ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies
Tokyo University of Foreign Studies
พอหนึ่งปีจะผ่านพ้นไป คนวัยทำงานมักมองย้อนว่า เอ...ปีนี้เราทำอะไรไปบ้างนะ? ไปเที่ยวไหนมาบ้างนะ? เก็บเงินได้เท่าไร? สำหรับผม เมื่อย่างเข้าสู่เดือนธันวาคม ก็เริ่มมองย้อนบ้างแล้ว
เรื่องเที่ยวนี่มองง่ายเพราะในหนึ่งปีมีไม่เท่าไร แต่เรื่องที่มองแล้วคับข้องใจเพราะเป็นอย่างนี้มาตลอดปีคือ ตงิดๆ ว่า เราชักจะกลายเป็นคนญี่ปุ่นมากขึ้นอีกปีแล้วสินะ! เพราะทำงานวันละสิบกว่าชั่วโมงเห็นจะได้ เสาร์อาทิตย์ก็ได้หยุดบ้างไม่ได้หยุดบ้าง เพราะมีทั้งงานราษฎร์งานหลวงผลัดกันมาช่วงชิงเวลา ที่เป็นเช่นนี้คงเพราะถูกระบบญี่ปุ่นกลืน
เรื่องการทำงานมาก หรือ ‘ความบ้างาน’ ของคนญี่ปุ่นนั้น เป็นที่โจษขานมาช้านาน จะมองว่าขยันก็ใช่ แต่จะมองว่าทำมากเกินไปก็ใช่อีกเหมือนกัน ความไม่พอดีแบบนี้ถึงได้นำไปสู่ความตายเพราะการทำงานหนักซึ่งเรียกว่า “คะโรชิ” (過労死;karōshi) ตามที่เป็นข่าวเกี่ยวกับพนักงานสาวคนหนึ่งในบริษัทเดนท์สุเมื่อปีที่แล้ว และกลายเป็นข่าวดังอีกในปีนี้ และเพราะความไม่พอดีแบบนี้อีกเช่นกัน ถึงได้เริ่มมีการระบุชื่อ “บริษัทโหด” ประจำปีในญี่ปุ่นมาสักระยะหนึ่งแล้ว และปีนี้จัดเป็นปีที่ 5 โดยมี 10 บริษัทได้รับ ‘เกลียด’ เสนอชื่อเข้าชิง
การทำงานได้เงินเยอะ ๆ เป็นที่ปรารถนาของคนส่วนใหญ่ และการทำงานในญี่ปุ่นก็คงเป็นตัวเลือกหนึ่งของใครหลายคนหากมีโอกาสได้เลือก ผมเองก็อยู่ในข่ายนี้ แต่ความฝันอันยิ่งใหญ่หลังจากผมได้มาเรียนที่ญี่ปุ่นก็คือ ชีวิตนี้ไม่อยากทำงานบริษัทเอกชนในญี่ปุ่น
อันที่จริง ตอนนั้นฝันไปก็กังวลไป เพราะในอีกมุมหนึ่งก็หวนคิดว่า เอ...ถ้าอยากได้เงินเยอะ แล้วไม่ทำงานในบริษัทญี่ปุ่น จะไปทำอะไร? ผมก็ไม่รู้คำตอบอยู่อย่างนั้นจนกระทั่งเรียนจบและบังเอิญจังหวะดีได้งานในสถาบันการศึกษา ซึ่งก็ถือว่าโชคดีที่ฝันเป็นจริง แต่คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่มิได้โชคดีแบบนี้
ในความเป็นจริง สิ่งที่ผมฝันว่า ‘จะไม่’ กลับกลายเป็น ‘เป้าหมาย’ ของอีกหลายคน ชีวิตก็แบบนี้ มีอะไรให้จำต้องเลือก หรือจำต้องไม่เลือกอยู่เสมอ และปัจจัยประกอบการตัดสินใจของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน คงไม่มีผิดหรือถูก แต่สิ่งที่อยากจะบอกคนร่วมยุคโลกาภิวัตน์ คือ บางครั้งเงินก็ไม่ใช่คำตอบสำหรับชีวิตเสมอไป และถ้าใครอยากทำงานในบริษัทญี่ปุ่นเพราะเห็นว่าได้เงินมาก โดยเฉพาะในบริษัทเอกชนของญี่ปุ่นที่อยู่ในญี่ปุ่น ก็ควรชั่งน้ำหนักให้ดี ระหว่างมูลค่าของเงินกับมูลค่าของอย่างอื่นในชีวิตที่ตีค่าเป็นเงินไม่ได้
