xs
xsm
sm
md
lg

Focus : สื่ออังกฤษวิเคราะห์ สิ่งที่จะเกิดกับเอเชียแปซิฟิกเมื่ออเมริกาได้ “โดนัลด์ ทรัมป์” เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์/MGR ออนไลน์ - นับตั้งแต่จีนไปถึงญี่ปุ่นและอินเดีย รวมไปถึงประเทศในแถบเอเชียแปซิฟิกผู้นำประเทศเหล่านี้ต่างต้องเผชิญหน้ากับการจับตาอย่างใกล้ชิดถึงผู้นำคนใหม่ของอเมริกา “โดนัลด์ ทรัมป์” ว่าจะนำการเปลี่ยนแปลงมาสู่ภูมิภาคได้อย่างไร และล่าสุดนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ชินโซ อาเบะ ถึงกับนั่งไม่ติด และมีกำหนดบินด่วนไปวอชิงตันในสัปดาห์หน้า โดยนิก บิสลีย์ (Nick Bisley) ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยลา โทรบ (La Trobe) ในเมืองเมลเบิร์น ออสเตรเลีย ได้เปิดเผยกับสื่ออังกฤษ เดอะการ์เดียนว่า “คาดว่าน่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาลเกิดขึ้น ว่าจะเป็นการสิ้นสุดของยุคอเมริกาแบบเก่า แต่เราไม่แน่ใจว่าสิ่งใดที่กำลังจะเกิดขึ้นหลังจากนี้ไปแล้ว…”

หนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียน สื่ออังกฤษรายงานวันนี้ (10 พ.ย.) ว่า ชัยชนะการเลือกตั้งของโดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกันในวันอังคาร (8) แบบช็อกโลกจะสร้างความเปลี่ยนแปลงแบบเปลี่ยนโครงสร้างต่อภูมิศาสตร์ทางการเมืองในเอเชีย ที่ครั้งหนึ่งประธานาธิบดัสหรัฐฯ บารัค โอบามา จากพรรคเดโมแครตได้พยายามใช้ยุทธศาสตร์ “ปักหมุดเอเชีย” เพื่อถ่วงดุลการขยายอำนาจของจีนในแถบเอเชียแปซิฟิก

หลายฝ่ายเชื่อว่า การบริหารรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้ทรัมป์อาจเป็นอุปสรรคครั้งใหญ่ที่สุดต่อความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ชาติพันธมิตรสำคัญในเอเชียแปซิฟิกของสหรัฐฯ คือ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2

ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ในทั่วทั้งภูมิภาคต่างจับตาอย่างใกล้ชิดถึงความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยนิก บิสลีย์ (Nick Bisley) ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยลา โทรบ (La Trobe) เมืองเมลเบิร์น ออสเตรเลีย ได้เปิดเผยกับสื่ออังกฤษ เดอะการ์เดียนว่า “คาดว่าน่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาลเกิดขึ้น ว่าจะเป็นการสิ้นสุดของยุคอเมริกาแบบเก่า แต่เราไม่แน่ใจว่าสิ่งใดที่กำลังจะเกิดขึ้นหลังจากนี้ไปแล้ว…”

โดยโธรบกล่าวต่อไปว่า “และผมคิดว่า สิ่งนี้น่าจะเป็นจริงในเอเชีย เพราะเป็นย่านที่จะได้เห็นถึงอิทธิพลของอเมริกาถูกท้าทายอย่างเห็นได้ชัด ทั้งทางด้านการเมือง และเศรษฐกิจ จากการผงาดขึ้นมาของจีน” นอกจากนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากออสเตรเลียยังกล่าวต่อว่า “และไม่ดูเหมือนว่าทรัมป์จะสนใจคงให้การปกป้องต่อหลักการของสหรัฐฯในเอเชีย ที่ต้องการถือหุ้นส่วนใหญ่ไว้ในมือเพื่อสร้างยุทธศาสตร์ความสมดุลในภูมิภาคให้เกิดขึ้น” และดูเหมือนโธบชี้ว่า “ต่อแต่นี้ไปจะมีแต่ความสนใจในผลประโยชน์ของสหรัฐฯเท่านั้นว่าจะเกิดขึ้นได้อย่างไร”

