะชิ” 4 คน)
ถ้าไล่ต่อไปให้ครบ 10 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 4 “ทะนะกะ” (1.35 ล้าน), อันดับ 5 “วะตะนะเบะ” (1.15 ล้าน), “อิโต” (1.1 ล้าน), “ยะมะโมะโตะ” (1.09 ล้าน), “นะกะมุระ” (1.07 ล้าน), “โคะบะยะชิ” (1.04 ล้าน), “คะโต” (0.87 ล้าน)
และประเด็นที่ 2 คือ เมื่อมีคนนามสกุลซ้ำกันมาก คนอื่นจะเรียกอย่างไรเพื่อไม่ให้สับสน เช่น เมื่อมีคนโทร.ไปหาใครสักคนของครอบครัวหนึ่ง วิธีการเลี่ยงความงงก็ไม่ยากอะไร ผมถามมาหลายบ้านแล้ว คำตอบที่ได้ก็คล้ายๆ กันคือ เรียกนามสกุลแล้วต่อด้วยชื่อของคนคนนั้น หรือเรียกตำแหน่งหน้าที่การงานของคนคนนั้นแทน
ชื่ออันตราย
ผมอธิบายให้เพื่อนญี่ปุ่นฟังต่อไปว่า การเปลี่ยนชื่อของคนไทยเป็นเรื่องธรรมดาในสังคม ถือได้ว่าเป็นค่านิยม หรือจริงๆ แล้วก็คือความเชื่อด้านโชคลางนั่นเอง ชื่อของคนไทยถูกผูกติดกับความเป็นไปในชีวิตมาช้านาน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ นางพิมพิลาไลยเปลี่ยนชื่อเป็นวันทอง อาการป่วยไข้จึงหาย เป็นต้น
แม้จะเป็นเรื่องที่พิสูจน์ได้ยาก แต่เชื่อไว้ก็ไม่ได้เสียหายอะไร และในทำนองเดียวกัน ด้วยความเชื่อที่ว่าชื่อดีเป็นศรีแก่ตัว ผมก็เคยบอกญาติที่เพิ่งเริ่มเรียนภาษาญี่ปุ่นด้วยว่า อย่าให้คนญี่ปุ่นเรียกชื่อดีๆ ของเรากลายเป็นชื่อไม่ดีเลยนะ ฉะนั้น...
“ถ้าจะแนะนำชื่อตัวให้เพื่อนญี่ปุ่นรู้จัก หนูจงเปลี่ยนชื่อเล่นน่าจะดีกว่านะ”
จิ้งจกทักคนยังกลัว แล้วคนตัวเท่าผมทัก มีหรือที่คนฟังจะไม่ถามให้ชัดว่าขัดข้องประการใดถึงได้เข้ามายุ่มย่ามกับชื่อหนู
ผมบอกไปว่า “ไหนลองเขียนชื่อหนูออกมาเป็นภาษาญี่ปุ่นซิ”
“ทำไมเหรอ? ชื่อหนูไม่ดีตรงไหน?” เธอเริ่มเสียงแข็ง แต่ก็เขียนออกมา เธอชื่อต่าย
“ถ้าคนไทยเรียกก็ไม่เป็นไรหรอกน้อง แต่ถ้าลองให้คนญี่ปุ่นออกเสียง จากเด็กหญิงต่ายแสนซน จะกลายเป็นคนชื่อ ตาย-จัง คือ เรียกเมื่อไรก็ตายจังเล้ย ตายได้ตายดีตายทุกทีที่เรียก จะเอาไหมล่ะอย่างนี้น่ะ?”
