xs
xsm
sm
md
lg

ภูมิพล “กษัตริย์ติดดิน” พระราชาผู้ไม่ยืนค้ำหัวราษฎร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เป็นภาพชินตาพสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอดกับภาพพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จฯ ออกเยี่ยมราษฎร และปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่างๆ ทั่วประเทศรวมถึงพื้นที่ทุรกันดารไกลปืนเที่ยง พระองค์จะโน้มตัว คุกเข่า ย่อตัว ประทับลงไปกับพื้นดิน ถามไถ่ทุกข์สุขชาวบ้านอย่างเป็นกันเอง อย่างไม่ถือพระองค์ หายากยิ่งเหลือเกินที่จะมี พระเจ้าแผ่นดินผู้สูงศักดิ์ ที่ใกล้ชิดติดดินกับประชาชนขนาดนี้ ราวกับว่า ฟ้าจะคอยโอบอุ้มดินไว้อยู่เสมอ

"แม่อยากให้เธออยู่กับดิน"

"พระเจ้าอยู่หัวไม่ยอมให้ไปยืนค้ำหัวพูดกับราษฎร ถ้ายิ่งเป็นเวลานาน ท่านต้องการให้นั่งลงพูดกับเขา ข้าพเจ้าก็คลานรับประชาชนตลอดเลย เป็นกิโลฯเลย ท่านมาดูหัวเข่าข้าพเจ้าเดี๋ยวนี้สิ ดำปี๋เลย"

พระราชดำรัสของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๕ ยิ่งทำให้ภาพของพ่อหลวง “ภูมิพล” ทรงประทับลงกับพื้นดินฉายชัดขึ้นในหัวใจ เพราะแม้แต่วันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพของในหลวง ร.๙ ยังเป็นวัน “ดินโลก” (World Soil Day) สืบเนื่องมาจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับการพัฒนาที่ดินมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ปรากฏผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์อย่างกว้างขวาง ทั้งในประเทศและนานาชาติ

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ทรงเล่าถึงการตั้งพระนามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไว้ในหนังสือ "เจ้านายเล็ก ๆ ยุวกษัตริย์" ว่า สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สมเด็จย่า)เคยมีรับสั่งกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถึงความหมายของพระนาม "ภูมิพล" ไว้ว่า "อันที่จริงเธอก็ชื่อภูมิพล ที่แปลว่า กำลังของแผ่นดิน แม่อยากให้เธออยู่กับดิน"

ต่อมาภายหลัง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชปรารภถึงสิ่งที่สมเด็จย่าเคยรับสั่งว่า

"เมื่อฟังคำพูดนี้แล้วก็กลับมาคิด ซึ่งแม่ก็คงจะสอนเรา และมีจุดมุ่งหมายว่า อยากให้เราติดดิน และอยากให้ทำงานให้ทำงานแก่ประชาชน"



นั่นคือปณิธานขององค์พระมหากษัตริย์ “ภูมิพล” ที่ไม่เคยละทิ้งประชาชนตลอดระยะเวลาการครองราชสมบัติอันยาวนาน 70 ปี แม้ในยามประชวรก็ยังทรงงานตลอดเวลา พระราชหฤทัยมีแต่ความห่วงใยความเป็นอยู่ของพสกนิกร แพทย์ผู้ถวายการรักษาเคยเล่าว่า ในหลวงทรงติดตามข่าวสารความทุกข์ร้อนของประชาชนจากทุกสื่อ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ ทีวี หรืออินเทอร์เน็ต นอกจากนี้ ยังทรงทอดพระเนตรภาพถ่ายทางอากาศทุกวันด้วย

“ถ้าประชาชนไม่ทิ้งข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะทิ้งประชาชนได้อย่างไร”

กษัตริย์เป็นเพื่อนกับ “ชาวเขา”

ตอกย้ำความไม่ถือพระองค์กับภาพประวัติศาสตร์ที่บ้านห้วยผักไผ่ ต.ม่อนปิน อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ จะเห็นว่าบุคคลในภาพที่กำลังชนแก้วสุรากับในหลวง ร.9 เป็นผู้ใหญ่บ้านเผ่ามูเซอชื่อ "แสนคำลือ" โดยสุราในถ้วย เป็นสูตรพิเศษทำให้เขาแข็งเเรง เพราะใส่เขากวางอ่อน ใส่พริกไทย ๓ เม็ด ใส่กระดูกเสือไปด้วย นอกจากนี้ ผู้ใหญ่บ้านยังขอแบกพระองค์ท่านขึ้นหลังเดินขึ้นทางลาดชัน ในบริเวณหมู่บ้านอีกด้วย เป็นภาพที่เผยให้เห็นถึงพระจริยวัตรอันเรียบง่ายเข้าถึงประชาชนแม้แต่ชาวเขา พระองค์ท่านทรงก็ไม่ถือพระองค์

