xs
xsm
sm
md
lg

สะดุดคำ “ผู้หญิง” ในสังคมญี่ปุ่น

เผยแพร่:   โดย: โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์

ผู้หญิงในการเมืองญี่ปุ่น จากซ้ายไปขวา : โทโมมิ อินาดะ เป็นรัฐมนตรีกลาโหม, เร็นโฮ มุราตะ หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยญี่ปุ่น และ ยุริโกะ โคะอิเกะ ผู้ว่าการกรุงโตเกียว  (แฟ้มภาพเอพี)
ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies


สะดุดคำ คือ มุมพิเศษซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึกที่ลงทุกวันจันทร์ มุมนี้จะเป็นการบอกเล่า ‘ความเคลื่อนไหว’ หรือ ‘สิ่งที่อยู่ในความสนใจ’ ของคนญี่ปุ่นตามโอกาสพิเศษผ่าน ‘คำสำคัญ’ หรือ ‘คำเด่น’ ในช่วงเวลาหรือฤดูกาลนั้น มีกำหนดนำเสนอเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อให้ผู้อ่านสามารถติดตามสิ่งที่เป็นปัจจุบันหรือร่วมสมัยได้ในเวลาใกล้เคียงกับคนญี่ปุ่น อีกทั้งยังต้องการให้ผู้ที่เรียนหรือสนใจภาษาญี่ปุ่นได้นำคำหลักและคำที่เกี่ยวข้องไปใช้พูดคุยกับคนญี่ปุ่นหากมีโอกาสเพื่อให้บทสนทนาน่าสนใจและมีชีวิตชีวา โดยได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับชื่อคนหรือคำญี่ปุ่นไว้ในระดับหนึ่งเพื่ออำนวยประโยชน์แก่ผู้ที่ต้องการค้นคว้าเพิ่มเติม อนึ่ง การถ่ายเสียงจากภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาไทยในทุกบทความอิงหลักการเขียนคำทับศัพท์ภาษาญี่ปุ่นของราชบัณฑิตยสถานเป็นหลักแม้ไม่ทั้งหมดก็ตาม โดยเฉพาะเรื่องการใช้เสียงสั้นและเสียงยาวตามหลักภาษาญี่ปุ่น

ผู้หญิงในบริบททางสังคม

“เคารพผู้ชาย ไม่ใส่ใจผู้หญิง” หรือ “ดัน-ซง-โจะ-ฮิ” (男尊女卑;dan-son-jo-hi) ยังคงเป็นสำนวนที่สะท้อนลักษณะของสังคมญี่ปุ่นทุกวันนี้อยู่ แม้จะเริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้นบ้างก็ตาม

ญี่ปุ่นมีผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ในจำนวนประชากรทั้งหมด ณ วันที่ 20 กันยายน 2559 ประมาณ 127 ล้านคน มีผู้ชายราว 61 ล้าน 7 แสนคน และมีผู้หญิงราว 65 ล้าน 2 แสนคน แต่สังคมญี่ปุ่น ‘ยุคใหม่’ คือสังคมของผู้ชาย เมื่อขยายความจะได้ว่า ผู้ชายมีสถานภาพทางสังคมสูงและได้รับการเคารพยกย่อง ส่วนผู้หญิงมีสถานภาพทางสังคมต่ำกว่า

ถ้าวัดด้วยความรู้สึก ในฐานะคนที่อยู่ญี่ปุ่นมานาน ผมคิดว่าทุกวันนี้ สภาพเช่นนั้นยังไม่เปลี่ยนแปลงเท่าไร และเมื่อวัดด้วยสถิติ ก็ยิ่งยืนยันได้ในทำนองเดียวกัน ตัวเลขล่าสุดจากเวทีเศรษฐกิจโลก (World Economy Forum) ที่ประกาศออกมาเป็นดัชนีความไม่เท่าเทียมกันทางเพศระหว่างชายหญิงปี 2015 ปรากฏว่า ในจำนวน 145 ประเทศ ญี่ปุ่นอยู่ในอันดับที่ 101 ด้วยตัวเลข 0.670/1 (ไทยอยู่อันดับที่ 60 ด้วยตัวเลข 0.794/1) ตีความได้ว่าผู้หญิงไทยเป็นใหญ่ได้มากกว่าผู้หญิงญี่ปุ่นนั่นเอง

