xs
xsm
sm
md
lg

ฆาตกรรมปริศนาบนเนิน D(ตอนที่ 4 จบ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บทประพันธ์ของ เอะโดะงะวะ รัมโปะ
แปลและเรียบเรียงโดย ฉวีวงศ์ อัศวเสนา

ตอนที่ 4

ผู้อ่านที่รัก เมื่อถูกผมต้อนเข้ามุมขนาดนี้แล้ว รู้ไหมว่า อะเกะชิ โคะโกะโร คนประหลาดผู้นี้ทำอย่างไร...

คิดว่าเขาก้มหน้าหลบตาผมด้วยความละอายที่ถูกจับได้ซึ่ง ๆ หน้าอย่างนั้นรึ เปล่าเลย ปฏิกิริยาอันเกิดคาดของเขาทำให้ความผยองของผมฟีบหดลงไปราวลูกโป่งถูกปล่อยลม ทำไม...ทำไม อยู่ ๆ อะเกะชิ ก็หัวเราะกั๊ก ๆ ออกมาอย่างกลั้นไม่อยู่
ฆาตกรรมปริศนาบนเนิน D
“เดี๋ยว ๆ ขอโทษนะ ผมไม่ได้ตั้งใจจะหัวเราะเลยจริง ๆ แต่เห็นคุณทำท่าเอาจริงเอาจังเหลือเกิน ก็เลยอดไม่ได้” คนประหลาดพูดเหมือนแก้ตัว “ความคิดของคุณน่าสนใจไม่น้อย ผมดีใจมากนะที่มีเพื่อนอย่างคุณ แต่น่าเสียดายที่การสันนิษฐานรูปคดีของคุณเป็นการมองจากเปลือกนอกด้านเดียว คือหนักไปในเชิงวัตถุอย่างเดียวเลยนะจะบอกให้ อย่างเรื่องความสัมพันธ์ของผมกับหล่อนที่ถูกฆ่า คุณสืบทางด้านความรู้สึกนึกคิดในเชิงลึกหรือเปล่าว่าการเป็นเพื่อนสมัยเด็กนั้นเราคบกันอย่างไร ผมเคยมีความสัมพันธ์ฉันคู่รักกับหล่อนมาก่อนหรือเปล่า และทุกวันนี้ผมเกลียดโกรธเคียดแค้นเธอหรือไม่ เรื่องแค่นี้คุณสืบไม่ได้หรือยังไง คืนนั้นทำไมผมถึงไม่บอกใคร ๆ ว่ารู้จักหล่อนมาก่อนน่ะรึ เหตุผลมีอยู่นิดเดียวคือเพราะผมไม่รู้อะไรเกี่ยวกับหล่อนที่จะสามารถนำไปเป็นข้อมูลอ้างอิงได้ ผมกับหล่อนจากกันตั้งแต่ยังไม่ได้เรียนโรงเรียนประถมด้วยซ้ำ เพิ่งจะมาพบกันโดยบังเอิญก็เมื่อไม่นานมานี้ และได้พูดคุยกันสองสามครั้งเท่านั้นเอง”

“เอาละ แล้วเรื่องอื่น ๆ อย่างลายนิ้วมือนั่น จะให้ผมคิดว่ายังไง”