ดังคำบอกเล่าของ หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี หรือ "ท่านภี" ที่เคยถวายงานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ท่านภีได้ตามเสด็จ ไปในหลายๆที่ พระองค์ท่านมักเสด็จฯ ไปทอดพระเนตรชีวิตชาวดอย เช่นครั้งเมื่อแปรพระราชฐานไปเชียงใหม่เพื่อทรงตากอากาศ แต่ท่านไม่ได้ทรงพักเลย

“30 กว่าปีก่อนข้างบนภูเขา บนดอยจะมืดมน ป่าเถื่อนมาก ถนนหนทางก็ไม่มี เจ้าหน้าที่ไม่มี ชาวเขาปลูกฝิ่น ตัดต้นไม้ตามใจชอบ พระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นไป ท่านก็ไปคุยกับเค้า การเสด็จพระราชดำเนินแต่ละครั้ง พระเจ้าอยู่หัว ท่านทำพระองค์เป็นเพื่อนกับเขา เวลาชาวเขาเค้านั่งอยู่ ก็นั่งกับเค้า ชาวเขาชวนขึ้นไปบนบ้านที่คับแคบ ท่านก็ประทับ เค้าเอาเหล้าเถื่อนใส่ถ้วยสกปรกมา ถวายท่าน ผมก็เลยทูลบอกให้ท่านทำเป็นดื่ม แล้วส่งถ้วยมา แต่ท่านกินหมดเลย แล้วบอกว่าไม่เป็นไรเหล้านี้มันแรงมาก เชื้อโรคตายหมดแล้ว ท่านเป็นเพื่อนกับเค้า เวลาเค้านั่งกับพื้น ท่านก็นั่งอยู่กับพื้น



เวลาที่ในหลวง รัชกาลที่ ๙ มีพระราชปฏิสันถารกับชาวเขา ก็ จะคุยเรื่องชีวิตเค้า เค้าปลูกฝิ่นขายได้เงินเท่านั้นเท่านี้ สรุปได้ว่า คนรวยไม่ใช่คนปลูกฝิ่น แต่คือคนที่เข้าไปซื้อฝิ่น ฝิ่นต้องออกจากที่ปลูก ยิ่งไกลมากเท่าไร ราคาของมันก็ยิ่งจะสูงขึ้น เมื่อท่านทรงทราบความทุกข์ของชาวเขา ท่านก็หาหนทางช่วย โดยนำ ดอกไม้ พืช ผัก ผลไม้เมืองหนาว ขึ้นไปให้ชาวเขาปลูกบนดอย เพราะว่าของพวกนี้ ถ้าเอาลงมาขายข้างล่าง ราคาจะสูง แต่ไม่สูงถึงกับของที่สั่งเข้ามาจากเมืองนอก

ท่านก็ทรงไม่ค่อยถือพระองค์ อย่างที่ผมเล่าให้ฟัง เวลาที่ท่านเสด็จฯไปเยี่ยมชาวบ้าน ชาวบ้านจะนั่งกับพื้นดิน ถ้าท่านจะทรงทักทายใคร ก็จะประทับลงกับพื้นเช่นกัน”


เช่นเดียวกับอีกภาพประวัติศาสตร์เมื่อ ๓๕ ปีก่อน ในวันที่ ๗ กันยายน ๒๕๒๔ พระองค์ท่านทรงประทับนั่งข้างรถยนต์พระที่นั่งบนสะพานไม้ ในหมู่บ้านเจาะบากง จ.นราธิวาส ข้างพระวรกาย คือลุงพร้อม นุ่งกางเกงขาสั้น ไม่สวมรองเท้า

ในวันนั้นขณะที่ชาวบ้านเจาะบากง ซึ่งมีทั้งชาวไทยพุทธและมุสลิม กำลังทำนาอยู่ในพื้นที่ของตนเอง ได้เห็นรถยนต์ของตำรวจนำขบวนเสด็จฯ ผ่านเข้ามา โดยที่ไม่ได้มีการแจ้งกำหนดการล่วงหน้า

