xs
xsm
sm
md
lg

เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมนานาประเทศ ทรงถูกต่อต้านจากกลุ่มคนที่ไม่เข้าใจ! คนนิวยอร์ค ๗ แสน ๕ หมื่นรับเสด็จฯ!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

ชาวนิวยอร์ค ๗ แสน ๕ หมื่นคนรับเสด็จฯ
หลังจากเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนประชาชนในทุกภาคของพระราชอาณาจักรแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จึงเริ่มเสด็จฯเยือนประเทศต่างๆที่ทูลเชิญมา

ประเทศแรกคือ สาธารณรัฐเวียดนามใต้ ตามคำทูลเชิญของประธานาธิบดีโงดินเดียม ในวันที่ ๑๘-๒๑ ธันวาคม ๒๕๐๒ ต่อมาในวันที่ ๘-๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๓ เสด็จฯอินโดเนเซีย ตามคำทูลเชิญของประธานาธิบดีซูการ์โน วันที่ ๒-๕ มีนาคม ๒๕๐๓ เสด็จฯเยือนสหภาพพม่า

จากนั้นมีหมายกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกาและยุโรป เป็นเวลายาวนานถึง ๖ เดือน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๐๓ ฉะนั้นในตอนค่ำของวันที่ ๑๓ มิถุนายน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงมีกระแสพระราชดำรัสอำลาประชาชนทางวิทยุกระจายเสียง ความว่า

“ประชาชนชาวไทยทั้งหลาย
เมื่อปีใหม่ข้าพเจ้าได้แจ้งให้ทราบแล้วว่า ประเทศต่างๆได้เชิญให้ไปเยี่ยมเป็นราชการ บัดนี้ถึงกำหนดที่ข้าพเจ้าและพระราชินีจะไปประเทศเหล่านั้น พรุ่งนี้จะออกเดินทางจากกรุงเทพฯไปยังสหรัฐอเมริกาก่อน แล้วจะไปประเทศอื่นๆในยุโรปอีก ๑๓ ประเทศด้วยกัน
การไปต่างประเทศคราวนี้ ก็ไปเป็นราชการแผ่นดิน เป็นการทำตามหน้าที่ของข้าพเจ้าในฐานะประมุขของประเทศ
เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า ในสมัยนี้ประเทศต่างๆไม่ว่าใหญ่หรือเล็ก ต่างต้องพึ่งพาอาศัยกันอยู่เสมอ จะว่าชนทุกชาติเป็นญาติพี่น้องกันก็ว่าได้ จึงควรพยายามให้รู้จักนิสัยใจคอกัน ต้องผูกน้ำใจกันไว้ให้ดีด้วย
การผูกน้ำใจกันไว้นั้น ธรรมดาญาติพี่น้องก็ไปเยี่ยมถามทุกข์สุขซึ่งกันและกัน แต่สำหรับประเทศนั้น ประชาชนนับแสนนับล้านจะไปเยี่ยมกันก็ยาก เขาจึงยกให้เป็นหน้าที่ของประมุขในการไปเยี่ยมประเทศต่างๆ ข้าพเจ้าก็จะแสดงต่อประชาชนของประเทศเหล่านั้นว่า ประชาชนชาวไทยมีมิตรจิตมิตรใจต่อเขา และข้าพเจ้าจะพยายามเต็มที่ เพื่อให้ฝ่ายเขารู้จักเมืองไทย และให้เกิดมีน้ำใจดีต่อชาวไทย
ข้าพเจ้าจะลาท่านไปเป็นเวลาราว ๖ เดือน ก็เป็นธรรมดาที่นึกห่วงใยบ้านเมือง จึงใคร่จะตักเตือนท่านทั้งหลายว่า ขอให้ตั้งหน้าทำการงานของท่านให้เต็มที่ในทางที่ชอบที่ควร ตั้งตัวตั้งใจให้อยู่ในความสงบ จะได้เกิดผลดีแก่ตัวท่านเอง และแก่บ้านเมืองซึ่งเป็นของเราด้วยกันทุกคน
ขออวยพรให้มีความสุขสวัสดีทั่วกัน

ในการเสด็จพระราชดำเนินครั้งนี้ ได้เสด็จฯไปพร้อมกับพระราชโอรสและพระราชธิดาทั้ง ๔ พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินทรเทพรัตนราชสุดา และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ และผู้ตามเสด็จรวมทั้งสิ้น ๕๑ คน โดยรัฐบาลได้เช่าเครื่องบินของบริษัทแพนอเมริกันถวายเป็นราชพาหนะ ซึ่งได้รับพระราชทานชื่อเป็นไทยว่า “วายุบุตร” ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้สมเด็จพระราชชนนี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ตลอดเวลา ๖ เดือนที่เสด็จพระราชดำเนินครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชินีนาถมีหมายกำหนดการเต็มเวลา ทั้งการเดินทางและทรงออกงานต้อนรับ ทรงตรากตรำอย่างหนัก เมื่อกลับมาถึงที่ประทับในตอนกลางคืน แทนที่จะได้บรรทมพักผ่อน พระเจ้าอยู่หัวยังต้องตรวจทานแก้ไขพระราชดำรัสของวันต่อไปซึ่งฝ่ายราชเลขานุการเตรียมไว้ บางครั้งก็ทรงเขียนเองใหม่หมด หรือเตรียมที่จะต้องมีพระราชดำรัสสด บางแห่งก็จะถูกต่อต้านจากผู้ไม่เข้าใจหรือจากปัญหาการเมืองภายในของประเทศเจ้าภาพเอง แต่ก็ทรงฝ่าไปได้ด้วยพระอัจฉริยภาพ ทำให้ทรงได้รับความชื่นชมนิยมยกย่องในทุกประเทศที่เสด็จฯ

ในการเสด็จฯต่างประเทศครั้งนี้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้ทรงนิพนธ์ไว้ในหนังสือ “ความทรงจำในการเสด็จต่างประเทศทางราชการ” และ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงวิภาวดี รังสิต ได้นิพนธ์ในรูปแบบจดหมายในหนังสือ “เสด็จพระราชดำเนินอเมริกา พ.ศ.๒๕๐๓” ซึ่งเรื่องประทับใจในหนังสือทั้ง ๒ เล่มนี้ หยิบมาอ่านครั้งใดก็ทำให้มีความสุข อย่างสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงเล่าในคราวเสด็จฯออสเตรเลียไว้ว่า