คำว่า “ผู้หญิง” ภาษาญี่ปุ่นใช้ตัวอักษร 女อ่านว่า “อนนะ” (onna) หรือ “โจะ” (jo) เช่น เมื่อรวมกับ 性 (sei) เป็น 女性 อ่านว่า “โจะเซ” (josei) แปลว่า “เพศหญิง” หรือ “ผู้หญิง” ในสังคมญี่ปุ่น ว่ากันว่า “ผู้หญิงไร้บ้านในสามโลก” (女三界に家なし;Onna sangai ni ie nashi) คำพังเพยว่าไว้เช่นนั้น ซึ่งมีความหมายว่า ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ผู้หญิงจะต้องรับฟังคำสั่งอยู่ตลอด โลกที่ 1 คือในวัยเด็ก ต้องฟังพ่อแม่ โลกที่ 2 คือเมื่อแต่งงาน ต้องฟังสามี และโลกที่ 3 คือเมื่อชรา ต้องฟังลูก สรุปว่าแทบไม่มีอิสระใด ๆ ในการตัดสินใจอะไรในโลกนี้ คงจะต่างจากของไทยอยู่บ้าง ดูเหมือนผู้หญิงไทยเป็นใหญ่ในโลกที่ 2 เพราะเพื่อน ๆ ผู้ชายหลายคนยืนยันกับผมว่า ก.ม.—ที่ไม่ได้แปลว่ากฎหมาย คือสิ่งที่ต้องยึดมั่น

ด้วยลักษณะทางสังคมเช่นนี้ จึงไม่ค่อยมีผู้บริหารที่เป็นผู้หญิงในบริษัทญี่ปุ่นเท่าไรนัก บางครั้งคนต่างชาติก็ตั้งข้อสังเกตว่า “เมื่อไปประชุมที่บริษัทญี่ปุ่น ทำไมมีแต่ผู้ชายวัยกลางคน ไม่เห็นมีผู้หญิงอายุน้อย ๆ อย่างดิฉันบ้างเลย (ทำให้เจรจายาก)” หรือเกิดความสงสัยว่า “ตอนไปบริษัทญี่ปุ่น ก็จะมีฝ่ายต้อนรับที่เป็นหญิงสาว แล้วก็จะมีคนนำทางที่เป็นสาวใหญ่อีกคนพาไปส่งที่ห้องประชุม แต่พอเข้าห้องประชุมกลับมีแต่ผู้ชาย ทำไมถึงแบ่งหน้าที่กันขนาดนั้น”

นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงตอนนี้ ซึ่งสะท้อนแนวโน้มที่ว่าผู้หญิงไม่ได้อยู่ในจุดที่จะตัดสินใจ หรือได้รับผิดชอบงานใหญ่ และผู้หญิงจำนวนไม่น้อยก็คิดว่า นั่นคือสภาวะที่ผู้ชายคิดเอาเองและยัดเยียดให้ผู้หญิง ถึงได้เกิดความเคลื่อนไหวเพื่อส่งเสริมสิทธิสตรีขึ้นมา และรัฐบาลญี่ปุ่นจึงต้องตั้ง “สำนักงานความเท่าเทียมทางเพศประจำสำนักคณะรัฐมนตรี” (Gender Equality Bureau Cabinet Office) ขึ้นมา เพื่อส่งเสริมบทบาทของสตรี

อย่างไรก็ตาม ในสมัยโบราณ ผู้หญิงญี่ปุ่นใหญ่กว่าผู้ชาย และอาจมองได้ว่าผู้ชายยุคนั้นใจกว้างกว่าผู้ชายยุคใหม่(?) เพราะยอมให้ผู้หญิงมีสถานะทางสังคมที่บงการชีวิตผู้ชายและคนหมู่มากได้ ขณะที่ผู้หญิงญี่ปุ่นปัจจุบันไม่ค่อยมีบทบาทในการตัดสินใจที่ส่งผลต่อคนรอบข้างเท่าไร ไม่ว่าจะในบริษัทใหญ่ ๆ หรือในระดับประเทศ แต่ถ้าสืบสาวไปถึงต้นตอ ก็จะพบความเชื่อดั้งเดิมที่ว่า เทพเจ้าที่สร้างญี่ปุ่นก็ไม่ใช่ผู้ชาย แต่เป็นผู้หญิง (อะมะเตะระซุ) (http://manager.co.th/Japan/ViewNews.aspx?NewsID=9590000091447) หรือในแง่ของจิตวิญญาณเชิงศาสนา ผู้หญิงก็มีบทบาทในฐานะผู้ที่ได้ยินเสียงของเทพเจ้า ในจุดนี้ก็ถือว่ามีสถานะสูงกว่าผู้ชาย

