xs
xsm
sm
md
lg

เทพเจ้าของเด็กเฝ้าร้าน (1)

เผยแพร่:   โดย: โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์

เคียวบะชิในภาพพิมพ์
ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies


หลังจากช่วงเวลาสั้นๆ ในกรุงเทพฯ บัดนี้ผมก็ได้หวนคืนสู่ภารกิจของตัวเองในกรุงโตเกียวราวหนึ่งสัปดาห์แล้ว ตลอดระยะเวลานี้ แม้อยู่ในญี่ปุ่น แต่เสื้อผ้าที่ใส่ไปทำงานก็เป็นสีดำทุกวัน จนอาจารย์ชาวญี่ปุ่นบางท่านสังเกตได้ จึงถามไถ่ด้วยมุทิตาจิตและความเข้าใจถึงการสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 9 และอาจารย์บางท่านที่เคยอยู่เมืองไทยก็ใส่ชุดดำเพื่อถวายความอาลัยด้วย

ในชีวิตนี้ ผมเคยรับเสด็จฯ ไม่กี่ครั้ง ครั้งที่จำได้แม่นคือตอนเป็นนิสิตจุฬาฯ และในโอกาสอื่น ๆ ด้วยพระบารมี ผมจึงเจริญก้าวหน้ามาจนถึงทุกวันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อครั้งที่ได้ไปทำงานอยู่ในธนาคารของสวิตเซอร์แลนด์อยู่พักใหญ่ โอกาสเช่นนั้นเกิดขึ้นแก่ชีวิตเพราะพระองค์ท่านเคยประทับอยู่ที่นั่น และหอการค้าสวิตเซอร์แลนด์ก็ตระหนักดีถึงช่วงเวลาสำคัญดังกล่าว จึงฉลองประวัติศาสตร์ส่วนนั้นด้วยการเปิดโอกาสให้คนหนุ่มสาวชาวไทยได้ไปทำงานในสวิตเซอร์แลนด์ถึง 10 กว่าคน และผมคือหนึ่งในนั้น แม้เวลาผ่านมาเกือบ 20 ปีแล้ว ผมก็ไม่เคยลืม

ด้วยบรรยากาศแบบนี้ ในครั้งนี้และครั้งหน้า “ญี่ปุ่นมุมลึก” จึงเลือกที่จะนำเรื่องสั้นของญี่ปุ่นซึ่งสะท้อนความเมตตากรุณามานำเสนอ เพื่อแสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณผ่านงานประพันธ์ เจ้าของบทประพันธ์เรื่องนี้คือ ชิงะ นะโอะยะ (志賀直哉;Shiga Naoya ; เกิดเมื่อ พ.ศ. 2423 เป็นบุตรชายของบิดาผู้เป็นอดีตซะมุไรที่ผันตัวมาเป็นพนักงานธนาคาร ชื่อบทประพันธ์คือ “โคะโซ โนะ คะมิซะมะ” (小僧の神様;Kozō no kami-sama) ซึ่งแปลว่า “เทพเจ้าของเด็กเฝ้าร้าน”
ชิงะ นะโอะยะ
***********************************************

เซ็งกิชิเป็นเด็กเฝ้าร้าน ทำงานและกินอยู่ประจำที่ร้านขายตาชั่งในคันดะ
ขณะนั้น ที่ร้านไม่มีลูกค้าแม้แต่คนเดียว
หัวหน้าคนงานประจำร้านที่นั่งอยู่ในคอกทำงาน พลางสูบยาสูบด้วยท่าทางเบื่อหน่าย พูดกับหัวหน้าคนงานประจำร้านผู้อ่อนวัย ซึ่งนั่งอ่านหนังสือพิมพ์อยู่ข้างๆ กระถางเตาผิงเช่นนี้
“นี่นายโก ใกล้ถึงช่วงที่จะได้กินเนื้อปลาทูน่าติดมันอย่างที่นายชอบแล้วนะ”
“ครับ”
“สักคืนนี้เป็นไงล่ะ เก็บร้านแล้วก็ออกไปกันไหมล่ะ”
“มิได้ครับ”
“จะไปกินที่นั่น ก็เพราะหากินแถวนี้ไม่ได้นะ”
“ถูกต้องที่สุดเลยครับ”
เด็กเฝ้าร้านชื่อเซ็งกิชินั่งอย่างสำรวม สองมือสอดเข้าใต้ชุดกันเปื้อน ห่างจากหัวหน้าคนงานประจำร้านวัยหนุ่มนิดหน่อยอย่างเหมาะสม ขณะที่ฟังการสนทนาอยู่ ก็คิดว่า “อ้อ กำลังคุยกันเรื่องร้านซูชินี่นา”