***จีน***

ในแคมเปญหาเสียงของทรัมป์ เจ้าพ่ออสังหาริมทรัพย์อเมริกันได้ออกมาประกาศหลายครั้งว่า เขาจะมีนโยบายที่แข็งกร้าวตอบโต้จีน พร้อมยังได้เคยกล่าวหาจีน โดยอ้างว่าจีนได้ทำการข่มขืนเศรษฐกิจอเมริกา นอกจากนี้ทรัมป์ยังประกาศว่า เขาจะเดินหน้าออกกฎหมายกำหนดภาษีรีดสินค้านำเข้าจากจีนให้หนัก และในขณะเดียวกันยังข่มขู่ที่จะสั่งถอนกำลังทหารอเมริกันที่ถูกส่งไปประจำประเทศซึ่งเป็นคู่อริของแดนมังกร ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ สื่ออังกฤษรายงาน

แต่ทว่า บอนนี เกลเซอร์ (Bonnie Glaser)ผู้อำนวยการโปรเจกต์มหาอำนาจจีน (the China Power Project) ประจำศูนย์การศึกษายุทธศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ CSIS (the Center for Strategic and International Studies) สถาบันธิงแทงก์ที่มีฐานในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ได้ให้ความเห็นว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ให้ความสำคัญน้อยมากต่อนโยบายในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และทำให้การคาดการณ์ใดๆที่จะเกิดขึ้นนั้นเกือบเป็นไปไม่ได้

“ในปัญหาเกี่ยวกับน่านน้ำทะเลจีนใต้ ทรัมป์ได้กล่าวถึงน้อยมาก และในประเด็นเกี่ยวกับความมั่นคงทางไซเบอร์ซีคิวริตี ผมไม่เคยได้ยินทรัมป์กล่าวถึง และสำหรับเกาหลีเหนือ ใครจะรู้ไปรูได้ในเรื่องนี้” เกลเซอร์กล่าว และเสริมต่อว่า “ซึ่งในประเด็นเหล่านี้โดนัลด์ ทรัมป์ไม่กล่าวถึงเลย”

ด้านจอห์น เดลัลรี (John Delury) ผู้เชี่ยวชาญความสัมพันธ์สหรัฐฯและจีนประจำมหาวิทยาลัยยอนเซ( Yonsei University) กรุงโซล ได้ออกมาให้ความเห็นถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่เพิ่งสิ้นสุดไปว่า ดูเหมือนภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกต่างชะล่าใจต่อความน่าจะเป็นที่โดนัลด์ ทรัมป์ จะชนะการเลือกตั้ง “เอเชียต่างคาดหวังกันว่าฮิลารี คลินตันจะชนะการเลือกตั้ง” และเสริมต่อว่า “สำหรับโดนัลด์ ทรัมป์นั้น เป็นเสมือนเครื่องหมายคำถามขนาดใหญ่ที่เอเชียไม่รู้เลยว่ากำลังต่อรองอยู่กับใคร ชายผู้นี้เป็นใคร และเขาจะมีนโยบายต่างประเทศออกมาอย่างไร และใครที่เขาจะเลือกใช้”

แต่อย่างไรก็ตาม เดอะการ์เดียนรายงานว่า มีหลายฝ่ายเชื่อว่า การขึ้นมาของทรัมป์ทำให้แกนนำพรรคคอมมิวนิสต์ของปักกิ่งต่างโล่งใจ ในการที่ต้องเผชิญหน้าและต่อรองกับทรัมป์ที่จะเข้ามาบริหารในห้องรูปไข่ของทำเนียบขาว โดยเกลเซอร์ชี้ว่า “ไม่ดูเหมือนว่าคนเหล่านี้จะตกใจต่อการเข้ามาดำรงตำแหน่งในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐฯของโดนัลด์ ทรัมป์” และกล่าวต่ออีกว่า “ความหวังของเจ้าหน้าที่จีนที่ได้สร้างไว้คือ ทรัมป์อาจจะเป็นใครบางคนที่ทางปักกิ่งสามารถพูดคุยด้วยได้ และในฐานะที่เขาเป็นนักธุรกิจ ทุกสิ่งล้วนเป็นดีล และชายผู้นี้อาจทำให้เรื่องต่างๆ ง่ายเข้าเพื่อทำให้เกิดข้อตกลงที่ดีได้ในบางประเด็น ซึ่งผมคิดว่าพวกเขากำลังจะพยายามทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น”