“...ที่ออสเตรเลียอันนำความหนักใจมาให้ข้าพเจ้าเป็นอันมากเกิดขึ้นที่เมืองเมลเบิร์น เมืองหลวงของรัฐวิกตอเรีย

วันที่มหาวิทยาลัยเมลเบิร์นถวายปริญญานิติศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตแก่พระเจ้าอยู่หัว พอเราไปถึงมหาวิทยาลัยต้องเดินผ่านกลุ่มชาย-หญิง ซึ่งเข้าใจว่าเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยแห่งนั้น มีพวกหนึ่งยืนอยู่นอกหอประชุมด้านที่เป็นประตูกระจกเปิดอยู่เป็นระยะๆ ทำให้มองเข้าไปเห็นและได้ยินเสียงจากเวทีข้างในได้ กลุ่มนี้บางคนแต่งกายไม่เรียบร้อยเลย แต่กลุ่มอื่นๆบางพวกก็ดูดี เมื่อข้าพเจ้าตามเสด็จผ่านจะเข้าในหอประชุม บางพวกก็ปรบมือให้ บางพวกก็มองดูเฉยๆไม่ยิ้มไม่บึ้ง แต่บางพวกมองดูด้วยสายตาประหลาด แล้วมีการหันไปพูดซุบซิบและหัวเราะกันก็มี ตัวข้าพเจ้าเองก็คงอดที่จะมองดูเขาอย่างประหลาดใจไม่ได้เหมือนกัน เพราะเห็นว่าท่วงทีที่คนบางคนยืนช่างไม่น่าดูเลย การแต่งเนื้อแต่งตัวก็จะเป็นจะเป็นเครื่องแต่งกายของพวกที่อยากจะเรียกร้องความสนใจ มากกว่าที่จะให้นึกว่าเป็นนักศึกษาอันควรจะเป็นปัญญาชน

เมื่อเราเข้าไปถึง ในหอประชุมนั้นมีผู้คนเต็มไปหมดเกือบทุกที่นั่ง เป็นนักศึกษา ศาสตราจารย์ คนสำคัญของเมืองเมลเบิร์น และนักหนังสือพิมพ์ เป็นต้น เขาจัดให้ข้าพเจ้าและผู้ติดตามนั่งอยู่ตรงที่คนดูข้างล่างแถวหน้า ส่วนพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นไปบนเวทีพร้อมด้วยอธิการบดี คณบดี และกรรมการของมหาวิทยาลัย เมื่อพิธีเริ่มต้น อธิการบดีก็ลุกขึ้นไปอ่านคำสดุดีพระเกียรติพระเจ้าอยู่หัวก่อนที่จะถวายปริญญา ทันใดนั้นเองข้าพเจ้าก็ได้ยินเสียงเอะอะเหมือนโห่ปนฮาอยู่ข้างนอก คือจากกลุ่ม “ปัญญาชน” ซึ่งยืนท่าต่างๆที่ไม่น่าดู เช่น เอาเท้าพาดบนต้นไม้บ้าง ถ่างขามือท้าวสะเอวบ้าง เสียงโห่ปนฮาของเขาดังพอที่จะรบกวนเสียงที่อธิการบดีกำลังกล่าวอยู่ทีเดียว ข้าพเจ้ารู้สึกว่าความโกรธพลุ่งขึ้นมาทันที เกือบจะระงับสติอารมณ์ไว้ไม่ไหว มองขึ้นไปบนเวทีเห็นบรรดาศาสตราจารย์และกรรมการมหาวิทยาลัยที่นั่งอยู่บนนั้นต่างก็หน้าจ๋อย ซีดแทบไม่มีสีเลือด ท่าทางกระสับกระส่ายด้วยความละอายไปด้วยกันทั้งนั้น ถ้าคนกลุ่มนั้นเป็นเด็กเล็กๆ ก็คงมีผู้ใหญ่ลุกขึ้นออกไปตีคนละเผียะสองเผียะ เพื่อสั่งสอนให้รู้จักมารยาทของเจ้าของบ้าน แต่นี่เป็นผู้ใหญ่ซึ่งสมมุติว่าเป็น “ปัญญาชน” ด้วยกันทั้งนั้น ที่ส่งเสียงไม่น่าฟังออกมาอย่างผิดเวลา ผิดกาลเทศะที่สุด

ข้าพเจ้าชำเลืองดูพวกเราเห็นนั่งตัวแข็งไปตามๆกัน ครั้นอธิการบดีอ่านคำสดุดีพระเกียรติจบลงก็ถวายปริญญา ต่อจากนั้นก็ถึงเวลาพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จไปพระราชทานพระราชดำรัสที่เครื่องที่เครื่องขยายเสียงกลางเวที ยังไม่ทันจะอะไรก็มีเสียงโห่ปนฮาดังขึ้นมาจากกลุ่ม “ปัญญาชน” ข้างนอกอีกแล้ว ข้าพเจ้ารู้สึกว่ามือเย็นเฉียบ หัวใจก็หวิวๆอย่างพิกล รู้สึกสงสารพระเจ้าอยู่หัวจนทำอะไรไม่ถูก ไม่กล้าแม้แต่จะมองขึ้นดูพระพักตร์ท่านด้วยความสงสารและเห็นพระทัย ในที่สุดก็ฝืนใจมองขึ้นไปเพื่อถวายกำลังพระทัย แต่แล้วข้าพเจ้านั่นเองแหละที่เป็นผู้ได้รับกำลังใจกลับคืนมา เพราะมองดูท่านขณะที่ทรงพระดำเนินไปยืนกลางเวที เห็นพระพักตร์สงบเฉย ทันใดนั้นเองคนที่อยู่ในหอประชุมทั้งหมดก็ปรบมือเสียงสนั่นหวั่นไหว คล้ายจะถวายกำลังพระทัยท่าน พอเสียงปรบมือเงียบลง คราวนี้ข้าพเจ้ามองขึ้นไปบนเวทีอีก ก็เห็นพระเจ้าอยู่หัวทรงเปิดพระมาลาที่ทรงคู่กับฉลองพระองค์ครุย แล้วหันพระองค์ไปโค้งคำนับคนกลุ่มที่ส่งเสียงอยู่ข้างนอกอย่างงดงามน่าดูที่สุด พระพักตร์ยิ้มนิดๆ พระเนตรมีแววเยาะหน่อยๆ แต่พระสุรเสียงราบเรียบยิ่งนัก “ขอขอบใจท่านทั้งหลายเป็นอันมาก ในการต้อนรับอันอบอุ่นและสุภาพเรียบร้อยที่ท่านแสดงต่อแขกเมืองของท่าน” รับสั่งเพียงเท่านั้นเอง แล้วก็หันพระองค์มารับสั่งต่อผู้ที่นั่งฟังอยู่ในหอประชุม

