ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies
Tokyo University of Foreign Studies
สะดุดคำ คือ มุมพิเศษซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก ที่ลงทุกวันจันทร์ มุมนี้จะเป็นการบอกเล่า ‘ความเคลื่อนไหว’ หรือ ‘สิ่งที่อยู่ในความสนใจ’ ของคนญี่ปุ่นตามโอกาสพิเศษผ่าน ‘คำสำคัญ’ หรือ ‘คำเด่น’ ในช่วงเวลา หรือฤดูกาลนั้น มีกำหนดนำเสนอเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อให้ผู้อ่านสามารถติดตามสิ่งที่เป็นปัจจุบัน หรือร่วมสมัยได้ในเวลาใกล้เคียงกับคนญี่ปุ่น อีกทั้งยังต้องการให้ผู้ที่เรียนหรือสนใจภาษาญี่ปุ่น ได้นำคำหลักและคำที่เกี่ยวข้องไปใช้พูดคุยกับคนญี่ปุ่นหากมีโอกาสเพื่อให้บทสนทนาน่าสนใจและมีชีวิตชีวา โดยได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับชื่อคนหรือคำญี่ปุ่นไว้ในระดับหนึ่งเพื่ออำนวยประโยชน์แก่ผู้ที่ต้องการค้นคว้าเพิ่มเติม อนึ่ง การถ่ายเสียงจากภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาไทยในทุกบทความอิงหลักการเขียนคำทับศัพท์ภาษาญี่ปุ่นของราชบัณฑิตยสถานเป็นหลักแม้ไม่ทั้งหมดก็ตาม โดยเฉพาะเรื่องการใช้เสียงสั้นและเสียงยาวตามหลักภาษาญี่ปุ่น
เหตุเกิดเมื่อลูกชายหน้าหล่อวัยยี่สิบกว่า ต้องข้อกล่าวหาว่าข่มขืนพนักงานโรงแรมวัยสี่สิบ!
หนึ่งข่าวเกรียวกราวในญี่ปุ่นในช่วงไม่กี่วันมานี้ คือ ยูตะ ทะกะฮะตะ นักแสดงชาย อายุ 22 ปี ถูกตั้งข้อหาว่าข่มขืนพนักงานโรงแรม และอีกหนึ่งข่าวเกรียวกราวที่ตามมาติด ๆ คือ นักข่าวถามแม่ของยูตะออกอากาศว่า พอจะรู้ไหมว่า ‘อารมณ์ในเรื่องอย่างว่า’ ของลูกชายเป็นอย่างไร? ...ผู้เป็นแม่ก็ตอบให้ แต่นักข่าวได้คำประณามตามมาจากสังคมด้วยว่า ‘ล้ำเส้น’
เรื่องราวคราวนี้อาจไกลตัวคนไทยในแง่บุคคลที่ตกเป็นข่าว แต่เมื่อมองในแง่ของประเด็น ก็มีข้อคิดที่น่านำมาเปรียบเทียบกับสังคมไทย คือ เรื่องความเหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชน
ก่อนจะไปถึงตรงนั้น มีข้อสังเกตด้านความเหมือนและความต่างบางประการที่น่าจะกล่าวไว้ เรื่องแรก คือ ข่าวบันเทิงคือสิ่งที่ดึงดูดความสนใจได้ง่าย เรื่องนี้เป็นเหมือนกันทั้งญี่ปุ่นและไทย (ยกเว้นเรื่องการประกวดนางงาม ที่ญี่ปุ่นไม่นิยม) ต่อให้ถูกคนบางส่วนวิจารณ์ว่าไร้สาระ หรือเสียเวลาที่จะรับรู้ แต่ก็มียังคนอีกมากที่สนใจจะรู้ เพราะข่าวพวกนี้ตอบสนองสัญชาตญาณพื้นฐานของมนุษย์ คือช่วยเติมเต็มความอยากรู้อยากเห็น แล้วจะนำมานินทาหรือสรรเสริญนั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง สื่อมวลชนของญี่ปุ่น ทั้งโทรทัศน์และสิ่งพิมพ์ ต่างก็ให้พื้นที่กับข่าวบันเทิงเป็นล่ำเป็นสันและมีทุกวัน ซึ่งรวมถึงข่าวซุบซิบหยุมหยิม ดาราคนนั้นเป็นแฟนกับคนนี้ ดาราผู้หญิงแอบไปมีอะไรกับสามีชาวบ้าน เป็นต้น
