xs
xsm
sm
md
lg

“โอบามา-คลินตัน” ประกาศพร้อมร่วมมือ ขณะกระแสประท้วง “ทรัมป์” ลามทั่วสหรัฐฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<i>ประธานาธิบดีบารัค โอบามา และรองประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ แถลงกับผู้สื่อข่าวที่ทำเนียบขาวในกรุงวอชิงตันเมื่อวันพุธ (9 พ.ย.) ภายหลังทราบผลการเลือกตั้งว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะได้เป็นประธานาธิบดีคนต่อไป  ทั้งนี้โอบามาเชื้อเชิญทรัมป์ให้มาหารือกันในวันพฤหัสบดี (10 พ.ย.) ในเรื่องการส่งมอบตำแหน่งด้วยความราบรื่น </i>
เอเจนซีส์ - เกิดการชุมนุมเดินขบวนตามเมืองใหญ่ต่างๆ ทั่วสหรัฐฯ ในวันพุธ (9 พ.ย.) เพื่อประท้วง “โดนัลด์ ทรัมป์” ผู้สมัครของพรรครีพับลิกันที่สร้างเซอร์ไพรส์สามารถคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีอเมริกันคนต่อไป เนื่องจากคนอเมริกันจำนวนมากพากันช็อกและโกรธขึ้ง จึงประกาศสโลแกนว่า เจ้าพ่ออสังหาริมทรัพย์ที่มีแต่สร้างความแตกแยกผู้นี้ “ไม่ใช่ประธานาธิบดีของเรา” ขณะเดียวกัน “บารัค โอบามา” นัดหมายต้อนรับทรัมป์ที่ทำเนียบขาวในวันพฤหัสบดี (10) เพื่อหารือดำเนินการถ่ายโอนอำนาจให้ราบรื่น ด้าน “ฮิลลารี คลินตัน” ให้คำมั่นฝังความเป็นปรปักษ์ระหว่างการหาเสียง และร่วมงานกับว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่เพื่อผสานรอยร้าวของอเมริกา

“โดนัลด์ ทรัมป์ กำลังจะเป็นประธานาธิบดีของเรา เราควรเปิดใจและให้โอกาสเขาในการนำพาประเทศ” ฮิลลารี คลินตัน ผู้สมัครจากพรรคเดโมแครตกล่าวหลังพ่ายแพ้การเลือกตั้งเมื่อวันอังคาร (8) โดยมีสามี คืออดีตประธานาธิบดี บิลล์ คลินตัน และเชลซี ผู้ลูกสาวให้กำลังใจอยู่ข้างๆ

คลินตันเสริมว่า แม้เจ็บปวดกับการพ่ายแพ้แต่ยินดีร่วมมือขณะที่ทรัมป์เตรียมตัวสำหรับการเข้ารับตำแหน่งที่มีระยะเวลา 4 ปีตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม ปีหน้า

ทั้งนี้ ทรัมป์ นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จากนิวยอร์กและอดีตพิธีกรเรียลิตีโชว์ โหนกระแสความโกรธแค้นที่มีต่อบรรดาชนชั้นนำทางการเมืองในวอชิงตัน และสามารถเอาชนะคลินตัน ผู้มีดีกรีเป็นทั้งอดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง วุฒิสมาชิก และรัฐมนตรีต่างประเทศ ชนิดเกินความคาดหมาย

ด้านประธานาธิบดีโอบามา ที่ถล่มทรัมป์หนักหน่วงระหว่างช่วยคลินตันหาเสียง ได้เชื้อเชิญทรัมป์มาหารือที่ทำเนียบขาวในวันพฤหัสบดี (10) หรือ 1 วัน 1 คืนหลังจากคืนอันโหดร้ายสำหรับพรรคเดโมแครตที่นอกจากจะพ่ายแพ้ศึกชิงทำเนียบขาวแล้ว ยังคว้าน้ำเหลวในการยึดกุมเสียงข้างมากในทั้งสองสภา

โอบามายังบอกว่า ตนและทีมเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวพร้อมร่วมงานกับทรัมป์เพื่อให้แน่ใจว่าการถ่ายโอนการบริหารเป็นไปอย่างราบรื่น

