xs
xsm
sm
md
lg

สะดุดคำ “Kimi no na wa—ชื่อ (เชือก) ของเธอ?” คลายปมเบื้องลึก ภาพยนตร์ยอดฮิตแห่งปีของญี่ปุ่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์


ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies


สะดุดคำ คือ มุมพิเศษซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึกที่ลงทุกวันจันทร์ มุมนี้จะเป็นการบอกเล่า ‘ความเคลื่อนไหว’ หรือ ‘สิ่งที่อยู่ในความสนใจ’ ของคนญี่ปุ่นตามโอกาสพิเศษผ่าน ‘คำสำคัญ’ หรือ ‘คำเด่น’ ในช่วงเวลาหรือฤดูกาลนั้น มีกำหนดนำเสนอเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อให้ผู้อ่านสามารถติดตามสิ่งที่เป็นปัจจุบันหรือร่วมสมัยได้ในเวลาใกล้เคียงกับคนญี่ปุ่น อีกทั้งยังต้องการให้ผู้ที่เรียนหรือสนใจภาษาญี่ปุ่นได้นำคำหลักและคำที่เกี่ยวข้องไปใช้พูดคุยกับคนญี่ปุ่นหากมีโอกาสเพื่อให้บทสนทนาน่าสนใจและมีชีวิตชีวา โดยได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับชื่อคนหรือคำญี่ปุ่นไว้ในระดับหนึ่งเพื่ออำนวยประโยชน์แก่ผู้ที่ต้องการค้นคว้าเพิ่มเติม อนึ่ง การถ่ายเสียงจากภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาไทยในทุกบทความอิงหลักการเขียนคำทับศัพท์ภาษาญี่ปุ่นของราชบัณฑิตยสถานเป็นหลักแม้ไม่ทั้งหมดก็ตาม โดยเฉพาะเรื่องการใช้เสียงสั้นและเสียงยาวตามหลักภาษาญี่ปุ่น

เกริ่นนำ

Kimi no na wa...
“เธอชื่ออะไร? ฉันนึกไม่ออกหรอก แต่เชือกของเธอร้อยรัดใจฉันไว้ด้วยเหตุผลอะไรสักอย่างที่ฉันเองก็ไม่รู้ว่ามันคืออะไร ว่าแต่ เธอชื่ออะไรนะ?”


นั่นคือนัยที่ชื่อ Kimi no na wa ต้องการสื่อ ชื่อของภาพยนตร์เรื่องนี้คือข้อความที่ติดหูผู้คนในญี่ปุ่นต่อเนื่องมาประมาณ 3 เดือนแล้ว และนี่คือภาพยนตร์การ์ตูนที่ผู้คนพูดถึงมากที่สุดในปีนี้

ผมดูภาพยนตร์ในโรงที่ญี่ปุ่นน้อยมากเพราะค่าเข้าแพงถึง 1,800 เยนสำหรับบุคคลทั่วไป และถ้าเป็นการ์ตูนด้วยแล้ว ก็แทบไม่เคยนึกอยากจะเข้าไปดูในโรง แต่ขณะที่กำลังเล่าลักษณะเด่นของการ์ตูนญี่ปุ่นอยู่หลายตอน เรื่อง Kimi no na wa ก็กลายเป็นกระแสนิยมที่สื่อมวลชนญี่ปุ่นกล่าวถึงและผู้ชมก็พูดกันปากต่อปากอย่างกว้างขวาง ผมจึงตัดสินใจจ่ายเงิน 600 กว่าบาทเพื่อเข้าไปพิสูจน์สิ่งที่ใครๆ ก็บอกว่าดี โดยเลือกไปวันธรรมดาตอนกลางวัน

แล้วก็ไม่ผิดหวัง อันดับแรกคือ นั่งสบายเพราะโรงแทบจะเป็นของผมในช่วงเวลานั้น และอันดับสองคือ ภาพยนตร์สร้างออกมาได้ดี (แม้มีบางจุดที่ขัดใจอยู่บ้าง) มีพลังสมกับที่จุดกระแสการกล่าวขวัญได้ถึงขนาดข้ามพรมแดนไปดังไกลที่ฮ่องกง ไต้หวัน และไทย จนย้อนกลับมาเป็นข่าวดังในญี่ปุ่นอีก ภาพยนตร์เรื่องนี้มีเสน่ห์อย่างไร และมีอะไรชวนให้คิด ลองมาไล่เลียงกันดูตั้งแต่ชื่อเรื่อง