ดังนั้น ในกรณี ยูตะ ทะกะฮะตะ (高畑裕太; Takahata, Yūta) ซึ่งเป็นข่าวคนบันเทิงก่ออาชญากรรม สื่อใหญ่ทุกแขนงจึงไม่มีทางพลาดอยู่แล้ว และแน่นอนว่าข่าวจะไม่ดังเท่านี้ถ้ายูตะไม่ใช่ ‘เกโนจิง’ (芸能人;geinōjin) หรือ ‘คนในวงการบันเทิง’ และจะไม่ดังเท่านี้ถ้าไม่ใช่ลูกชายของนักแสดงหญิงรุ่นใหญ่ผู้มากความสามารถ และได้รับความชื่นชม ‘อะสึโกะ ทะกะฮะตะ’ (高畑淳子; Takahata, Atsuko)
อีกเรื่องหนึ่งคือ อาชีพสื่อสารมวลชนได้รับการนับหน้าถือตา ถ้ามองในระดับผิวเผิน จุดนี้ของญี่ปุ่นอาจดูเหมือนของไทย แต่ถ้ามองในรายละเอียดแล้ว ความแตกต่างที่เด่นชัดมาก คือ สถานะทางสังคมของนักข่าวและนักหนังสือพิมพ์ บุคลากรด้านนี้ของญี่ปุ่นได้รับความเคารพยำเกรงมากกว่าของไทยและได้เงินเดือนสูง เช่น นักข่าวหนังสือพิมพ์อายุ 39 ปี รายได้เฉลี่ยต่อปีคือ 8,460,000 เยน หรือราวเดือนละ 550,000 เยน บวกกับโบนัสอีกปีละ 1,800,000 เยน (สถิติปี 2557) ส่วนพนักงานเงินเดือนทั่วไป เช่น อายุ 38 ปี รายได้เฉลี่ยคือ 4 - 5 ล้านเยนต่อปี
ในขณะที่นักศึกษาสายสื่อสารมวลชนของไทยที่จบใหม่ ๆ ถ้าไม่รังเกียจการออกไปตะลอนหาข่าวโดยได้เงินเดือนไม่มากนักบวกกับความตื่นเต้นในสายงานและสิทธิพิเศษบางประการแล้ว ก็คงยินดีเข้าสู่เส้นทางอาชีพนี้ แต่ในญี่ปุ่น นี่ไม่ใช่อาชีพที่จะเข้าไปทำได้โดยมีแค่ใจรักเท่านั้น แต่ต้องสอบแข่งขันอย่างเข้มงวดกว่าจะได้งาน และนักสื่อสารมวลชนของญี่ปุ่นมีลักษณะความเป็นนักวิจัยอยู่ในตัว แม้แต่ผู้ประกาศข่าวก็ไม่ได้ทำแค่หน้าที่ออกโทรทัศน์อย่างเดียว แต่ส่วนใหญ่เป็นนักข่าวด้วย บางคนผลิตรายการและเขียนข่าวเองอีกต่างหาก และชั่วโมงการทำงานก็ยาวนานกว่าพนักงานบริษัททั่วไป นี่คือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ได้รับเงินเดือนสูง