ผมเคยพูดหลายทีในหลายสถานที่เมื่อมีคนถามถึงความเป็นอยู่ในญี่ปุ่นว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เหมาะแก่การท่องเที่ยว (แน่นอนว่าต้องมีเงิน) และถึงแม้เป็นประเทศที่น่าอยู่ แต่ก็เป็นประเทศที่อยู่ยากในเชิงสังคม เพราะเมื่อพูดถึงการอยู่ (โดยเฉพาะผู้ชาย) นั่นหมายถึงการทำงาน และการทำงานท่ามกลางวัฒนธรรมญี่ปุ่นมีรายละเอียดเยอะมาก
เมื่อมองจากสังคมภายนอกเข้ามา ใครๆ ก็มุ่งคิดว่าการทำงานในญี่ปุ่นย่อมได้ค่าตอบแทนสูงกว่าบริษัทในไทย ซึ่งก็เป็นความจริง แต่ปัญหาของมนุษย์ส่วนใหญ่คือ มองแค่ผล แต่ไม่ค่อยสนกระบวนการ ในกรณีของคนต่างชาติ การทำงานในบริษัทญี่ปุ่นช่วยบันดาลเงินได้มาก แต่หากลงลึกในรายละเอียดจะพบว่า วัฒนธรรมการทำงานของคนญี่ปุ่นมีลักษณะที่สร้างความกดดันต่อพนักงานได้ง่าย แม้แต่คนญี่ปุ่นเองก็ต้องใช้ความอดทนอย่างสูงเพื่อให้อยู่รอดในสังคมการทำงาน จนบางครั้งผมอยากจะเรียกว่า ‘วัฒนกรรม’ มากกว่าวัฒนธรรม
มนุษย์เงินเดือนทั้งหลายเปิบสำรับกรรมตั้งแต่เรื่องการเดินทาง ถ้าทำงานในเมือง ก็ต้องผจญกับการโดยสารรถไฟ ซึ่งบอกได้เลยว่าเหมือนนรกเคลื่อนที่ สมัยก่อนตอนผมเป็นนักศึกษา ทุกๆ วันระหว่างขึ้นรถไฟไปเรียน เช้าบ้าง สายบ้าง ก็ได้เห็นวิถีชีวิตของพนักงานญี่ปุ่นทั้งหญิงและชาย ทำให้ต้องถามตัวเอง ‘เราเกิดมาเพื่อสิ่งนี้หรือ?’ ‘เราเรียนหนังสือเพื่อออกมาใช้ชีวิตแบบนี้หรือ?’ และในที่สุดก็ได้คำตอบว่า ‘คงจะไม่ใช่’ เพราะผมคงไม่อึดขนาดนั้น
ในชั่วโมงเร่งด่วนช่วง 7 โมงถึง 9 โมงเช้า ในรถไฟไม่ใช่แค่เบียดเสียดกันธรรมดา ถ้าจะบรรยายให้เห็นภาพต้องใช้คำว่า มันแน่นจน ‘ยั้วเยี้ย’ เหมือนหนอนอัดกระป๋องที่ต้องเงยหน้าขึ้นพะงาบๆ แย่งออกซิเจนกัน พอประตูรถไฟเปิดที่สถานีไหน คนก็ทะลักออกมา เหมือนสิวหัวช้างที่เต่งพร้อมจะแตกและพอถูกเล็บสะกิดนิดเดียวเลือดก็พุ่งพรวดปะทะกระจก
ถ้าเป็นแบบนั้นแค่ชั่วครั้งชั่วคราวคงพอทำเนา แต่ถ้าต้องทนเป็นปีๆ ชีวิตนี้ก็จะเจอแต่ความหงุดหงิดทุกเช้า แม้ไม่ต้องแบกหาม แต่ก็หนีความตรากตรำบนรถไฟแทบไม่ได้ หากถามว่า แล้วทำไมไม่รอขบวนต่อๆ ไปที่มันว่างกว่านี้ คำตอบก็คือ มันแน่นทุกขบวนนั่นแหละ สรุปว่าเดินทางยังไม่ถึงบริษัทก็หมดแรงไปกว่าครึ่งแล้ว และคนญี่ปุ่นก็กลัวที่สุดเรื่องการไปทำงานสาย ดังนั้น ต่อให้แน่นแค่ไหนก็จะแทรกซอนขึ้นไปให้ได้ ไม่ผิดอะไรกับแมลงสาบที่ขอแค่มีช่องก็จ้องจะเอาหนวดไช แล้วไถลเอาตัวแทรกเข้าไปในที่แคบๆ
นอกจากกรรมรายทางแล้ว กรรมชุดใหญ่จะปรากฏอยู่ในบริษัท เท่าที่สังเกตดู ผมรู้สึกว่าความหนักหนาสาหัสของงานในบริษัทญี่ปุ่นมีสาเหตุมาจากลักษณะนิสัยของคนญี่ปุ่นนั่นเอง และส่งผลไปสู่การสร้างระบบบ้างานขึ้นมาโดยปริยาย เพราะถ้าคนอื่นในแผนกเดียวกันยังไม่กลับ เราก็ไม่ควรกลับก่อน คุมเชิง (?) กันอยู่อย่างนั้นจนถึงสามสี่ทุ่มถึงจะได้ฤกษ์กลับบ้าน อย่างผมซึ่งไม่ใช่คนบ้างานแน่ๆ แต่ด้วยระบบของญี่ปุ่นที่มีเอกสารและการติดต่อเยอะ ต่อให้อยากทำน้อยชั่วโมงกว่านี้ ก็อาจเป็นไปได้ยาก ดีหน่อยที่ไม่ได้อยู่ในบริษัท แต่เป็นระบบมหาวิทยาลัย ยังพอมีความยืดหยุ่นอยู่บ้าง