ด้าน เดลัลรี ผู้แต่งหนังสือความมั่งคั่งและอำนาจ : การเดินทัพทางไกลของจีนมาจนถึงศตวรรษที่ 21 (Wealth and Power : China’s Long March to the Twenty-First Century)ได้เปิดเผยว่า จีนได้เดินหน้าไปแล้วสำหรับชัยชนะของคลินตันในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ “และดังนั้นได้เริ่มเตรียมความพร้อมรับกับนโยบายที่แข็งกร้าวมากขึ้นจากรัฐบาลของเธอ”

ดูเหมือนเดลัลรีได้มีความเห็นสอดคล้องกับเกลเซอร์ที่ว่า “ดังนั้นจึงอาจมีความโล่งใจเกิดขึ้นที่คนเหล่านั้นไม่ต้องเผชิญหน้ากับผู้นำทางด้านนโยบายต่างประเทศที่ยากจะเอาชนะในรัฐบาลของฮิลลารี คลินตัน ซึ่งอาจจะดูเหมือนมีความคาดหวังบางอย่างเกิดขึ้น ถึงแม้จีนอาจจะรู้สึกต่อต้านกับวาทะทางการเมืองของโดนัลด์ ทรัมป์ แต่ทว่าสำหรับคนเหล่านี้แล้ว ทรัมป์เป็นมือสมัครเล่นทางด้านนโยบายระหว่างประเทศ และดูเหมือนทรัมป์จะเป็นพวกหัวเดียวกระเทียมลีบที่ทางปักกิ่งมองว่านี่เป็นโอกาสอันดีที่จะสามารถคงความแข็งแกร่งในบทบาทของจีนในภูมิภาคนี้ได้ต่อไป”

และที่สำคัญ ผู้เชี่ยวชาญความสัมพันธ์สหรัฐฯ และจีนประจำมหาวิทยาลัยยอนเซได้ชี้ว่า เขาเชื่อว่าโดนัลด์ ทรัมป์จะเลือกที่จะไม่สนับสนุนข้อตกลงการค้าเสรีข้ามแปซิฟิก TPP ซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์หลักในรัฐบาลของโอบามาที่ใช้ในการปักหมุดเอเชียเพื่อคงอำนาจสหรัฐฯในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกต่อไป

“ถือเป็นสิ่งที่ดีสำหรับจีน…เพราะถือเป็นก้าวไปสู่ยุคที่มี “โลกที่มีจีนเป็นศูนย์กลาง” ( Sinocentric order) สำหรับเอเชีย” เดลัลรีให้ความเห็น

แต่ถ้าหากจีนสามารถนิ่งในการที่ต้องต่อรองกับประธานาธิบดีทรัมป์ ผู้เชี่ยวชาญจำนวนหนึ่งเชื่อว่า ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคจะรู้สึกมีความหวังน้อยลง ซึ่งทางเกลเซอร์ได้โต้ต่อคำกล่าวที่ว่า ทรัมป์จะถอนสหรัฐฯ ออกจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกโดยสิ้นเชิงหลังจากที่เขาได้เข้ารับตำแหน่งแล้ว “สหรัฐฯ จะไม่ถอนออกไปจากภูมิภาคเอเชียโดยสิ้นเชิง และยอมยกภูมิภาคนี้ให้กับจีนอย่างแน่นอน ดังนั้นจุดใดบ้างที่ทรัมป์จะต้องใช้ไม้แข็ง และจุดใดที่เขาจะยอมประนีประนอม ซึ่งผมไม่อาจรู้ได้เลย”

***ญี่ปุ่นและคาบสมุทรเกาหลี***

ในขณะที่ทางเจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นต่างระวังถึงการที่ต้องให้ความเห็นต่อประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนถัดไป แต่ทว่าเจ้าพ่ออสังหาริมทรัพย์อเมริกันได้เคยออกมาประกาศว่า เขาต้องการที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ต่อความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงที่มีมาอย่างยาวนานระหว่างทั้ง 2 ชาตินานกว่า 60 ปี

ท่ามกลางการแสดงแสนยานุภาพทางการทหารของจีนในน่านน้ำทะเลจีนใต้ และความบ้าระห่ำของเกาหลีเหนือในการไม่หยุดการทดลองอาวุธนิวเคลียร์และการพัฒนาขีปนาวุธ ดูเหมือนว่าชัยชนะของฮิลลารี คลินตันจะเป็นสิ่งเดียวที่ทางโตเกียวสามารถใช้เป็นหลักประกันที่ว่าในความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงที่จะไม่มีการเปลี่ยนแปลง

