xs
xsm
sm
md
lg

แปลงภาษาไทยให้เป็นสินค้าออก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์


ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies


ทรัพยากรที่มีค่าที่สุดของอังกฤษและอเมริกาคืออะไร? ผมขอตอบด้วยความรู้สึกว่า “ก็ภาษาอังกฤษไง”

เมื่อ 2 - 3 วันก่อน ลูกศิษย์ญี่ปุ่นคนหนึ่งมาปรารภเรื่องภาษาไทย จึงทำให้นึกถึงภาษาในฐานะทรัพยากรขึ้นมา ลูกศิษย์อายุ 20 ต้น ๆ บอกว่า อยากจะเรียนต่อปริญญาโทและปริญญาเอกทางด้านภาษาไทย

ในฐานะอาจารย์คนไทยย่อมภูมิใจและส่งเสริมเต็มที่ และในฐานะบุคลากรที่ใช้ภาษาไทยหากิน จึงได้ตระหนักอีกครั้งว่า ภาษาไทยมีตลาดรองรับ และต่อไปน่าจะขยายตัวมากขึ้นโดยเฉพาะเมื่ออาเซียนบูรณาการได้แน่นแฟ้นกว่านี้

ครั้งนี้จึงขอหยิบยกเรื่องภาษาไทยที่น่าจะสร้างกำไรให้แก่ประเทศไทยและคนไทยได้มากขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม แม้คงไปไม่ถึงระดับภาษาอังกฤษ แต่ถ้าบริหารจัดการให้ดีและมีนโยบายที่ชัดเจน ภาษาไทยจะช่วยต่อยอดความเป็นไทยในระดับสากลและช่วยทำเงินให้ประเทศได้มากขึ้นแน่นอน

หลายท่านที่ไม่ได้อยู่ในวงการภาษาอาจไม่ตระหนักว่าปัจจุบันคนต่างชาติที่เรียนภาษาไทยมีมาก และคงจะมากขึ้นอีกในช่วง 10 ปี ข้างหน้านี้ ภาษาไทยคือทรัพยากรอย่างหนึ่งที่นำมาแปลงให้เกิดผลทางเศรษฐกิจได้ไม่ยาก อาจดูไม่ฟู่ฟ่าเหมือนการส่งออกสินค้า แต่ผลดีมีแน่นอน

ผมคงจะกล่าวได้เฉพาะจากประสบการณ์ที่สัมผัสในญี่ปุ่น แต่คงพอเป็นแนวทางให้เห็นภาพได้บ้าง ด้วยการเริ่มมองสภาพทั่วไปของการเรียนภาษาไทยของคนญี่ปุ่น โดยเฉพาะการยกตัวอย่างความลักลั่นของภาษาไทยที่ผู้เรียนชาวญี่ปุ่นหลายคนรู้สึก และอยากเสนอแนะให้หน่วยงานกลางหรือทางการของไทยใส่ใจการสอนภาษาไทยสำหรับชาวต่างชาติอย่างจริงจังมากขึ้น เพื่อประโยชน์อันเป็นรูปธรรมที่จะเกิดตามมาในระยะยาว เพราะภาษาเป็นสิ่งที่ผู้เรียนต้องเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ พูดง่าย ๆ คือเก็บกินไปได้นาน

ในเบื้องต้น ถ้ากล่าวถึงสภาพในญี่ปุน มหาวิทยาลัยแห่งชาติที่สอนภาษาไทยเป็นวิชาเอกมี 2 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยโตเกียวต่างประเทศศึกษา (Tokyo University of Foreign Studies) ซึ่งผมประจำอยู่ โดยรับนักศึกษาเอกภาษาไทย/ไทยศึกษาระดับปริญญาตรีได้ปีการศึกษาละ 15 - 20 คน และมหาวิทยาลัยโอซะกะ (เดิมมีมหาวิทยาลัยโอซะกะต่างประเทศศึกษา ซึ่งเน้นการสอนภาษาและการต่างประเทศ แต่ปัจจุบันกลายเป็นคณะหนึ่งของมหาวิทยาลัยโอซะกะแล้ว) นอกจากนั้น ก็จะเป็นมหาวิทยาลัยเอกชน เช่น มหาวิทยาลัยคันดะภาษาต่างประเทศ และมีโรงเรียนสอนภาษาที่สอนภาษาไทย กระจายตัวอยู่ในเมืองใหญ่ ๆ โดยเฉพาะในโตเกียวอีกมากมาย

