ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies
Tokyo University of Foreign Studies
ประเภทของผีญี่ปุ่น
ช่วงนี้ผม “ชะเง้อคอ” รอดูข้างนอกให้แดดร่ม ๆ หน่อย แล้วค่อยออกไป เพราะหน้าร้อนของญี่ปุ่นนี่สาหัสมาก พานไม่อยากจะขยับทำอะไรทั้งนั้น สถาบันการศึกษาถึงได้ปิดภาคเรียนกันหมดในเดือนสิงหาคม และถ้านักท่องเที่ยวคนใดอยากเพลินใจกับความสวยใสสบายๆ ของญี่ปุ่น คำแนะนำคือ อย่าได้ไปญี่ปุ่นในเดือนสิงหาคม เพราะอารมณ์อยากชมนกชมไม้จะละลายทันทีที่ก้าวพ้นโรงแรม
เมื่อร้อนอย่างนี้ ต่อให้เป็นเจ้าแห่งความอึดแบบคนญี่ปุ่น ก็ต้องหาวิธีรับมือเช่นกัน คนญี่ปุ่นมักมีวิธีคิดหรืออะไรแปลก ๆ ในแบบของตัวเองออกมาให้คนในวัฒนธรรมอื่นทึ่ง และสิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าเป็นเอกลักษณ์มาก ๆ คือ เรื่องการคลายร้อน วิธีคลายร้อนของคนญี่ปุนที่มีมานานปีตั้งแต่สมัยที่ปราศจากเทคโนโลยีสร้างความเย็น คือ เล่าเรื่องผี นัยว่าในเมื่อไม่มีเครื่องปรับอากาศ ก็ปรับบรรยากาศเสียเอง
ในฤดูนี้เมื่อปีที่แล้ว “ญี่ปุ่นมุมลึก” ได้นำเสนอเรื่องผี “โคมโบตั๋น” ไว้ บางคนกระซิบถามมาว่า “เอ...เรื่องนี้ อ่านแล้วชักไม่แน่ใจว่าช่วยคลายร้อน หรือทำให้ร้อนขึ้นกันแน่” ก็เอาเป็นว่า ถ้าเรื่องนั้นไม่ช่วยให้ลืมความร้อน ตอนนี้เป็นโอกาสดีที่จะได้ลองอีกสักเรื่อง เผื่อจะได้ผลมากกว่า และจะได้รู้ว่าผีญี่ปุ่นยังมีมุมที่น่าสนใจมุมอื่นอีกด้วย
ก่อนอื่น ควรทำความรู้จัก “ประเภทของผีญี่ปุ่น” เสียหน่อย ความเชื่อเรื่องผีถือเป็นคติชนอย่างหนึ่งซึ่งมีอยู่ในทุกวัฒนธรรม เมื่อเอ่ยคำว่า “ผี” แบบรวม ๆ คนส่วนใหญ่ก็มักนึกถึงผีในจินตนาการและบริบทเชิงสังคมของตัวเอง ในขณะที่ประเภทของผีไทยมีความไม่ชัดเจน เช่น เราจะเรียกนางไม้ว่าผีได้ไหม? พระภูมิเจ้าที่คือผีหรือเทวดากันแน่? กุมารทองคือผีหรือปีศาจ? ลูกเทพคือตุ๊กตาหรือผี? (หรือจริง ๆ แล้วอาจจะเป็นเทพตามชื่อ) สรุปว่า “ภูต, ผี, ปีศาจ” นี่ต่างกันอย่างไร (พจนานุกรมก็ให้คำนิยามไว้ว่า “ภูต” ก็คือ “ผี”...