แต่ทว่าในการประกาศของทรัมป์ไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้ ทรัมป์ได้ประกาศชัดถึงนโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน” (America first) ที่อาจหมายความว่าเขาจำต้องถอนทหารกองกำลังสหรัฐฯ ร่วม 47,000 นายออกจากญี่ปุ่น และอีก 28,500 นายที่อยู่ประจำในเกาหลีใต้

โดยในแถลงการณ์ ทรัมป์ได้ประกาศว่า ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้อาศัยประโยชน์ทางด้านนโยบายความมั่นคงจากอเมริกามาระยะเวลานานจนเกินไป ได้รับการปกป้องจากองกำลังทหารสหรัฐฯ จำนวนมหาศาล และรวมไปถึงยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัย แต่ทว่าประเทศเหล่านี้กลับช่วยสนับสนุนน้อยมากด้านการเงินเพื่อการบำรุงรักษาสิ่งเหล่านี้

“หากมีใครสักคนโจมตีญี่ปุ่น อเมริกาจำเป็นต้องออกไปช่วยทันที และเริ่มสงครามโลกครั้งที่ 3 ใช่ไหม? แต่หากเป็นว่า สหรัฐฯถูกโจมตีบ้าง แต่ญี่ปุ่นไม่จำเป็นต้องช่วยเหลือเรา” โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศกลางเวทีปราศรัยในปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ โคอิชิ นากาโนะ (Koichi Nakano) ศาสตราจารย์ทางด้านการเมืองประจำมหาวิทยาลัยโซเฟีย (Sophia University) กรุงโตเกียว ได้ให้ความเห็นกับเดอะการ์เดียนว่า “เราไม่ทราบเลยว่าโดนัลด์ ทรัมป์จะกระทำเหมือนอย่างที่เขาได้เคยกล่าวไว้หรือไม่ถึงปัญหาด้านความมั่นคงกับญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ หรือจะยอมไปตามสิ่งที่ได้เกิดขึ้นแล้ว”

สื่ออังกฤษรายงานต่อว่า ในกรณีที่ร้ายแรงที่สุดคือการที่สหรัฐฯได้ถอนกำลังทั้งหมดออกจากภูมิภาค ที่จะทำให้จีนขยายอิทธิพลอำนาจในภูมิภาคมากขึ้น และทำการข่มขู่ญี่ปุ่นด้วยกำลังทหาร นากาโนะให้ความเห็น และกล่าวต่อว่า “แต่ก็เป็นไปได้ว่า ทรัมป์อาจหมดความสนใจหลังจากเขาได้อยู่ในอำนาจผู้นำสูงสุดของสหรัฐฯไปแล้ว…ซึ่งเรารู้ว่าผู้นำคนใหม่ของสหรัฐฯไม่มีความสนใจในนโยบายต่างประเทศมากนัก และดังนั้นจึงเป็นไปได้ที่ทรัมป์จะปลีกตัวออกห่างจากเรื่องความมั่นคง และปล่อยให้สิ่งเหล่านี้ถูกคนวงในพรรครีพับลิกันจัดการ”

เดอะการ์เดียนรายงานต่อว่า สำหรับข้อกล่าวหาของทรัมป์ต่อการที่ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ที่ได้รับอานิสงค์จากการได้รับบริการความคุ้มครองทางการทหารโดยแทบไม่เสียค่าตอบแทนนั้น สื่ออังกฤษรายงานว่า ทั้งโตเกียวและโซลต้องจ่ายเงินจำนวนมหาศาลเพื่อจะทำให้กองกำลังสหรัฐฯนั้นยังคงอยู่ในประเทศเหล่านี้ต่อไป

ในการที่จะทำให้กองกำลังสหรัฐฯยังคงประจำอยู่ในญี่ปุ่น พบว่าทางโตเกียวต้องจ่าย 192 พันล้านเยน(1.84 พันล้านดอลลาร์)ต่อปี ซึ่งจากข้อมูลของเพนตากอนพบว่า ฐานทัพสหรัฐฯในญี่ปุ่นนั้นมีค่าใช้จ่าย 5.5 พันล้านดอลลาร์ต่อปี ส่วนเกาหลีใต้ ต้องยอมจ่าย 850 ล้านดอลลาร์ต่อปีเพื่อคงกองกำลังสหรัฐฯไว้