ภาษาญี่ปุ่นไม่มีวรรณยุกต์ และคนญี่ปุ่นจำนวนมากออกเสียงวรรณยุกต์เอกไม่ค่อยได้ ชื่อน้องจากที่ควรจะเป็น “ต่าย-จัง” จึงอาจกลายเป็น “ตายจัง” เจอเหตุผลเข้าไม้นี้ น้องจึงได้ข้อสรุปโดยไม่ถามต่อ และแม้น้องจะทำหน้างอพอเป็นพิธี แต่พี่ก็รู้ว่าลึกๆ แล้ว น้องนึกขอบคุณอยู่ในใจที่พี่ชี้ทางหลีกเลี่ยงเสียงเรียกที่ไม่เป็นมงคลอย่างนั้น
ใช่! เหตุผลเรื่องความเป็นมงคลของชื่อคือสิ่งที่ฝังใจคนไทยมานาน ผู้หลักผู้ใหญ่บางคนในบ้านเมืองเรายังเคยเปลี่ยนชื่อจริงเพราะความเชื่อแบบนี้เลย เมื่อยกเหตุผลแบบนี้ซึ่งอาจฟังดูเก่าสำหรับสังคมญี่ปุ่นมาเล่าให้เพื่อนฟัง เขาก็เกิดความเข้าใจขึ้นบ้าง หรืออย่างน้อยคงไม่มองว่าคนไทยทำอะไรเป็นแฟชั่นไปเสียหมด (แต่มีรากทางวัฒนธรรม?) ก็ไทยเราเชื่อของเราแบบนี้...ใครจะทำไม
ว่าแล้วก็ขอแนะนำต่อเลยว่า ชื่อเล่นไทยชื่ออื่นๆ ที่หมิ่นเหม่ว่าจะเข้าเขตความไม่เป็นมงคลแก่เจ้าตัวเมื่อถูกคนญี่ปุ่นเรียกขาน เตรียมชื่อใหม่ไว้เสียหน่อยก็ดี เพราะชื่อ โก้ อาจเป็น โง่-จัง หรือ แหวน อาจเป็น เวน-จัง
อย่างไรก็ตาม การเป็นคนต่างวัฒนธรรมกัน อาจทำให้เราหรือเขาเรียกชื่ออีกฝ่ายหนึ่งได้ไม่ครบถ้วนกระบวนเสียงยาวสั้นหรือวรรณยุกต์สูงต่ำ เจ้าของชื่อควรจะให้อภัยเพราะเป็นเรื่องช่วยไม่ได้ การจะบังคับให้คนที่พูดคนละภาษามาเรียกชื่อเราให้เข้ากรอบอักขรวิธีตามหลักทุกประการเป็นงานที่สาหัสไม่น้อย ถ้าหนักหนาก็เปลี่ยนให้เรียกง่ายเสียเลยจะได้หมดเรื่อง หรือถ้าเรารู้ว่าเรียกอย่างไรจะได้เสียงที่ใกล้เคียง และทำให้เป็นที่จดจำได้ง่าย ย่อมถือว่าเป็นศิลปะการผูกมิตรที่ดี
อย่าว่าแต่ชื่อคนไทย ทางด้านญี่ปุ่นก็มีสองนามสกุลที่ผมอยากจะบอกให้เขาตั้งเสียใหม่ ถึงแม้ว่าอาจจะขัดกับความรู้สึกของคนญี่ปุ่นที่ไม่ชินกับการเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล แต่หากคนสกุลนี้มาเมืองไทย ผมว่าเปลี่ยนใหม่น่าจะสบายใจกว่า เพราะไม่ว่าจะใช้ศิลปะการเรียกยังไงก็ยังเป็นอันตรายในภาษาไทยอยู่ดี ผมเคยพบคนที่มีนามสกุลล่อแหลมนี้ แต่โชคดีที่ไม่มีเพื่อนเป็นคนนามสกุลเดียวกัน ก็ถือว่ารอดตัวไป
สำหรับคนไทย ถ้าจะเอ่ยเรียกเจ้าของนามสกุลนี้ ห้ามออกเสียงเร็วโดยเด็ดขาด เพราะนามสกุลที่ว่า คือ “คุ-วะ-อิ” และ “คุ-วะ-เอะ” ไม่เชื่อลองพูดเร็วๆ ดูก็ได้ แต่อย่าให้ใครได้ยินละกัน!
**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.manager.co.th