ทางฝ่ายทรัมป์และผู้ช่วยอาวุโสนัดหารือกันที่ทรัมป์ ทาวเวอร์ในนิวยอร์กเพื่อเตรียมการสำหรับสิ่งที่จะดำเนินการในช่วง 100 วันแรกที่เข้ารับตำแหน่ง รวมทั้งตัวเลือกที่จะแต่งตั้งขึ้นตำแหน่งสำคัญๆ ในคณะบริหารของทรัมป์รวมถึงสมาชิกพรรครีพับลิกัน ทั้งนี้คาดกันว่าคงเป็นพวกกลุ่มคนที่จงรักภักดีสนับสนุนเขาเหนียวแน่น แม้ในขณะที่เขาถูกสมาชิกอาวุโสของรีพับลิกันตำหนิติเตียนรุนแรงก็ตาม

การบริหารประเทศของทรัมป์มีแนวโน้มราบรื่น เนื่องจากรีพับลิกันครองเสียงข้างมากทั้งในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ทำให้เขาสามารถผลักดันร่างกฎหมาย รวมถึงแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลสูงสุดคนที่ 9 ที่ว่างอยู่ในขณะนี้อย่างง่ายดาย

พอล ไรอัน ประธานสภาล่างจากพรรครีพับลิกัน ที่เคยปีนเกลียวอย่างหนักกับทรัมป์สมัยหาเสียง ประกาศเมื่อวันพุธ (9) ว่า จะร่วมมือกับประธานาธิบดีคนใหม่เพื่อจัดการความท้าทายใหญ่หลวงของอเมริกา

ก่อนหน้านี้ ระหว่างให้สัมภาษณ์สำนักข่าวรอยเตอร์เมื่อปลายเดือนตุลาคม ทรัมป์บอกว่าเป้าหมายสำคัญอันดับต้นๆ หากชนะเลือกตั้งคือ การสร้างแนวพรมแดนที่แข็งแรงขึ้น ยกเลิกนโยบายประกันสุขภาพของโอบามา ช่วยเหลือทหารผ่านศึก และสร้างงานเพิ่ม

เขายังประกาศหลังได้รับชัยชนะว่า จะเริ่มต้นโครงการฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานและทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวสองเท่า
<i>ฮิลลารี คลินตัน กล่าวปราศรัยกับคณะทำงานและผู้สนับสนุนของเธอเรื่องผลการเลือกตั้งที่เธอเป็นฝ่ายปราชัย  ณ โรงแรมในแมนฮัตตัน นครนิวยอร์ก เมื่อวันพุธ (9 พ.ย.)  โดยที่มีสามีของเธอ อดีตประธานาธิบดีบิลล์ คลินตัน (ซ้าย) และ ทิม เคน ผู้สมัครตำแหน่งรองประธานาธิบดีในทีมของเธอ (ขวา) ปรบมือให้กำลังใจ </i>
ขณะเดียวกัน ความกังวลในช่วงแรกว่าชัยชนะของทรัมป์จะทำให้เศรษฐกิจและสถานการณ์โลกไร้ความแน่นอนกลับจางหายไปอย่างรวดเร็ว โดยวอลล์สตรีทดีดกลับอย่างรุนแรงและดอลลาร์แข็งค่าทำสถิติในรอบเกือบ 4 เดือนเมื่อเทียบเยน

เช่นเดียวกับเงินเปโซของเม็กซิโกที่ฟื้นจากสถิติต่ำสุด ตลอดเวลาที่ผ่านมาค่าเงินแดนจังโก้อ่อนไหวกับคำขู่ของทรัมป์ว่าจะยกเลิกข้อตกลงการค้าเสรีกับเม็กซิโก และเรียกเก็บภาษีที่คนเม็กซิกันในอเมริกาส่งกลับบ้าน เพื่อนำเงินไปสร้างกำแพงตลอดแนวชายแดน

ระหว่างประกาศชัยชนะ ทรัมป์ยังบอกว่า ถึงเวลาแล้วที่ประเทศชาติจะต้องปรองดอง และเขาจะเป็นประธานาธิบดีของชาวอเมริกันทุกคน พร้อมยกย่องการต่อสู้ของคลินตัน ซึ่งแตกต่างราวฟ้ากับดินจากเมื่อตอนหาเสียงที่เขาเรียกคู่แข่งสำคัญนี้ว่า “ฮิลลารีขี้โกง” ขณะที่ผู้สนับสนุนทรัมป์ตะโกนจนติดปากว่า “จับหล่อนเข้าคุก”

วันพุธ เคลลีแอนน์ คอนเวย์ ผู้จัดการแคมเปญหาเสียงของทรัมป์ เผยว่า ยังไม่มีการพูดถึงการยกเลิกการแต่งตั้งอัยการพิเศษเพื่อสอบสวนพฤติกรรมในอดีตของคลินตันตามที่ทรัมป์ประกาศไว้เมื่อเดือนที่แล้ว