เรื่องจำนวนผู้เรียนภาษาไทยในระดับมหาวิทยาลัยนั้นค่อนข้างจำกัดตามนโยบาย เปลี่ยนแปลงได้ยาก แต่ในระดับบุคคลทั่วไป มีผู้เรียนในโรงเรียนสอนภาษาของเอกชนอยู่ไม่น้อย ซึ่งเกือบร้อยละร้อยเป็นคนญี่ปุ่นที่มาเที่ยวเมืองไทยและชอบ จึงอยากเรียนภาษาไทย บางคนอาจมีจุดประสงค์พิเศษ เช่น เรียนเพื่อจะบวชที่เมืองไทย (เท่าที่ผ่านมา มีลูกศิษย์ 2 - 3 คนที่เรียนภาษาไทยเพื่อจะบวช ปัจจุบันยังจำวัดอยู่ในกรุงเทพฯ คนหนึ่ง) เรียนเพราะต้องมาทำงาน เรียนเพราะแต่งงานกับคนไทย แต่เหล่านี้เป็นส่วนน้อย ผมไม่มีตัวเลขที่แน่นอนว่าผู้เรียนทั่วญี่ปุ่นมีกี่คน แต่ถ้าประเมินคร่าว ๆ จากการที่ตัวเองเคยอัดเสียงลงซีดีเป็นสื่อการเรียนรู้ประกอบหนังสือ ซึ่งตีพิมพ์ทีละประมาณ 2,000 - 3,000 เล่มแล้วขายหมด นั่นหมายความว่า ต้องมีคนเรียนไม่ต่ำกว่าจำนวนนั้นแน่ และนี่คือเฉพาะในญี่ปุ่น

ในด้านการเรียนนั้น เป็นธรรมดาที่ผู้เรียนจะประสบอุปสรรค เพราะความแตกต่างระหว่างภาษาไทยกับภาษาญี่ปุ่น สิ่งที่ได้ยินบ่อย ๆ คือ “ภาษาไทยเรียนยาก” อันที่จริง คนสอนก็แอบตะงิด ๆ เล็กน้อย จะโพล่งออกไปเหมือนกันว่า “ภาษาไทยสอนยาก” แต่ตระหนักได้ว่าคงจะไม่เหมาะ จึงให้กำลังใจกลับไปว่า “ไม่ยากหรอก แค่ยังไม่ชินเท่านั้นเองครับ” พร้อมกับตะล่อมถามว่า ที่บอกว่ายากน่ะ ยากตรงไหน คำตอบที่ได้รับมากที่สุดคือ “ออกเสียงยาก”

การบอกว่าออกเสียงยากนั้นไม่ใช่คำตอบที่น่าตกใจ เพราะภาษาไทยมีวรรณยุกต์สูงต่ำ ซึ่งหูของคนต่างชาติแยกความแตกต่างได้ลำบาก จุดนี้เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ และปัญหาเรื่องวรรณยุกต์นี้ จะแก้ได้หรือไม่ได้ ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับความพยายามของผู้เรียนเป็นหลักด้วย โดยมีผู้สอนคอยช่วยปรับสูงต่ำให้พอดี

แต่อีกคำตอบหนึ่งซึ่งมักจะได้จากคนที่เรียนภาษาไทยมานาน ก็คือ “ภาษาไทยไม่ค่อยมีหลัก ไม่รู้จะยึดอะไรให้จำได้แม่น ๆ”

คำว่า “ไม่ค่อยมีหลัก” อาจจะหมายถึงมีมากจนหาหลักไม่ได้ หรือไม่ก็ มีหลัก แต่หลักไม่เข้มงวด จึงไม่รู้จะมีทำไม เพราะคนไทยที่ใช้ภาษาไทยก็ยึดหลักบ้างไม่ยึดหลักบ้าง ลำพังคนไทยด้วยกันเอง คงไม่ค่อยรู้สึกว่าเป็นปัญหา แต่สำหรับผู้เรียนที่เป็นชาวต่างชาติ การที่ไม่มีคำตอบแน่ชัด นั่นคือปัญหาสำหรับผู้เรียน
ม.โตเกียวต่างประเทศศึกษา
ยกตัวอย่างเช่น เมื่อสอนเลยชั้นต้นขึ้นไปเล็กน้อย เคยมีลูกศิษย์ชาวญี่ปุ่นถามว่า
- “อาจารย์คะ เมื่อกี้อาจารย์ออกเสียง คำว่า ‘ปีเตอร์’ ผิดหรือเปล่า”
- “คำว่า ‘อีเมล’ อาจารย์ออกเสียงผิดหรือเปล่า”

