xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อไทยร่ำไห้ ญี่ปุ่นก็อาลัย

เผยแพร่:   โดย: โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงให้การต้อนรับสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะและสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะแห่งญี่ปุ่นระหว่างเสด็จเยือนประเทศไทยเมื่อปี 2534 (แฟ้มภาพ)
ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies


旅に病で夢は枯野をかけ廻る
(たびにやんで ゆめはかれのを かけめぐる)

ทะบิ-นิ-ยันเดะ ยุเมะวะ-คะเระโนะ-โอะ คะเกะเมะงุรุ
ด้วยเจ็บไข้กลางทาง ทุ่งร้างนั่นเฝ้าแต่ฝันเห็น เกิดเป็นภาพวิ่งวน


กวีมะสึโอะ บะโช รำพันถึงความดับสูญของชีวิตระหว่างการเดินทางของตนผ่านกลอนไฮกุ ซึ่งเป็นกลอนสั้น ๆ ของญี่ปุ่นที่มีฉันทลักษณ์ 5-7-5 เป็นบทที่เปล่าเปลี่ยว เป็นบทที่โด่งดัง เป็นบทที่ยังเตือนใจคนญี่ปุ่นมาจนทุกวันนี้ถึงการเกิด แก่ เจ็บ ตาย

ความตายเป็นสากล ความดีก็เป็นสากลเช่นกัน วันที่ 13 ตุลาคมที่ผ่านมา ผมจึงได้รับข้อความจากคนญี่ปุ่นหลายคนทันที เป็นสารที่แสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร์ สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร

นั่นหมายความว่าพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ของไทยพระองค์นี้มิได้เป็นเพียงมิ่งขวัญของชาวไทยเท่านั้น แต่พระราชกรณียกิจและพระมหากรุณาธิคุณ หรือหากพูดด้วยภาษาทั่วไปคือ “ความดี” ของพระองค์ท่านประจักษ์ชัดเป็นสากลมาเนิ่นนาน ในญี่ปุ่น ผู้ที่ผ่านการศึกษาระดับมัธยมขึ้นมา น้อยคนนักที่จะไม่รู้ว่าพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 แห่งราชอาณาจักรไทยคือมิ่งขวัญอันสูงสุดของคนไทยทั้งชาติ หลายคนสงสัยว่าพระองค์ทรงทำเช่นนั้นได้อย่างไร หลายคนยกย่องชื่นชมพระองค์เช่นเดียวกับคนไทย และอีกหลายๆ คนอิจฉาคนไทยที่โชคดีได้เกิดเป็นคนไทย

ทุกภาพแห่งการร่ำไห้ของชาวไทย ทุกมุมของถนนส่งเสด็จพระบรมศพที่มีลูกไทยหลานไทยยืนเรียงแถวยาวเหยียด ทุกข้อความถวายความอาลัยบนสื่อออนไลน์ และทุกลมหายใจของชาวไทยไม่ว่าจะอยู่ ณ มุมใดของโลกได้ยืนยันให้เห็นแล้วว่า ถึงแม้ประเทศไทยไม่ยิ่งใหญ่ ไม่ใช่มหาอำนาจในด้านใดๆ แต่เราโชคดีกว่าใครที่มหาราชาผู้ทรงเป็นเจ้าฟ้าที่รักข้าแผ่นดินยิ่งนักตลอดพระชนม์ชีพ นี่คือมหาบารมีอันเอกอุเหนืออำนาจใดๆ ที่ครองใจผู้คนได้แนบแน่นที่สุด

ญี่ปุ่นมีสถาบันจักรพรรดิ และคนญี่ปุ่นก็รักพระจักรพรรดิ คนญี่ปุ่นเข้าใจความรู้สึกของคนไทยทุกแง่มุมที่เกี่ยวกับสถาบันนี้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุขหรือเรื่องทุกข์ โดยเฉพาะในคราวนี้ ข้อความหนึ่งซึ่งผมได้รับจากเพื่อนชาวญี่ปุ่น คือ “ได้ทราบข่าวการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้ง ไม่เคยไปเมืองไทย แต่ทราบถึงพระบารมีที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนทั้งประเทศ และทำให้ผมนึกถึงตอนที่ยังเป็นนักเรียนชั้นประถม เมื่อคราวที่พระจักรพรรดิโชวะเสด็จสวรรคต”

นอกจากในระดับบุคคลต่อบุคคลแล้ว ในระดับองค์กร คนญี่ปุ่นก็ตระหนักดีถึงความรู้สึกที่คนไทยมีต่อสถาบันกษัตริย์ ผมได้รับอีเมลจากอาจารย์และผู้ร่วมงานที่เป็นชาวญี่ปุ่นหลายต่อหลายฉบับ ทุกคนต่างแสดงความเสียใจและเข้าใจ ละเว้นการพูดถึงเรื่องการงานโดยตรงเพื่อรอให้พ้นจากความโศกสลดไปก่อนสักพักหนึ่ง และยังมีตัวอย่างใกล้ตัวของผมอีก คือ ที่เรดิโอเจแปนภาคภาษาไทยซึ่งผมรับหน้าที่เป็นผู้ประกาศข่าวมาตลอดระยะเวลากว่าสิบปีจนถึงปัจจุบัน บรรณาธิการชาวญี่ปุ่นเข้าใจวัฒนธรรมไทยและความรู้สึกนึกคิดของคนไทย ข่าวภาคภาษาไทยจึงมักจะพิเศษกว่าข่าวของภาษาอื่น กล่าวคือ บรรณาธิการจะเลือกข่าวที่เกี่ยวกับสถาบันจักรพรรดิมาให้ผู้ประกาศได้นำเสนอ และในโอกาสนี้อีกเช่นกัน แม้เป็นสื่อต่างชาติ แต่ทางสถานีก็จัดทำข่าวพิเศษและรายการพิเศษเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวออกมานำเสนอ และนอกจากเรดิโอเจแปนแล้ว สื่อทุกแขนงของญี่ปุ่นก็นำเสนอข่าวไปในแนวทางเดียวกันทั้งหมด