หลังจากนั้นพระองค์ท่านจึงเสด็จ ลงจากรถยนต์พระที่นั่ง แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปที่สะพานไม้และประทับกับลุงพร้อม เพื่อทอดพระเนตรสภาพพื้นที่บริเวณดังกล่าว หลังจากนั้นไม่นานมีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาทำการขุดคลองเชื่อมต่อคลองเจาะบากง ตามที่ลุงพร้อมได้กราบบังคมทูลขอจนพื้นที่นาและพื้นที่ทางการเกษตรมีน้ำใช้อย่างอุดมสมบูรณ์ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างที่สุด

ทว่า ภาพสุดคลาสสิคที่ขึ้นแท่นในดวงใจของชาวไทยนั้น เป็นภาพของคุณยายตุ้ม จันทนิตย์ หญิงชราวัย ๑๐๒ ปี ชาว จ.นครพนม ที่ไปรอรับเสด็จพร้อมดอกบัวสายสีชมพู จำนวน ๓ ดอก ตั้งแต่เช้าจนบ่ายแสงแดดแผดเผาจนดอกบัวสายในมือเหี่ยวโรย



วินาทีที่ในหลวง ร.๙ เสด็จมาถึง พระองค์ตรงมาที่คุณยายตุ้ม จากนั้นคุณยายตุ้มได้ยกดอกบัวสายสีชมพูอันโรยรา ๓ ดอกนั้นขึ้นจนเหนือศีรษะ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโน้มพระองค์ลงมาจนพระพักตร์ เกือบชิดกับศีรษะของคุณยายตุ้ม ทรงแย้มพระสรวลอย่างอ่อนโยน พระหัตถ์แตะมือกร้านคล้ำของคุณยายอย่างนุ่มนวล

ภาพของพ่อหลวงกับคุณยายนี้จะยังตราตรึงอยู่ในหัวใจประชาชนชาวไทยไปตราบนานเท่านาน

พระเจ้าแผ่นดินใช้ชีวิตเยี่ยงสามัญชน

นอกจากเป็นกษัตริย์ติดดินแล้ว พระองค์ท่านยังเป็นเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน ที่ไม่ติดหรู ไม่สนพระทัยแบรนด์เนม ใช้ชีวิตเยี่ยงสามัญชน ดั่งที่ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงให้สัมภาษณ์ถึงความไม่สนพระทัยเรื่องการแต่งพระองค์ เพราะสนพระทัยแต่ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนมากกว่า

"เวลาท่านทำอะไร ท่านก็ทำเองหมดเลย อย่างจะเสด็จฯไปยังภาคใต้นี่ ท่านก็แพ็กของเอง ในการแต่งพระองค์ก็ไม่สนพระทัยเลย ขำ เมื่อตอนท่านหนุ่มๆบอกว่าท่านดัดผม (ทรงพระสรวล) ในหลวงดัดผม ที่แท้แม้แต่จะส่องกระจกนานๆก็ไม่ส่อง ไม่สนพระทัย

แล้วก็อย่างกระดุม กระดุมของรัชกาลที่ ๕ ที่ทรงใส่ ๕ เม็ดนี่ สวย เป็นไพลิน งามๆ ทั้งนั้น ฉันเอามาให้ท่านไว้ใส่ ท่านก็ไม่ชอบใช้ นาฬิกา ซื้อถวายเมื่อวันเฉลิมฯ ซื้อเป็นเรือนทอง ท่านก็ไม่ชอบ เพราะท่านบอกว่า “ต้องแกะเข้าแกะออก ฉันไม่ชอบ ชอบเวลาล้างมืออะไรมันได้ทั้งนั้น” ตกลงเสด็จฯออกสเตทวิสิท (การเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศอย่างเป็นทางการ) ก็นาฬิกาเหล็กนั่น เสด็จลงเรือใบก็นาฬิกาเหล็กเรือนนั้น


ที่แปลก คือเรื่องเสวยนี่ จะเย็นจะร้อน ท่านไม่สนพระทัยเลย เอามาตั้งนี่ ไม่เคยขอเลย เติมน้ำปลา ไม่เคยเลย นี่มหาดเล็กที่อยู่นี่ทราบเป็นพยานได้เลย ท่านไม่เอา ไม่สนพระทัยเลย”