“คุณคิดว่าตั้งแต่คืนนั้นผมอยู่เฉย ๆ โดยไม่ได้ทำอะไรเลยอย่างนั้นรึ เห็นอย่างนี้ก็จริงแต่ผมก็ทำอะไรหลาย ๆ อย่างแล้วเหมือนกัน ผมเดินเตร่ไปมาแถวเนิน D ทุกวัน และแวะไปคุยกับเจ้าของร้านหนังสือเก่าหลาย ๆ เรื่องเผื่อว่าจะได้ข้อมูลความจริงอะไรบ้าง---พอผมบอกว่าเคยรู้จักกับเมียเขาสมัยเด็ก เขาก็เลยเล่าอะไร ๆ ให้ฟังอย่างสะดวกใจ ผมถึงได้รู้ความคืบหน้าทางด้านตำรวจเป็นอย่างดีจากเจ้าของร้านหนังสือเก่า เช่นเดียวกับที่คุณรู้จากเพื่อนักหนังสือพิมพ์ของคุณนั่นแหละ ---ส่วนเรื่องลายนิ้วมือก็เหมือนกัน ผมคิดว่ามันแปลก ๆ อยู่ก็เลยไปตรวจสอบดู แล้วก็รู้ทันที” อะเกะชิหัวเราะ “เหมือนเรื่องขำขันเลยคุณ เพราะจริง ๆ แล้วหลอดไฟมันขาดอยู่ ไม่มีใครปิดมันหรอก และที่ใคร ๆ คิดว่าผมเป็นคนกดสวิตช์เปิดไฟนั่นก็ผิดทั้งเพ เพราะแรงกระเทือนตอนที่เราย่ำกึง ๆ เข้าไปในห้องและเก้ ๆ กัง ๆ กันอยู่นั้น ทำให้หลอดไฟสั่นแล้วเส้นลวดที่ขาดอยู่ก็เผอิญติดสว่างขึ้นมาเอง จึงเป็นธรรมดาที่ลายมือบนสวิตช์จะเป็นของผมคนเดียว คืนนั้นคุณบอกว่ามองผ่านรอยแยกของประตูบานเลื่อนเข้าไปเห็นไฟเปิดสว่างอยู่ ดังนั้นหลอดไฟจึงขาดหลังจากที่คุณเห็นนั่นแหละ หลอดไฟเก่า ๆ ก็เป็นอย่างนี้ อยู่ ๆ ก็ขาดเอง ทีนี้ก็ถึงเรื่องสีเสื้อกิโมโนของคนร้าย หนังสือเล่มนี้จะอธิบายได้ดีกว่าผม...”

อะเกะชิว่าพลางหันเข้าหาภูเขาหนังสือ ขุดค้นตรงนั้นตรงนี้จนได้หนังสือภาษาต่างประเทศเก่า ๆ ออกมาเล่มหนึ่ง

“คุณเคยอ่าน “จิตวิทยากับอาชญากรรม” ของมันสเตอร์เบอร์กเล่มนี้ไหม ลองอ่านบท “ภาพลวงตา” ตั้งแต่ต้นลงไปสักประมาณสิบบรรทัดดูซิ”

ระหว่างที่ฟังคำค้านอย่างมั่นใจในเหตุผลของอะเกะชิ ผมค่อย ๆ รู้สึกถึงความผิดพลาดพ่ายแพ้ของตนเองมากขึ้นตามลำดับ ผมรับหนังสือเล่มนั้นมาอ่านตตรงที่เขาบอก ซึ่งมีเนื้อหาประมาณนี้

ครั้งหนึ่งเกิดคดีอาชญากรรมที่เกี่ยวเนื่องกับรถยนต์ พยานคนหนึ่งให้การต่อศาลยืนยันว่าถนนที่เกิดเหตุแห้งสนิทจนมีฝุ่นฟุ้งขึ้นมา ขณะที่พยานอีกคนหนึ่งให้การว่าถนนเปียกเพราะฝนตก คนหนึ่งให้การว่ารถยนต์คันที่เป็นปัญหาแล่นมาช้า ๆ ส่วนอีกคนหนึ่งบอกว่าไม่เคยเห็นรถยนต์แล่นเร็วขนาดนั้นมาก่อน นอกจากนั้นคนแรกยังบอกว่าตอนเกิดเหตุมีคนเพียงสองสามคนอยู่ในบริเวณถนนสายนั้นของหมู่บ้าน ส่วนคนหลังบอกว่ามีคนผ่านไปมามากมายทั้งชายหญิงและเด็ก พยานทั้งสองคนต่างเป็นสุภาพบุรุษที่น่าเคารพนับถือ และเป็นไปไม่ได้ที่จะให้การบิดเบือนความจริงเพื่อแสวงหาผลประโยชน์

อะเกะชิรอจนผมอ่านจบแล้วจึงเอาหนังสือกลับไปพลิกหน้าต่อไปพลางบอกว่า

“คดีที่คุณอ่านไปนั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง ๆ คราวนี้ดูตรงกลาง ๆ บท “ความทรงจำของพยาน” เกี่ยวกับการทดลองที่วางแผนไว้ล่วงหน้า มีเรื่องสีของเสื้อผ้าพอดีเลย ออกจะยุ่งยากอยู่สักหน่อยแต่ก็ลองอ่านดูเถิด”