ตอนนี้ข้าพเจ้าอยากจะหัวเราะออกมาดังๆด้วยความสะใจ เพราะเสียงฮานั้นเงียบลงทันที่เหมือนปิดสวิช แล้วตั้งแต่นั้นก็ไม่มีอีกเลย ทุกคนข้างนอกข้างในต่างนั่งฟังพระราชดำรัสเฉย ท่าทางดูขบคิด ข้าพเจ้าเห็นว่าพระราชดำรัสวันนั้นดีมาก รับสั่งสดๆโดยไม่ทรงใช้กระดาษเลย ทรงเล่าถึงวัฒนธรรมอันเก่าแก่ของไทยเราว่า เรามีเอกราช มีภาษาของเราเอง มีตัวหนังสือซึ่งคิดค้นขึ้นใช้เอง เราตั้งบทกฎหมายการปกครองของเราเอง ให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนมา ๗๐๐ ปีกว่ามาแล้ว ตอนนี้ข้าพเจ้าขำแทบแย่ เพราะหลังจากรับสั่งว่า...๗๐๐ ปีกว่ามาแล้ว...ทรงทำท่าเหมือนเพิ่งนึกออก ทรงสะดุ้งนิดๆ และทรงโค้งพระองค์อย่างสุภาพเมื่อตรัสว่า...ขอโทษ...ลืมไป...ตอนนั้นยังไม่มีประเทศออสเตรเลียเลย... แล้วทรงเล่าต่อไปว่า แต่ไหนแต่ไรมา คนไทยเรามีน้ำใจกว้างขวางที่จะให้โอกาสคนอื่น และฟังความเห็นของเขา เพราะเรามักใช้ปัญญาขบคิด ไตร่ตรองหาเหคุผลก่อน จึงคิดว่าสิ่งไรเป็นอย่างไร ไม่สุ่มสี่สุ่มห้าตัดสินอะไรตามใจชอบโดยไม่ใช้เหตุผล...

เมื่อเสร็จพิธีแล้ว อธิการบดีก็เชิญเสด็จพระเจ้าอยู่หัวและข้าพเจ้าออกจากหอประชุมไปในอีกห้องหนึ่ง ถวายเครื่องดื่มและมีงานรับรองเล็กๆถวาย เพื่อเปิดโอกาสให้ศาสตราจารย์และแขกที่ได้รับเชิญมาเข้าเฝ้า ทุกคนเข้ามาชมเชยพระราชดำรัส ศาสตราจารย์บางคนก็น่าสงสาร ละล่ำละลักเข้ามาแก้แทนเสียงที่ไม่สุภาพนั้นว่า เด็กๆเขาทะเลาะกันเองต่างหาก ไม่ได้เกี่ยวกับพิธีถวายปริญญาดอก อันที่จริงข้าพเจ้าก็ไม่ได้โทษใครทั้งสิ้น ทางบ้านเมืองและมหาวิทยาลัยต่างก็ถวายพระเกียรติพระเจ้าอยู่หัวและข้าพเจ้าเต็มที่ การที่นักศึกษาบางพวกทำตัวไม่น่าดู จนศาสตราจารย์ของเขาเองอาย ต้องออกตัวว่าเป็นเด็กๆแทนที่จะเรียกว่านักศึกษา เห็นจะเป็นเพราะนักศึกษาเหล่านั้นนึกว่า พวกเขามีเสรีที่จะแสดงความคิดเห็นได้ตามใจชอบ ไม่ว่าความคิดเห็นนั้นจะถูกต้องด้วยเหตุผลและสมควรแก่กาลเทศะหรือไม่นั้น เขาคิดไม่ออก ท่องจำไว้อย่างเดียวว่า ถ้าเป็นนักศึกษาแล้วก็ต้องมีเสรีภาพ ก็เลยใช้เสรีภาพอย่างเต็มที่ในวันนั้น

พอเสร็จงานเลี้ยงรับรองแล้ว เมื่อจะไปขึ้นรถพระที่นั่งกลับ ก็จำต้องเสด็จผ่านกลุ่มนั้นอีก เขายังยืนคอยดูเราอยู่ที่เก่า แต่อากัปกิริยาเปลี่ยนไปหมด บางคนก็หน้าเฉยๆ เจื่อนๆ ดูหลบตาพวกเรา ไม่มีการมองอย่างประหลาดอีกแล้ว แต่บางพวกก็มีน้ำใจนักกีฬาพอจะยิ้มแย้มแจ่มใส โบกมือและปรบมือให้เราตลอดทางจนถึงที่ซึ่งรถพระที่นั่งจอดอยู่”

ที่อเมริกา ซึ่งเป็นประเทศแห่งเสรีภาพ ก็ทรงเผชิญกับปัญหาจากความไม่เข้าใจเช่นกัน ก่อนเสด็จพระราชดำเนินอเมริกา หนังสือพิมพ์อเมริกันก็นั่งเทียนเขียนข่าวลือเสียๆหายๆ อย่างเช่นสมเด็จพระบรมราชินีนาถทรงใช้เงินถึงปีละ ๑๐ ล้านบาทสำหรับฉลองพระองค์ พอมีโอกาสได้พบนักธุรกิจใหญ่ในธุรกิจหนังสือพิมพ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงแสดงความเห็นให้สำนึกกันบ้าง ซึ่งสมเด็จพระราชินีทรงเล่าว่า

“ค่ำวันนั้น นักธุรกิจมีชื่อเสียงของอเมริกา ซึ่งเป็นประธานของหนังสือพิมพ์ที่มีชื่อเสียงและคณะกรรมการของพิพิธภัณฑ์เมโทรโปลิตัน จัดพระกระยาหารค่ำถวายที่พิพิธภัณฑ์ ก่อนไปงานคืนนั้น ข้าพเจ้าทราบล่วงหน้าแล้วว่าพระเจ้าอยู่หัวจะทรงหาโอกาสรับสั่งแสดงความคิดเห็นในเรื่องการจะช่วยรักษาสันติสุขให้แก่โลก ได้ทรงเล่าให้ข้าพเจ้าฟังก่อนว่า จะทรงแทรกความคิดเห็นที่พวกอเมริกันบางคนถือว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ความจริงให้ผลร้ายมากนี้ ให้เขารู้สึกเสียบ้าง ถ้าเขามีน้ำใจเป็นนักกีฬาจริงคงรับฟังได้ คืนนั้นมีนักธุรกิจและนักหนังสือพิมพ์มาในงานมาก พอพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งจบลง พวกเขาตบมือกันกราวใหญ่ พอใจพระราชดำรัสที่ทรงอุปมาไว้ ดังนี้