ว่าด้วยชื่อ

Kimi no na wa (คิมิ โนะ นะ วะ) เขียนเป็นภาษาญี่ปุ่นได้ว่า 君の名は ภาษาญี่ปุ่นคำว่า “คิมิ” (君) เป็นสรรพนามบุรุษที่ 2 แปลว่า “เธอ” หรือ “นาย” เป็นคำเรียกแบบเป็นกันเอง, “โนะ” (の)แปลว่า “ของ”, “นะ” (名) แปลว่า “ชื่อ” คำนี้เดี่ยว ๆ แทบไม่ใช้ในชีวิตประจำวัน แต่ใช้เพื่อสื่อนัยเชิงวรรณกรรมมากกว่า เมื่อจะพูดคำว่า “ชื่อ” จะใช้คำว่า “นะมะเอะ” (名前;namae), และ “วะ” (は) เป็นคำช่วยในภาษาญี่ปุ่น ซึ่งใช้บ่งชี้หัวข้อการสนทนา

“Kimi no na wa” ไม่ใช่ประโยค แต่เป็นวลี แปลตามตัวอักษรคือ “ชื่อของเธอ” ถ้าขึ้นเสียงสูงที่ท้ายวลี จะสื่อความว่า “เธอชื่อ?” ซึ่งเป็นการถามชื่อของอีกฝ่าย ตามปกติคนญี่ปุ่นไม่ถามกันแบบนี้ แต่จะใช้ประโยคว่า “โอะ นะมะเอะ วะ นัน เดะซุ กะ” (お名前は何ですか;O-namae wa nan desu ka?) – ชื่อ (ของคุณ) คืออะไรครับ/คะ หรือ “คุณชื่ออะไรครับ/คะ” นั่นเอง ภาพยนตร์เรื่อง Kimi no na wa มีชื่อภาษาอังกฤษว่า “Your name” ซึ่งเป็นการแปลตรงตามภาษาญี่ปุ่น ส่วนชื่อไทยคือ “หลับตาฝัน...ถึงชื่อเธอ” เป็นการตั้งชื่อโดยอิงเนื้อเรื่องเป็นหลัก

สำหรับวลี Kimi no na wa นั้น สองพยางค์ท้ายคือ “นะ วะ” (名は) พ้องเสียงกับคำว่า “นะวะ” ที่แปลว่า “เชือก” แต่เขียนโดยใช้อักษรคนละตัว คือ 縄 (ใครที่เคยได้ยินชื่อเกาะโอะกินะวะ ก็คงคุ้นกับเสียงนี้ เพราะเป็น “นะวะ” คำเดียวกัน เขียนว่า 沖縄 [ขอบทะเลที่แลเห็นลิบ ๆ จากฝั่ง+เชือก]) ดังนั้น ด้วยเสียงที่พ้องกัน ชื่อภาพยนตร์จึงแปลตามการออกเสียงได้อีกอย่างหนึ่งคือ “เชือกของเธอ” ซึ่งโยงไปถึงเนื้อเรื่องที่เน้นการนำเสนอสายใยเหนือคำอธิบาย เป็นเชือกที่มองไม่เห็น แต่ร้อยรัดพันผูกชีวิตของคนที่ไม่รู้จักกันเข้าไว้ด้วยกัน มีพลังถึงขนาดก้าวข้ามมิติทางเวลาและช่องว่างทางกายภาพได้

แนวคิดหลังฉาก

Kimi no na wa นำเสนอเรื่องราวของนักเรียนมัธยมปลายหญิงชายคู่หนึ่งที่สลับร่างกัน เด็กสาวชื่อ มิสึฮะ มิยะมิซุ (宮水三葉;Miyamizu Mitsuha) อยู่ต่างจังหวัด เด็กหนุ่ม คือ ทะกิ ทะชิบะนะ (立花瀧 ;Tachibana, Taki) อยู่โตเกียว การสลับร่างทำให้แต่ละคนจำต้องใช้ชีวิตในแบบของอีกคนหนึ่ง แต่เมื่อหวนคืนสู่ร่างเดิม ก็ลืมเรื่องราวที่ตัวเองต่างคนต่างประสบมา รวมทั้งชื่อของอีกฝ่ายด้วย