ผมพูดว่า “ปีเต้อร์” ไม่ใช่ “ปี-เตอร์ (เสียงสามัญ), “อีเมว” ไม่ใช่ “อีเมน” โดยไม่ได้ออกเสียงตามที่เขียน นี่คือเรื่องการออกเสียงไม่ตรงกับตัวสะกด หรืออีกมากมายหลายคำ เช่น คอมพิวเตอร์ เฟซบุ๊ก ก็ต้องอธิบายเป็นคำ ๆ ไป

หรือตัวอย่างอื่น เช่น
- “เพราะ” กับ “เพราะว่า” ต่างกันอย่างไร
- “ทำไมเรียนภาษาไทย” กับ “เรียนภาษาไทยทำไม” ต่างกันอย่างไร

คำตอบคือ คำว่า “เพราะ” มีแนวโน้มว่าจะใช้ในภาษาทุกระดับ แต่ “เพราะว่า” มีแนวโน้มว่าจะใช้ในภาษากึ่งทางการหรือไม่เป็นทางการ ส่วนลำดับของคำว่า “ทำไม” นั่นขึ้นอยู่กับการเน้นความในภาษาไทย เป็นต้น

ยังโชคดีที่ครูพอจะมีคำตอบให้ แต่บางทีก็มีอีกหลายจุดที่ครูต้องตอบตามความรู้สึกในฐานะเจ้าของภาษา ลองดูตัวอย่างเหล่านี้ว่าความหมายเหมือนกันหรือไม่
- “เงินลงทุนเพิ่มขึ้น 2 เท่า” กับ “เงินลงทุนเพิ่มขึ้น 1 เท่า”
- “ขึ้นลิฟต์ไปชั้นล่างสิ” กับ “ลงลิฟต์ไปชั้นล่างสิ”

ความหมายเหมือนกัน? อ้อ...ก็เป็นเรื่องของภาษาไทยที่คนไทยคงจะเข้าใจกันเองตามบริบท แต่พอคนญี่ปุ่นที่ตั้งใจเรียนมากๆ มาเจอแบบนี้เข้า ก็ชักจะงง ตกลง “2” กับ “1” นี่มันเท่ากันตั้งแต่เมื่อไร แล้ว “ขึ้น” กับ “ลง” มันกลายเป็นอย่างเดียวกันได้ด้วยเนอะ?

อันนี้ก็ไม่รู้ว่าจะหาเหตุผลอย่างไรจึงจะเหมาะ ครูขออธิบายว่าถือเป็นข้อยกเว้นละกัน แต่บางทีก็นึกสงสารนักศึกษา พอเจอแบบนี้บ่อยๆ เข้า ก็ชักจะหนักเพราะยกเยอะเหลือเกิน (หรือถ้าจะพยายามฝืนอธิบายอย่างเช่นในตัวอย่างที่ 2 ว่า “เอ้อ มันคนละแบบกัน จริงๆ แล้วก็คือ ‘(ก้าว) ขึ้น (แท่นของตัว) ลิฟต์...’ กับ ‘ลง (โดย) ลิฟต์...’ ก็แล้วแต่จะสะดวก แต่ผมเลือกที่จะบอกว่าคำแบบนี้เป็นข้อยกเว้น มีอยู่ไม่เท่าไรหรอก ถ้าหนูเจอที่ไหนอีก ก็มาบอกครูด้วยนะ จะได้สรุปรวบรวมทำเป็นหมวดหมู่ให้จำง่าย)
ม.โอซะกะ (ประตูหน้า)
แนวโน้มอีกอย่างหนึ่งที่ก่อความสงสัยให้แก่ผู้เรียนในปัจจุบันมาพร้อมกับเทคโนโลยี ซึ่งได้แก่เรื่องการเขียน ลูกศิษย์หลายคนอ่านอินเทอร์เน็ตเพื่อฝึกภาษาไทย บางคนก็มีเพื่อนคนไทย เล่นเฟซบุ๊กกัน ส่งไลน์กัน สิ่งที่ติดมาด้วยคือภาษาไทยที่สะกดผิดพลาด พอบอกเข้า บางคนทำหน้าสงสัยครูเสียด้วย นัยว่าเชื่อสื่อออนไลน์มากกว่า อันนี้ก็ไม่ว่ากันเพราะธรรมชาติของมนุษย์มักเชื่อสิ่งที่เขียนมากกว่าสิ่งที่ได้ยิน ครูก็จะปลอบว่า “ก็เลือกเชื่อซะอันนึงนะ จะได้ไม่เป็นภาระ ถ้าเชื่อเน็ต หนูก็ต้องให้เน็ตตัดเกรดนะจ๊ะ”