อ้าว) แต่ญี่ปุ่นแบ่งประเภทของสิ่งที่คนไทยอาจจะเรียกได้ว่าเป็น “ผี” ไว้ค่อนข้างชัด ได้แก่ วิญญาณของคนตาย เรียกว่า “ยูเร” (幽霊;yūrei) ซึ่งอาจมีทั้งวิญาณดีและวิญญาณร้าย ถ้าใช้เกณฑ์นี้มาวัดผีไทย ก็เช่น ผีแม่นาก ผีอีเม้ย ผีอีแพง หรือผีอุบล/สโรชินี อีกประเภทหนึ่งคือ พลังเหนือธรรมชาติที่มีตัวตนโดยไม่ได้มาจากวิญญาณของคนตายโดยตรง และอธิบายด้วยเหตุผลได้ยาก เรียกว่า “โยไก” (妖怪;yōkai) ถ้าใช้เกณฑ์นี้มาวัดผีไทย ก็เช่น ผีปอบ ผีกระสือ หรือถ้าว่ากันแบบเจาะลึกลงไปอีกหน่อย ก็เช่น ผีพราย นางไม้ (ซึ่งไม่ปรากฏที่มาชัดเจนว่าเป็นวิญญาณใครมาจากไหน แต่ไปสิงอยู่ตามธรรมชาติ) เสือสมิง หรือยักษ์ทั้งหลาย ก็ถือว่าเป็นโยไกตามคำนิยามแบบญี่ปุ่น
และด้วยการแบ่งเช่นนี้ จะพบว่าญี่ปุ่นมีโยไกตามขนบเดิมอยู่มากมายหลายสิบชนิด ตัวที่ดัง ๆ และคนไทยรู้จักมาเนิ่นนานคงจะเป็น “คัปปะ” ซึ่งจะเรียกว่าผีน้ำก็ได้ หรือบางความเชื่อก็ถือว่าเป็นเทพแห่งน้ำ และโยไกที่ดังที่สุดในญี่ปุ่นขณะนี้ ก็คือ “โยไกแมว” หรือ “แมวผี” ในการ์ตูนเรื่อง “โยไกวอตช์” หรืออีกหลาย ๆ ตัวตามที่ปรากฏอยู่ในละครเรื่องกลกิโมโน รวมทั้งนางหิมะซึ่งเป็นตัวร้ายหลักในเรื่องด้วย
อันที่จริง นอกจาก “ยูเร” กับ “โยไก” แล้ว อีกคำหนึ่งที่ได้ยินติดหู คือคำว่า “โอะ-บะเกะ” (お化け;O-bake) ถ้าแปลเป็นไทยก็จะได้คำว่า “ผี” อีกเช่นกัน คำนี้ใช้หมายถึง “ผี” โดยรวม คือหมายรวมถึง “ยูเร” และ “โยไก” ก็ได้ตามบริบท ดังเช่นการ์ตูนเรื่อง “ผีน้อยคิวทาโร่” ชื่อภาษาญี่ปุ่นคือ “โอะ-บะเกะ โนะ Q ทะโร” (オバケのQ太郎; Obake no kyūtarō) ซึ่งผีในเรื่องนี้มีลักษณะเป็น “โยไก”, หรือในคำว่า “บ้านผีสิง” ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “โอะ-บะเกะ ยะชิกิ” (お化け屋敷;O-bake-yashiki; คฤหาสน์ผี) ซึ่งเมื่อเข้าไป สิ่งที่จะได้เจอคือ “ยูเร”, หรือในคำว่า “ฟักทองผี” ประจำช่วงฮัลโลวีน ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “โอะ-บะเกะ คะโบะชะ (お化けカボチャ; O-bake kabocha) ซึ่งดูแล้วไม่รู้ว่าจะระบุยังไงดี ที่แน่ ๆ ก็คือผีนั่นเอง ดังนั้น สิ่งที่ระบุประเภทได้ยาก แต่รู้แน่ว่าเป็นผี ส่วนใหญ่ก็จะตกอยู่ในข่ายนี้ และถ้าใช้เกณฑ์นี้มาวัดผีไทย ก็น่าจะได้ผีทะเล ผีพนัน แต่ถ้าถึงขั้นผีผ้าห่ม อันนี้คนญี่ปุ่นไม่ได้มองว่าเป็นผี แต่เป็นคน
