xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯลุกเป็นไฟ ประท้วงต้าน “ทรัมป์” ทั่วปท. “โอบามา-คลินตัน” พร้อมร่วมมือ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการรายวัน 360 - ผลพวงจากการที่ “โดนัลด์ ทรัมป์” สร้างเซอร์ไพรซ์สามารถคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีอเมริกันคนต่อไป ทำให้เกิดกระแสต่อต้าน และการชุมนุมเดินขบวนตามเมืองใหญ่ต่างๆทั่วสหรัฐฯ โดยประณามผู้สมัครจากพรรครีพับลิกันว่า “ไม่ใช่ประธานาธิบดีของเรา” แต่จะสร้างความแตกแยกให้แก่อเมริกันชน ด้าน “บารัค โอบามา” เปิดทำเนียบขาวต้อนรับว่าที่ ปธน.คนใหม่ เพื่อหารือถ่ายโอนอำนาจให้ราบรื่น ส่วนผู้แพ้อย่าง “ฮิลลารี คลินตัน” ประกาศพร้อมให้ความร่วมมือ แม้ช่วงหาเสียงจะโจมตีกันอย่างรุนแรงก็ตาม เช่นเดียวกับผู้นำทั่วโลกที่ส่วนใหญ่ประกาศพร้อมร่วมมือกับว่าที่ผู้นำใหม่ของสหรัฐฯ

วานนี้ (10 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานความเลื่อนไหวภายหลังจากที่ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้สมัครจากพรรครีพับลิกัน ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนใหม่ว่า ได้เกิดกระแสต่อต้านและประท้วงนายโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นวงกว้าง ซึ่งเป็นผลพวงมาจากความขัดแย้งรุนแรงในระหว่างการหาเสียง ที่ชาวอเมริกาไม่พอใจนโยบายหลายข้อที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศระหว่างการหาเสียง เช่น การสร้างกำแพงกั้นตลอดแนวชายแดนติดกับเม็กซิโกเพื่อป้องกันผู้อพยพลักลอบเข้าอเมริกา เป็นต้น อีกทั้งยังไม่ชื่นชอบบุคลิก และปูมหลังที่ไม่มีประสบการณ์ทางการเมือง เป็นเพียง นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จากนิวยอร์ก และอดีตพิธีกรเรียลลิตี้โชว์ เท่านั้น แต่ก็สามารถ โหนกระแสความโกรธแค้นที่มีต่อบรรดาชนชั้นนำทางการเมืองในวอชิงตัน จนเอาชนะ นางฮิลลารี คลินตัน ผู้สมัครจากพรรคเดโมแครต ซึ่งมีดีกรีเป็นทั้งอดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง วุฒิสมาชิก และรัฐมนตรีต่างประเทศ ชนิดเกินความคาดหมาย กระแสการประท้วงต่อต้านชัยชนะของทรัมป์ในเมืองต่างๆ ทั่วอเมริกา

ที่เขตนิวอิงแลนด์ ไปถึงเมืองซึ่งอยู่ตอนในอย่างแคนซัสซิตี้ และตามแนวชายฝั่งด้านตะวันตก มีผู้ประท้วงหลายพันคนชูธงและป้ายต่อต้าน นายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐฯ ขัดขวางการสัญจร และประกาศไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง

ที่นิวยอร์ก ผู้ประท้วงนับพันคนชุมนุมบนถนนสายต่างๆ กลางแมนฮัตตันและเดินขบวนไปยังอาคารทรัมป์ ทาวเวอร์ บนถนนฟิฟธ์อะเวนิว ขณะที่ผู้ประท้วงอีกหลายร้อยคนไปรวมตัวกันที่แมนฮัตตันปาร์คและตะโกน “ไม่ใช่ประธานาธิบดีเรา” และที่ด้านหน้าโรงแรมทรัมป์ อินเตอร์เนชันแนลในวอชิงตัน ดี.ซี. มีผู้ไปชุมนุมตะโกนและถือป้ายต่อต้านนายโดนัลด์ ทรัมป์ ด้วย