ทว่า จอช เออร์เนสต์ โฆษกของโอบามา รีบออกมาดักคอว่า ทำเนียบขาวหวังว่า ทรัมป์จะสานต่อธรรมเนียมปฏิบัติในการไม่ใช้ระบบการฟ้องร้องคดีอาญามาแก้แค้นศัตรูทางการเมือง

ขณะที่เจสัน แชฟเฟตซ์ สมาชิกสภาผู้แทนฯ อาวุโสจากรีพับลิกัน เผยว่า มีแผนตรวจสอบกรณีการใช้เซิร์ฟเวอร์อีเมลส่วนตัวระหว่างดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศของคลินตันต่อ แม้ว่าสำนักงานสอบสวนกลาง (เอฟบีไอ) สรุปเป็นครั้งที่สองเมื่อวันอาทิตย์ (6) ว่า ไม่พบเงื่อนงำใดๆ ให้ต้องตั้งข้อหาก็ตาม
<i>กลุ่มผู้เดินขบวนเข้าเทคโอเวอร์ทางด่วนสาย “ฮอลลีวู้ด 101 ฟรีเวย์” ระหว่างการประท้วงผลการเลือกตั้งที่ โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นผู้ชนะได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯคนต่อไป  ณ เมืองลอสแองเจลีส รัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อเวลาย่างเข้าสู่วันพฤหัสบดี (10 พ.ย.) </i>
ประท้วงต้านทรัมป์กระจายทั่ว ปท.

กระนั้น ความขัดแย้งรุนแรงตลอดฤดูหาเสียงยาวนานที่มุ่งที่ตัวบุคคลมากกว่านโยบายสะท้อนออกมาอย่างแจ่มแจ้งจากกระแสการประท้วงต่อต้านชัยชนะของทรัมป์ในเมืองต่างๆ ทั่วอเมริกาตั้งแต่วันอังคารยันคืนวันพุธ (9)

จากเขตนิวอิงแลนด์ไปถึงเมืองซึ่งอยู่ตอนในๆ อย่างแคนซัสซิตี และตามแนวชายฝั่งด้านตะวันตก ผู้ประท้วงหลายพันคนชูธงและป้ายต่อต้านโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐฯ ขัดขวางการสัญจร และประกาศไม่ยอมรับชัยชนะของตัวแทนจากพรรครีพับลิกันผู้นี้

ที่นิวยอร์ก ผู้ประท้วงนับพันคนชุมนุมบนถนนสายต่างๆ กลางแมนฮัตตันและเดินขบวนไปยังอาคารทรัมป์ ทาวเวอร์ บนถนนฟิฟท์อะเวนิว ขณะที่ผู้ประท้วงอีกหลายร้อยคนไปรวมตัวกันที่แมนฮัตตันปาร์กและตะโกน “ไม่ใช่ประธานาธิบดีเรา”

ที่โอกแลนด์ รัฐแคลิฟอร์เนีย ประชาชนราว 6,000 คนชุมนุมกีดขวางการจราจร บางคนขว้างปาข้าวของใส่ตำรวจในชุดปราบจลาจล เผาถังขยะกลางสี่แยก จุดพลุ และทุบทำลายกระจกหน้าห้างร้านต่างๆ โดยตำรวจตอบโต้ด้วยการขว้างสารระคายเคืองเข้าใส่กลุ่มผู้ประท้วง

ที่โรงเรียนมัธยมปลายเบิร์คลีย์ในซานฟรานซิสโกเบย์ แอเรีย ที่รู้กันดีว่าสนับสนุนการเมืองแนวเสรีนิยมนั้น นักเรียนและครูประมาณ 1,500 คนชุมนุมในสนามของโรงเรียนก่อนเดินขบวนไปยังมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเบิร์คลีย์

นักเรียนและนักศึกษาหลายร้อยคนในซีแอตเติล ฟีนิกซ์ ลอสแองเจลิส และอีก 3 เมืองในเบย์ แอเรีย ได้แก่ โอกแลนด์ ริชมอนด์ และเอลเซอร์ริโต ชุมนุมประท้วงผลเลือกตั้งเช่นเดียวกัน

ที่ลอสแอเจลิส นักเรียนมัธยมปลายเชื้อสายละติน 300 คนเดินขบวนไปยังศาลากลางเมืองและประท้วงช่วงสั้นๆ โดยชูป้ายคำขวัญ “ไม่สนับสนุนลัทธิเหยียดผิว ไม่ใช่ประธานาธิบดีของเรา” และ “ผู้อพยพทำให้อเมริกายิ่งใหญ่” ก่อนสลายตัว