พระ (ซะมุไร?) ไม่กลัวผี
เกือบ 500 ปีก่อน ซะมุไรผู้หนึ่ง ซึ่งมีฝีมือฉกาจฉกรรจ์ยิ่งนัก รับใช้นายท่านคิกุชิมานานหลายปี แต่แล้วบัดนี้ เมื่อตระกูลคิกุชิเสื่อมลงจนล่มสลาย ซะมุไรจึงไร้นาย ทว่า ด้วยความภักดีต่อนายเก่า จึงไม่คิดจะหานายใหม่ และได้ตัดสินใจสละทางโลก ออกบวชและใช้ชื่อว่าไคริว
แม้ถือเพศบรรพชิต แต่พระไคริวก็ยังคงไว้ซึ่งจิตใจห้าวหาญแบบนักรบซะมุไร บุกป่าธุดงค์ไปเรื่อย ไม่หวั่นเกรงภยันตราย และเมื่อไปถึงภูมิภาคไค หรือจังหวัดยะมะนะชิ ในปัจจุบัน เย็นวันหนึ่ง ขณะที่กำลังเดินป่าอยู่ จู่ ๆ ความมืดเริ่มกลืนกินบรรยากาศโดยรอบอย่างน่าใจหาย สายลมนิ่ง ไร้เสียงนกร้อง บรรยากาศเงียบกริบเหมือนเวลาหยุดนิ่ง
“แปลก”
คงเป็นเพราะพื้นที่ตรงนั้นช่างห่างไกลจากหมู่บ้าน...พระไคริวคิด แต่เมื่อเห็นว่ามืดแล้ว จึงตัดสินใจค้างแรมในที่เปล่าเปลี่ยวแห่งนั้น แม้จะไม่สบายกายก็ตาม
ระหว่างเตรียมตัวจำวัดที่โคนต้นสนโดยใช้รากของมันต่างหมอน ชายผู้หนึ่งก็ปรากฏกายขึ้น อ้อ...คนตัดไม้รึ? ดูเหมือนคนตัดไม้เองก็ประหลาดใจว่าทำไมถึงได้มีคนมานอนอยู่ตรงนั้น จึงเดินเข้าไปหา และร้องถามเมื่อเห็นว่าเป็นพระ
“โอ๊ะ! พระคุณเจ้า ทำไมถึงมาจำวัดอยูตรงนี้ล่ะขอรับ แถวนี้ผีสางออกจะมากมาย ไม่กลัวดอกหรือท่าน ภูตผีปีศาจเชียวนะท่าน” เสียงของเขาฟังดูเนิบ ๆ แต่หนักแน่น
“โยมเอ้ย” พระไคริวขานรับอย่างสดใส “อาตมาเป็นพระธุดงค์ ไม่กลัวหรอก ผีสางนางไม้อะไรทั้งหลายน่ะ ถ้าหมายถึงพวกปีศาจจิ้งจอกแปลงกาย หรือหมาทะนุกิแปลงร่าง หรืออะไรทำนองนั้นละก็...ไม่เลย อาตมาชอบที่เงียบๆ เหมาะกับการทำสมาธิ”
“ท่านกล้ามากขอรับ” เขาตอบยิ้ม ๆ “แต่ที่ตรงนี้มันแรง ใคร ๆ ก็รู้ โยมขอเตือนท่านอีกสักครั้งเถอะ นอนตรงนี้อันตรายมากขอรับ ส่วนบ้านโยมอยู่ไม่ไกลเลย ขอนิมนต์พระคุณเจ้าไปที่บ้านได้ไหมขอรับ โยมไม่มีอะไรจะประเคนดอกขอรับ แต่อย่างน้อยก็มีหลังคา ท่านจำวัดในรั้วรอบชอบชิดน่าจะดีกว่านะขอรับ” ชาวบ้านคนนี้คะยั้นคะยออย่างแข็งขัน ขณะที่ความมืดปกคลุมเกือบทั่วบริเวณแล้ว
ในที่สุดพระไคริวก็รับนิมนต์ บ้านของชายคนนี้ดูทรุดโทรม วังเวง จะพังแหล่มิพังแหล่ แต่ทว่าสะอาดสะอ้าน บุรุษผู้นี้ช่างมีจิตใจดีงามยิ่งนัก กิริยาก็ดูดี...พระไคริวคิด