ที่โอ๊คแลนด์ รัฐแคลิฟอร์เนีย ประชาชนราว 6,000 คนชุมนุมกีดขวางการจราจร บางคนขว้างปาข้าวของใส่ตำรวจในชุดปราบจลาจล เผาถังขยะกลางสี่แยก จุดพลุ และทุบทำลายกระจกหน้าห้างร้านต่างๆ โดยตำรวจตอบโต้ด้วยการขว้างสารระคายเคืองเข้าใส่กลุ่มผู้ประท้วง

ที่โรงเรียนมัธยมปลายเบิร์คลีย์ในซานฟรานซิสโกเบย์ แอเรีย ที่รู้กันดีว่าสนับสนุนการเมืองแนวเสรีนิยมนั้น นักเรียนและครูประมาณ 1,500 คนชุมนุมในสนามของโรงเรียนก่อนเดินขบวนไปยังมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเบิร์คลีย์ เช่นเดียวกับนักเรียนและนักศึกษาหลายร้อยคนในซีแอตเติล ฟินิกซ์ ลอสแองเจลีส และอีก 3 เมืองในเบย์ แอเรีย ได้แก่ โอ๊คแลนด์ ริชมอนด์ และเอลเซอร์ริโต ชุมนุมประท้วงผลเลือกตั้ง

ที่ลอสแอเจลีส นักเรียนมัธยมปลายเชื้อสายละติน 300 คนเดินขบวนไปยังศาลากลางเมืองและประท้วงช่วงสั้นๆ โดยชูป้ายคำขวัญ “ไม่สนับสนุนลัทธิเหยียดผิว ไม่ใช่ประธานาธิบดีของเรา” และ “ผู้อพยพทำให้อเมริกายิ่งใหญ่” ก่อนสลายตัวไป นักเรียนเหล่านี้หลายคนอยู่ในกลุ่ม “ดรีมเมอร์ส เจเนอเรชัน” หรือลูกหลานของผู้ลักลอบอพยพเข้าอเมริกา เชื่อว่า พวกเขาจะถูกส่งกลับประเทศภายใต้คณะบริหารของทรัมป์

ขณะที่หน้าทำเนียบขาว ประชาชนหลายร้อยคนจุดเทียนและฟังการปราศรัยวิจารณ์การเหยียดผิว การกีดกันเพศ และโรคหวาดกลัวชาวต่างชาติของทรัมป์ สลับกับเพลงเศร้า

ในย่านดาวน์ทาวน์ของชิคาโก ประชาชนราว 1,800 คนรวมตัวหน้าทรัมป์ อินเตอร์เนชันแนล โฮเต็ล แอนด์ ทาวเวอร์ และตะโกนว่า “ไม่เอาทรัมป์! ไม่เอาเคเคเค! ไม่เอาอเมริกาเหยียดเชื้อชาติ! ทั้งนี้ เคเคเคย่อมาจาก Ku Klux Klan ซึ่งเป็นองค์กรลับในอเมริกาของกลุ่มคนขาวที่มีแนวคิดเหยียดสีผิวสุดโต่งและนิยมความรุนแรง โดยตำรวจชิคาโกต้องปิดถนนหลายสายในบริเวณดังกล่าวเพื่อปิดกั้นผู้

ชาวพอร์ตแลนด์นับสิบคนขวางถนนในย่านดาวน์ทาวน์ของพอร์ตแลนด์ เผาธงชาติอเมริกัน และขัดขวางรถไฟรางเบาสองขบวน และก่อนหน้านั้นผู้สนับสนุนทรัมป์คนหนึ่งถูกวิ่งไล่ในไพโอเนียร์ คอร์ตเฮาส์ สแควร์และถูกตีที่หลังด้วยสเก็ตบอร์ดก่อนมีคนเข้าไปห้าม

เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นหลังจากการประท้วงเมื่อคืนวันอังคารในซานฟรานซิสโกและอีกหลายเมืองทั่วอเมริกา หลังรับรู้ผลเลือกตั้งว่า ทรัมป์ชนะคลินตัน โดยรายงานระบุว่า ผู้ประท้วงในโอ๊คแลนด์ทุบทำลายห้างร้านหลายแห่งและจุดไฟเผาถังขยะและยาง

** “คลินตัน-โอบามา” พร้อมร่วมมือ

ด้าน นางฮิลลารี คลินตัน คู่แข่งขันของนายโดนัลด์ทรัมป์ ก็ได้กล่าวเปิดใจโดยมีสามี คือ อดีตประธานาธิบดีบิลล์ คลินตัน และเชลซี ผู้ลูกสาวให้กำลังใจอยู่ข้างๆระบุว่า “โดนัลด์ ทรัมป์ กำลังจะเป็นประธานาธิบดีของเรา เราควรเปิดใจและให้โอกาสเขาในการนำพาประเทศ แม้เจ็บปวดกับการพ่ายแพ้แต่ยินดีร่วมมือ”

ส่วน นายโดนัลด์ ทรัมป์ นั้นก็อยู่ในช่วงเตรียมตัวสำหรับการเข้ารับตำแหน่งที่มีระยะเวลา 4 ปีตั้งแต่วันที่ 20 ม.ค.ปีหน้า โดยทีมงานของเขาได้นัดหารือกันที่ทรัมป์ ทาวเวอร์ในนิวยอร์กเพื่อเตรียมการสำหรับสิ่งที่จะดำเนินการในช่วง 100 วันแรกที่เข้ารับตำแหน่ง รวมทั้งตัวเลือกที่จะแต่งตั้งขึ้นตำแหน่งสำคัญๆในคณะบริหารรวมถึงสมาชิกพรรครีพับลิกัน ทั้งนี้คาดกันว่าคงเป็นพวกกลุ่มคนที่จงรักภักดีสนับสนุนเขาเหนียวแน่น แม้ในขณะที่เขาถูกสมาชิกอาวุโสของพรรคต้นสังกัดตำหนิติเตียนรุนแรงก็ตาม

อย่างไรก็ตาม การบริหารประเทศของทรัมป์มีแนวโน้มราบรื่น เนื่องจากรีพับลิกันครองเสียงข้างมากทั้งในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ทำให้เขาสามารถผลักดันร่างกฎหมาย รวมถึงแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลสูงสุดคนที่ 9 ที่ว่างอยู่ในขณะนี้อย่างง่ายดาย

โดย นายพอล ไรอัน ประธานสภาล่างจากพรรครีพับลิกัน ที่เคยแสดงความไม่พอใจในตัวนายโดนัลด์ ทรัมป์ ในช่วงหาเสียง ก็ได้ประกาศแล้วว่า จะร่วมมือกับประธานาธิบดีคนใหม่เพื่อจัดการความท้าทายใหญ่หลวงของอเมริกา

ก่อนหน้านี้ ระหว่างให้สัมภาษณ์สำนักข่าวรอยเตอร์เมื่อปลายเดือนตุลาคม นายโดนัลด์ ทรัมป์ บอกว่า เป้าหมายสำคัญอันดับต้นๆ หากชนะเลือกตั้งคือ การสร้างแนวพรมแดนที่แข็งแรงขึ้น ยกเลิกนโยบายประกันสุขภาพของโอบามา ช่วยเหลือทหารผ่านศึก และสร้างงานเพิ่ม รวมทั้งการเริ่มต้นโครงการฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานและทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวสองเท่าด้วย

อีกด้าน นายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯคนปัจจุบัน ที่ช่วยนางฮิลลารีหาเสียง และกล่าวโจมตี นายโดนัลด์ ทรัมป์ อย่างหนักหน่วง ก็ได้เชิญ นายโดนัลด์ ทรัมป์ มาหารือที่ทำเนียบขาว เมื่อวานนี้ (10 พ.ย.ตามเวลาท้องถิ่น) เพื่อหารือเกี่ยวกับการถ่ายโอนการบริหารเป็นไปอย่างราบรื่น