“ผู้มีหน้าที่สื่อข่าวก็ดี หรือมีหน้าที่ประสานความเข้าใจระหว่างคนหลายชาติหลายชั้นก็ดี ควรสำนึกอยู่เสมอว่า งานของเขาเป็นงานสำคัญและมีเกียรติสูง เพราะหมายถึงความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่ในการร่วมกันสร้างสันติสุขให้แก่โลก การแพร่ข่าวโดยขาดความระมัดระวังหรือแม้แต่คำพูดง่ายๆ เพียงนิดเดียว ก็สามารถทำลายงานที่ผู้มีความปรารถนาดีทั้งหลายพยายามสร้างไว้ด้วยความยากลำบากเป็นเวลาแรมปี หากจะแก้ตัวว่าการพูดพล่อยๆเพียงสองสามคำนี้เป็นเรื่องเล็ก ไม่น่าจะเก็บมาถือเป็นเรื่องใหญ่เลยก็ไม่ถูก เหมือนฟองอากาศนิดเดียวถ้าเข้าไปอยู่ในเส้นเลือด ก็จะสามารถปลิดชีวิตคนได้ทั้งคน และน้ำตาลหวานๆก้อนเล็กนิดเดียว ถ้าใส่ลงไปในถังน้ำมันรถ ก็จะทำให้เครื่องจักรดีๆของรถเสียได้โดยสิ้นเชิง”

ในงานคืนนี้เอง ข้าพเจ้าได้พบปะผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับหนังสือพิมพ์ที่ลงข่าวเล่นงานข้าพเจ้าก่อนหน้าจะเดินทางมาอเมริกา ข้าพเจ้าพบเขาก็ต่อว่าทันที พอพูดไปแล้วก็นึกเห็นใจเขา เพราะเป็นเพียงกรรมการคนหนึ่งเท่านั้น ความรับผิดชอบในการออกข่าวเป็นเรื่องของบรรณาธิการโดยตรง กรรมการที่ถูกข้าพเจ้าต่อว่าขอรับผิดในเรื่องนี้ อุตส่าห์พูดให้กำลังใจเหมือนคนไทยว่า คงไม่มีใครเชื่อข่าวนี้ ปัญญาชนคงไม่สนใจ พวกที่อ่านข่าวสังคมซุบซิบมักเป็นแม่บ้านธรรมดา เขาไม่อยากให้ข้าพเจ้าต้องยุ่งใจกับเรื่องเล็กๆน้อยๆเช่นนี้เลย”

แต่ที่ว่าปัญญาชนไม่สนใจข่าวสังคมซุบซิบนั้น พอไปงานรับรองเป็นทางการครั้งหนึ่งที่แคนาดา แขกในงานก็ล้วนแต่บุคคลมีเกียรติในวงการราชการธุรกิจทั้งนั้น คืนนั้นสมเด็จพระราชินีทรงสวมสร้อยศอเพชรซึ่งเป็นของเก่าของสมเด็จพระพันปีหลวง แขกสำคัญคนหนึ่งได้ถามพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงวิภาวดี รังสิต ซึ่งทำหน้าที่นางสนองพระโอษฐ์ว่า

“อ้อ..สร้อยพระศอที่พระราชินีของท่านทรงอยู่นั้น คงเพิ่งซื้อใหม่จากปารีสกระมัง”

ท่านหญิงวิภาวดีทรงตอบว่า

“เอ๊ะ นี่ท่านไม่รู้หรอกหรือว่า เมืองไทยของฉันมีอายุกว่า ๗๐๐-๘๐๐ ปีแล้ว พระราชวงศ์จักรีก็มีมาตั้งเกือบสองศตวรรษ เราจึงมีเครื่องเพชรประจำพระราชวงศ์บ้าง ไม่เห็นจะซื้อของใหม่ราคาแพงมาใช้เลย”

ส่วนที่อเมริกาก็ต้องทรงผจญกับนักศึกษาของประเทศที่ไม่มีกษัตริย์อีกเช่นกัน ทั้งยังมีอคติต่อประเทศในอาเชียอาคเนย์ที่รัฐบาลอเมริกันเอาภาษีอากรของพวกเขามาช่วย และยังส่งทหารมาตายในสงครามที่เกาหลีและเวียดนามด้วย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงเล่าเรื่องในตอนนี้ไว้ว่า

“เหตุการณ์ที่สำคัญที่พวกเราคนไทยในขบวนเสด็จรอคอยด้วยใจระทึกและตื่นเต้นที่สุด คือวันที่พระเจ้าอยู่หัวจะทรงรับปริญญากิตติมศักดิ์ที่มหาวิทยาลัยวิลเลี่ยมส์ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าที่สุดแห่งหนึ่งในสหรัฐ และจะทรงมีพระราชดำรัสท่ามกลางคนฟังเป็นร้อยๆ ท่ามกลางนักศึกษาซึ่งมีทุกเพศทุกวัยและหลายชาติด้วยกันเป็นจำนวนมาก

วันเสาร์ที่ ๑๐ มิถุนายนเสด็จถึงวิลเลี่ยมส์ พิธีแจกปริญญานี้เขาจัดให้นักศึกษาทั่วไปที่สำเร็จประจำปีเข้ารับก่อน แล้วผู้รับปริญญากิตติมศักดิ์จึงรับ ปีนี้ทางมหาวิทยาลัยเลือกไว้ ๖ คนมีพระเจ้าอยู่หัวอยู่ด้วย และนายการ์ดเนอร์ รัฐมนตรีกระทรวงศึกษา สาธารณสุข และสวัสดิการ ทางมหาวิทยาลัยจะเลือกผู้ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์ ๒ คนให้เป็นผู้พูดแทนผู้รับปริญญากิตติมศักดิ์ทั้งหมด รัฐมนตรีการ์ดเนอร์พูดก่อน พระเจ้าอยู่หัวทรงได้รับเลือกให้รับสั่งเป็นองค์สุดท้าย ซึ่งเขาถือว่าเป็นการถวายพระเกียรติ