สำหรับบริษัทเอกชนทั่วไป ก่อนอื่น ถ้าพิจารณาวันหยุดรายปีที่ได้รับค่าตอบแทน เมื่อเทียบในระดับนานาชาติแล้ว จะพบว่าจำนวนวันของญี่ปุ่นมีน้อยกว่า ดังข้อมูลต่อไปนี้
บราซิล - 30 วัน
รัสเซีย - 28 วัน
ฝรั่งเศส - 25 วัน
อังกฤษ, เยอรมนี - 20 วัน
ญี่ปุ่น - 10 วัน
(ข้อมูลจาก theguardian ออนไลน์ วันอาทิตย์ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2558
นอกจากนี้ ระยะเวลาการทำงานในบริษัทญี่ปุ่นก็ยาวนาน เท่าที่สอบถามจากเพื่อน ๆ ตลอดจนคนรู้จักที่ทำงานบริษัท ทุกคนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ทำงานเกิน 8 ชั่วโมงทั้งนั้น หรือในกรณีของผม แม้เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย (ที่อาจดูเหมือนสบาย) แต่ในหนึ่งสัปดาห์ ทำงานไม่ต่ำกว่า 60 ชั่วโมงแน่นอน ผมถึงได้แปลกใจมากเมื่อมีสถิติออกมาว่าคนญี่ปุ่นทำงานสัปดาห์ละ 33.25 ชั่วโมง น้อยกว่าคนเม็กซิโก 42.85 ชั่วโมง, อเมริกัน 34.40 ชั่วโมง, อิตาลี 33.35 ชั่วโมง บอกตามตรงว่าเชื่อไม่ลงแม้เป็นข้อมูลจาก OECD ก็ตาม (http://fortune.com/2015/11/11/chart-work-week-oecd/)
ส่วนเรื่องบรรยากาศในบริษัทญี่ปุ่นนั้นเคร่งขรึมมาก ในสำนักงานค่อนข้างเงียบ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้น้อยกับผู้ใหญ่เข้มงวด ผู้น้อยต้องคอยรับฟังเสมอ ในช่วงสามสี่ปีแรก เป็นไปได้ยากที่จะได้รับความไว้วางใจหรือผลักดันความคิดของตัวเองให้ผู้ใหญ่ยอมรับได้ ถ้าเจอเจ้านายดีก็ถือว่ามีบุญเป็นกันชน
และคนญี่ปุ่นนี่แปลกอยู่อย่าง คือ ในขณะที่วัฒนธรรมญี่ปุ่นตีกรอบกลายๆ ว่าไม่ควรแสดงความรู้สึกรุนแรงในที่สาธารณะ แต่มีอารมณ์อยู่ชนิดหนึ่งซึ่งคนญี่ปุ่นมองว่า “งัดออกมาใช้ได้ เพราะมันจะชี้ทางสว่างให้แก่ผู้รองรับอารมณ์นั้น” ความโกรธนั่นเอง
การแสดงความโกรธต่อลูกน้องในที่ทำงานถือเป็นเรื่องปกติในบริษัทญี่ปุ่น ความโกรธเป็นสิ่งไม่ดี คนญี่ปุ่นก็ตระหนักเรื่องนี้ แต่ในที่ทำงาน คนญี่ปุ่นมักมองว่าเจ้านายหรือรุ่นพี่โกรธผู้น้อยเพราะรักและต้องการสอน แต่ถ้ามองจากมุมของคนไทย เราอ่อนไหวในเรื่องนี้มากกว่า และรังเกียจการถูกโกรธหรือตำหนิ ถ้าถูกว่าและไม่พอใจขึ้นมา ก็ลาออกมันซะเลย แต่คนญี่ปุ่นไม่ คนญี่ปุ่นจะทน ทน และทน ทำต่อไป ซึ่งก็เป็นดาบสองคม เพราะกลายเป็นความเครียดสะสมได้