และด้วยเทคโนโลยีอีกเช่นกัน มีลูกศิษย์มาบอกว่า “อยากจะอ่านหนังสือพิมพ์ไทย จะได้เก่งภาษา อ่านฉบับไหนดี” ใจหนึ่งก็ชื่นชมความกระตือรือร้นของเด็ก แต่อีกใจหนึ่ง ครูก็นึกอยู่ว่า “ถ้าจะเอามันส์ ต้องอ่าน... แต่ถ้าจะเอาดี ในระดับนี้อย่าไปอ่านมันเลยสักฉบับ” แต่ก็แค่นึกเท่านั้น ครูตอบเด็กไปว่า “หนังสือพิมพ์อะไรก็ได้ แต่อย่าไปเอาข่าวบันเทิงมาล่ะ เอาข่าวเศรษฐกิจหรือต่างประเทศดีกว่า เดี๋ยวครูจะช่วยดูให้” แล้วก็นึกต่อไปว่า ครูกลัวว่าหนูจะได้คำประเภทเนื้อนมไข่มาใส่เรียงความด้วย คนสอนไม่ได้ห้ามใช้ภาษาหวือหวา เพียงแต่เกรงว่าวิจารณญาณในการใช้คำไทยให้ถูกกาลเทศะอาจจะยังไม่แข็งแรง

จากตัวอย่างเบาๆ กับปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ของผู้เรียนภาษาไทยที่เป็นคนญี่ปุ่นนี้ ผมต้องการจะบอกว่าการเรียนภาษาไทยแบบคนไทย กับการเรียนภาษาไทยแบบคนต่างชาตินั้น มีจุดเริ่มต้นที่ต่างกัน ในการสอนภาษาไทยให้คนต่างชาติ ต้องพยายามให้ถึงที่สุดที่จะอธิบายที่มาที่ไป เพราะคนเรียนส่วนมากเป็นผู้ใหญ่และต้องการเหตุผล การบอกให้จำๆ ไปแบบนั้นเหมือนที่คนไทยก็จำๆ กันมาตลอดชีวิต บางทีวิธีนี้ก็ไม่เหมาะ และถ้าถามต่อไปว่า ผู้สอนจะเอาคำตอบที่ไหนมาไขข้อข้องใจได้หมด?
ตัวอย่างตำราเรียนภาษาไทยสำหรับชาวญี่ปุ่น
นั่นแหละคือประเด็นที่ต้องการจะบอกว่า พัฒนาการด้านการวิจัยภาษาไทยเพื่อการสื่อสารของเราและสำหรับคนต่างชาติยังก้าวไม่ทันความสนใจของผู้เรียน ความลักลั่นทางภาษาเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก แต่ถ้ามีการวิจัยเพื่ออธิบายหรือหาเหตุผลรองรับ จัดเป็นหมวดหมู่ หรืออาจจะมีข้อยกเว้นก็แล้วแต่ นั่นก็จะทำให้ผู้เรียนหยุดสงสัย และผู้สอนเองก็มั่นใจมากขึ้น

แนวทางการสอนภาษาไทยตามกระแสหลักในญี่ปุ่นไม่ได้เริ่มจากการอ่าน ก ไก่ ข ไข่ อย่างที่คนไทยเรียน แต่จะเริ่มจากวรรณยุกต์ก่อน คือเริ่มจากเสียง ซึ่งใช้สัญลักษณ์ทางสัทศาสตร์ (คล้าย ๆ กับตัวอักษรภาษาอังกฤษ) เพื่อลดภาระในการจำหลาย ๆ อย่างในเวลาเดียวกัน จากนั้นจึงค่อย ๆ สร้างประโยค และจะซับซ้อนขึ้นเรื่อย ๆ