ฉลองพระบาทคู่ละ ๓๐๐ ฉลองพระองค์ใช้จนเปื่อยซีด

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระอุปนิสัยที่ข้าราชบริวารและข้าราชการที่ใกล้ชิดทราบกันดีว่า ทรงประหยัด ซึ่งเป็นพระอุปนิสัยที่ติดพระองค์มาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชินีนาถ ทรงฝึกให้พระราชโอรสและพระราชธิดา รู้จักวิธีการประหยัด อดออม ตั้งกระป๋องออมสินไว้กลางที่ประทับ ทรงเรียกว่า กระป๋องคนจน เมื่อถึงสิ้นเดือนจะทรงประชุมทั้ง 3 พระองค์ว่า จะนำเงินก้อนนี้ไปทำประโยชน์อย่างไร หรือทำกิจกรรมเพื่อคนยากจนอย่างไร

สำหรับผู้ที่ติดตามข่าวในพระราชสำนัก หรือจากสารคดีเฉลิมพระเกียรติก็จะเห็นบ่อยครั้งและอาจสงสัยว่า ทำไมพระเจ้าแผ่นดินทรงใช้ดินสอที่เหลือสั้นกุดนิดเดียว ใครจะนำไปทิ้งไม่ได้ เพราะจะทรงกริ้วอย่างมาก แม้แต่หลอดยาสีพระทนต์ก็ทรงใช้จนหมดหลอดรีดเสียแบนราบ

สำหรับฉลองพระองค์สูท ถ้าสังเกตให้ดีก็จะเห็นว่า จะทรงสูทองค์เดิมให้เห็นซ้ำอยู่บ่อยๆ แม้ว่าจะเสด็จฯในต่างสถานที่ต่างเวลา ทรงประหยัด ใช้สิ่งของอย่างคุ้มค่า

ส่วนนาฬิกาที่ทรงใช้นั้น แม้จะมีผู้ทูลเกล้าฯ ถวายนาฬิกายี่ห้อดัง ราคาแพง ก็ไม่ได้ทรงใช้ ทรงใช้นาฬิกา ธรรมดาที่ประชาชนทั่วไปใช้กันอยู่ ทรงมีนาฬิกาเพื่อใช้บอกเวลา ไม่ได้ทรงใช้เพื่อการอื่น มักจะรับสั่งว่า ฉันใส่นาฬิกายี่ห้อ “ใส่แล้วโก้”



ตามถ้อยคำที่ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เคยเล่าไว้ถึงความประหยัด และความพอเพียงของในหลวง ร.9ไว้ว่า

“ครั้งหนึ่ง ผมพยายามจะแอบดูว่าพระองค์ท่านใส่นาฬิกายี่ห้ออะไร จนพระองค์ท่านรู้สึกได้ว่าผมพยายามอยากจะดูยี่ห้อ
ท่านจึงยื่นข้อพระหัตถ์มาให้ดูตรงหน้า จึงทราบว่าพระองค์ ท่านใส่นาฬิการาคาเพียงเรือนละ ๗๕๐ บาทเท่านั้น ซึ่งก็เดินตรงเหมือนกันกับนาฬิกาเรือนแพง แม้กระทั่งฉลองพระองค์ก็ทรงมีไม่กี่ชุด ทรงใช้จนเปื่อยซีด”

นอกจากนี้ ดร.สุเมธ ยังเล่าถึงฉลองพระบาทของในหลวง ร.9 ที่หลายคงหากทราบถึงราคาคงจะตกใจ เพราะคู่ละ ๓๐๐ - ๔๐๐ บาทเท่านั้น อีกทั้งฉลองพระบาทของพระองค์ ยังถูกนำส่งไปซ่อมแล้วซ่อมอีกที่ร้านเล็กๆใกล้วัง

“ขณะที่ข้าราชบริพารใส่รองเท้าคู่ละ ๓,๐๐๐ - ๔,๐๐๐ บาท แต่เวลาพระองค์ทรงออกเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ห่างไกล ที่สุดแล้ว ข้าราชบริพารก็เดินตามพระองค์ไม่ทันอยู่ดี .. ”

พระองค์ท่าน มักจะตรัสถึงสาเหตุที่ไม่จำเป็นต้องมีฉลองพระบาทมากมาย

“ เวลาเดิน คนเราใส่รองเท้าได้คู่เดียว ”






มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น