xs
xsm
sm
md
lg

การผละจาก “หนังสือพิมพ์” ของคนญี่ปุ่น

เผยแพร่:   โดย: โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์


ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies


ระยะนี้นิตยสารของไทยหลายฉบับปิดตัวต่อเนื่อง สร้างความใจหายแก่นักอ่านไม่น้อย ถึงแม้ยังไม่มีหนังสือพิมพ์ปิดตัว แต่ทุกที่ต่างก็พยายามปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดในสภาวะที่ยอดขายลดลง ส่วนในญี่ปุ่น ช่วงนี้ยังไม่มีนิตยสารเด่นดังประกาศปิดตัวจนทำให้นักอ่านตกใจ แต่ยอดพิมพ์ของทั้งนิตยสารและหนังสือพิมพ์ก็ลดลงเรื่อยมาเช่นกัน และขณะนี้สังคมญี่ปุ่นก็เริ่มหวั่นใจเมื่อผลการสำรวจชี้ว่า กำลังเกิด “ชิมบุง-บะนะเระ” (新聞離れ;shinbun-banare) หรือ “การผละจากหนังสือพิมพ์”

ครั้งนี้ “ญี่ปุ่นมุมลึก” ชวนนักอ่านมารู้จักสถานการณ์ “ชิมบุง-บะนะเระ” ซึ่งเกี่ยวโยงโดยตรงกับยอดพิมพ์ที่ลดลงในญี่ปุ่น “ชิมบุง-บะนะเระ” คือ การไม่อ่านหนังสือพิมพ์ ซึ่งคนญี่ปุ่นหรือคนที่ไหนในโลกก็เชื่อว่าเป็นแหล่งความรู้และข้อมูลที่ทำให้คนอ่านก้าวทันโลก วงการสิ่งพิมพ์ เช่น หนังสือ นิตยสาร ของญี่ปุ่น ผ่านยุครุ่งเรืองสูงสุดในช่วงทศวรรษ 1990 มาแล้วในด้านยอดขาย หลังจากนั้น ก็ลดลงเรื่อยมา และสิ่งที่กลายเป็นประเด็นใหญ่ คือการที่คนรุ่นใหม่อ่านหนังสือพิมพ์น้อยลง อันที่จริง ไม่เพียงแต่หนังสือพิมพ์เท่านั้น แต่อัตราการอ่านหนังสือ (ที่ไม่รวมถึงอินเทอร์เน็ต) โดยรวมก็ลดลง

สมาคมหนังสือพิมพ์แห่งญี่ปุ่นประกาศ “แนวโน้มยอดพิมพ์หนังสือพิมพ์กับจำนวนครัวเรือน” ว่า ยอดพิมพ์ทั้งหมดของหนังสือพิมพ์เมื่อปี 2558 คือ 44 ล้าน 7 แสนฉบับ ลดลงประมาณ 1 ล้าน 1 แสนฉบับจากปี 2557 และเมื่อหารเฉลี่ยด้วยครัวเรือนแล้วจะได้ 0.8 ฉบับ/ครัวเรือน ลดลง 0.03 ฉบับ เทียบกับปี 2543 ปรากฏว่าลดลงประมาณ 9 ล้าน 5 แสนฉบับ หรือ 0.33 ฉบับ/ครัวเรือน

เมื่อพิจารณาหนังสือพิมพ์หลักของญี่ปุ่น ต่างประสบภาวะยอดพิมพ์ลดลงทั้งนั้น หนังสือพิมพ์ระดับประเทศที่เป็น 5 ยักษ์ใหญ่ เรียงลำดับตามยอดขาย (คำนวณโดยค่าเฉลี่ยของครึ่งปีแรก) ของปี 2559 มีดังนี้ (คำว่า “ชิมบุง” แปลว่า หนังสือพิมพ์, ราคาคือราคาของฉบับเช้า ซึ่งเป็นฉบับหลัก)

1) โยะมิอุริ-ชิมบุง (読売新聞; Yomiuri-shinbun; 130 เยน) : 9 ล้านฉบับ
2) อะซะฮิ-ชิมบุง (朝日新聞;Asahi-shinbun; 150 เยน) : 6 ล้าน 6 แสนฉบับ
3) ไมนิชิ-ชิมบุง (毎日新聞;Mainichi—shinbun; 130 เยน) : 3 ล้าน 1 แสนฉบับ
4) นิกเก-ชิมบุง 273.1 (日経新聞 ; Nikkei—shinbun; 160 เยน): 2 ล้าน 7 แสนฉบับ
5) ซังเก-ชิมบุง 158.0 (産経新聞;Nikkei—shinbun; 110 เยน): 1 ล้าน 6 แสนฉบับ