และญี่ปุ่นก็เคยมีแม้แต่จักรพรรดินีผู้ปกครองประเทศมาแล้วหลายพระองค์ในศตวรรษที่ 7-8 สมัยนะระนั้น (奈良;Nara; ค.ศ. 710-794) ญี่ปุ่นยึดถือบทบัญญัติจากจีนเป็นแบบอย่างในการสร้างกฎหมายของตัวเอง ระบบของจีนกำหนดให้ยอมรับจักรพรรดิหรือฮ่องเต้ที่เป็นชายเท่านั้น แต่ญี่ปุ่นเปิดทางให้ผู้หญิงเป็นจักรพรรดิได้ด้วย จนกระทั่งมีการกำหนดกฎมณเฑียรบาลในสมัยเมจิ (明治;Meiji; 1868-1912) ห้ามไม่ให้ผู้หญิงขึ้นเป็นจักรพรรดิอีกต่อไป เป็นอันว่าปิดฉากความเป็นใหญ่ของผู้หญิงในระดับสูงสุด
ยุริโกะ โคะอิเกะ
ยุริโกะ โคะอิเกะกับกระแสผู้หญิงในการเมือง

ระยะนี้กระแสผู้หญิงมาแรงในการเมืองญี่ปุ่น โดยเฉพาะผู้หญิงที่ชื่อยุริโกะ โคะอิเกะ (小池百合子;Koike, Yuriko) ซึ่งเป็นผู้ว่าการกรุงโตเกียวคนปัจจุบัน แม้จะไม่ใช่ผู้นำระดับประเทศ แต่ก็ช่วยเน้นให้เห็นกระแสโลกว่าด้วยผู้หญิงกับการเมือง ดังเช่นประธานาธิบดีของเกาหลีใต้ นายกรัฐมนตรีของเยอรมนี หรือนางฮิลลารี คลินตันของอเมริกา

กระแสผู้หญิงกับการเมืองในญี่ปุ่นเป็นคลื่นใต้น้ำมาหลายปี แต่ช่วงนี้กลายคลื่นที่โถมขึ้นมาให้เห็นเด่นชัด เพราะมีผู้หญิงก้าวขึ้นมาอยู่แถวหน้าอย่างต่อเนื่อง ย้อนไปเมื่อปี 2550 ญี่ปุ่นมีรัฐมนตรีกระทรวงการป้องกันประเทศ (ถ้าเป็นของประเทศอื่น มักเรียกว่ากระทรวงกลาโหม แต่วาทกรรมของญี่ปุ่นยืนยันว่าประเทศนี้ไม่มีทหาร มีแต่เจ้าหน้าที่ป้องกันประเทศ ชื่อกระทรวงจึงใช้ว่า “ป้องกันประเทศ”) เป็นผู้หญิงคนแรก ซึ่งครั้งนั้นก็คือยุริโกะ โคะอิเกะ และรัฐมนตรีคนปัจจุบันก็เป็นผู้หญิงอีก คือ โทะโมะมิ อินะดะ หรือกรณีที่หัวหน้าพรรคคนใหม่ของพรรคประชาธิปไตย ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านหลักของญี่ปุ่น ก็เป็นผู้หญิง คือ เร็นโฮ

ยุริโกะ โคะอิเกะเป็นที่สนใจอย่างกว้างขวางในช่วง 2 เดือนนี้ในฐานะ “โจะเซ-ชิจิ” (女性知事;josei chiji) หรือ “ผู้ว่าการหญิง” คนแรกของกรุงโตเกียว และเป็นคนที่ 9 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยชนะการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม ซึ่งมีผู้สมัครทั้งสิ้น 21 คน โคะอิเกะไม่ใช่คนโตเกียวโดยกำเนิด แต่เกิดที่จังหวัดเฮียวโงะ ตอนนี้อายุ 64 ปี เรียนจบจากมหาวิทยาลัยไคโรในอียิปต์ เคยเป็นล่ามภาษาอาหรับและเป็นนักข่าว ก่อนจะเริ่มเข้าสู่การเมือง
ยุริโกะ โคะอิเกะ ระหว่างหาเสียงในกรุงโตเกียว
ตอนที่เธอหาเสียงในกรุงโตเกียว ผมไปยืนฟังอยู่พักหนึ่งแม้ไม่มีสิทธิ์เลือกตั้งก็ตาม ได้ยินบางช่วงที่เธอพูดภาษาญี่ปุ่นสำเนียงคันไซ ฟังดูเป็นมิตร และหนักแน่น แต่ไม่ก้าวร้าว หน้าตาก็แลดูอ่อนกว่าอายุ เป็นผู้หญิงที่ดูสมาร์ทเลยทีเดียว เธอชูนโยบายสำคัญเพื่อแก้ปัญหาของโตเกียว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องความขาดแคลนสถานรับดูแลเด็กเล็ก ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อบรรดาแม่ ๆ ที่อยากจะทำงาน