อีกเรื่องหนึ่งคือ ความละเอียดของคนญี่ปุ่น การทำงานอย่างละเอียดรอบคอบเป็นเรื่องดี แต่บางทีก็ก่อความเครียดให้แก่คนรอบตัว เพราะระหว่างความละเอียดกับความจู้จี้มีเพียงเส้นบางๆ คั่นอยู่ คนญี่ปุ่นละเอียดทั้งเรื่องงานและเรื่องทางสังคม ไม่ว่างานอะไรก็จะต้องตรวจสอบอย่างน้อย 2-3 ครั้งเป็นขั้นๆ ขึ้นไป ส่วนเรื่องทางสังคม (ซึ่งก็ผสมปนเปอยู่กับงานจนแทบจะแยกไม่ออก) ก็แลดูจุกจิกจู้จี้ไปหมด ไม่ว่าการใช้ภาษา ตำแหน่งการนั่งในงานเลี้ยง หรือการสังเกตสภาพแวดล้อม เช่น เมื่อแก้วเครื่องดื่มของเจ้านายพร่อง ก็ต้องรีบรินให้ใหม่ ตลอดจนการตอบรับ/ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมกิจกรรม เช่น การไปทานข้าว การไปดื่มสังสรรค์ เรียกได้ว่าเมื่อฝากชีวิตไว้กับบริษัท ชีวิตก็เป็นของบริษัทจริงๆ และถ้าต้องละเอียดทุกลมหายใจ ใครที่ไม่ชินก็จะหงุดหงิดรำคาญ และพัฒนาเป็นความเครียดอีก ข่าวเรื่องการฆ่าตัวตายเพราะเครียดจากงานและความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่นกับเพื่อนร่วมงานจึงมีออกมาเป็นระยะ
ทั้งหมดนี้คือสาเหตุส่วนหนึ่งของความอยู่ยากในชีวิตการทำงานของคนญี่ปุ่น ซึ่งคนต่างชาติที่หวังจะเข้าสู่ตลาดแรงงานญี่ปุ่นก็ควรตระหนักเช่นกัน เพราะถึงแม้ว่าสังคมญี่ปุ่นเริ่มคลายความตึงลงบ้าง แต่ก็คงใช้เวลาอีกนานกว่าจะเกิดความพอดีในแบบที่คนต่างชาติเข้าถึงได้ง่าย
ตอนนี้สังคมญี่ปุ่นเริ่มตระหนักแล้วว่า งานไม่ใช่ทั้งหมดในชีวิตคน แต่ก็มีบริษัทหลายแห่งที่ยังไม่ละทิ้งวัฒนธรรมการทุ่มชีวิตให้งาน จนกรรมตกเป็นของพนักงานหลายคนที่เสียชีวิตเพราะฆ่าตัวตายบ้าง หรือทำงานหนักจนตายบ้าง พอเป็นข่าวขึ้นมาทีไร เราก็ได้ทราบกันสักครั้ง แต่ก็คาดเดาได้ว่าคนที่กัดฟันทนและยังไม่ได้กลายเป็นข่าวก็มีอีกมาก ด้วยปัจจัยเหล่านี้ ปีนี้จึงมี 10 บริษัทที่ได้ชื่อว่าเป็น Black Company หรือ “บริษัทโหด” เพราะใช้งานโดยไม่คำนึงถึงสภาพร่างกายและจิตใจของคนงาน ดังนี้
1.Ajis Co. (บริการคลังสินค้า)
2.Dentsu Inc. (โฆษณา)
3.Don Quijote Co. (ร้านค้าสินค้าลดราคาเครือข่ายรายใหญ่)
4.Printpac Corp. (การพิมพ์)
5.Kansai Electric Power (ไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์)
6.Sagawa Holdings Group (ขนส่งและพัสดุ)
7.Sato Restaurant Systems Group (เครือข่ายร้านอาหาร)
8.Ninnaji Temple (วัด)
9.Disu Gurande Kaigo (การพยาบาลดูแล)
10.Japan Post (การไปรษณีย์แห่งญี่ปุ่น)
ผลการลงคะแนนว่าบริษัทใดโหดที่สุดจะประกาศในวันที่ 23 ธันวาคม และสำหรับผม เพื่อไม่ให้ถูกระบบญี่ปุ่นกลืนสังขารมากไปกว่านี้ ปีหน้าฟ้าใหม่ จะตั้งใจลดชั่วโมงทำงานลง จาก 12 ชั่วโมง เป็น 11 ชั่วโมง (ก่อนละกัน)
**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.manager.co.th