ด้วยสิ่งที่ดูเหมือนเป็นบารมีที่จะชี้นำสังคมผ่านข้อเขียนและความคิด ตลอดจนทรัพยากรสมองที่จะต้องเป็นคนหัวดีถึงจะทำงานด้านนี้ได้ จึงทำให้ภาพลักษณ์โดยรวมของนักสื่อสารมวลชนในญี่ปุ่นเป็นที่ยำเกรงในสายตาประชาชนและเป็นอาชีพที่หลายคนใฝ่ฝัน และในความเป็นจริง สื่อมวลชนก็ทรงอิทธิพลต่อชีวิตของสังคมในแทบทุกด้านอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้จริง ๆ ทว่า นั่นไม่ใช่สิ่งที่รับประกันความประพฤติของสื่อทั้งหมด และจะเห็นได้ว่า ในไทยเอง หลาย ๆ ครั้งสื่อก็เป็นที่พึ่งให้ประชาชน แต่ก็มีอีกหลาย ๆ ครั้งที่สื่อถูกประชาชนตำหนิเพราะความประพฤติบางอย่าง เช่นเดียวกับกรณีที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่นครั้งนี้
ย้อนมาดูกรณี นายยูตะ ทะกะฮะตะ ยูตะเป็นนักแสดงดาวรุ่งที่กำลังเริ่มได้รับความนิยมกว้างขวางในช่วง 3 - 4 ปี มานี้ ด้วยหน้าตาหล่อเหลาและความสูงถึง 181 เซนติเมตร ส่วน อะสึโกะ ทะกะฮะตะ ผู้เป็นแม่ อยู่ในวงการมานานแล้ว ตอนนี้อายุ 61 ปี หากจะว่าไป อะสึโกะเป็นที่รู้จักกว้างขวางกว่า ข่าวใหญ่เกิดขึ้นเมื่อเช้าตรู่วันที่ 23 สิงหาคม กล่าวคือ ที่จังหวัดกุมมะ ทางเหนือของกรุงโตเกียว ยูตะถูกตำรวจจับกุมโดยถูกกล่าวหาว่าข่มขืนกระทำชำเราพนักงานโรงแรมอายุ 40 กว่าปีคนหนึ่ง และสารภาพกับตำรวจ โดยให้การว่า ‘เห็นผู้หญิง (คนนี้) แล้ว ระงับอารมณ์ไม่ได้ ขอยอมรับสิ่งที่ทำลงไป แต่สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่การวางแผนล่วงหน้า’
ตามขนบของญี่ปุ่น ปกติไม่มีการใช้คำว่า ‘นาย’, ‘นาง’, ‘นางสาว’ ประกอบกับชื่อของบุคคล แต่เมื่อบุคคลตกเป็น ‘ผู้ต้องสงสัย’ ก็จะได้รับคำต่อท้ายชื่อ (นามสกุล) มาทันที คือคำว่า ‘โยงิชะ’ (容疑者;yōgisha) เมื่อชื่อออกสื่อจึงเป็น ‘ทะกะฮะตะ - โยงิชะ’—ทะกะฮะตะผู้ต้องสงสัย หรือ ‘ยูตะ - โยงิชะ’—ยูตะผู้ต้องสงสัย (ใช้ชื่อต้นในบางกรณีเพื่อเลี่ยงความสับสนระหว่างแม่กับลูกซึ่งใช้นามสกุลเดียวกัน) ข่าวแพร่สะพัดทันที และเกิดกระแสวิจารณ์ทั้งในเชิงสงสัย โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า ‘ดาราหนุ่มหน้าหล่ออายุ 22 ปี ข่มขืนผู้หญิงอายุ 40 กว่า?’ และในเชิงปกป้องที่ว่า ‘ข้อมูลยังไม่ชัดเจน ผู้หญิงคนนี้เป็นใคร? อย่าเพิ่งฟังความข้างเดียว’ หรือแม้กระทั่ง ‘ยูตะมีอาการบกพร่องเชิงพัฒนาการหรือเปล่า’
อย่างไรก็ตาม เรื่องของคดีก็คงต้องให้ตำรวจสืบสวนหาความจริงกันต่อไป ตอนนี้ยังไม่มีใครรู้ แต่ผลกระทบที่ตามมา คือ แม่ซึ่งเป็นบุคคลสาธารณะก็นิ่งเฉยอยู่ไม่ได้ ต้องออกมาแถลงข่าวเกี่ยวกับลูกชาย และสิ่งที่น่าสังเกต คือ ตามวัฒนธรรมญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นยินดีขอโทษหากตัวเองมีส่วนสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น ไม่ว่าทางกายหรือทางใจแม้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความผิดของตัวเองโดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเป็นพ่อเป็นแม่ด้วยแล้ว วัฒนธรรมญี่ปุ่นถือว่าถ้าลูกผิด พ่อแม่ย่อมมีส่วนรับผิดชอบด้วย