ตอนนั้น ผมคิดแล้วว่าถ้าคราวนี้โตเกียวได้ผู้ว่าเป็นหญิงก็ไม่ใช่สิ่งแปลกแต่อย่างใด แต่คนที่คิดว่าแปลกก็มีแน่นอน ได้แก่ พรรคเสรีประชาธิปไตยซึ่งเป็นแกนนำรัฐบาลญี่ปุ่นขณะนี้และเป็นต้นสังกัดของเธอในตอนนั้น ทางพรรคเลือกที่จะส่งผู้ชายลงชิงชัย ส่วนโคะอิเกะไม่ได้รับการสนับสนุน แต่นักการเมืองหญิงคนนี้ไม่ท้อ และสู้ด้วยตัวเองต่อมา แล้วเสียงจากประชาชนก็แสดงผลอย่างท่วมท้นว่าไว้ใจเธอคนนี้ ด้วยคะแนนชี้ขาด 2,912,628 เสียง มากกว่าผู้สมัครจากพรรคเสรีประชาธิปไตยที่ได้อันดับ 2 ถึงล้านเสียงเศษ และตั้งแต่วันนั้น แทบไม่มีวันไหนที่ยุริโกะ โคะอิเกะไม่เป็นข่าว

แม้โตเกียวไม่ใช่ญี่ปุ่นทั้งประเทศ แต่เฉพาะโตเกียวที่เดียวก็มีประชากร 10% ของญี่ปุ่น คือประมาณ 13 ล้าน 6 แสนคน และมีงบประมาณถึง 13-14 ล้านล้านเยน พอ ๆ กับงบประมาณของสวีเดนทั้งประเทศ การที่โคะอิเกะได้รับความไว้วางใจด้วยคะแนนเสียงมากมายเพื่อให้เข้ามารับหน้าที่ด้วยเงินเดือนราว 1 ล้าน 7 แสน 4 หมื่นเยน (โบนัสอีกปีละ 2 ครั้ง) แน่นอนว่าความคาดหวังย่อมสูงหลังจากที่ผู้ว่าทั้ง 2 คนก่อนหน้านี้ต่างก็จำต้องออกจากตำแหน่งเพราะข่าวอื้อฉาวเรื่องเงิน
อาคารว่าการกรุงโตเกียว
ในวาระ 4 ปี โคะอิเกะจะต้องบริหารงานและบริหารคนที่เป็นลูกน้องประมาณ 16,000 คนเพื่อทำงานใหญ่ ๆ ให้ลุล่วง ซึ่งเธอก็เริ่มสร้างความฮือฮาแล้วด้วยการเสนอลดเงินเดือนตัวเองลงครึ่งหนึ่ง ตลอดจนการเลื่อนกำหนดการย้ายตลาดปลาสึกิจิจากที่เดิมไปยังย่านใหม่ เพราะมีกระแสข่าวว่าที่ใหม่อาจไม่ปลอดภัย และเรื่องใหญ่มากที่ต้องเตรียมพร้อมให้ดีคือการจัดโอลิมปิกในอีก 4 ปีข้างหน้า ซึ่งเธอก็บอกว่าจะทบทวนแนวทางการเป็นเจ้าภาพครั้งนี้เพื่อให้ใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าที่สุด

นี่คือตัวอย่างหนึ่งของผู้หญิงญี่ปุ่นที่ขึ้นมายืนแถวหน้าในสังคมของผู้ชาย เมื่อเริ่มมีผู้บุกเบิกเช่นนี้ ก็เชื่อได้ว่า ต่อไปญี่ปุ่นคงจะค่อยๆ เปลี่ยน และเปิดทางให้ผู้หญิงเป็นผู้นำมากขึ้นในทุกระดับ สำหรับในระดับชาตินั้น บุคคลที่น่าจับตามองอย่างมากคือเร็นโฮ ด้วยวัยสี่สิบปลาย ๆ เส้นทางการเมืองของเธอคงจะยาวนานอีกหลายปี

ใครจะรู้ ประเทศที่เป็นสังคม “ดัน-ซง-โจะ-ฮิ” อาจจะมีนายกรัฐมนตรีหญิงขึ้นมาสักวันก็ได้ ประเทศไทยยังทำได้ ทำไมญี่ปุ่นจะทำไม่ได้ ทว่าสิ่งที่ไทยได้ทำ แต่ญี่ปุ่นคงทำไม่ได้แม้กินข้าวเป็นอาหารหลักเหมือนกันก็คือการรับจำนำข้าว เพราะเขาส่งออกรถ ไม่ใช่ข้าว นั่นหมายความว่าเขาแค่กินข้าว ไม่ได้เอาข้าวมาหากิน
เร็นโฮ (ภาพเอพี)
**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.manager.co.th

กำลังโหลดความคิดเห็น