นั่นคือตัวเลขที่ลดลงจากเดิมแล้ว เมื่อจัดอันดับการลดลงจากมากไปน้อย คือ 1) ไมนิชิ 4.17%, 2) อะซะฮิ 1.88%, 3) โยะมิอุริ 1.31%, 4) ซังเก 1.24%, 5) นิกเก 0.06% และตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา โยะมิอุริชิมบุงซึ่งครองอันดับ 1 มาตลอดถึงกับต้องล้มเลิกคำโฆษณาอย่างภูมิใจที่ว่าตัวเองมียอดเกินขายเกิน 10 ล้านฉบับ (ซึ่งมากที่สุดในโลก) และยังลดลงมาเรื่อย ๆ
หนังสือพิมพ์ 5 ฉบับหลักในแผงขาย
สาเหตุของการลดลงก็เป็นดังที่ทราบกันทั่วไปคือ เทคโนโลยีดิจิทัลทำให้ไม่ต้องพึ่งพาหนังสือพิมพ์กระดาษ อ่านข่าวฟรีเมื่อไรก็ได้ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะในญี่ปุ่นเท่านั้น ประเทศใหญ่ ๆ อย่างอเมริกาก็ประสบภาวะเดียวกัน โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งรับข่าวสารทางอินเทอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟนหรือคอมพิวเตอร์

เมื่อสังเกตราคาต่อฉบับ นิกเกแพงที่สุด และเมื่อสังเกตยอดพิมพ์ที่ลดลง นิกเกก็ลดลงน้อยที่สุด และนิกเกก็ทำหนังสือพิมพ์ดิจิทัลซึ่งมีสมาชิกถึงหลักแสนด้วย ซึ่งถือว่าไม่เลว นี่คือตำตอบกลาย ๆ ของการอยู่รอดอย่างหนึ่ง ซึ่งก็คือ “ความเฉพาะทาง”

นิกเกชิมบุงคือหนังสือพิมพ์ที่มีความเฉพาะทางสูง ถือว่าเป็นหนังสือพิมพ์รายวันที่อ่านยากที่สุดในบรรดาทั้งหมด แต่ด้วยความยากและความเฉพาะทางโดยการเน้นเนื้อหาเกี่ยวกับเศรษฐกิจ (เนื้อหาอื่น ๆ ก็มีเหมือนหนังสือพิมพ์อื่น ๆ แต่การเจาะลึก บทวิเคราะห์ และเรื่องทางวิชาการโดดเด่นกว่าฉบับอื่น) นั่นกลายเป็นจุดแข็งซึ่งตอบสนองกลุ่มคนอ่านได้อย่างเจาะจง กล่าวอีกนัยหนึ่งคือมีสิ่งที่เป็น “ตลาดเฉพาะกลุ่ม” (niche market) อยู่ด้วย แม้ได้รับผลกระทบจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคบ้าง แต่ก็น้อยกว่าฉบับอื่น
 อาคารสำนักงานใหญ่ Yomiuri Shinbun ในย่าน Ōtemachi
สาเหตุของการลดลงก็เป็นดังที่ทราบกันทั่วไปคือ เทคโนโลยีดิจิทัลทำให้ไม่ต้องพึ่งพาหนังสือพิมพ์กระดาษ อ่านข่าวฟรีเมื่อไรก็ได้ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะในญี่ปุ่นเท่านั้น ประเทศใหญ่ ๆ อย่างอเมริกาก็ประสบภาวะเดียวกัน โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งรับข่าวสารทางอินเทอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟนหรือคอมพิวเตอร์

เมื่อสังเกตราคาต่อฉบับ นิกเกแพงที่สุด และเมื่อสังเกตยอดพิมพ์ที่ลดลง นิกเกก็ลดลงน้อยที่สุด และนิกเกก็ทำหนังสือพิมพ์ดิจิทัลซึ่งมีสมาชิกถึงหลักแสนด้วย ซึ่งถือว่าไม่เลว นี่คือตำตอบกลาย ๆ ของการอยู่รอดอย่างหนึ่ง ซึ่งก็คือ “ความเฉพาะทาง”