ผมอ่านต่อจากตรงที่อะเกะชิชี้ให้ได้ความประมาณนี้

---อย่างเช่นเมื่อสองปีที่แล้ว (หนังสือเล่มนี้พิมพ์เผยแพร่เมื่อปี 1911) ได้มีการจัดประชุมวิชาการระหว่างนักกฎหมาย, นักจิตวิทยา และ นักฟิสิกส์ ขึ้นที่เมืองก็อตทินเจน ผู้เข้าร่วมประชุมล้วนแล้วแต่มีความเชี่ยวชาญการตรวจสอบและสังเกตการณ์อย่างละเอียดถี่ถ้วนกันทุกคน พอดีตอนนั้นเป็นช่วงที่เมืองนี้มีงานเทศกาลสนุกสนานครึกครื้นกันสุดเหวี่ยง และระหว่างที่กำลังประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างเอาจริงเอาจัง อยู่ ๆ ประตูห้องประชุมก็ถูกเปิดผางออก พร้อมกับคน ๆ หนึ่งในชุดตัวตลกสีฉูดฉาดบาดตา เต้นพลางกระโดดพลางคล้ายกำลังบ้าคลั่งเข้ามาในห้อง ขณะที่ทุกคนยังตกตะลึงอยู่นั้น ชายผิวดำคนหนึ่งก็ถือปืนวิ่งไล่ตามเข้ามาจนทันกันที่กลางห้องประชุม ทั้งสองแผดเสียงก่นด่าหยาบคายใส่หน้ากันอย่างเผ็ดร้อนจนในที่สุดคนในชุดตัวตลกก็ล้มฟุบลงไปกับพื้น ชายผิวดำกระโดดขึ้นคร่อมแล้วมีเสียงปืนดังขึ้นนัดหนึ่ง วินาทีหนึ่งต่อมาทั้งสองหายออกไปจากห้องราวกับถูกกวาดออกไป เหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นในเวลาไม่ถึง 20 วินาที แต่ก็ทำให้ทุกคนในห้องประชุมตื่นตระหนกสุดขีด นอกจากประธานการประชุมแล้วไม่มีใครสักคนล่วงรู้ว่าคำพูดและการกระทำทั้งหมดของคนทั้งสองนั้นได้ผ่านการฝึกล่วงหน้ามาแล้วเป็นอย่างดี และไม่รู้ด้วยว่ามีการถ่ายภาพเหตุการณ์ทั้งหมดเอาไว้ หลังจากนั้น ประธานบอกกับทุกคนว่าเรื่องนี้จะต้องเป็นคดีขึ้นศาลแน่นอน จึงขอให้ผู้ร่วมประชุมทุกคนบันทึกเหตุการณ์ที่ถูกต้องเอาไว้ ซึ่งไม่มีใครสงสัยอะไรเพราะเป็นคำขอที่ปกติธรรมดามาก (ย่อข้อความส่วนที่แสดงความแตกต่างในบันทึกเหตุการณ์ของผู้ร่วมประชุมแต่ละคนเป็นเปอร์เซนต์) คนที่ตอบว่าชายผิวดำไม่ได้ใส่หมวกมีเพียง 4 คนในจำนวน 40 คน นอกจากนั้นบางคนบอกว่าใส่หมวกแบบผู้ดีอังกฤษ บางคนว่าใส่หมวกทรงสูง เสื้อผ้าของชายผิวดำก็เช่นกัน บางคนบอกว่าสีแดง ขณะที่บางคนบอกว่าสีน้ำตาล บ้างก็ว่ามีลาย บ้างก็ว่าสีกาแฟ และสีอื่น ๆ อีกหลากหลาย แต่ในความเป็นจริง ชายผิวดำอยู่ในชุดกางเกงสีขาว เสื้อสีดำ และผูกเน็คไทอันใหญ่สีแดง---ผมอ่านมาถึงตรงนี้