เมื่อทั้งสองรู้ตัว ก็ติดต่อกันผ่านข้อความทางสมาร์ทโฟน และจดบันทึกเพื่อช่วยให้นึกถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้ จนเมื่อถึงคราวที่การสลับร่างยุติลง ก็เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น แล้วการตามหาก็เปิดฉาก พร้อมๆ กับที่เหตุการณ์ใหญ่จากฟากฟ้าก็กำลังจะอุบัติ
นวนิยาย Ni mi no na wa โดย Makoto Shinkai
หากวิเคราะห์เนื้อเรื่องในเชิงวรรณกรรม Kimi no na wa คือบทประพันธ์ “สัจนิยมเหนือจริง” ซึ่งภาษาอังกฤษใช้คำว่า “magical realism” หรือ “magic realism” เท่าที่ผ่านมามีผู้แปลคำนี้ไว้ต่างๆ กัน เช่น อัตถนิยมมายา สัจนิยมมายา อัตถนิยมอัศจรรย์ สัจนิยมมหัศจรรย์ แต่เพื่อสื่อความให้เข้าใจได้ง่ายๆ ผมเลือกใช้ “สัจนิยมเหนือจริง”

“สัจนิยมเหนือจริง” คือ เรื่องแนวสมจริงซึ่งมีองค์ประกอบของความเหนือธรรมชาติอย่างโดดเด่นอยู่ในเนื้อเรื่องด้วย การดำเนินเรื่องเกิดขึ้นในโลกแห่งความเป็นจริง ขณะเดียวกันก็มีเหตุการณ์เหนือวิสัยมนุษย์ เช่น ตัวละครในนิทาน ความเชื่อ ตลอดจนเวทมนตร์ เกิดขึ้นสอดแทรกเสมือนเป็นเรื่องจริง โดยส่งผลกระทบแก่ตัวละครทางใดทางหนึ่งผ่านการเล่าด้วยน้ำเสียงสมจริงของผู้ประพันธ์ โดยอาจนำเสนออย่างจริงจังหนักแน่นในเชิงวรรณกรรม หรือเพื่อความบันเทิง (ตัวอย่างนักเขียนไทยที่มีผลงานแนว magical realism ด้านความบันเทิงอย่างโดดเด่น ได้แก่ แก้วเก้า [ว.วินิจฉัยกุล] หรือผลงานของฝั่งอเมริกาที่ได้รับการจับตามองในช่วง 3-4 ปีมานี้คือ The Night Circus)

นอกจากเรื่องคุณภาพแล้ว เหตุผลหนึ่งที่ทำให้ Kimi no na wa ได้รับความนิยมสูงในเมืองไทย คงเป็นเพราะนี่คือ “สัจนิยมเหนือจริง” ฉบับการ์ตูน ที่ผู้ชมชาวไทยไม่ค่อยได้สัมผัสผ่านการ์ตูนญี่ปุ่นเท่าไรนัก ตามปกติแล้ว ภาพยนตร์การ์ตูนที่ค่ายในเมืองไทยเลือกนำมาฉายมักจะเป็นแฟนตาซี ซึ่งเจาะกลุ่มตลาดผู้ชมอายุน้อย และเนื้อเรื่องออกนอกกรอบของโลกแห่งความเป็นจริงไปเลย แต่ Kimi no na wa คือเรื่องในชีวิตประจำวันที่มีความเหนือจริงแฝงอยู่ด้วย โดยถ่ายทอดผ่านภาพสวยๆ อีกทั้งมีเนื้อหาที่เข้าถึงวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ที่รู้จักความรัก ความผิดหวัง และการตามหาด้วย กลุ่มคนดูจึงใหญ่ขึ้นโดยปริยาย

ในมุมกลับ ผมมองว่า ถึงแม้ว่าเรื่องนี้มีเนื้อหาที่ถือว่าหนักแน่นน่าสนใจ แต่ถ้านำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ที่ใช้คนแสดง ก็อาจจะไม่โด่งดังเท่านี้ทั้งในญี่ปุ่นและในไทย เพราะเรื่องประมาณนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ หากจะนับความใหม่ก็ใหม่ในแง่การนำเสนอเป็นภาพการ์ตูน และการนำความเชื่อทางศาสนาชินโตมาผสมผสานได้อย่างแนบสนิทกับโลกยุคปัจจุบันเท่านั้น
เมือง Itomori ในจินตนาการของผู้กำกับ
อันที่จริง โครงเรื่องว่าด้วยร่างสลับสับเปลี่ยนวิญญาณ ตลอดจนการย้อนเวลานั้น เคยมีมาแล้วหลายผลงานทั้งในวงวรรณกรรมและภาพยนตร์ญี่ปุ่น เรื่องหนึ่งที่โดดเด่น คือ นวนิยาย Himitsu (秘密)—ความลับ ของนักเขียนชื่อดัง เคโงะ ฮิงะชิโนะ ที่ดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ (1998) ก็มีการสลับร่างระหว่างแม่กับลูกสาว หรืออย่าง “พรพรหมอลเอง” (กิ่งฉัตร) ของไทยก็มีการสลับร่าง