ตอนค่ำก่อนวันรับปริญญา มีงานเลี้ยงของอธิการบดีและคณะกรรมการของมหาวิทยาลัย ณ ที่ประทับ มีแขกรวมทั้งหมดห้าสิบคน มีสุนทรพจน์กันตามเคย อธิการบดีกล่าวขึ้นก่อน แล้วพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสตอบ ครึกครื้นกันดีมากในคืนวันนั้น เสร็จงานแล้วแขกทุกคนทูลขอให้ “เสด็จขึ้นแต่หัวค่ำ” เพราะรู้ดีว่าทรงตรากตรำมาจากนิวยอร์ค พระเจ้าอยู่หัวรับสั่งว่า “พรุ่งนี้นับว่าเป็นวันสำคัญของเราวันหนึ่ง อย่างไรเสียคงนอนไม่หลับ แต่ขอบใจทุกคนที่หวังดีและเตือนให้ขึ้นแต่หัวค่ำ” รับสั่งว่าพระราชดำรัสที่จะรับสั่งพรุ่งนี้ยังไม่เสร็จ เป็นอันว่าคืนนั้นทรงงานอยู่ถึง ๒ ยามครึ่ง ท่านราชเลขาฯมารับเอาไปพิมพ์เมื่อตีหนึ่งพอดี ในคืนนั้นข้าพเจ้านอนไม่ค่อยหลับเหมือนกันต้องบอกตามตรง เพราะว่ามีกรรมการของมหาวิทยาลัยมากระซิบว่า “พรุ่งนี้ถ้าแม้นว่ามีเหตุการณ์อะไรผิดปกติแล้วอย่าตกพระทัย และขออย่าได้คิดเป็นอันขาดว่าเป็นการดูหมิ่นพระเกียรติ พรุ่งนี้อาจจะมีการแจกใบปลิว หรือนักศึกษาอาจจะมีการเดินออกจากพิธีรับปริญญาบ้าง” ซึ่งเขาถือว่าเหตุการณ์เหล่านี้ออกจะเป็นของธรรมดาในสหรัฐ เพราะเป็นสิทธิของแต่ละคนที่จะกระทำได้ เขาอธิบายต่อไปว่าเป็นธรรมเนียมของทางมหาวิทยาลัยที่จะต้องอนุญาตให้นักศึกษาที่สำเร็จด้วยเกียรตินิยมสูงแต่งบทความขึ้นมา เขาจะเลือกสามคนที่มีเกียรติยมสูงทางแผนกต่างๆนำบทความที่แต่งและจะได้รับรางวัลของมหาวิทยาลัยขึ้นมาอ่านให้ที่ประชุมฟัง นักศึกษาได้ส่งผู้แทนมาที่อธิการบดีแจ้งว่า บทความบทหนึ่งของเขานี้จะเป็นข้อความที่แสดงว่าเขาไม่เห็นด้วยในการที่รัฐบาลอเมริกันส่งทหารมาที่เวียดนามใต้ เป็นการส่งคนของเขามาตายโดยเปล่าประโยชน์ เขาว่าไม่ใช่คนขี้ขลาดกลัวตาย แค่คนเราจะยินดีตายก็ต่อเมื่อตายให้แก่ชาติบ้านเมืองของตัว คือตายให้ประเทศ การที่ส่งพวกเขามาตายไกลๆเช่นนี้ เขาไม่เห็นด้วย เมื่อทราบเรื่องนี้เข้าทำให้ข้าพเจ้าไม่ค่อยหลับ

รุ่งขึ้นวันอาทิตย์ที่ ๑๑ มิถุนายน หลังจากรับประทานอาหารกลางวันแล้ว ข้าพเจ้าก็ไปนั่งคอย พิธีจัดที่สนามใหญ่ ตั้งเก้าอี้เรียงหมด ตั้งเวทีสูง ให้ผู้ที่จะได้รับปริญญากิตติมศักดิ์และคณะกรรมการมหาวิทยาลัยนั่งบนนั้น เพื่อคนข้างล่างจะได้เห็นการรับปริญญาอย่างชัดเจน ข้าพเจ้านั่งคอยอยู่ที่ในสนามรวมกับผู้ปกครองที่ได้รับเชิญสักพักใหญ่ นักศึกษาทั่วไปที่จะรับปริญญาในปีนี้ ก็ใส่เสื้อครุยเดินเป็นขบวนเรียบร้อยมานั่งตามเก้าอี้ที่จัดไว้เป็นแถวๆ ใกล้กับที่ข้าพเจ้าและผู้ปกครองอื่นๆนั่ง ต่อมาขบวนอีกขบวนหนึ่งที่สง่างาม มีมาร์เชลของงานเดินนำ มีอธิการบดี คณะกรรมการมหาวิทยาลัย คณะศาสตราจารย์ และผู้ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์ เดินขึ้นสู่เวที ทันทีที่ขบวนสำคัญมาถึง ที่ประชุมลุกขึ้นยืนหมด เข้าใจว่าเป็นการถวายพระเกียรติยศแก่พระมหากษัตริย์ไทย มาร์เชลของพิธีบอกให้ทุกคนนั่งลงได้ อธิการบดีลุกขึ้นกล่าวคำเปิดงานสั้นๆ และนักศึกษาเกียรตินิยมอันดับสูงทั้ง ๓ คน ออกไปอ่านบทความที่เขาแต่งขึ้นประกวดรับรางวัล เสร็จแล้วนักศึกษาที่สำเร็จประจำปีขึ้นไปรับปริญญา ต่อจากนั้นถึงคณะผู้รับปริญญากิตติมศักดิ์ รัฐมนตรีการ์ดเนอร์กล่าวสุนทรพจน์ก่อน สุนทรพจน์เพราะมาก แล้วจึงถึงพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัส เป็นอันว่าพิธีจบอย่างเรียบร้อยเกินคาด ตลอดเวลาที่นั่งอยู่ คนไทยทุกคนใจเต้นตึกๆไปตามๆกัน ไม่ทราบว่าอะไรจะเกิดขึ้น