“มันสเตอร์เบอร์กอธิบายเอาไว้ว่า” อะเกะชิเริ่มร่ายยาว “ความจริงแล้วการสังเกตและความทรงจำของมนุษย์เรานั้นเป็นสิ่งที่พึ่งไม่ได้ แม้กระทั่งนักวิชาการอย่างในกรณีตัวอย่างนั้นก็ยังมองแยกสีเสื้อผ้าไม่ถูก แล้วอย่างนี้คุณจะไม่ให้ผมคิดหรือว่าคืนนั้นนักศึกษาสองคนเห็นสีกิโมโนผิด ทั้งสองอาจเห็นใครสักคนแต่คน ๆ นั้นไม่น่าจะใส่กิโมโนลายขีดเป็นทางแนวตรง และไม่ใช่ผมแน่นอน ที่คุณมองว่าซี่ลูกกรงทาบทับบนลายเสื้อกิโมโนทำให้เห็นเป็นเสื้อขาวบ้างดำบ้างนั้นก็น่าสนใจอยู่หรอก แต่ออกจะเป็นการคาดเดาแบบตามใจฉันมากไปหน่อยไหม ผมว่าอย่างน้อยคุณน่าจะเชื่อความบริสุทธิ์ของผมมากกว่าความบังเอิญลม ๆ แล้ง ๆ แบบนั้น สุดท้ายก็เรื่องผู้ชายที่ไปขอเข้าห้องสุขาของร้านโซะบะ ประเด็นนี้ผมคิดอย่างเดียวกับคุณ คือนอกจากร้านโซะบะแล้วคนร้ายไม่มีทางอื่นที่จะผ่านเข้าออกได้ ผมก็เลยเข้าไปตรวจสอบดู แต่ก็น่าเสียดายเพราะผลที่ปรากฏออกมานั้นแตกต่างกับข้อสรุปของคุณเป็นขาวกับดำ คือจริง ๆ แล้ววันนั้นไม่มีผู้ชายเข้าไปขอเข้าห้องสุขาสักคนเดียว

ฟังอะเกะชิพูดมาทั้งหมดแล้วผู้อ่านรู้สึกเหมือนกับผมไหมว่า เขาปฏิเสธคำให้การของพยาน ปฏิเสธเรื่องลายนิ้วมือของคนร้าย ปฏิเสธแม้กระทั่งทางผ่านเข้าออกของคนร้าย และพยายามอ้างหลักฐานเพื่อยืนยันว่าไม่ได้กระทำความผิดก็จริง แต่ทั้งหมดนั้นไม่ได้ช่วยปฏิเสธความเกี่ยวข้องของเขากับอาชญากรรมรายนี้เลยใช่ไหม ผมไม่เข้าใจแม้แต่นิดเดียวว่านายคนนี้กำลังคิดอะไรอยู่

“แล้วคุณพอจะรู้เบาะแสไหมว่าใครเป็นฆาตกร”

“รู้ซิคุณ” อะเกะชิเกาหัวแกรก ๆ จนผมฟูกระจาย “วิธีสืบของผมต่างจากของคุณนิดหนึ่ง พยานวัตถุจะมีหรือไม่มีประโยชน์ต่อรูปคดีนั้นย่อมขึ้นอยู่กับการตีความ แต่วิธีสืบสวนที่ดีนั้นเราจะต้องเน้นความสำคัญไปที่จิตใจคือมองให้ทะลุลงไปถึงก้นบึ้งของหัวใจเลยทีเดียว แต่ปัญหาอยู่ที่ศักยภาพของตัวนักสืบเอง สำหรับผม คดีนี้ผมสืบโดยเน้นไปทางด้านจิตใจอย่างที่พูดนั่นแหละ