โครงเรื่องหลักของ Kimi no na wa จึงถือได้ว่าเป็นเพียง ‘มือเซ็ต’ ที่ตั้งลูกขึ้นมาเพื่อรอ ‘มือตบ’ ซึ่งผู้กำกับมะโกะโตะ ชิงไก (新海誠;Shinkai, Makoto) ก็ได้อัดรายละเอียดลงไปถี่ยิบ รวมทั้งเรื่องการเลือกรูปแบบนำเสนอที่เป็นการ์ตูนด้วย สิ่งเหล่านี้คือลูกตบที่ปะทะใจคนดูอย่างจัง ดังนั้น ในช่วงสิบนาทีแรกซึ่งเป็นการปูเรื่องว่าด้วยการสลับร่าง คนดูบางส่วนอาจจะอดไม่ได้ที่จะนึกว่า “มันก็คงจะเป็นหนังการ์ตูนใสๆ ตามแบบฉบับวัยรุ่นเสียละมั้ง?”

แต่พอผ่านขั้นตอนการเซ็ต ก็เริ่มเข้าสู่ช่วงที่เป็นไม้เด็ด คือ ตัวละครทั้งสองเริ่มรู้ตัวว่าใช้ชีวิตอยู่ในร่างของอีกคนหนึ่ง จากนั้นเนื้อเรื่องก็ทวีความเข้มข้น ตั้งแต่จุดนี้ไป ภาพยนตร์ก็กุมความสนใจของคนดูไปจนจบ และต้องชื่นชมคนพากย์ด้วยว่าเก่งมาก พากย์ได้ถึงอารมณ์และมีบุคลิกของเสียงชัดเจน ปรับความกลมกลืนหนักเบาของเสียงในร่างหญิงหรือชายได้อย่างมีศิลปะเมื่อเกิดการสลับร่าง รวมทั้งการพากย์ภาษาถิ่นด้วย ทุกอย่างราบรื่นน่าติดตาม กระทั่งหนังจบ แต่ดูเหมือนผู้ชมบางคนไม่ยอมจบ แทบจะไม่อยากออกจากโรงเพราะถูกความอิ่มเอมกับความซึ้งตรึงให้อยู่ติดเก้าอี้

ในบรรดาองค์ประกอบอันกลมกลืนของเรื่องตามที่ผู้ชมสัมผัสได้นั้น ผู้ที่ทราบแนวคิดทางศาสนาชินโตของญี่ปุ่นอาจจะพอมองออกไปถึงแก่นของการเดินเรื่อง แต่คนที่ไม่ทราบก็คงมีอีกมาก และเกิดคำถามว่าทำไมต้องเป็นแบบนี้ ทำไมการสลับร่างถึงต้องเจาะจงเป็นสองคนนี้ มีกลไกอะไรนำพาไปจนถึงจุดนั้นหรือ?

จริงๆ แล้วผู้กำกับพยายามบอกเป็นนัยโดยท้องเรื่องและบทสนทนาว่า สิ่งเหล่านี้คือฝีมือของ “เทพเจ้า” ซึ่งเป็นแนวคิดแบบชินโต ขณะที่เรื่องดำเนินไป จะเห็นได้ว่ามีศาลเจ้าชินโต นางเอกก็เป็น “มิโกะ” (巫女 ; miko) หรือ “สตรีผู้รับใช้เทพเจ้า” และยังมี “เหล้าเคี้ยวหมัก” ซึ่งทำขึ้นด้วยการนำข้าวมาเคี้ยวก่อนแล้วคายใส่ภาชนะทิ้งไว้ให้เกิดการหมักจนเป็นเหล้า หรือเรียกว่า “คุชิกะมิ ซะเกะ” (口噛み酒;kuchikami-zake) นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของชินโต ซึ่งปฏิบัติกันในสมัยโบราณ และคุณยายในเรื่องก็พูดถึงเทพเจ้าแห่งท้องถิ่นนี้อีกเช่นกัน