ครั้นเข้าไปในบ้าน สมาชิกทั้งชายและหญิงที่เหลือรวมสี่คนก็ออกมานมัสการพระธุดงค์อย่างนอบน้อม และคงเพราะสภาพความยากจน แม้แววตาส่อความสุข แต่สภาพร่างกายและหน้าตาแลดูซีดเซียว ท่าเดินและการขยับตัวเชื่องช้า ราวกับไร้เรี่ยวแรงกันทุกคน
“ดูจากท่าทางของโยม อาตมาเดาว่าโยมคงเคยใช้ชีวิตอยู่ในตระกูลดีกระมัง”
“โอ้ ถูกต้องแล้วขอรับท่าน โยมเคยรับใช้เจ้าครองแคว้น แต่โยมไม่เอาไหนเอง ถอดใจแล้วก็ถอนตัวออกมาอยู่อย่างนี้ โยมรู้สึกผิดอยู่เหมือนกัน”
“ไม่เป็นไรดอก คนเราอยู่ที่ไหนก็สร้างความดีได้”
จากนั้นพระไคริวก็สนทนากับสมาชิกของบ้านอีกครู่หนึ่ง แล้วชายตัดไม้ก็พาพระไคริวไปยังห้องแคบ ๆ ที่ต่อออกจากตัวบ้าน พระไคริวเปิดหน้าต่างดู ฟ้าเบื้องต้นสดใส แสงจันทร์ส่องไปทั่งบริเวณ ต่อมาก็เริ่มสวดมนต์และทำสมาธิ
คนในบ้านคงนอนกันหมดแล้ว มีแค่เสียงสวดกับเสียงหยดน้ำภายนอกลอยมาให้ได้ยินเป็นจังหวะ พอผ่านไปครู่หนึ่ง พระไคริวกระหายน้ำ จึงแง้มประตูห้อง แลเห็นร่างคนทั้งห้าลาง ๆ ครั้นเปิดประตูกว้างขึ้นก็เห็นร่างเหล่านั้นนอนเรียงกันอยู่ ดูเหมือนหลับสนิทกันหมด
พระไคริวมองไล่ขึ้นไปตั้งแต่ปลายเท้าของคนตัดไม้ ช่วงขาแลดูกำยำสมกับเป็นอดีตซะมุไร ครั้นไล่ไปถึงช่วงอก ก็ยังคงเห็นร่องรอยความแข็งแกร่ง ทว่าสายตาไปชะงักอยู่ตรงช่วงคอ...ไม่มีหัว!
พระไคริวตวัดสายตาฉับพลัน หันไปมองอีกสี่ร่างเหลือ แสงตะเกียงวูบวาบ ส่องให้เห็นเหมือนกันหมด! หัวหายไปไหน มีเพียงร่างนอนไม่ไหวติง
แย่แล้ว...กระสือ
ตอนนั้นเอง หัวของพวกมันก็โผล่พรวดขึ้นมา “หึ หยุดสวดแล้วรึ สมณะโล้น พวกเรารออยู่นานแล้ว” เสียงคนตัดไม้ว่า
“รอ?”
“ก็เจ้าสวดอยู่อย่างนั้น พวกเราเข้าใกล้ไม่ได้ ทีนี้แหละ ฮื่ม!”
แล้วหัวทั้งห้าก็พุ่งเข้าหาพระไคริว แลบลิ้นยาวตวัดซ้ายขวา ตาโปนเจือด้วยความมุ่งร้าย แยกกันไปล้อมหน้าล้อมหลัง
พระไคริวรีบนึกถึงคำสอนทันทีว่า หากเจอกระสือที่มันถอดหัวออกไปหากิน จะต้องย้ายร่างของมันไปจากที่เดิม แล้วมันจะเข้าร่างไม่ได้
นึกได้ดังนั้น พระไคริวก็ปัดป่ายหัวของพวกมัน และพยายามขยับร่างทั้งห้า
“หยุด หยุดเดี๋ยวนี้นะ” เสียงหญิงสาวกรีดร้อง “กรี๊ดดด!”