นิกเกชิมบุงคือหนังสือพิมพ์ที่มีความเฉพาะทางสูง ถือว่าเป็นหนังสือพิมพ์รายวันที่อ่านยากที่สุดในบรรดาทั้งหมด แต่ด้วยความยากและความเฉพาะทางโดยการเน้นเนื้อหาเกี่ยวกับเศรษฐกิจ (เนื้อหาอื่น ๆ ก็มีเหมือนหนังสือพิมพ์อื่น ๆ แต่การเจาะลึก บทวิเคราะห์ และเรื่องทางวิชาการโดดเด่นกว่าฉบับอื่น) นั่นกลายเป็นจุดแข็งซึ่งตอบสนองกลุ่มคนอ่านได้อย่างเจาะจง กล่าวอีกนัยหนึ่งคือมีสิ่งที่เป็น “ตลาดเฉพาะกลุ่ม” (niche market) อยู่ด้วย แม้ได้รับผลกระทบจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคบ้าง แต่ก็น้อยกว่าฉบับอื่น

การสำรวจอีกชุดหนึ่งที่จัดทำโดยสถาบันวิจัยวัฒนธรรมการแพร่ภาพกระจายเสียง NHK พบว่าเมื่อปี 2558 ชายวัย 20-29 ปี อ่านหนังสือพิมพ์แค่ 8-9% และหญิงวัยเดียวกันอ่าน 0%-3% การอ่านคือการรวบรวมความคิดตามตัวหนังสือและฝึกให้จดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นาน ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญญาและความคิดสร้างสรรค์ตามมา เรื่องนี้เป็นที่รู้กันทั่วโลก ด้วยเหตุนี้ พอมีตัวเลขชี้ออกมาว่าคนรุ่นใหม่อ่านหนังสือพิมพ์น้อยลง ถึงได้กลายเป็นประเด็นขึ้นมาในสังคมญี่ปุ่น เพราะประเทศนี้ขึ้นชื่อเรื่องชีวิตที่ผูกพันกับตัวหนังสือทั้งการอ่านและการเขียน

ในขณะนี้ นอกจากผลโดยตรงด้านเศรษฐกิจที่เกิดกับบริษัทผู้พิมพ์จำหน่ายแล้ว ผลกระทบเชิงสังคมเพราะการผละจากหนังสือพิมพ์ยังไม่ปรากฏชัดแม้จะพอรู้สึกอยู่บ้างก็ตาม เมื่อกล่าวในกรณีของญี่ปุ่น ผมพบว่า แม้นักศึกษารับข่าวสารได้จากสื่อออนไลน์ แต่ความสามารถในการอ่านของนักศึกษาถดถอยลง ซึ่งผมคิดว่าส่วนหนึ่งเกิดจากการเพ่งสมาธิกับการอ่านสั้นลงและ ‘ความสะดวกล้นเกิน’

ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม คือ เรื่องการอ่านตัวอักษรคันจิ (หรือตัวอักษรจีนซึ่งญี่ปุ่นรับเข้ามาใช้) นักศึกษาญี่ปุ่นหลายคนอ่านตัวอักษรคันจิยาก ๆ ไม่ได้หรืออ่านผิด มีหลายครั้ง ผมในฐานะอาจารย์ชาวต่างชาติจะต้องบอกเจ้าของภาษาว่าคำนี้อ่านว่าอะไรและมีความหมายว่าอะไร การอ่านทางออนไลน์ไม่ใช่เรื่องผิด แต่การอ่านออนไลน์บางครั้งก็สะดวกเกินไป จนคนอ่านไม่รู้สึกว่าจะต้องจำ เช่น เมื่อพบตัวอักษรที่อ่านไม่ออก ถ้าเป็นสมัยก่อน คนอ่านอาจจะต้องจดไว้และสืบค้นต่อไป และรู้ว่าควรจะต้องจำ แต่ปัจจุบัน เมื่อเจอคำแบบนั้น นักศึกษาก็แค่กดค้นหาในสมาร์ทโฟน เอาแค่พอเข้าใจ และไม่รู้สึกว่าต้องจำ เพราะถ้าเจออีก เดี๋ยวก็ค้นหาได้อีกอย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ ความรู้ของนักศึกษาก็มีแนวโน้มว่าจะตื้นกว่าเดิม แม้ว่าปริมาณข่าวที่ปรากฏในอินเทอร์เน็ตจะมีมาก แต่ส่วนใหญ่เป็นการแจ้งให้ทราบ มีบทวิเคราะห์หรือทัศนะของผู้เชี่ยวชาญน้อยกว่าในหนังสือพิมพ์ ข้อมูลในอินเทอร์เน็ต บางครั้งก็ไม่ถูกต้องเพราะผ่านกระบวนการกลั่นกรองน้อยกว่า กระบวนการคิดที่ลึกซึ้ง การทำความเข้าใจประโยคที่ซับซ้อน ข้อมูลเชิงลึก ตลอดจนการใช้ภาษาตามความเหมาะสมอันพึงได้จากหนังสือพิมพ์กระดาษก็อาจจะเข้าหัวคนอ่านน้อยลง โดยเฉพาะถ้าคนอ่านมีประสบการณ์การอ่านมาน้อย และสิ่งที่ไม่บริบูรณ์เหล่านี้บางทีก็ปรากฏเป็นรายงานที่นักศึกษาเขียนส่งอาจารย์ ก็ตลกดีที่อาจารย์คนต่างชาตินี่แหละต้องแก้ประโยคภาษาญี่ปุ่นให้คนญี่ปุ่นอยู่บ่อย ๆ ทักษะแบบนี้เกี่ยวโยงกันเป็นทอด ๆ ทั้งเรื่องการอ่าน การอ่านหนังสือพิมพ์ การอ่านหนังสือ และการเขียน