ขณะที่ใช้สัญลักษณ์ทางสัทศาสตร์ ผู้เรียนจะไม่ค่อยมีคำถามมาก แต่เมื่อค่อยๆ เริ่มแปลงมาเป็นอักษรไทยเมื่อไร คำถามและปัญหาจะเริ่มมากขึ้นดังที่ยกตัวอย่างข้างต้น หรือในแง่ไวยากรณ์ คนไทยด้วยกันเองก็ยังอาจอธิบายไม่ถูกว่า เอ...คำว่า “ก็” ดังต่อไปนี้ แปลว่าอะไรนะ? หรือใช้ยังไงนะ?
- ไปเที่ยว แล้วก็กลับบ้าน
- ก็วันนั้นบอกแล้วไง
- ถ้าฝนตกละก็ อยู่บ้านดีกว่า
- รถก็ดี บ้านก็ดี ล้วนเป็นสมบัตินอกกาย
- ไม่บ้าก็โง่
เป็นต้น

ปัจจุบันภาษาไทยเริ่มแพร่หลายในต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าเราอยากให้แพร่หลายได้ง่ายกว่านี้ สิ่งที่จะต้องส่งเสริมให้จริงจังยิ่งขึ้นคือ กระบวนการสอนภาษาไทยให้คนต่างชาติและการวิจัยภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร และจากที่เอ่ยไว้ข้างต้นว่า “ภาษาไทยสอนยาก” นั้น ส่วนหนึ่งก็เพราะการวิจัยภาษาไทยยังมีขอบข่ายที่แคบอยู่ คำตอบในหลาย ๆ เรื่องจึงยังไม่กระจ่าง แนวโน้มไม่ชัดเจน บางส่วนก็เป็นการตอบตามความรู้สึก ซึ่งอาจจะถูกเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ไม่แน่ว่าอาจจะผิด และตำราที่ดีๆ ก็มีน้อย ผู้เรียนต้องคอยเสาะหาเอง เช่น หนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือสื่ออื่น ๆ ซึ่งอาจจะถูกจริตกับคนรุ่นใหม่ แต่บางครั้งก็จำมาใช้ผิด ๆ

และเท่าที่สืบค้น แม้การวิจัยภาษาไทยพอจะมีอยู่บ้าง แต่ก็น้อยมาก สถานที่ที่สอนภาษาไทยให้คนต่างชาติในเมืองไทยพอมี ทว่าแต่ละที่ก็มีแนวทางเฉพาะตัว และถึงแม้ในปัจจุบันมีการทดสอบความสามารถทางภาษาไทยอยู่บ้าง เช่น โดยสำนักทดสอบทางการศึกษา และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ก็เป็นที่รู้กันในวงจำกัดมาก ในจุดนี้ หากมีการประสานงานเพื่อสร้างมาตรฐานภาษาไทยสำหรับชาวต่างชาติ พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์อย่างเป็นระบบ ตลาดภาษาไทยจะขยายตัวไปได้อีก

ผมกล่าวในมุมมองของคนที่เห็นงานวิจัยภาษาญี่ปุ่นมามาก เมื่ออาจารย์จะต้องสอนภาษาญี่ปุ่น ก็สามารถหาคำตอบให้แก่ผู้เรียนได้แบบมีหลักวิชา มีทั้งการศึกษาในระดับคำ ระดับประโยค แง่มุมเชิงวัฒนธรรม เป็นต้น และตำราเรียนภาษาญี่ปุ่นก็มีมากมายให้เลือกใช้ ทั้งผู้เรียนและผู้สอนก็ต่อยอดทางการศึกษาได้สะดวก การจัดสอบวัดระดับภาษาญี่ปุ่นก็เป็นที่รู้จักแพร่หลายทั่วโลก

จากตัวอย่างที่ญี่ปุ่นทำสำเร็จนี้ เมื่อหวนมามองของเรา ถ้าองค์ความรู้ทางภาษาของไทยมีรูปแบบที่ชัดเจนและอธิบายง่าย ก็จะเผยแพร่และผลิตตำราดี ๆ ได้มากขึ้น เมื่อไทยยังต้องอยู่ในเวทีโลกต่อไป นอกจากการเคลื่อนไหวทางตรงด้านการขายของแล้ว การเคลื่อนไหวทางอ้อมผ่านภาษาและวัฒนธรรม ดังเช่นที่ญี่ปุ่นทำผ่านภาษา การ์ตูนและสินค้าที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนวัฒนธรรมทั้งหลาย ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ไทยไม่ควรมองข้าม

**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุก ๆ วันจันทร์ ทาง www.manager.co.th

กำลังโหลดความคิดเห็น