ที่เคียวบะชิมีร้านตาชั่งแบบเดียวกันชื่อ S อยู่ด้วย เนื่องจากเคยถูกส่งไปทำธุระที่นั่นเป็นบางครั้ง จึงทราบดีว่าร้านซูชิแห่งนั้นอยู่ตรงไหน เซ็งกิชิคิดว่าตัวเองก็อยากจะเป็นหัวหน้าคนงานประจำร้านให้ได้เร็วๆ และระหว่างที่ฟังเรื่องที่รู้โดยละเอียด ก็รู้สึกอยากจะเป็นคนในระดับที่เข้าไปในร้านอย่างนั้นเมื่อไรก็ได้ตามแต่ใจอยาก
“เออใช่ เรื่องที่ว่าลูกชายของโยะเฮเปิดร้านใกล้ๆ มะสึยะน่ะนายโก ไม่รู้เรื่องรึ”
“เอ ไม่ทราบหรอกครับ แล้วที่นั่นอร่อยไหมครับ”
“ว่ากันว่าอร่อย”
พอเซ็งกิชิได้ยินว่าอร่อย ก็คิดว่า ที่ว่าอร่อยนั้นอร่อยแบบไหนกัน คิดไป พลางกลืนน้ำลายที่สอขึ้นมาภายในปากไปอย่างระมัดระมัง เพื่อไม่ให้เกิดเสียง

* * *

เย็นวันหนึ่งหลังจากนั้นสองสามวัน เซ็งกิชิถูกส่งไปทำธุระที่ร้าน S ในย่านเคียวบะชิ ตอนจะไป ได้รับค่าโดยสารรถรางไปกลับจากหัวหน้าคนงานประจำร้าน แล้วจึงออกไป
พอลงจากรถรางเลียบกำแพงรอบนอกที่คะจิบะชิ ก็จงใจเดินผ่านไปที่หน้าร้านซูชิ และขณะที่มองดูป้ายผ้าของร้าน ก็จินตนาการถึงท่วงท่าของพวกหัวหน้าคนงานประจำร้านที่แหวกป้ายผ้าอย่างกระปรี้กระเปร่า แล้วเซ็งกิชิก็เข้าไปในร้าน
ตอนนั้น เซ็งกิชิรู้สึกหิวขึ้นมาเลยทีเดียว ครั้นดวงตาจินตนาการเห็นซูชิปลาทูน่าที่มีสีเหลืองเพราะติดมัน เขาก็คิดว่า “อยากกินจัง ชิ้นเดียวก็ยังดี” ตั้งแต่เมื่อก่อน พอได้ค่ารถรางไปกลับ เขาก็มักจะซื้อตั๋วแค่ขาเดียว ตอนขากลับจะเดินกลับ และแม้แต่ตอนนี้ เงินสี่เซ็นที่เหลือก็จะดังเก๊งๆ ในกระเป๋าด้านในของหน้าอกเสื้อ
“ถ้ามีสี่เซ็น จะกินได้หนึ่งชิ้น แต่ก็ขอซื้อแค่ชิ้นเดียวไม่ได้หรอก” ว่าแล้วก็ล้มเลิกความคิดไปเสียอย่างนั้น พลางเดินผ่านเลยต่อไปข้างหน้า
ไม่นาน ธุระที่ร้าน S ก็เสร็จสิ้นลง เซ็งกิชิรับกล่องกระดาษลูกฟูกใบเล็กๆ ใบหนึ่งที่มีตุ้มน้ำหนักทองเหลืองชิ้นเล็กหลายอันใส่อยู่จนมีน้ำหนักน่าฉงน แล้วออกจากร้านไป
ด้วยความรู้สึกเหมือนมีอะไรบางอย่างดึงดูด เขาจึงกลับไปทางเก่าของตอนขามา และเมื่อจะหักเลี้ยวไปทางร้านซูชิโดยไม่ตั้งใจ พลันก็เห็นร้านซูชิที่มีป้ายผ้าชื่อเหมือนกันห้อยอยู่ที่ฝั่งตรงข้ามของสี่แยกนั้น เขาเดินอย่างอ้อยสร้อยไปทางนั้น