สิ่งแรกที่ผมใส่ใจคือแผลสด ๆ ที่มีอยู่ทั่วตัวของเมียเจ้าของร้านหนังสือเก่าที่เห็นในวันเกิดเหตุ และไม่นานต่อมาผมก็ได้ยินมาว่าเมียร้านโซะบะอะซะฮิยะก็มีแผลทั่วตัวเหมือนกัน เรื่องนี้คุณก็เคยได้ยินมาบ้างแล้วใช่ไหม แต่ผัวของหล่อนทั้งสองดูแล้วไม่น่าเป็นคนที่ชอบใช้กำลังรุนแรงกับผู้หญิง ทำให้ผมสงสัยว่ามันต้องมีความลับอะไรสักอย่างแอบแฝงอยู่ตรงนี้ ผมจึงไปหาเจ้าของร้านหนังสือเก่าจับตัวเขามาคาดคั้นความลับเรื่องนี้ พอบอกว่าผมเคยรู้จักกับเมียเขามาก่อนเจ้าหนุ่มจึงยอมเปิดใจให้บ้างผมจึงเจาะลึกได้ง่ายขึ้นและได้ฟังเรื่องอะไร ๆ ที่น่าสงสัยไม่น้อย ทางด้านเจ้าของร้านโซะบะ ที่เห็นเฉย ๆ อย่างนั้นความจริงแล้วกร้าวมาก กว่าจะรีดความจริงออกมาได้ก็แทบตาย แต่ผมก็มีวิธีของผมซึ่งประสบผลสำเร็จอย่างงดงามเลยทีเดียว
โอโอกะ เอฉิเซ็น โนะคะมิ ขุนนางสมัยเอะโดะ ผู้วินิจฉัยคดีด้วยภูมิปัญญาล้ำเลิศและแหลมคม
คุณรู้ใช่ไหมว่าเขาเริ่มใช้วิธีวินิจฉัยความคิดเชื่อมโยงทางจิตวิทยาในการสืบจับคนร้ายกันแล้ว ทำโดยป้อนคำกระตุ้นความรู้สึกที่เป็นคำง่าย ๆ หลาย ๆ คำให้ผู้ต้องสงสัยเชื่อมโยงคำนั้น ๆ กับอะไร ๆ ที่เขาคิดขึ้นได้ แล้วตรวจวัดความเร็วช้าของปฏิกิริยาตอบสนอง แต่ผมคิดว่าคำกระตุ้นนั้นไม่จำเป็นต้องจำกัดอยู่ที่คำง่าย ๆ เช่น หมา บ้าน แม่น้ำ อย่างที่นักจิตวิทยาใช้กัน ถ้าเป็นคนที่ล่วงรู้ถึงแก่นของการถอดรหัสคดีด้วยการวินิจฉัยความคิดเชื่อมโยงนั้นแล้วละก็ เขาจะไม่ยึดติดกับรูปแบบที่กำหนดและไม่ต้องอาศัยเครื่องจับเท็จด้วย ข้อพิสูจน์คำพูดของผมได้เป็นอย่างดีก็คือ ผู้พิพากษาปัญญาเลิศและผู้ที่ได้ชื่อว่านักสืบในสมัยที่วิชาจิตวิทยายังไม่ก้าวหน้าเหมือนทุกวันนี้ ก็ใช้ภูมิปัญญาอันเป็นอัจฉริยะเฉพาะตนวิธีวิเคราะห์จิตใจผู้ต้องสงสัยกันมาแล้วโดยไม่รู้ตัว คุณก็คงรู้เรื่องราวของท่านเหล่านั้นมาบ้างแล้ว ที่แน่ ๆ คนหนึ่งก็คือท่านโอโอกะ เอฉิเซ็น โนะคะมิ ขุนนางสมัยเอะโดะผู้วินิจฉัยคดีด้วยภูมิปัญญาล้ำเลิศและแหลมคม นอกจากนั้นเรายังเห็นได้จากนิยายนักสืบหลายเรื่อง เช่น “คดีฆาตกรรมที่ถนนมอร์ก” ของเอ็ดการ์ แอลลัน โป ที่ตัวเอกสามารถเดาความคิดของเพื่อนได้ถูกต้องจากการสังเกตความเคลื่อนไหวเพียงจังหวะเดียวของเขาคนนั้น หรือในเรื่อง “จองเวร” ที่อาร์เธอร์ โคนัน ดอยล์จัดให้เชอร์ล็อก โฮมส์สืบคดีด้วยหลักจิตวิทยา ทุกคนที่ผมยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างเหล่านี้ล้วนใช้เทคนิคการสอบปากคำผู้ต้องสงสัยด้วยการวินิจฉัยความคิดเชื่อมโยงกันทั้งนั้น วิธีต่าง ๆ ที่นักจิตวิทยาคิดค้นขึ้นมานั้นส่วนใหญ่จะมีหลักมีเกณฑ์เหมือนเครื่องจักร ซึ่งเหมาะสำหรับคนพื้น ๆ ที่ไม่มีอัจฉริยะเป็นเลิศด้านการสืบสวนเท่านั้น