ถ้าเป็นแนวพุทธย่อมอธิบายว่า “สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นเพราะกรรมบันดาลว่าต้องเป็นแบบนี้” แต่กรรมก็เป็นอจินไตย คือเกินกว่าสติปัญญามนุษย์จะคิดหาเหตุผลได้ ในทำนองเดียวกัน ถ้าเป็นแนวชินโต เมื่อบอกว่าเหตุผลของสิ่งที่เกิดขึ้นคือพลังของเทพเจ้า ก็ไม่ต้องคิดต่อแล้ว เพราะเกินกว่าสติปัญญามนุษย์จะสะระตะ เหตุผลจบลงแค่นั้น หรืออาจจะแปลว่า “ไม่มีเหตุผล” ก็คงจะได้

สารที่ต้องการสื่อ

เมื่อมองถึงสารที่ภาพยนตร์ต้องการบอก จะพบว่ามีประเด็นที่ ‘ชัดมาก’ โดยใช้ “เชือก” หรือ “ด้าย” เป็นสัญลักษณ์สื่อ ตลอดเรื่องที่ผมติดตามดู จึงได้ยินถ้อยคำญี่ปุ่นที่เกี่ยวข้องกับด้าย การผูก การเชื่อมโยง ซ้ำไปซ้ำมาอยู่อย่างนั้นจนติดหู ชื่อเมืองของนางเอกซึ่งเป็นเมืองในจินตนาการของผู้ประพันธ์ (ชิงไกแต่งนิยายเรื่องนี้เอง และดัดแปลงเป็นภาพยนตร์เอง) ก็ยังใช้ชื่อว่า “อิโตะโมะริ” (糸守; Ito-mori) คำว่า “อิโตะ” แปลว่า “ด้าย” และคำว่า “โมะริ” ใช้ตัวอักษร 守(る)[mamo-ru] แปลว่า “ปกป้อง” “คุ้มครอง” เมืองนี้จึงเป็นเมืองพิทักษ์ด้าย ซึ่งก็สื่อความว่าสายใยจะได้รับการปกปักรักษาไว้

ในเนื้อเรื่อง ก็มีฉากที่คุณยายกับหลาน ๆ พากันถักด้ายซึ่งเรียกว่า “คุมิฮิโมะ” (組紐; kumi himo) พร้อมกับอธิบายความสำคัญของคำว่า “มุซุบิ” (เข้าใจว่าในบทภาพยนตร์อาจเขียนเฉพาะเสียงอ่านว่า むすび [musubi] เท่านั้น แต่ถ้าใช้ตัวอักษรคันจิสื่อ ใช้ว่า 結び) ซึ่งแปลว่า “ผูก” อีกว่า คำนี้มีความหมายลึกซึ้งมาาากเลยนะ เอาด้ายมาเชื่อมต่อกันก็เรียกว่ามุซุบิ คนเชื่อมโยงกันก็เรียกว่ามุซุบิ เวลาไหลเรื่อยเป็นกระแสก็เรียกว่ามุซุบิ ทั้งหมดนี้คือพลังของเทพเจ้าจ้ะ
โอะมุซุบิ หรือ ข้าวปั้นโอะนิงิริ
นอกจากนี้ ข้าวปั้นทรงสามเหลี่ยมที่คนไทยอาจได้ยินชื่อว่า “โอะนิงิริ” (おにぎり; O-nigiri) นั้น ก็มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “โอะ-มุซุบิ” (おむすび;O-musubi) ซึ่งปรากฏในเรื่องด้วย หรือแม้แต่ตัวนางเอกเองก็ถือได้ว่าเป็น “มุซุบิ” ระหว่างเทพเจ้ากับมนุษย์ทั่วไป เพราะเป็น “มิโกะ” ในฐานะลูกหลานตระกูลผู้ดูแลศาลเจ้า ที่ข้อมือของพระเอกมีก็มีด้าย...นี่ก็สื่ออีก นางเอกเอาด้ายรวบผมและผูกไว้...นี่ก็สื่ออีก และความเชื่อมโยงเกี่ยวร้อยกันนี่เอง คือสิ่งที่ช่วยให้ชีวิตเราดำเนินต่อไปด้วยกันได้ โดยไม่ล้มหายตายจากไปก่อนเวลาอันควร