นักเรียนเหล่านี้หลายคนอยู่ในกลุ่ม “ดรีมเมอร์ส เจเนอเรชัน” หรือลูกหลานของผู้ลักลอบอพยพเข้าอเมริกา จึงต่างกลัวว่าจะถูกส่งกลับประเทศภายใต้คณะบริหารของทรัมป์

หน้าโรงแรมทรัมป์ อินเตอร์เนชันแนลในวอชิงตัน ดี.ซี. มีผู้ไปชุมนุมตะโกนและถือป้ายต่อต้านทรัมป์เช่นเดียวกัน

ที่หน้าทำเนียบขาว ประชาชนหลายร้อยคนจุดเทียนและฟังการปราศรัยวิจารณ์การเหยียดผิว การกีดกันเพศ และโรคหวาดกลัวชาวต่างชาติของทรัมป์ สลับกับเพลงเศร้า

ในย่านดาวน์ทาวน์ของชิคาโก ประชาชนราว 1,800 คนรวมตัวหน้าทรัมป์ อินเตอร์เนชันแนล โฮเต็ล แอนด์ ทาวเวอร์ และตะโกนว่า “ไม่เอาทรัมป์! ไม่เอาเคเคเค! ไม่เอาอเมริกาเหยียดเชื้อชาติ! ทั้งนี้ เคเคเคย่อมาจาก Ku Klux Klan ซึ่งเป็นองค์กรลับในอเมริกาของกลุ่มคนขาวที่มีแนวคิดเหยียดสีผิวสุดโต่งและนิยมความรุนแรง โดยตำรวจชิคาโกต้องปิดถนนหลายสายในบริเวณดังกล่าวเพื่อปิดกั้นผู้ประท้วง

การประท้วงที่เกิดขึ้นทั่วอเมริกา ซึ่งส่วนใหญ่ปราศจากความรุนแรง มีสาเหตุจากความไม่พอใจนโยบายต่างๆ ที่ทรัมป์ประกาศระหว่างหาเสียง เช่น การสร้างกำแพงกั้นตลอดแนวชายแดนติดกับเม็กซิโกเพื่อป้องกันผู้อพยพลักลอบเข้าอเมริกา

นอกจากนั้นยังมีผู้ประท้วงหลายร้อยคนในฟิลาเดลเฟีย บอสตัน และพอร์ตแลนด์ รัฐออริกอน เมื่อช่วงค่ำวันพุธ และบรรดาแกนนำเผยว่า มีแผนจัดการชุมนุมต่อในซานฟรานซิสโก ลอสแองเจลิส และโอกแลนด์ รัฐแคลิฟอร์เนีย

ขณะเดียวกัน ผู้ประท้วงต่อต้านทรัมป์นับพันคนรวมตัวกันในย่านดาวน์ทาวน์ของบอสตัน และร้องตะโกนว่า “ทรัมป์พวกเหยียดผิว” พร้อมชูป้ายที่มีข้อความ “ปลดทรัมป์” และ “ยุบคณะผู้เลือกตั้ง” ทั้งนี้ เนื่องจากดูเหมือนฮิลลารี คลินตัน ผู้สมัครจากพรรคเดโมแครต ชนะคะแนนเสียงจากประชาชน (ป็อปปูลาร์ โหวต) แต่แพ้คะแนนจากคณะผู้เลือกตั้ง (อิเล็กเตอรัล โหวต) ที่เป็นตัวชี้ขาดผลการเลือกตั้งประธานาธิบดี

ชาวพอร์ตแลนด์นับสิบคนขวางถนนในย่านดาวน์ทาวน์ของพอร์ตแลนด์ เผาธงชาติอเมริกัน และขัดขวางรถไฟรางเบาสองขบวน และก่อนหน้านั้นผู้สนับสนุนทรัมป์คนหนึ่งถูกวิ่งไล่ในไพโอเนียร์ คอร์ตเฮาส์ สแควร์ และถูกตีที่หลังด้วยสเกตบอร์ดก่อนมีคนเข้าไปห้าม

เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นหลังจากการประท้วงเมื่อคืนวันอังคารในซานฟรานซิสโกและอีกหลายเมืองทั่วอเมริกา หลังรับรู้ผลเลือกตั้งว่าทรัมป์ชนะคลินตัน โดยรายงานระบุว่า ผู้ประท้วงในโอกแลนด์ทุบทำลายห้างร้านหลายแห่งและจุดไฟเผาถังขยะและยาง
<i>ตำรวจตั้งแถวคอยสกัด ขณะกลุ่มผู้ประท้วงจุดไฟเผาสิ่งของที่ถนนเทเลกราฟ แอเวนิว ในเมืองโอ๊คแลนด์ รัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อวันพุธ (9 พ.ย.) เนื่องจากไม่พอใจผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯที่โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นผู้มีชัย </i>
ทั่วโลกร่วมยินดีระคนกังวลใจ

สำหรับปฏิกิริยาของต่างชาตินั้น ผู้นำหลายคนประกาศพร้อมร่วมมือกับทรัมป์ แต่บางคนก็แสดงความกังวลว่าชัยชนะของทรัมป์อาจหมายถึงอวสานของยุคสมัยที่วอชิงตันสนับสนุนค่านิยมประชาธิปไตยและสันติภาพ

เนื่องจากระหว่างหาเสียงทรัมป์ชื่นชมประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูตินแห่งรัสเซียออกนอกหน้า ขณะที่ตั้งคำถามถึงบทบาทโต้โผใหญ่ของอเมริกาในองค์กรสนธิสัญญาปกป้องแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) และสนับสนุนให้เกาหลีใต้และญี่ปุ่นพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์เพื่อแบกรับภาระในการปกป้องประเทศของตัวเอง

งานนี้จึงดูเหมือนว่ารัสเซียและปูตินจะได้ชัยชนะไปกับทรัมป์ด้วย หลังจากมีความสัมพันธ์ลุ่มๆ ดอนๆ กับอเมริกาภายใต้สมัยโอบามามาตลอด แต่ทรัมป์สัญญาแล้วว่าจะปรับปรุงความสัมพันธ์กับมอสโก โดยไม่สนว่ารัสเซียเข้าแทรกแซงสงครามกลางเมืองในซีเรีย หรือเข้ายึดไครเมียมาจากยูเครนก็ตาม

เช่นเดียวกัน ปูตินบอกกับเอกอัครราชทูตประเทศต่างๆ ว่า เขาพร้อมฟื้นความสัมพันธ์กับวอชิงตัน โดยในใจนั้นคาดหวังว่าที่สุดแล้วอเมริกาจะยกเลิกหรือผ่อนคลายมาตรการแซงก์ชันที่ประกาศใช้เมื่อสองปีก่อนเพื่อลงโทษที่รัสเซียเข้ายึดไครเมียและสนับสนุนกบฏแบ่งแยกดินแดนยูเครน

ด้านประธานาธิบดี เบนจามิน เนทันยาฮูของอิสาราเอล ที่มีปัญหากับโอบามาเช่นเดียวกัน ได้พูดคุยกับทรัมป์ทางโทรศัพท์ และทรัมป์เสนอนัดพบกันทันทีที่มีโอกาส

ส่วนประธานาธิบดี สี จิ้นผิงของจีน กล่าวว่า ปักกิ่งและวอชิงตันมีความรับผิดชอบร่วมกันในการส่งเสริมการพัฒนาและความมั่งคั่งของโลก และอิหร่านเรียกร้องให้ทรัมป์ยึดมั่นกับข้อตกลงนิวเคลียร์ที่เตหะรานทำกับมหาอำนาจโลก

สำหรับผู้นำเผด็จการและผู้นำปีกขวาในหลายประเทศต่างชื่นชมกับชัยชนะของทรัมป์ แต่ก็มีเจ้าหน้าที่อาวุโสในรัฐบาลหลายชาติประณามผลเลือกตั้งผู้นำอเมริกา โดยบอกว่าเป็นสัญญาณที่น่าเป็นห่วงสำหรับประชาธิปไตยสายเสรีนิยม

ตัวอย่างเช่นรองนายกรัฐมนตรี ซิกมาร์ เกเบรียลของเยอรมนี ที่ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นว่า ทรัมป์เป็นผู้บุกเบิกขบวนการเผด็จการและคลั่งชาติระหว่างประเทศ สืบเนื่องจากที่ทรัมป์หาเสียงโดยชูนโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน”

นอกจากนั้น ทรัมป์ยังต้องการแก้ไขข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศเพื่อลดยอดขาดดุล และประกาศจุดยืนต่างๆ ที่อาจบ่อนทำลายความสัมพันธ์กับพันธมิตรที่เชื่อถือได้มากที่สุดในเอเชีย ตะวันออกกลาง และยุโรป

กำลังโหลดความคิดเห็น