ที่ออกนอกเรื่องไปไกลขนาดนี้ก็เพื่อจะบอกว่าผมได้ใช้หลักวินิจฉัยความคิดเชื่อมโยงที่ว่านี้กับเจ้าของร้านโซะบะอะซะฮิยะในระดับหนึ่ง โดยชวนเขาสนทนาเรื่องสัพเพเหระไปเรื่อย ๆ พลางวิเคราะห์วิจัยปฏิกิริยาตอบโต้ของจิตใจเขาไปด้วย เรื่องนี้ผมจะอธิบายรายละเอียดภายหลังเพราะเป็นปัญหาที่ละเอียดอ่อนและซับซ้อนมาก เอาเป็นว่าการสนทนาครั้งนั้นส่งผลให้ผมเกิดความมั่นใจขึ้นมาว่าผมพบฆาตกรตัวจริงแล้ว

ที่ผมไม่อาจแจ้งตำรวจให้จับเขาได้ก็เพราะไม่มีพยานวัตถุสักอย่างเดียวที่จะใช้เป็นหลักฐานมัดตัวฆาตกรผู้นี้ ถึงจะไปแจ้งความตำรวจก็คงไม่ฟัง และอีกเหตุผลหนึ่งที่ว่าทำไมผมยังเฉยอยู่ทั้ง ๆ ที่มั่นใจว่าเขาเป็นฆาตกรก็เพราะผมเห็นว่าเขาก่อเหตุร้ายแรงนี้ขึ้นมาโดยไม่ได้มีความประสงค์ร้าย คุณคงคิดว่าผมเสียสติเพราะผมกำลังจะบอกว่าคดีฆาตกรรมรายนี้เกิดขึ้นจากความยินยอมพร้อมใจของทั้งฆาตกรและผู้ตาย หรือบางทีอาจเป็นการฆ่าตามความปรารถนาของผู้ตายเองก็ได้ ใครจะรู้”

ผมลองวาดภาพตามคำสาธยายของอะเกะชิดูหลายแง่มุมแต่ก็ไม่อาจคล้อยตามความคิดของเขาได้แม้แต่น้อย ผมสู้ทนระงับความอับอายที่สันนิษฐานคดีผิดพลาด เงี่ยหูฟังคำถอดรหัสคดีที่สุดแสนจะพิลึกพิลั่นของเขาต่อไป
 “คดีฆาตกรรมที่ถนนมอร์ก” ของเอ็ดการ์ แอลลัน โป
“คุณครับ ผมคิดว่าฆาตกรคือเจ้าของร้านโซะบะอะซะฮิยะ เขาอำพรางร่องรอยฆาตกรรมโดยให้การว่ามีชายคนหนึ่งเข้าไปขอใช้ห้องสุขาที่ร้านของเขาก็จริง แต่นั่นไม่ใช่กลอุบายที่เขาคิดขึ้นมาเอง เราต่างหากที่ไม่ดี ทั้งคุณทั้งผมนั่นแหละที่ไปชี้ช่องให้เขา โดยไปถามว่ามีชายคนหนึ่งเข้าไปขอใช้ห้องสุขาหรือเปล่า ซึ่งทำให้เขาได้ทีสวมรอยเลยทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้วไม่มีใครเข้าไปขอสักคน อีกอย่างเขาเข้าใจผิดคิดว่าเราเป็นนักสืบนอกเครื่องแบบด้วย เอาละ คราวนี้เราก็มาถึงจุดสำคัญที่ว่าเขาฆ่าหล่อนทำไม...คดีนี้ทำให้ผมประจักษ์ว่าคนที่มองจากเปลือกนอกดูธรรมดาที่สุดไม่มีอะไรโดดเด่นให้เป็นที่จับตามองนั้น ที่จริงแล้วสามารถซ่อนเร้นความลับอันร้ายกาจเกินคาด ความลับที่จะเห็นได้ก็แต่ในโลกแห่งความฝันร้ายเท่านั้น