เมื่อเอ่ยถึงสถาบันจักรพรรดิแห่งญี่ปุ่นแล้ว สิ่งที่จะละเลยไปมิได้คือ ท่ามกลางความสูญเสียของคนไทยทั้งชาติ สมเด็จพระจักรพรรดิและราชวงศ์ญี่ปุ่นก็ทรงสูญเสียพระสหายและบุคคลอันเป็นที่รักเช่นกัน คงด้วยพระชนมายุที่ใกล้เคียงกันและวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกันหลายด้าน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (พระราชสมภาพ พ.ศ. 2470) กับสมเด็จพระจักรพรรดิแห่งญี่ปุ่น (พระราชสมภาพ พ.ศ. 2476) จึงทรงมีพระราชไมตรีที่แน่นแฟ้นต่อกันมาเนิ่นนาน

ความสนิทนั้นเป็นเช่นไร? หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเยือนญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2506 นับเป็นการฟื้นฟูความความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่นครั้งสำคัญหลังสงครามสงบและการเจรจาอันเกี่ยวเนื่องกับสงครามคลี่คลาย ครั้งนั้นอยู่ในสมัยพระจักรพรรดิโชวะ และพระองค์ก็โปรดให้จัดการแสดงดนตรีถวาย

ในปีถัดมา เจ้าชายอะกิฮิโตะ มกุฎราชกุมาร (ซึ่งต่อมาขึ้นครองราชย์เป็นพระจักรพรรดิองค์ปัจจุบัน) พร้อมด้วยพระชายาก็เสด็จเยือนไทยอย่างเป็นทางการ สื่อมวลชนญี่ปุ่นรายงานอย่างกว้างขวางว่า ตอนนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินแนะนำสถานที่ต่างๆ ในแถบภูเขาของไทยให้มกุฎราชกุมารแห่งญี่ปุ่นได้ทรงทราบ และระหว่างที่กำลังเดินทางโดยเครื่องบินพระที่นั่งไปยังเชียงใหม่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงคลาริเน็ตถวายในเพลง Memories of You

นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงหารือถึงเรื่องอาหารการกินของประชาราษฎร์โดยเฉพาะเรื่องโปรตีน นั่นคือที่มาของการที่มกุฎราชกุมารแห่งญี่ปุ่นพระราชทานพันธุ์ปลา ซึ่งต่อมาคนไทยก็รู้จักในชื่อ “ปลานิล” อันเป็นชื่อพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรา บรรยากาศเหล่านี้มีแต่ผู้ที่สนิทกันเท่านั้นพึงกระทำต่อกันได้
เจ้าชายอะกิฮิโตะ มกุฎราชกุมาร (ก่อนขึ้นครองราชย์เป็นพระจักรพรรดิ) ให้การต้อนรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ระหว่างเสด็จพระราชดำเนินเยือนญี่ปุ่น
หลังจากมกุฎราชกุมารแห่งญี่ปุ่นทรงขึ้นครองราชย์เมื่อปี 2533 แล้ว สมเด็จพระจักรพรรดิพร้อมด้วยสมเด็จพระจักรพรรดินีก็เสด็จเยือนประเทศไทยอีกเมื่อปี 2534 และอีกครั้งในในปี 2549 เมื่อครั้งที่ทรงเข้าร่วมพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และมิใช่พระองค์เพียงลำพัง ตลอดระยะเวลาหลายปี พระบรมวงศานุวงศ์องค์อื่นของญี่ปุ่นและไทยก็เสด็จไปมาหาสู่กันเป็นประจำ (ย้อนอ่าน: มองย้อนความสนิทสนมราชวงศ์ญี่ปุ่น-ไทย)

ครั้นพระสหายทรงจากไป สมเด็จพระจักรพรรดิและจักรพรรดินีแห่งญี่ปุ่นจึงทรงไว้ทุกข์ทันทีเป็นเวลา 3 วันตั้งแต่คืนวันที่ 13 ตุลาคม ซึ่งไม่มีในธรรมเนียมของญี่ปุ่น อีกทั้งสมเด็จพระจักรพรรดิก็ทรงมีพระราชสาส์นส่วนพระองค์แสดงความเสียพระทัยส่งถึงสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถด้วย และในวันที่ 14 ตุลาคม นายกรัฐมนตรีชินโซ อะเบะของญี่ปุ่นก็เดินทางไปลงนามถวายอาลัย ณ สถานทูตไทยในกรุงโตเกียว

บัดนี้พ่อหลวงของปวงไทยเสด็จสวรรคตแล้ว ในช่วงเวลานี้ของคนไทย จะด้วยความบังเอิญอันใดก็ตาม ผมได้กลับมาอยู่ในแผ่นดินไทยพอดี และขอน้อมใจส่งเสด็จสู่สวรรคาลัยร่วมกับคนไทยทั้งประเทศ พ่อไม่อยู่ให้เราได้เห็นด้วยตาเนื้อ แต่ ธ จะสถิตในดวงใจลูกไทยหลานไทยตลอดกาล

Here and there, everywhereที่นี่ที่นั่นหรือที่ไหน
Scenes that we once knewภาพใดใดที่ผ่านผัน
And they all just recallจักเตือนใจทุกวารวัน
Memories of youองค์ราชันย์แห่งปวงไทย
(Memories of you—Frank Sinatra)

**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.manager.co.th

กำลังโหลดความคิดเห็น