แนวทางการแก้ไขอย่างหนึ่งที่หลายคนพูดถึง คือ การทำหนังสือพิมพ์ดิจิทัลและให้สมัครสมาชิก ซึ่งผมคิดว่าก็สมเหตุสมผลดี แต่อาจจะขลุกขลักในเบื้องต้น หากจะว่าไป คนสมัยนี้ชินกับการได้ความรู้ฟรีทางออนไลน์ไปเสียแล้ว จริง ๆ แล้วความรู้คือสินค้าชนิดหนึ่ง และการได้มาซึ่งความรู้นั้นจะต้องใช้เงินซื้อ

ถ้านึกย้อนไปเมื่อสมัยที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ต “วิชาเหมือนสินค้า อันมีค่าอยู่เมืองไกล ต้องยากลำบากไป จึงจะได้สินค้ามา จงตั้งเอากายเจ้า เป็นสำเภาอันโสภา ความเพียรเป็นโยธา แขนซ้ายขวาเป็นเสาใบ” หมายความว่าต้องเสียเงินไปเรียน หรือแม้ในปัจจุบัน ผู้คนก็ยังยอมเสียเงินเป็นล้านเพื่อไปเรียนต่างประเทศให้ได้มาซึ่งความรู้และเรียนกับอาจารย์เก่งๆ

ความรู้หรือข่าวสารที่อยู่บนอินเทอร์เน็ตก็เช่นกัน นี่คือสินค้าซึ่งถ้าเรียกเก็บเงินเพื่อเป็นค่าวิชาให้แก่ผู้ผลิตก็ไม่ใช่สิ่งแปลกแต่อย่างใด แต่เราได้ความรู้ฟรีจากอินเทอร์เน็ตกันจนชิน การเรียกเก็บเงินผู้เข้าใช้อาจจะทำได้ยาก แต่ถ้าเก็บในราคาไม่แพงเพื่อให้ได้ความรู้เฉพาะทางมานั้น ผมคิดว่าคนมากมายยินดีจ่าย ดังที่คนญี่ปุ่นจ่ายให้แก่นิกเกชิมบุง

เพื่อความอยู่รอด หนังสือพิมพ์ต้องปรับตัว เรื่องการลดยอดพิมพ์คงเลี่ยงยาก จึงต้องมองช่องทางอื่นด้วย เช่น การสร้างธุรกิจที่เกี่ยวข้อง การสร้างฐานแฟนประจำด้วยเนื้อหาเฉพาะ (ไม่ใช่ฐานคนอ่านที่รู้สึกว่าจะอ่านจากที่ไหนด้วยสื่ออะไรก็ได้) สิ่งที่วงการสิ่งพิมพ์ของญี่ปุ่นเริ่มทำตอนนี้ ก็ไม่ได้เหนือความคาดหมายแต่อย่างใด เริ่มมีการปรับกลยุทธ์การโฆษณาบ้าง หันมาทำฟรีเปเปอร์บ้าง เพิ่มเนื้อหาที่เป็นการวิเคราะห์เจาะลึก เริ่มใช้ระบบสมาชิก

ไม่มีใครยืนยันได้ว่า วิกฤติจะคลี่คลายวิกฤติไปอย่างไร แต่ในฐานะคนนอก ผมกล่าวได้อย่างมั่นใจว่า ภาวะการปิดตัวของสื่อสิ่งพิมพ์ในญี่ปุ่นดังที่เกิดกับสกุลไทย หรือพลอยแกมเพชร หรืออาจเกิดกับหนังสือพิมพ์ของไทยนั้น จะมาถึงช้ากว่าของไทย เพราะวัฒนธรรม ‘อ่านดะ’ ที่ยังแข็งแกร่งอยู่ (แม้จะสั่นคลอนบ้าง) และความยินดีที่จะจ่ายเงินเพื่อความรู้ของคนญี่ปุ่นจะช่วยพยุงไว้

**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.manager.co.th

กำลังโหลดความคิดเห็น