ในครั้งนี้ก็เช่นกัน อันดับแรก อะสึโกะ ทะกะฮะตะ แถลงขออภัยต่อสังคมที่ลูกชายได้สร้างความเดือดร้อนทางจิตใจให้แก่คนหมู่มาก แม้ว่าความจริงในเบื้องลึกยังไม่กระจ่างทั้งหมดก็ตาม และในฐานะแม่ อะสึโกะไม่หนี ไม่แถ แต่ออกมาแถลงข่าวและตอบคำถามเกี่ยวกับลูกชายตัวเองทั้งน้ำตา โดยยืนตั้งแต่ต้นจนจบรวมเวลา 64 นาทีต่อหน้านักข่าวและช่างภาพราว 300 คน เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม กระแสในอินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่ก็ชื่นชมเธอในฐานะแม่ แต่ในทางกลับกันก็มีคนบางส่วนมองอีกมุมว่า ‘เลี้ยงลูกยังไง ถึงได้กลายเป็นแบบนี้’
อะสึโกะก็คงพยายามเลี้ยงลูกให้ดีที่สุดแล้ว แต่ก็คงรู้สึกผิดที่เลี้ยงลูกให้เป็นผู้ใหญ่ที่ดีตามครรลองของสังคมไม่ได้ และโดยส่วนตัว ผมคิดว่าการเลี้ยงดีก็ไม่ได้รับประกันว่าลูกจะดีได้ทุกเรื่อง เหมือนที่มีตัวอย่างให้เห็นมากมายในสังคมไทยจนมีสำนวนว่า ‘เลี้ยงได้แต่ตัว’ ซึ่งก็น่าเห็นใจคนเป็นแม่อยู่ไม่น้อย และในสังคมญี่ปุ่น ภาพลักษณ์เป็นสิ่งที่สำคัญมาก หลังจากยูตะถูกจับ ก็เกิดการลงโทษทางสังคมขึ้นมาทันที ทั้งละครและรายการทีวีที่ยูตะเล่นก็ถูกทบทวนและระงับ แต่ไม่ใช่แค่นั้น งานโฆษณาของอะสึโกะผู้เป็นแม่เองก็ถูกพิจารณาใหม่ว่าจะทำอย่างไรดี
อันที่จริง คำให้การของยูตะที่ว่าเห็นหน้าผู้หญิงคนนั้นแล้วบันดาลอารมณ์อัศจรรย์ ทำให้นึกถึงทฤษฎีการควบคุมตนเอง (self-control theory) ขึ้นมา ไม่ต้องมองไปถึงการคุมอารมณ์ทางเพศไม่อยู่ เอาแค่ในชีวิตประจำวัน ผมเชื่อว่า คงมีหลายท่านที่เคยได้ประสบพบเจอคนรอบตัวที่ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ อาจจะเป็นเจ้านาย หรือเพื่อนร่วมงานก็แล้วแต่ คนประเภทนี้จะโวยวายปรอทแตกขึ้นมาทันทีด้วยเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือคำพูดสักคำที่ไม่เป็นแก่นสารอันใด นั่นคือความสามารถในควบคุมอารมณ์ของตนเองต่ำ