* * *

A คือชายหนุ่มผู้เป็นสมาชิกสภาขุนนางชั้นสูง ได้รับฟังถ้อยคำอยู่ไม่ขาดจาก B ผู้เป็นเพื่อนสมาชิกสภาเหมือนกันว่า ถ้าไม่ใช่ซูชิของร้านข้างทางแบบที่ใช้มือหยิบกินทันทีหลังจากที่ปั้นเป็นก้อนเสร็จแล้วละก็ คนกินจะไม่รู้ซึ้งถึงรสชาติของซูชิ A คิดว่าอยากจะลองไปยืนกินอย่างนั้นบ้างสักวัน แล้วก็ขอให้แนะนำร้านซูชิที่อร่อยเอาไว้

* * *

วันหนึ่ง ก่อนตะวันจะตกดินเพียงไม่นาน A ข้ามจากฝั่งกินซ่าไปยังเคียวบะชิ และลองไปยังร้านซูชิข้างทางที่ได้ถามไถ่มาก่อนหน้านี้ ที่นั่นมีลูกค้าราวสามคนยืนอยู่ก่อนแล้ว เขาลังเลเล็กน้อย
แต่ก็ตัดสินใจมุ่งมั่น แล้วลอดใต้ป้ายผ้าเข้าไปในร้านอย่างแน่วแน่ ด้วยไม่อยากแทรกเข้าไปในช่องว่างระหว่างบรรดาคนที่ยืนอยู่ เขาจึงยืนต่อท้ายอยู่ใต้ป้ายผ้าอย่างนั้นครู่หนึ่ง
ขณะนั้น จู่ๆ ก็มีเด็กเฝ้าร้านที่ไหนสักแห่งคนหนึ่ง อายุสิบสองสิบสามปี เข้ามาอย่างน่าแปลกใจ เด็กเฝ้าร้านแหวกทาง ดัน A และพอมายืนอยู่ตรงที่ว่างเพียงเล็กน้อยด้านหน้าของเขา ก็กวาดตามองไม่หยุดหย่อนไปบนแท่นไม้เคะยะกิแผ่นหนาที่วางลาดเอียงลงด้านหน้า โดยมีซูชิห้าหกชิ้นอยู่บนนั้น
“ไม่มีข้าวห่อสาหร่ายหรือครับ”
“อ้อ วันนี้ไม่มีหรอก” ขณะที่ปั้นซูชิไปด้วย เจ้าของร้านซูชิร่างอ้วนก็มองไปที่เด็กเฝ้าร้านอย่างเคลือบแคลง
ด้วยความเด็ดเดี่ยวเล็กน้อยอยู่ในทีราวกับว่าคงจะทำเรื่องอย่างนี้เป็นครั้งแรก เด็กเฝ้าร้านคนนี้ก็ยื่นมือออกไปอย่างกระฉับกระเฉง หยิบซูชิปลาทูน่าขึ้นมาชิ้นหนึ่งจากที่วางเรียงอยู่ประมาณสามชิ้น แต่จะด้วยเหตุใดก็มิแน่ชัด หากเทียบกับตอนที่เด็กยื่นมืออย่างแข็งขันออกไปแล้ว ขณะที่ดึงมือกลับ ก็เกิดอาการลังเลแปลก ๆ
“ชิ้นละหกเซ็นนะ” เจ้าของร้านพูด
เด็กเฝ้าร้านเงียบ แล้ววางซูชิกลับไปบนแท่นราวกับทำตก
“อันที่จับแล้วครั้งนึง จะเอาไปวางอย่างนั้นไม่ได้นะ” ครั้นพูดจบ เจ้าของร้านก็วางซูชิที่ปั้นแล้วลง เอื้อมมือออกมาเปลี่ยนเอาซูชิชิ้นนั้นออก
เด็กเฝ้าร้านไม่พูดอะไรสักคำ หน้าเสีย ไม่ขยับเขยื้อนอยู่ตรงนั้น แต่ก็ดึงความกล้าหาญบางอย่างขึ้นมาทันใด แล้วลอดป้ายผ้าออกนอกร้านไป
“ช่วงนี้ ซูชิก็แพงขึ้น ไม่ใช่ของที่เด็กเฝ้าร้านพอจะกินได้หรอก” เจ้าของร้านพูดเรื่องเช่นนี้ด้วยอารมณ์ไม่สู้ดีนัก พอปั้นอีกชิ้นหนึ่งเสร็จ คราวนี้ก็ใช้มือที่ว่างอยู่โยนซูชิที่เด็กเฝ้าร้านจับเมื่อกี้เข้าปากตัวเองอย่างคล่องแคล่ว แล้วกินทันใด
กินซ่าในอดีต (บน) และ กินซ่าในปัจจุบัน (ล่าง)
(ต่อคราวหน้า)

**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.manager.co.th

กำลังโหลดความคิดเห็น