คืนนั้น อธิการบดีเลี้ยงอาหารค่ำเป็นการส่วนตัวพร้อมด้วยคณะกรรมการบางคน ข้าพเจ้า
กระซิบถามกรรมการคนหนึ่งว่า “ถามจริงๆเถิด จัดการอย่างไรถึงไม่มีเหตุร้ายที่คาดไว้เกิดขึ้น
จัดการได้เก่งมาก” รู้สึกว่ากรรมการท่านนั้นทำท่าเคืองๆ เขาบอกว่า “ทรงทราบดีแล้วว่า ที่อเมริกานี้ไม่มีใครสามารถจะจัดการห้ามปรามไม่ให้คนออกเสียง หรือออกความคิดเห็นได้เลย” เขาเองก็แปลกใจเหมือนกันที่ไม่มีปฏิกิริยาอย่างที่นึกไว้เกิดขึ้น จึงไปหยั่งเสียงนักศึกษาดู (ผมยาวๆก็มีเยอะ ทำให้น่าเกรงขามใหญ่) ว่าเหตุใดนักศึกษาบางคนซึ่งเตรียมกันไว้แล้วว่าจะพากันเดินออกจากที่ประชุม ขณะที่ประมุขของประเทศหนึ่งทางอาเซียอาคเนย์รับปริญญา นักศึกษาว่าถึงเขาไม่ได้เจาะจงจะโจมตีเมืองไทย แต่ในฐานะที่เมืองไทยมีสัมพันธไมตรีกับรัฐบาลเขา และเขาไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลของเขา เขาจึงกะกันว่าจะเดินออกจากที่ประชุมในขณะที่มีพระราชดำรัส แต่ที่เขาไม่ทำเช่นนั้น ก็เพราะว่าเขาเห็นพระเจ้าอยู่หัวทรงตบพระหัตถ์ให้เป็นเกียรติแก่เขาทั้ง ๓ คน เขาเห็นว่าทรงเป็นผู้ที่ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นที่สบพระทัยหรือไม่ เขาจึงอยากจะแสดงว่าเขาเองก็ยินดีจะยอมรับฟังความคิดเห็นของพระองค์ท่านบ้างเหมือนกัน และกรรมการผู้นั้นบอกว่าทุกคนชอบพระราชดำรัสมาก จะเห็นได้จากการลุกขึ้นยืนพรืบหมดแล้วตบมือถวายเป็นเวลานาน

เมื่อกลับมาข้าพเจ้าทูลถามว่า “ทำไมไปตบพระหัตถ์ให้กับเขา ไม่เห็นจำเป็นเลย อาจารย์ ผู้ปกครองและผู้เข้าฟังตั้งหลายคนไม่ได้ตบมือ มิหนำซ้ำยังหน้าบึ้งตึง โดยเฉพาะตอนบทความที่พูดโจมตีเรื่องการส่งทหารไปเวียดนาม” รับสั่งว่า “ไม่รู้ดอกหรือว่า บทความเหล่านั้นเป็นบทความที่เขาได้รับรางวัลทางด้านภาษา เขาพูดเก่ง ใช้ภาษาที่ถูกต้อง ไม่ใช่รางวัลทางด้านนโยบาย ก็น่าตบมือให้ แต่เพราะว่าเขาเขียนภาษาได้ไพเราะเพราะพริ้งมากกว่า”

น่าขอบใจคณะกรรมการที่มาเตือนให้รู้ล่วงหน้าถึงความคิดเห็นของนักศึกษา พระเจ้าอยู่หัวจึงทรงสามารถเขียนพระราชดำรัสให้ข้อคิดแก่นักศึกษาได้ พระราชดำรัสวันนั้นน่าทึ่งมาก รัฐมนตรีต่างประเทศของเรามีส่วนช่วยเหลือด้วยอย่างมาก โดยทูลแนะนำว่า น่าจะทรงยกเอาธรรมะทางพุทธศาสนาซึ่งเป็นของสูงส่ง ขึ้นมารับสั่งให้ชาวต่างประเทศฟังเสียบ้าง ต่อไปนี้เป็นพระราชดำรัสย่อๆ “โลกปัจจุบันนี้เต็มไปด้วยการโฆษณาชวนเชื่อ ฉะนั้นก่อนที่คนเราจะปักใจเชื่ออะไรลงไป ควรจะพิจารณาเหตุผลให้ถ่องแท้เสียก่อน แม้แต่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงแนะนำให้มนุษย์ใช้สติและปัญญา ศึกษา ค้นคว้า และไตร่ตรองให้ทราบแน่ว่า คำสั่งสอนนั้นเป็นความจริงที่เชื่อได้หรือไม่ ไม่ให้สักแต่เชื่อเพราะมีผู้บัญญัติไว้” นี่แหละ คำนี้แหละ พวกผมยาวเลยไม่กล้าเดินออกไป เพราะขืนเดินออกไปประเดี๋ยวจะกลายเป็นคนที่ไม่ใช้สมองไต่ตรองเสียก่อน

วันอังคารที่ ๑๓ นักหนังสือพิมพ์และผู้แทนสื่อมวลชนเข้าเฝ้าที่โรงแรมปลาซ่า ข้าพเจ้าถึงจะเคยกับการให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์มาแล้วบ้างในต่างประเทศ ก็ยังไม่หายกลัวสักที เพราะไม่เคยรู้ก่อนเลยว่าเขาจะสัมภาษณ์กันแนวไหน โดยมากมักถามแล้วต้องตอบทันที นอกจากนั้นยังมีเจ้าหน้าที่ของเสียงอเมริกามาบันทึกเสียง มีเครื่องอัดและขยายเสียงมากมายทำให้ดูน่ากลัว การพบกับพวกหนังสือพิมพ์นั้น ถ้าดีก็เสมอตัวไป แต่สำหรับวันนี้เหตุการณ์ค่อยเบาใจได้บ้าง เพราะพวกผู้แทนสื่อมวลชนพากันไปสนในในเรื่องเกี่ยวกับอนาคตของอาเซียอาคเนย์เป็นส่วนมาก พระเจ้าอยู่หัวทรงรับหน้าที่ตอบคำถามต่างๆโดยไม่หยุดพระโอษฐ์เลย แต่เราก็มีรัฐมนตรีต่างประเทศนั่งฟังอยู่ด้วย เพื่อให้เป็นการถูกต้องตามระบอบประชาธิปไตย ต่อไปนี้จะขอรวมคำถามของพวกหนังสือพิมพ์ ผู้แทนสื่อมวลชน นักธุรกิจ ตลอดเวลาที่เสด็จอเมริกาและแคนาดา ว่าเขามีแนวถามอย่างไร แนวใด ไม่เฉพาะเจาะจงแต่ที่นิวยอร์คแห่งเดียว เช่น เขาถามว่าเมืองไทยมีเอกราชมานานเท่าไรแล้ว เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น รับสั่งว่าเพราะคนไทยมีความสามัคคีกลมเกลียวกันดีในประเทศเสมอมา และผู้นำของไทยก็รู้ดีว่าการปิดเมือง ไม่ยอมติดต่อกับชาวต่างประเทศ เป็นอันตรายต่อเอกราชของไทย เพราะกำลังของเราเทียบไม่ได้เลยกับกำลังของประเทศมหาอำนาจที่กำลังแสวงหาเมืองขึ้นในเวลานั้น นโยบายการเปิดเมืองกับการติดต่อกับต่างประเทศนี้ เริ่มมาตั้งแต่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงแม้ว่าในสมัยนั้นยังไม่ค่อยจะทรงไว้วางใจชาวต่างประเทศนักก็ดี แต่เนื่องด้วยพระปรีชาญาณเห็นการณ์ไกล จึงได้ใช้นโยบายค่อยผ่อนไปในการติดต่อกับต่างประเทศ เหมือนกับค่อยๆแง้มบานประตูเมืองออกต้อนรับแขกเมือง ทรงเห็นว่าอะไรควรเจริญก้าวหน้าก็ควรให้เป็นไป ไม่แข็งขืนเอาไว้ และทรงอนุญาตให้มีเสรีภาพในการถือศาสนา ทรงสนับสนุนทุกศาสนา จะเห็นได้ว่ารัชกาลที่ ๔ ได้พระราชทานที่ดินให้แก่พระในศาสนานิกายทั้ง Catholic และ Protestant อาจเป็นนโยบายผ่อนยาวอย่างนี้ก็ทำให้เมืองไทยเรารอดตัวมาได้จนทุกวันนี้

