xs
xsm
sm
md
lg

ญี่ปุ่นเตรียมทบทวนสิทธิประโยชน์ด้านภาษีของไทยและ 5 ประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

โรงงาน ฮอนดา ในไทย เป็นฐานการผลิตใหญ่ในเอเชีย
ญี่ปุ่นจะพิจารณาถอดถอนสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีแก่ 5 ประเทศ ซึ่งมีแนวโน้มการพัฒนาเศรษฐกิจที่ดี ได้แก่ ไทย จีน มาเลเซีย เม็กซิโก และ บราซิล แต่ประเทศไทยยังคงสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีจากความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย - ญี่ปุ่น หรือ JTEPA

สำนักข่าวบีบีซี ภาคภาษาไทย รายงานว่า รัฐบาลญี่ปุ่นเตรียมพิจารณาถอดถอน 5 ประเทศ ในทวีปเอเชีย และอเมริกา ออกจากกลุ่มประเทศที่ได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีจากรัฐบาลญี่ปุ่นภายในปีงบประมาณ 2562 โดยปัจจุบันมี 143 ประเทศทั่วโลกที่ได้รับประโยชน์จากมาตรการด้านสิทธิประโยชน์จากรัฐบาลญี่ปุ่น ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่กำลังพัฒนา หรือประเทศที่มีรายได้ต่ำ โดยจะได้รับการผ่อนผัน หรือลดภาษีนำเข้าแก่อุตสาหกรรมบางประเภท

ประเทศที่กำลังจะถูกถอดถอนสิทธิประโยชน์ด้านภาษีจากรัฐบาลญี่ปุ่น ได้แก่ ประเทศที่ธนาคารโลกจัดให้อยู่ในกลุ่มรายได้สูงติดต่อกัน 3 ปี หรือประเทศที่มีแนวโน้มด้านเศรษฐกิจพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง และประเทศที่มีส่วนแบ่งในตลาดสินค้าส่งออกของโลกมากกว่า 1%

ที่ผ่านมา ไทย จีน มาเลเซีย เม็กซิโก และ บราซิล ได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีจากญี่ปุ่น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมน้ำหอมและธุรกิจส่งออกสารเคมี สำหรับผลิตสินค้าพลาสติกของจีน และกระทรวงการคลังของญี่ปุ่น ระบุว่า การพิจารณาถอดถอนสิทธิประโยชน์ดังกล่าวจะใช้เวลาในการเปลี่ยนผ่านอย่างน้อย 2 ปี เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบแบบฉับพลัน

อาร์เจนตินา และ ชิลี อาจเป็นประเทศที่จะถูกรัฐบาลญี่ปุ่นถอดถอนสิทธิประโยชน์ด้านภาษีเป็นอันดับต่อไป เนื่องจากเป็นประเทศที่มีแนวโน้มว่าระบบเศรษฐกิจจะพัฒนาต่อเนื่องขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ อินเดีย อินโดนีเซีย และ เวียดนาม จะยังได้รับสิทธิประโยชน์ดังกล่าวต่อไป
รัฐบาลไทย-ญี่ปุ่นลงนามข้อตกลง JTEPA ครอบคลุมสิทธิประโยชน์ทั้งด้านภาษีส่งออก, ภาคยริการ และการเคลื่อนย้ายบุคลากร
ไทยยังได้สิทธิประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรีไทย - ญี่ปุ่น

การยกเลิกสิทธิพิเศษด้านภาษีตามรายงานข่าวสำนักข่าวตะวันตกนั้น เป็นลักษณะเดียวกับที่สหภาพยุโรปตัดสิทธิ์ GSP กับประเทศไทย ก่อนหน้านี้ ซึ่งสะท้อนพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป และไม่มีนัยยะทางการเมืองใดๆ

ทั้งนี้ ข้อมูลจากกระทรงพาณิชย์ ระบุว่า ไทยยังได้รับสิทธิพิเศษจากความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย - ญี่ปุ่น หรือ JTEPA ซึ่งรัฐบาลไทยและญี่ปุ่นลงนามร่วมกันตั้งแต่ปี 2550 ข้อตกลงนี้มีความครอบคลุมมากกว่าสิทธิภาษีที่รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังจะพิจารณายกเลิกตามข่าว

ข้อตกลง JTEPA ไม่เพียงมีการยกเลิกภาษีสำหรับสินค้าเกษตร ผลไม้ และอาหารทะเล, สินค้าอุตสาหรรมกลุ่มอัญมณี สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เคมีภัณฑ์ แต่ยังรวมทั้งการเปิดเสรีภาคบริการ คนไทยสามารถไปทำงาน หรือจัดตั้งธุรกิจในญี่ปุ่นได้ง่ายขึ้น ญี่ปุ่นยอมลดเงื่อนไขการเข้าเมืองเรื่องประสบการณ์ของพ่อครัว - แม่ครัวไทย ซึ่งไม่ต้องจบปริญญาตรี จาก 10 ปี เหลือ 5 ปี

รายงานจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ระบุว่า บริษัทไทยส่งออกสินค้าไปญี่ปุ่นโดยใช้สิทธิประโยชน์จาก JTEPA สูงถึง 55.9% โดยอัตราการใช้สิทธิประโยชน์อยู่ในระดับสูงมากในอุตสาหกรรมเครื่องประดับ (95.7%) เครื่องนุ่งห่ม (71.2%) อาหาร (65.6%) และสิ่งทอ (64.5%).
กำลังโหลดความคิดเห็น