“แก ทำไมถึงทำแบบนั้น ข้าอุตส่าห์ให้ที่นอน” หัวชายตัดฟืนเข่นเขี้ยวถาม “ไม่สำนึกบุญคุณเลยนะ พวกเราจะกินแกซะให้เรียบ เจ้าสมณะโล้น”
พระไคริวทำสำเร็จ ร่างทั้งห้าถูกขยับ แต่หัวทั้งห้าก็ทวีความโกรธแค้นขึ้นอีก พุ่งเข้าหาพร้อมๆ กัน พระไคริวหลบวืด วิ่งออกไปข้างนอก แล้วหักกิ่งไม้ใหญ่ไว้เป็นอาวุธ หัวคนตัดไม้ตามออกไป
“แก ไอ้โล้น” หัวชายตัดไม้ส่งเสียงเคียดแค้น แล้วดิ่งเข้าไปที่แขนของพระฉับไว
พระไคริวยกแขนขึ้นทัน ฟาดไม้ลงไปพอดีกับจังหวะที่มันปรี่เข้ามางับ ปั้ก! พอสิ้นเสียง หัวนั้นก็สิ้นแรง แต่ปากของมันงับเข้าที่จีวร ติดคาอยู่อย่างนั้นและสิ้นพลังตายคาจีวร แล้วพระก็กลับเข้าไปในบ้าน สี่หัวที่เหลือเห็นเช่นนั้น ก็พากับลอยหนีเตลิดเข้าป่าไป
พระไคริวเองก็หมดเรี่ยวแรง โซซัดโซเซไปถึงศาลเจ้าโดยมีหัวกระสือติดคา ชาวบ้านเห็นเข้า ก็เป็นลมล้มพับกันไปหลายราย พอเจ้าหน้าที่เห็น ก็เข้าใจว่าเจ้านี่คงเป็นอาชญากรที่ฆ่าคน ตัดหัวเหยื่อแล้วเอามาผูกไว้กับจีวร พระไคริวเล่าเรื่องทั้งหมดให้ฟัง ทางการตรวจสอบแล้วเชื่อดังนั้น
แล้วพระไคริวก็ประกาศว่า “นี่คือหลักฐานแห่งความกล้าหาญของอาตมา ต่อให้เป็นมนุษย์ครุฑาเทวราช ปีศาจภูตผีตนใด อาตมาก็ไม่กลัว”
เกร็ดปิดท้าย
เรื่องที่เล่ามานี้อิงเค้าโครงจาก “โระกุโระ คุบิ” (ろくろ首;Rokuro kubi) หรือ “ผีคอยาว” ซึ่งเป็นเรื่องหนึ่งในหนังสือประมวลเรื่องผีของยะกุโมะ โคะอิซุมิ (小泉八雲; Koizumi, Yakumo) “โระกุโระ คุบิ” คือ โยไกชนิดหนึ่ง ส่วนใหญ่ถูกนำเสนอเป็นผู้หญิง มี 2 แบบ คือ แบบที่ยืดคอยาวออกไปหลอกหลอน กับอีกแบบหนึ่งคือ ถอดคอออกจากร่างไปหากิน แบบนี้มีชื่อเรียกเฉพาะว่า “นุเกะ-คุบิ” (抜け首;nuke-kubi) หรือผีกระสือญี่ปุ่นนั่นเอง
ท้ายนี้ สำหรับท่านที่ยินดีฝ่าความร้อนและตัดสินใจไปเที่ยวญี่ปุ่นหรือท่านอยู่ญี่ปุ่นอยู่แล้ว ตอนนี้มีนิทรรศการโยไกที่พิพิธภัณฑ์เอะโดะโตเกียว (Edo-Tokyo Museum) จนถึงวันที่ 28 สิงหาคม ผมไปมาแล้ว รู้สึกว่าน่าสนใจเมื่อได้เห็นโยไกหลากหลายแบบปรากฏในงานศิลปะมากมาย และยังได้ตระหนักด้วยว่าการนำคติชนดั้งเดิมมาประยุกต์ให้เข้ากับยุคสมัยก็ต่อยอดไปสู่ตัวเงินได้เหมือนกัน ดังที่ปรากฏเป็นเกมและการ์ตูนเรื่อง “โยไกวอตช์” (นาฬิกาโยไก/นาฬิกาผี) ซึ่งมองกันว่าเป็นคู่แข่งของโปเกมอน นี่คือหนึ่งในหลาย ๆ อย่างของญี่ปุ่นว่าด้วยการแปลงวัฒนธรรมให้เป็นตัวเงิน
จะเห็นได้ว่านอกจากผีจะช่วยให้คลายร้อนแล้ว ยังทำเงินได้ด้วย (โดยที่ไม่ต้องไปเข้าฝัน หรือรอให้ใครมาขูดต้นไม้) หวังว่าคติชนเรื่องภูตผีที่เล่ามานี้ คงจะเบี่ยงเบนความคิดที่ผูกติดอยู่กับความร้อนให้หันเหไปทางอื่นได้บ้างแม้จะชั่วครู่ชั่วยามก็ตาม ถ้ายังไม่หายร้อน ก็คงต้อง “ยืดคอ” มองทางต่อไปว่าเมื่อไรจะเลยเดือนสิงหาคม
**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุก ๆ วันจันทร์ ทาง www.manager.co.th