ข้าพเจ้าถูกถามปัญหาที่กลัวอยู่แล้ว พยายามนั่งแอบตัวลีบ ปัญหานี้ถือ เรื่องการใช้จ่าย เพราะว่าข้าพเจ้าออกจะเป็นข่าวเกรียวกราวระยะนี้ ในหนังสือพิมพ์ต่างประเทศและในประเทศก็เช่นเดียวกัน นักหนังสือพิมพ์ถามว่า “เสื้อผ้าของพระราชินีส่วนมากตัดที่ไหน” เพราะเขาอ่านตามหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งกล่าวว่า ข้าพเจ้าใช้เงินปีละ ๑๐ ล้านบาท สำหรับแต่งตัวอย่างเดียวไม่ใช่ของรูปพรรณอื่นๆ ข้าพเจ้าก็ตอบว่า “นั่นซี ฉันเองอ่านพบแล้วยังสะดุ้งเลย เพราะไม่นึกเลย ไม่รู้เลยว่า ตัวนี้ร่ำรวยถึงขนาดนั้น” ก็เลยตอบเขาว่า “เสื้อผ้าส่วนมากนั้นตัดในเมืองไทย ที่ตัดเมืองนอกก็เฉพาะเวลาตามเสด็จไปต่างประเทศในฐานะเป็นผู้แทนของคนไทยเท่านั้น จึงจะใช้ช่างต่างประเทศ” เขาบอกว่า “ไม่เป็นไร จะช่วยแก้ข่าวให้ ตัวเขาเองก็ไม่เชื่อเหมือนกัน เพราะว่าดูตามตัวเลขปีละ ๑๐ ล้านแล้ว รู้สึกว่าถ้าจะใช้ให้หมดในปีเดียว ๑๐ ล้านไม่ให้เหลือซักแดงเดียวละก็ จะต้องซื้อเสื้อ Fur แพงที่สุด เปลี่ยนทุกเดือน แม้แต่เสื้อใส่นอนก็ต้องปักให้เต็มพรืดไปหมด ไม่อย่างนั้นใช้ไม่หมดแน่ ๑๐ ล้านเฉพาะค่าแต่งตัว” เขาถามว่า “เมืองไทยต้อใช้ Fur หรือเปล่า” ก็บอกว่า “เมืองไทยขืนใช้ Fur ก็เหงื่อตกตายน่ะซิ” เขาบอกว่า “ถ้าอย่างนั้นจะใช้เข้าไปหมดอย่างไรปีละ ๑๐ ล้านบาท” แล้วก็หัวเราะกันอย่างสนุกสนาน

การถวายการต้อนรับที่มโหฬารที่สุดต้องยกให้ชาวนิวยอร์ค พระเจ้าอยู่หัวประทับรถเปิดหลังคา ไปตามถนนบรอดเวย์ซึ่งเป็นถนนสายสำคัญของนิวยอร์ค สมเด็จพระราชินีประทับรถปิดแต่หลังคาใส มองจากข้างนอกเห็นได้สะดวกเสด็จพระราชดำเนินตาม สองข้างทางของถนนบรอดเวย์มีประชาชนแน่นขนัด ซึ่งหนังสือพิมพ์นิวยอร์คไทมส์ นิวยอร์คเฮรัลตริบูน และอีกหลายฉบับรายงานตรงกันว่า มีราษฎรมาเฝ้าสองข้างทางถึงประมาณ ๗ แสน ๕ หมื่นคน และดูอยู่บนตึกระฟ้าทั้งสองด้านอีกทุกหน้าต่างเต็มไปหมด และทิ้งกระดาษยาวๆและลูกปาลงมาตามธรรมเนียมของชาวนิวยอร์คเวลามีแขกสำคัญมาเยี่ยม ถ้าแขกคนไหนไม่เป็นที่สนใจก็จะไม่มีใครมารับหรือทิ้งกระดาษลงมา แต่ครั้งนี้ตั้งแต่หน้าต่างบนสุดจนถึงชั้นล่างต่างก็ทิ้งร่วงพรูลงมา ส่วนชั้นล่างก็ขว้างลูกปา จนกระดาษเต็มถนนยิ่งกว่าหิมะตก

ระหว่างการเสด็จเยือนนครนิวยอร์คนี้ นอกจากพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จตึกที่สูงที่สุดในโลกแล้ว ยังทรงทำให้ชาวนิวยอร์คตื่นเต้นไปตามกันว่า ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของโลกที่เสด็จรถใต้ดินของเขา นับตั้งแต่สร้างรถใต้ดินมาเป็นเวลา ๕๖ ปี โดยเสด็จประทับตั้งแต่ถนนที่ชื่อเชมเบอร์สตรีท ถึงถนนที่ ๓๘

ส่วนเหตุการณ์ที่น่าประทับใจในการเสด็จพระราชดำเนินในครั้งนี้อีกแห่งหนึ่ง สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงนิพนธ์เกี่ยวกับการเสด็จเยอรมันตอนหนึ่งว่า