เจ้าของร้านโซะบะอะซะฮีเป็นชายผู้มีความวิปริตทางเพศรุนแรงแบบที่มาร์กี เดอ ซาดเขียนไว้ในบทประพันธ์ของเขาซึ่งเป็นต้นตำรับของคำว่าซาร์ดิสต์ เท่านั้นไม่พอชะตากรรมยังเล่นตลกชักพาให้เขาบังเอิญพบกับผู้หญิงประเภทมาโซคิสต์ที่ชอบถูกกระทำรุนแรงอยู่ในห้องแถวถัดไปคูหาหนึ่ง เมียเจ้าของร้านหนังสือเก่าเป็นผู้หญิงที่มีความวิปริตทางเพศไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ชายหญิงที่อยู่ในสภาพไม่ผิดกับคนป่วยทั้งสองกลายเป็นคู่ขาที่เข้ากันอย่างถูกฝาถูกตัว ลักลอบเริงสวาทกันอย่างแนบเนียนมานานโดยไม่มีใครพบความผิดปกติ...ทีนี้คุณคงพอเข้าใจแล้วใช่ไหมว่าทำไมผมถึงบอกว่าเป็นการฆาตกรรมที่คนถูกฆ่าอาจยินยอมพร้อมใจ...ก่อนที่คนทั้งคู่จะได้พบกันนั้น ต่างฝ่ายต่างไม่เคยได้รับการสนองตอบทางเพศอย่างสาสมกับความหื่นกระหายในกามารมย์จากผัวและเมียตัวจริงของตน การที่แผลสดแผลแห้งเต็มตัวที่เมียร้านหนังสือเก่ากับเมียร้านโซะบะมีนั้นเหมือน ๆ กันนั้นเป็นหลักฐานอย่างดีว่าฆาตกรคนนี้มีจิตใจวิปริตแค่ไหน แล้วนางเมียร้านหนังสือเก่าหรือจะไม่พอใจ เมื่อเป็นเช่นนี้จึงมองรูปคดีออกได้ง่ายมากคือพอต่างฝ่ายต่างพบว่าคนที่ตนโหยหามาตลอดอยู่ใกล้กันแค่ปลายจมูกเช่นนี้ ทั้งสองก็เห็นอกเห็นใจกันอย่างลึกซึ้งในฉับพลันโดยไม่ต้องพูดอะไรกันมาก แต่ชะตากรรมเล่นตลกกับชายหญิงคู่นี้แรงเกินไป พลังแรงของกามสวาททั้งรุกและรับอย่างบ้าคลั่งทวีความรุนแรงตามลำดับไม่รู้ว่ากี่เท่าต่อที่เท่า จนกระทั่งเกิดเหตุอันเป็นจุดจบที่เหนือความคาดหมายของคนทั้งสองขึ้นในคืนวันนั้น”

ผมฟังคำสรุปที่แปลกประหลาดของอะเกะชิจนจบ รู้สึกขนลุกและตัวสั่นขึ้นมาเฉย ๆ ทำไมถึงได้พิสดารขนาดนี้

ขณะที่กำลังงง ๆ อยู่นั้นเอง หญิงเจ้าของร้านบุหรี่ก็เอาหนังสือพิมพ์ฉบับบ่ายขึ้นมาให้ อะเกะชิรับมาเปิดหน้าข่าวสังคมออกอ่านอยู่ครู่หนึ่งแล้วถอนหายใจ

“ว่าแล้วเชียว ในที่สุดก็ทนต่อไปไม่ไหวเลยไปมอบตัวสารภาพความจริงทั้งหมด มันช่างบังเอิญเสียจริง เรากำลังพูดเรื่องนี้กันอยู่แท้ ๆ ไม่นึกว่าจะได้ข่าวทันใจอย่างนี้”

ผมมองไปที่อะเกะชิชี้ให้ดู ตรงนั้นมีข่าวสั้น ๆ ประมาณ 10 บรรทัด รายงานว่าเจ้าของร้านโซะบะไปมอบตัวที่สถานีตำรวจ
กำลังโหลดความคิดเห็น