** ทั่วโลกขานรับว่าที่ผู้นำสุดโต่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานถึงปฏิกิริยานานาชาติต่อชัยชนะของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่า ผู้นำหลายประเทศประกาศพร้อมร่วมมือกับว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ แต่บางส่วนก็แสดงความกังวลว่า ชัยชนะของผู้สมัครรีพับลิกันอาจหมายถึงอวสานของยุคสมัยที่วอชิงตันสนับสนุนค่านิยมประชาธิปไตยและสันติภาพ เนื่องจากระหว่างหาเสียง นายโดนัลด์ ทรัมป์ ชื่นชมประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินแห่งรัสเซียออกนอกหน้า ขณะที่ตั้งคำถามถึงบทบาทโต้โผใหญ่ของอเมริกาในองค์กรสนธิสัญญาปกป้องแอตแลนติกเหนือ (นาโต) และสนับสนุนให้เกาหลีใต้และญี่ปุ่นพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์เพื่อแบกรับภาระในการปกป้องประเทศของตัวเอง

หลายฝ่ายจึงมองว่า รัสเซียและปูตินได้รับชัยชนะร่วมกับนายโดนัลด์ ทรัมป์ ด้วย หลังจากมีความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศในระยะหลังเป็นไปไม่ค่อยดีนัก โดยเฉพ่ะในสมัยของนายบารัค โอบามา ซึ่งนายโดนัลด์ ทรัมป์ ก็เคยระบุถึงการปรับปรุงความสัมพันธ์กับรัฐบาลมอสโก โดยไม่สนใจว่า รัสเซียเข้าแทรกแซงสงครามกลางเมืองในซีเรีย หรือเข้ายึดไครเมียมาจากยูเครนก็ตาม

มีรายงานข่าวแจ้งว่า ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินแห่งรัสเซีย บอกกับเอกอัครราชทูตประเทศต่างๆว่า เขาพร้อมฟื้นความสัมพันธ์กับรัฐบาลวอชิงตัน โดยคาดหวังว่า ที่สุดแล้วอเมริกาจะยกเลิกหรือผ่อนคลายมาตรการแซงก์ชันที่ประกาศใช้เมื่อ 2 ปีก่อนเพื่อลงโทษที่รัสเซียเข้ายึดไครเมียและสนับสนุนกบฏแบ่งแยกดินแดนยูเครน

ด้านประธานาธิบดีเบนจามิน เนทันยาฮูของอิสาราเอล ที่มีปัญหากับรัฐบาลของนายบารัค โอบามาเช่นเดียวกัน ก็ได้พูดคุยกับทรัมป์ทางโทรศัพท์ และได้ระบุถึงการนัดหมายพบกันทันทีที่มีโอกาส

ส่วน ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน กล่าวว่า ปักกิ่งและวอชิงตันมีความรับผิดชอบร่วมกันในการส่งเสริมการพัฒนาและความมั่งคั่งของโลก และอิหร่านเรียกร้องให้ทรัมป์ยึดมั่นกับข้อตกลงนิวเคลียร์ที่เตหะรานทำกับมหาอำนาจโลก

อย่างไรก็ตาม ยังมีเจ้าหน้าที่อาวุโสในรัฐบาลหลายชาติประณามผลเลือกตั้งผู้นำอเมริกา โดยบอกว่า เป็นสัญญาณที่น่าเป็นห่วงสำหรับประชาธิปไตยสายเสรีนิยม เช่น รองนายกรัฐมนตรีซิกมาร์ เกเบรียลของเยอรมนี ที่ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นว่า ทรัมป์เป็นผู้บุกเบิกขบวนการเผด็จการและคลั่งชาติระหว่างประเทศ สืบเนื่องจากที่ทรัมป์หาเสียงโดยชูนโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน” เป็นต้น.
กำลังโหลดความคิดเห็น