ซึ่งภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีโอบามา ทั้งสองชาติได้เพิ่มบทบาทมากขึ้นในด้านความสัมพันธ์ทางความมั่นคง ด้านสำนักข่าวยอนฮับของเกาหลีใต้ได้รายงานว่า เมื่อวานนี้ (9 พ.ย.) สภาความมั่นคงแห่งชาติเกาหลีใต้มีกำหนดจะประชุมปรึกษาหารือถึงผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ แต่อย่างไรก็ตาม มาร์ก ลิปเปิร์ต (Mark Lippert) เอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำเกาหลีใต้ได้ออกมายืนยันว่า ความสัมพันธ์ทางด้านความมั่นคงระหว่างทั้งเกาหลีใต้และสหรัฐฯจะยังคงไม่เปลี่ยนแปลง

สื่ออังกฤษรายงานต่อว่า ความเห็นของทรัมป์ที่สั่นสะเทือนญี่ปุ่นและคาบสมุทรเกาหลีเกิดขึ้นในเดือนเมษายน ต้นปีนี้ เมื่อเขาให้สัมภาษณ์กับคริส วอลเลส (Chris Wallace) ทางสถานีฟ็อกซ์นิวส์ว่า ถึงเวลาแล้วที่ทั้ง 2 ประเทศจะต้องเลิกพึ่งพาสหรัฐฯ และเริ่มต้นพัฒนาโครงการอาวุธนิวเคลียร์ของตนเองเพื่อปกป้องประเทศ และทำให้ในขณะนั้นมีผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากต่างออกมาให้ความเห็นในแนวทางที่สอดคล้องกันว่า จะเป็นเสมือนระเบิดเวลาเร่งให้ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีการแข่งขันการสะสมอาวุธ และจะทำให้เกิดความตรึงเครียดเพิ่มมากขึ้นในภูมิภาค

***เกาหลีเหนือ***

เดอะการ์เดียนรายงานว่า เจ้าพ่ออสังหาริมทรัพย์อเมริกันได้เคยออกปากว่า เขาต้องการพบกับผู้นำเผด็จการเกาหลีเหนือ ประธานาธิบดีคิม จองอึน เพื่อหาทางออกโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของเปียงยาง ซึ่งสร้างเสียงตอบรับจากกลุ่มที่ออกมาประณามว่าโยบายคว่ำบาตรและโดดเดี่ยวเกาหลีเหนือของโอบามาล้มเหลว แต่ทว่าดูเหมือนเปียงยางจะไม่จริงจังกับคำประกาศของทรัมป์ โดยออกมาโต้ว่าเป็นเพียงแค่วาทะทางการเมืองเพื่อการเลือกตั้งเท่านั้น

***ฟิลิปปินส์ และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้***

ในช่วงระหว่างการอยู่ในตำแหน่งของโอบามาจากพรรคเดโมแครต เขาให้ความสำคัญกับประเทศมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และอินโดนีเซียอย่างมาก แต่ทว่าการไม่มีนโยบายที่แน่นอนในการรับมือจีนของโดนัลด์ ทรัมป์ ทำให้รัฐบาลหลายชาติในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างออกมากังวล และลังเลว่าจะยังคงมองสหรัฐฯ เป็นเสมือนประเทศที่จะมาถ่วงดุลอำนาจกับจีนต่อไปหรือไม่ หากว่าทรัมป์จะเลือกที่จะละทิ้งนโยบาย “ปักหมุดเอเชีย” ของพรรคเดโมแครตอย่างสิ้นเชิง

ทั้งนี้ พบว่าก่อนผลการเลือกตั้งจะออกมา อุปทูตตัวแทนสหรัฐฯ ในกรุงมะนิลาได้พยายามหว่านล้อมฟิลิปปินส์ให้คลายความวิตก พร้อมกับยืนยันว่า ความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีของทั้งสองชาติจะยังคงไม่เปลี่ยนแปลง ถึงแม้ว่าที่ผ่านมาจะต้องได้รับการกระทบกระเทือนจากวาจาที่เผ็ดร้อนของผู้นำฟิลิปปินส์ โรดริโก ดูเตอร์เต ก็ตาม