อีกจุดหนึ่งที่ภาพยนตร์เน้นในช่วงครึ่งหลังคือ “การตามหา” สาระข้อนี้ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ในวงการภาพยนตร์ญี่ปุ่นอีกเช่นกัน แต่เมื่องัดมาใช้ทีไรก็มักทำรายได้ การเน้นประเด็นนี้เป็นที่รับรู้ได้ชัดมากจากบทภาพยนตร์และการนำเสนอด้วยภาพ รวมไปถึงฉากปิด ซึ่งทำเอาคนดูลุ้นจนวินาทีสุดท้าย เห็นได้ชัดว่าผู้กำกับชิงไกต้องการบอกว่า ชีวิตของเราทุกวันนี้ล้วนอยู่กับการตามหา เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะหาเจอหรือไม่ แต่เราก็พยายามตามหา หญิงตามหาชาย ชายตามหาหญิง และคนที่ถูกตามหาอยู่นั้นก็ไม่รู้ตัวเสียอีกว่าถูกตาม บางครั้งตามเจอ แต่พอจะบอกว่า “รักนะ” ก็หมดเวลาเสียก่อน นี่แหละ “อุมเม” (運命;ummei) หรือ “โชคชะตา” ซึ่งคนญี่ปุ่นเชื่อมาเนิ่นนาน
มิโกะ (ภาพโดย Chris Gladis, Flickr user MShades)
สำหรับผู้ชมจำนวนมาก การที่ภาพยนตร์เน้นประเด็นออกมาชัด ๆ อาจไม่ใช่ปัญหาอะไร แต่สำหรับผม ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะวัยด้วยหรือเปล่า ผมรู้สึกว่า บางช่วงบางตอน Kimi no na wa ก็เน้นสาร ‘ชัดมาก’ จนล้นไปหน่อยและขาดความเป็นธรรมชาติไปบ้าง ผมเข้าใจว่าการฉายในเมืองไทยมีคำบรรยายไทยให้อ่าน เสียงพูดอาจจะไม่ติดหูผู้ชมเท่าไร แต่แน่นอนว่าในญี่ปุ่นไม่มีคำบรรยายไทย เมื่อเข้าไปดูก็ฟังเสียงญี่ปุ่นตั้งแต่ต้นจนจบ ผมจึงได้ยินคำพวกนี้ซ้ำๆ จนรู้สึกได้โดยไม่ยากว่าคุณชิงไกพยายามชี้ประเด็น “ความโยงใยเกี่ยวร้อยกันของโชคชะตา” กับ “การตามหา” มากๆ ด้วยการนำเสนอที่พลิกแพลงไปเรื่อยๆ และขณะที่ดูๆ ไป บางช่วง ผมก็อดไม่ได้ที่จะนึกว่า “ทราบแล้วครับท่าน”

โดยรวมแล้ว ถ้าคะแนนเต็ม 10 ผมให้ 9 และขอสรุปว่า นี่คือหนังรักที่ใส่มิติทางศาสนาเข้าไปได้อย่างแนบเนียน และที่สำคัญคือมีเอกลักษณ์ความเป็นญี่ปุ่นสูง พร้อมกันนี้ก็หยิบความลักลั่นของมิติทางเวลามาเป็นตัวกำหนด และย้ำสารัตถะว่าในโลกนี้มีคนที่เราไม่รู้จักเป็นล้านๆ คน ในทุกๆ วันที่เราดำเนินชีวิตอยู่นี้ มีพลังที่มองไม่เห็นผูกมัดเราไว้กับใครคนหนึ่งหรือหลายคนอยู่เสมอ เราอาจกำลังตามหาคนคนนั้นอยู่ เราอาจเคยเจอเขา แต่เราไม่รู้ตัว เราอาจเคยอยู่ใกล้เขา แต่เราลืม ทว่าสักวันหนึ่ง พลังแห่งมุซุบิจะดึงเรากับเขาให้มาพบกัน เมื่อถึงวันนั้น แม้จะเดินสวนกันไปแล้ว พลังแห่งมุซุบิก็จะกระตุกให้เรากับเขาหันมา และต่างคนต่างถามว่า “คุณชื่ออะไร?”



**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.manager.co.th

กำลังโหลดความคิดเห็น