ทฤษฎีนี้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางและเป็นพื้นฐานของผู้เรียนอาชญาวิทยา นักวิจัยไมเคิล อาร์. กอตต์เฟรดสัน (Michael R. Gottfredson) และ แทรวิส เฮิร์สชี (Travis Hirschi) ซึ่งพัฒนาทฤฎีนี้ขึ้นในทศวรรษ 1990 บอกว่า อาชญากรรมส่วนใหญ่เป็นสิ่งที่ก่อง่าย ไม่ต้องวางแผนนาน และแทบไม่ก่อให้เกิดผลประโยชน์ระยะยาวต่อผู้ลงมือ พูดง่าย ๆ ก็คือ เกิดเพราะอารมณ์ชั่ววูบ
คนที่ควบคุมตัวเองได้ต่ำ โดยธรรมชาติแล้วเป็นพวกขาดความอ่อนไหวต่อผู้อื่น ชอบเสี่ยง และไม่เพียงแต่เป็นสาเหตุของการก่ออาชญากรรมเท่านั้น แต่ยังเป็นสาเหตุของบุคลิกภาพบกพร่องในการเข้ากับผู้อื่น และมีแนวโน้มว่าจะมีปัญหาในการคบคน การแต่งงาน และมีโอกาสหันไปพึ่งยาเสพติดได้ง่ายด้วย สาเหตุอยู่ที่การเลี้ยงดู ได้แก่ พ่อแม่ไม่ดูแลเอาใจใส่ต่อลูก ไม่มีเวลาสำหรับลูก ไม่ได้คำนึงว่าพฤติกรรมของลูกไม่เหมาะสม ไม่ลงโทษลูก ลักษณะเช่นนี้อาจเกิดในวัยเด็กจนถึงอายุประมาณ 8 ขวบ ถ้าในช่วง 8 - 10 ขวบ ไม่มีลักษณะเช่นนั้นแล้ว ก็มีแนวโน้มว่าการควบคุมตัวเองได้ต่ำอาจจะไม่เกิดขึ้น เมื่อเติบโตก็จะเป็นผู้ใหญ่ที่ควบคุมอารมณ์ได้ อารมณ์ไม่แปรปรวนง่าย และกำราบได้เมื่อเกิดอารมณ์วูบวาบ
และคงด้วยมุมมองตามทฤษฎีนี้ที่มีต่อยูตะกระมัง นักข่าวถึงได้ถามคนเป็นแม่ว่า
ถ: “เคยมีกรณีที่เขาสกัดกั้นความประพฤติทางเพศไม่ได้ หรือเบรกการกระทำของตัวเองไม่อยู่ หรืออะไรทำนองนั้นบ้างไหม” (Yomiuri TV)
ต: “ด้านที่ดิฉันเห็น คือด้านที่แสดงออกมาภายในครอบครัวเท่านั้นค่ะ ตอนนี้ลองนึกดูถึงจุดนั้น ก็ไม่เห็นด้านที่ถูกกล่าวถึงค่ะ”
ถ: “จับสังเกตอะไรได้บ้างเกี่ยวกับอุปนิสัยทางเพศของยูตะผู้ต้องสงสัย” (Fuji TV)
ต: “ในฐานะที่มีลูกชายคนเดียว คิดว่าก็ปกติดีค่ะ”
ถ: “อย่างเช่น มีอารมณ์ทางเพศรุนแรง? รสนิยมทางเพศ? อะไรทำนองนั้น” (Fuji TV)
ต: “คือไม่เคยรู้สึกว่าลูกชายมีรสนิยมทางเพศผิดปกติแต่อย่างใดค่ะ”
ลูกทำผิด แล้วถามแม่ว่า “ลูกชายมีอารมณ์ทางเพศรุนแรงไหม” ออกสื่อ?
ก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าถ้าเป็นสื่อมวลชนไทยจะกล้าถามแบบนี้ไหม แต่ที่แน่ๆ คือ นักข่าวญี่ปุ่นถูกวิจารณ์อย่างมากถึงความไม่เหมาะสม
สื่อมวลชนได้รับการขนานนามว่าเป็นฐานันดรที่ 4 อยู่ในสถานะที่ชี้นำสังคมได้ และมีเสรีภาพในการนำเสนอ แต่บางทีก็ควรใส่ใจความรู้สึกของผู้รับให้มากๆ เช่นกัน ถ้ายูตะควบคุมอารมณ์ตนเองได้ต่ำ ก็น่าคิดอยู่เหมือนกันว่าคนถามคำถามแบบนี้ควบคุมได้สูงแค่ไหน?
**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุก ๆ วันจันทร์ ทาง www.manager.co.th