“...ในวันแรกที่เราไปถึงเมืองเยอรมัน เรารู้สึกตื่นเต้นยินดียิ่งนักที่เห็นประชาชนมาคอยต้อนรับเราอย่างล้นหลามทุกแห่งที่เราไป ต่างร้องเพลงถวายพระพรโบกมือแสดงความยินดีต่อเราจนเห็นได้ชัด ข้าพเจ้ารู้สึกแปลกใจไม่นึกว่าจะได้รับการต้อนรับอบอุ่น แสดงไมตรีจิตจนถึงขนาดนั้น เพราะเห็นว่าเยอรมันเป็นประเทศที่ร่ำรวยก้าวหน้ามากโดยเฉพาะทางเศรษฐกิจ เราทั้งสองมาจากประเทศทางตะวันออกไกลที่ไม่ร่ำรวยและไม่สำคัญอะไรนักสำหรับชาวยุโรป จึงออกจะถ่อมตัวไม่นึกว่าวันไปเมืองหลวง ราษฎรจะพร้อมใจมารับกันมากมายเป็นหมื่นเป็นแสน จนไม่มีที่ว่างเลยตามข้างถนนตลอดทางตั้งแต่สถานีไปจนถึงที่พัก ทุกคนมีใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส ร้องตะโกนถวายพระพรบ้าง ร้องว่าเมืองไทยจงเจริญบ้าง แม้เมื่อเรามาถึงที่พักซึ่งมีประชาชนมายืนคอยอยู่เป็นพันๆ ตามที่เราเดินผ่านเข้าไปในตึก พอเห็นเราก็เข้าก็ปรบมือร้องให้พรกันเกรียวกราว จนกระทั่งเราเข้าไปในที่พักแล้ว ราษฎรที่คอยอยู่ข้างนอกก็ไม่ยอมกลับ จับกลุ่มใหญ่ขึ้นทุกที เพราะพวกที่คอยรับอยู่ที่อื่นมาพลอยสมทบ แล้วยังส่งเสียงตะโกนเรียกให้เราออกไปให้เขาเห็นอีก ในที่สุดอธิบดีกรมการทูตของเยอรมันซึ่งอยู่ประจำเราตลอดเวลา ก็เข้ามาปรึกษาว่าจะโปรดให้ทำอย่างไรดี ราษฎรเป็นหมื่นๆไม่ยอมกลับบ้าน ตะโกนเรียกพระนามและยืนคอยอยู่จนกว่าจะได้เห็นพระองค์อีก พระเจ้าอยู่หัวจึงทรงตัดสินพระทัยชวนข้าพเจ้าออกไปที่เฉลียง พอราษฎรได้เห็นเราก็ปรบมือโบกมือต้อนรับกันเกรียวกราว ครั้นเราออกไปยืนยิ้มโบกมือให้เขาอยู่เป็นครู่ใหญ่ๆแล้วจึงกลับเข้ามา เขาก็ยังไม่ยอมกลับบ้าน ตะโกนเรียกให้เราออกไปอีก เราต้องเดินออกไปหาเขาถึง ๓ ครั้ง เขาจึงยอมกลับบ้าน เพราะเห็นใจว่าเราเดินทางมาไกลคงจะเหนื่อย ควรจะได้พักผ่อนเหมือนกัน”

อีกตอนหนึ่งทรงเล่าขณะจากเยอรมัน ซึ่งมีความน่าประทับใจมาก ว่า

“...เมื่อครบกำหนด ๙ วัน รัฐบาลเยอรมันก็จัดรถไฟขบวนหนึ่งเดินทางไปส่งเรากลับประเทศสวิส เมื่อรถพระที่นั่งหยุดที่สถานีสุดท้าย ซึ่งเป็นเขตแดนเยอรมันติดต่อกับสวิส เพื่อให้เจ้าหน้าที่เยอรมันบางคนที่มาประจำเราทั้งสองลากลับนั้น ที่สถานีเต็มไปด้วยผู้คน รถไฟก็จอดอยู่ ๒ ขบวนทั้งรางข้างซ้ายและขวา ผู้โดยสารต่างยื่นหน้าอันยิ้มแย้มแจ่มใสออกมาโบกมือกับเราทั้งสอง ครั้นเมื่อรถไฟพระที่นั่งเตรียมจะเคลื่อนขบวนไปเข้าเขตแดนสวิส ผู้คนทั้งหมดที่สถานีรวมทั้งเจ้าพนักงานรถไฟ เจ้าหน้าที่เยอรมันบางคนที่ประจำเราตลอด ๙ วัน ผู้โดยสารในรถไฟทุกคัน รวมทั้งประชาชนที่เผอิญอยู่ที่สถานีตอนนั้น ต่างร่วมกันร้องเพลง “Auf Wiederehm” ล่ำลาพวกเราด้วยความอาลัย ไม่ได้มีการนัดแนะกันมาก่อนเลย อยู่ๆพอรถไฟจะออกก็มีใครผู้หนึ่งเป็นต้นเสียงร้องขึ้น แล้วทุกๆคนในที่นั้นก็ร้องตาม ขบวนรถไฟพระที่นั่งแล่นช้าๆ ออกจากเขตแดนเยอรมันด้วยเสียงเพลงลาอันไพเราะเพราะพริ้ง ที่ประชาชนพร้อมใจกันร้องล่ำลาเรา ทำให้เราทั้งสองเกิดความซาบซึ้งปนกับความเศร้าและอาลัย ที่จะต้องจากประชาชนเยอรมันที่น่ารักไป ความตื้นตันทำให้คนไทยตามเสด็จมาในขบวนน้ำตาไหลไปหลายราย”

การเสด็จยุโรปและอเมริกาเป็นเวลาถึง ๖ เดือนครั้งนี้ แม้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชินีนาถ จะทรงตรากตรำพระวรกายอย่างหนัก แต่ก็ทรงทำให้ประเทศต่างๆเหล่านั้นรู้จักเมืองไทยดีขึ้น เข้าใจอะไรๆมากขึ้น และเกิดมีน้ำใจดีต่อคนไทย ตามพระราชประสงค์ทุกประการ
ทั้งสองพระองค์ในวันที่ทรงอำลาประชาชนไปเยี่ยมยุโรปและอเมริกา
ช่างภาพตั้งกล้องคอยเมื่อเสด็จถึงสนามบินกรุงวอชิงตัน
ภาพฝีพระหัตถ์ทรงถ่ายสมเด็จพระบรมราชินีนาถบนถนนหน้าที่ประทับที่นิวยอร์ค
ทรงเสด็จออกที่เฉลียงที่ประทับตามคำเรียกร้องของชาวเยอรมัน
กำลังโหลดความคิดเห็น