รอยเตอร์ - รัฐบาลสหรัฐฯ ตัดสินใจระงับการขอให้สภาคองเกรสให้สัตยาบันต่อความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership - TPP) ผลงานด้านเศรษฐกิจชิ้นโบแดงของประธานาธิบดีบารัค โอบามา โดยจะฝากอนาคตเรื่องนี้ให้รัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของ โดนัลด์ ทรัมป์ และพรรครีพับลิกันเป็นผู้ตัดสินใจ
เจ้าหน้าที่รัฐบาลอเมริกันแถลงวานนี้ (11 พ.ย.) ว่าประธานาธิบดีโอบามาจะพยายามอธิบายสถานการณ์ที่เกิดขึ้นให้ผู้นำ 11 ชาติที่เป็นหุ้นส่วนทีพีพีเข้าใจ ระหว่างเดินทางไปประชุมผู้นำกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ที่เปรูในสัปดาห์หน้า
เลขาธิการคณะรัฐมนตรีของโอบามา และสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ใช้ความพยายามตลอดหลายเดือนที่ผ่านมาเพื่อโน้มน้าวให้สภาคองเกรสยอมให้สัตยาบันต่อข้อตกลงทีพีพี ซึ่งมุ่งขจัดอุปสรรคด้านการค้าและการลงทุนในกลุ่ม 12 ประเทศริมฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมกันเกือบ 40% ของโลก
อย่างไรก็ตาม ความหวังของโอบามาก็มีอันต้องดับวูบลงเมื่อผลเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ออกมาว่าอเมริกากำลังจะมีผู้นำคนใหม่ชื่อ โดนัลด์ ทรัมป์ และมิหนำซ้ำพรรครีพับลิกันยังสามารถครองเสียงข้างมากในสภาคองเกรสได้อีกด้วย
“เราได้ทำงานร่วมกับสภาคองเกรสอย่างใกล้ชิดเพื่อขจัดอุปสรรคสำคัญๆ และพร้อมที่จะก้าวต่อไป แต่นี่เป็นเรื่องของกฎหมาย และทุกอย่างจะต้องขึ้นอยู่กับผู้นำคองเกรสว่าจะตัดสินใจอย่างไรและเมื่อไหร่” แม็ตต์ แม็คอัลวานาห์ โฆษกสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ระบุในคำแถลง
มิตช์ แม็กคอนเนลล์ ผู้นำ ส.ว.รีพับลิกันเสียงข้างมาก กล่าวเมื่อวันพุธ (9) ว่าตนจะไม่รับพิจารณาเรื่องทีพีพีจนกว่า ทรัมป์ จะสาบานตนเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ และทุกอย่างให้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ ทรัมป์ ขณะที่ พอล ไรอัน ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ก็ยืนยันเช่นกันว่า จะไม่เดินเรื่องโหวตทีพีพีตามคำขอของ “รัฐบาลเป็ดง่อย”
การคัดค้านทีพีพีเป็นนโยบายสำคัญที่ ทรัมป์ ประกาศไว้ในช่วงหาเสียง โดยเขาเรียกมันว่าเป็น “หายนะ” และ “การข่มขืนประเทศชาติ” ซึ่งจะทำให้ชาวอเมริกันจำนวนมากต้องตกงาน คำมั่นสัญญาที่ว่าจะต่อต้านเขตการค้าเสรี รวมถึงสกัดสินค้าราคาถูกจากจีนและเม็กซิโกที่ถูกส่งเข้ามาทุ่มตลาดในสหรัฐฯ ทำให้ ทรัมป์ ได้แรงเชียร์มหาศาลจากบรรดากรรมกรในรัฐใหญ่ๆ เช่น โอไฮโอ มิชิแกน วิสคอนซิน และเพนซิลเวเนีย
มหาเศรษฐีวัย 70 ปีเคยให้สัญญาว่านำสหรัฐฯ ถอนตัวออกจากทีพีพี, รื้อฟื้นการเจรจาเงื่อนไขข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (นาฟตา) และจะแสดงจุดยืนด้านการค้าที่แข็งกร้าวยิ่งขึ้นกับจีน
ข้อตกลงทีพีพีซึ่งใช้เวลาเจรจานานกว่า 5 ปี และเพิ่งจะลงนามกันไปเมื่อเดือน ต.ค.ปี 2015 มีวัตถุประสงค์เพื่อลดอุปสรรคด้านการค้าและการลงทุน ตลอดจนกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับพันธมิตรในแปซิฟิกเพื่อสกัดอิทธิพลของจีน
วัลลีย์ อาเดเยโม รองที่ปรึกษาด้านความมั่นคงภายในของทำเนียบขาว ให้สัมภาษณ์วานนี้ (11) ว่า โอบามา จะแจ้งให้หุ้นส่วนทีพีพีทั้งหลายทราบว่าสหรัฐฯ ยังพร้อมที่จะมีบทบาทในเอเชีย และเชื่อมั่นว่าข้อตกลงลักษณะนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการค้าระหว่างประเทศ
“ในส่วนของทีพีพีนั้น ส.ว.แม็กคอนเนลล์ ได้กล่าวแล้วว่าเป็นสิ่งที่จะต้องปรึกษาหารือกับประธานาธิบดีคนใหม่ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป... แต่เรายังเชื่อว่าข้อตกลงลักษณะนี้มีความจำเป็น และเหตุผลง่ายๆ ก็คือ จีนจะไม่หยุดทำข้อตกลงกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอย่างแน่นอน” อาเดเยโมกล่าว