“ไม่ว่าใครจะเป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง แต่ทว่าประเทศของเราจะยังคงให้ความสำคัญกับคุณค่าในความสัมพันธ์กับฟิลิปปินส์ไม่เปลี่ยนแปลง เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในช่วงหลายสิบปี และนั่นเป็นสิ่งที่ผมสามารถยืนยันได้” ไมเคิล เคลเชสกี (Michael Klecheski) อุปทูตสหรัฐฯ ประจำฟิลิปปินส์แถลง

และสำหรับ ไทย ซึ่งยังอยู่ภายใต้การปกครองด้วยรัฐบาลทหารที่มาจากการทำรัฐประหาร โดยสื่ออังกฤษได้ชี้ว่า รัฐบาลไทยได้หันหน้าไปหาปักกิ่ง แต่อย่างไรก็ตาม เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงเทพฯ กลิน ที. เดวีส์ ได้พยายามเป็นตัวสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสองชาติให้แข็งแกร่ง

นอกจากนี้ สำหรับกัมพูชา เป็นที่น่าสนใจที่พบว่า นายกรัฐมนตรีฮุนเซนได้เคยออกมาชื่นชมทรัมป์ว่า “เป็นบุคคลที่มีความสามารถ” และสำหรับประเทศมุสลิมในภูมิภาค ดูเหมือนว่า ทรัมป์จะเป็นที่ได้รับความนิยมน้อยที่สุดในหมู่ชาติมุสลิมเหล่านี้ เช่น มาเลเซีย และ อินโดนีเซีย ที่ผู้คนต่างใช้โซเชียลมีเดียระบายความโกรธถึงนโยบายการกีดกันมุสลิมเข้าสหรัฐฯ ของทรัมป์

และพบว่าผลจากโพลที่ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นในสัปดาห์นี้ชี้ว่า ประชาชนในภูมิภาคเอเชียต่างต้องการให้ฮิลลารี คลินตันเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯคนถัดไป

***อินเดีย***

เดอะการ์เดียนคาดการณ์ว่า การขึ้นมาของโดนัลด์ ทรัมป์อาจทำให้เกิดการช็อกทางเศรษฐกิจช่วงระยะสั้นเกิดขึ้น แต่อาจส่งผลดีในระยะยาวในนโยบายการต่างประเทศ โดย นีลัม เดโอ (Neelam Deo) ผู้อำนวยการนโยบายต่างประเทศ ธิงแทงก์ เกตเวย์ เฮาส์ (Gateway House) ให้ความเห็นว่า “มีความโกลาหลทางเศรษฐกิจเกิดขึ้น และจะมีผลกระทบเกิดขึ้นตามมาต่อตลาดในทางลบในช่วงสั้น ซึ่งตลาดจะตอบสนองต่อการขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของโดนัลด์ ทรัมป์ในขณะนี้ยังคงเป็นปริศนา และความไม่แน่นอนได้ส่งผลออกมาในการตกแบบไร้ทิศทาง”

นอกจากนี้ สื่ออังกฤษชี้ต่อว่า ความสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่างอินเดียและสหรัฐฯในสมัยของประธานาธิบดีโอบามาอาจเปลี่ยนแปลง และเลวร้าย แต่อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาทรัมป์ได้เคยประกาศว่า “เขาจะทำตัวเป็นเพื่อนที่ใกล้ชิดกับอินเดีย” และจะเดินหน้าสานสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่างทั้งสองประเทศ และยังเคยได้ออกแคมเปญหาเสียงเป็นภาษาฮินดู (“ab ki baar Trump Sarkar) หรือหมายความว่า “นี่เป็นเวลาของรัฐบาลทรัมป์” ซึ่งโยงไปถึงแคมเปญหารหาเสียงของนายกรัฐมนตรีอินเดีย นเรนทรา โมดีในปี 2014

แต่ทว่า เดโอได้ออกมาปัดว่า นี่ไม่ใช่สิ่งที่จะถือเป็นเรื่องจริงจังทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยเธอชี้ไปว่าเป็นโฆษณาแคมเปญหาเสียงของโดนัลด์ ทรัมป์ เพื่อเจาะกลุ่มชาวอเมริกันเชื้อสายอินเดียเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญอินเดียรายนี้เชื่อว่าทรัมป์น่าจะเลือกที่จะอยู่ตรงกันข้ามกับปากีสถาน ศัตรูของอินเดีย เนื่องมาจากจุดยืนของเขาต่อมุสลิมก่อการร้าย และนี่อาจเป็นประโยชน์ต่ออินเดีย







กำลังโหลดความคิดเห็น