xs
xsm
sm
md
lg

โอกาสเติบใหญ่ในการงานของสาวญี่ปุ่นติดอันดับท้ายๆ ของโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: จุนโกะ อาชิดะ

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Japan’s rigid gender roles hamper women’s career progress
BY JUNKO ASHIDA
28/05/2016

ทศวรรษที่หายไปของญี่ปุ่นสร้างผลกระทบกว้างไกลอย่างยิ่ง อีกทั้งยังกระทบถึงบรรดาสตรีในตลาดแรงงานของประเทศ ปัจจุบันนี้ สตรีญี่ปุ่นจำนวนมากต้องเดินออกจากหน้าที่การงานที่กำลังก้าวหน้าเฟื่องฟูเพื่อดูแลครอบครัว นอกจากนั้น พวกเธอต้องต่อสู้อย่างหนักในอันที่จะหวนคืนยังสถานที่ทำงาน โดยต้องเผชิญกับข้อกำหนดอันเข้มงวดในเรื่องบทบาทเพศหญิงเพศชายอีกทั้งความคาดหวังทางสังคมว่าผู้หญิงควรจะต้องรับผิดชอบครอบครัวพร้อมกับทำงานสร้างความก้าวหน้าให้แก่ชีวิต ในการนี้รายงานของ World Economic Forum ว่าด้วยปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศ (Global Gender Gap) ได้ให้ข้อมูลชี้บ่งที่สำคัญยิ่ง กล่าวคือในการจัดอันดับ Global Gender Gap Index 2015 สถานการณ์ความเท่าเทียมหญิง-ชายของญี่ปุ่นอยู่ที่ระดับที่ย่ำแย่มาก โดยรั้งอันดับที่ 104 จาก 142 ประเทศ ซึ่งเป็นอันดับที่ต่ำกว่าทาจิกิสถาน และอินโดนีเซียเสียด้วยซ้ำ สถานการณ์นี้ดำเนินอยู่บนความอึดอัดคับข้องของบรรดาสตรีชาวญี่ปุ่น ซึ่งแม้จะจำต้องยอมรับสภาพ แต่ดวงใจของพวกเธอไม่ได้เห็นด้วยกับประเพณีนิยมดังกล่าว พร้อมกับคาดหวังถึงความเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างทางสังคม เพื่อแก้ปัญหาพื้นฐานสามด้าน คือ ปัญหาการไม่สามารถหาเนิร์สเซอรี่ที่จะนำลูกไปฝากเลี้ยงเพราะเนิร์สเซอรี่แต่ละแห่งล้วนรับฝากเด็กไว้เต็มกำลังความสามารถแล้ว ปัญหาการแบกภาระรับผิดชอบบิดามารดาผู้ชราและต้องการการดูแล และปัญหาการขาดความสนับสนุนจากคุณสามี ล้วนเป็นสิ่งปิดกั้นหนทางสำหรับสตรีญี่ปุ่นที่ปรารถนาจะมีอาชีพการงานเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของพวกเธอ

ฟูกูโอกะ,ญี่ปุ่น – คุณซาชิ มาเอะฮาชิ วัย 34 ปี วุฒิการศึกษาปริญญาตรีกฎหมายจากมหาวิทยาลัยหลักสูตร 4 ปีในญี่ปุ่น ปัจจุบันสมรสแล้ว มีบุตร 2 คนซึ่งเข้าโรงเรียนแล้ว เธอจึงสนใจจะกลับเข้าสู่ตลาดงานเพื่อสร้างความก้าวหน้าในหน้าที่การงานอีกครั้งหนึ่ง แต่ความเป็นจริงที่ต้องเผชิญคือ เธอจะต้องฝ่าฟันปัญหาอุปสรรคมากมาย ทั้งในทางกายภาพและทางจิตใจ ซึ่งปรากฏตั้งแต่ยังไม่ทันจะเริ่มออกหางานทำ

“ผู้หญิงเราจะไม่สามารถออกสู่โลกแห่งการงาน สร้างความก้าวหน้าแก่หน้าที่การงานได้ นอกเสียจากว่าพวกเธอแต่งงานกับชายซึ่งใจกว้างและเข้าใจเธอมากๆ อีกทั้งยังต้องมีคุณพ่อคุณแม่ซึ่งสามารถช่วยเลี้ยงดูลูกให้ ตลอดจนยังจะต้องมีสภาพแวดล้อมในที่ทำงานที่ดีเพียงพอ ตอนนี้ดิฉันหลุดจากเส้นทางนั้นมาเรียบร้อยแล้วค่ะ” คุณซาชิกล่าว ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา เธอมีปัญหานอนไม่หลับบ่อยมาก ซึ่งเธอคิดว่าน่าจะเป็นผลจากความตึงเครียดและความหดหู่ใจ

ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีชินโซะ อาเบะ เดินนโยบายส่งเสริมให้สตรีเข้าสู่ตำแหน่งงานระดับบริหารจัดการมากขึ้น เพื่อจะลดขนาดของปัญหาด้านความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศหญิง-ชายภายในสถานที่ทำงาน ลีลานี้ของนายกฯ อาเบะ นับเป็นความริเริ่มเพื่อช่วยพลิกฟื้นภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจ ซึ่งต้องเผชิญอยู่กับปัญหาโครงสร้างประชากรมีผู้สูงอายุจำนวนมาก ขณะที่กำลังแรงงานมุ่งหน้าหดตัว นายกฯ อาเบะตั้งเป้าหมายไว้อย่างเลอเลิศว่า ภายในปี 2020 สัดส่วนของผู้หญิงในแวดวงผู้บริหารผู้อำนวยการควรจะทวีขึ้นไปถึงระดับ 30% ทั้งนี้ สถิติเมื่อปี 2014 สัดส่วนของผู้บริหารสตรีในภาคเอกชนอยู่ที่ระดับประมาณแค่ 8% เท่านั้น

“นั่นเป็นวาทะที่ลอยละล่องเหนือก้อนเมฆอย่างแท้จริงค่ะ และมันไม่ได้แตะมาถึงดิฉันสักนิดเลย” คุณซาชิกล่าวพลางหัวเราะ โดยเอ่ยพาดพิงไปถึงแผนเลอเลิศของท่านอาเบะ

เรื่องราวของคุณซาชิมิใช่อะไรที่ไม่ธรรมดา ชะตากรรมย่ำแย่แบบที่เธอเผชิญนี้ได้เกิดขึ้นกับสตรีและมารดาชาวญี่ปุ่นที่ได้รับการศึกษาในระดับสูงจำนวนมหาศาล โดยคุณผู้หญิงเหล่านี้ปรารถนาอย่างยิ่งที่จะได้ทำงาน แต่ก็รู้สึกหมดกำลังใจ หรือกระทั่งสิ้นหวัง ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งของพวกเธอรู้สึกติดกับอยู่ในความคาดของสังคมที่กำหนดบทบาทของสตรีตามกรอบวัฒนธรรมว่า ผู้หญิงควรจะเป็นภรรยา มารดา และธิดา ในการนี้ สำหรับสตรีนางใดที่ปรารถนาจะกลับสู่ระบบงาน สตรีท่านนั้นจะต้องเผชิญกับปัญหาอุปสรรคมากมาย อาทิ การไม่สามารถหาเนิร์สเซอร์รี่ที่จะนำลูกไปฝากเลี้ยงเพราะเนิร์สเซอร์รี่แต่ละแห่งล้วนรับฝากเด็กไว้เต็มกำลังความสามารถแล้ว การแบกภาระรับผิดชอบบิดามารดาผู้ชราและต้องการการดูแล และการขาดความสนับสนุนจากคุณสามี

สตรีเท่าเทียมบุรุษนานสุดแค่ถึงมหาวิทยาลัย

สามสิบปีนับจากที่กฎหมายความเท่าเทียมหญิง-ชายภายในสถานที่ทำงานได้รับการบัญญัติขึ้นเป็นฉบับแรกภายในประเทศถิ่นปลาดิบ สตรีญี่ปุ่นยังต้องตะเกียตะกายให้ได้รับโอกาสก้าวหน้าในอาชีพการงาน รายงานของ World Economic Forum ว่าด้วยปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศ (Global Gender Gap) ได้ให้ข้อมูลชี้บ่งที่สำคัญยิ่ง กล่าวคือในการจัดอันดับ Global Gender Gap Index 2015 สถานการณ์ความเท่าเทียมหญิง-ชายของญี่ปุ่นอยู่ที่ระดับที่ย่ำแย่มาก โดยรั้งอันดับที่ 104 จาก 142 ประเทศ ซึ่งเป็นอันดับที่ต่ำกว่าทาจิกิสถาน และอินโดนีเซียเสียด้วยซ้ำ ทั้งนี้ ปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศของญี่ปุ่นย่ำแย่รุนแรงอย่างต่อเนื่อง ดังเห็นได้ว่าผลการสำรวจเมื่อ 10 ปีที่แล้ว (2006) ซึ่งมีการสำรวจไปใน 115 ประเทศ อันดับของญี่ปุ่นก็อยู่แค่ลำดับที่ 80

นอกจากนั้น เมื่อเจาะดูองค์ประกอบของดัชนีความไม่เท่าเทียมทางเพศ ซึ่งมีอยู่ 4 หมวด คือ ด้านสภาพปัญหาทางเศรษฐกิจ สภาพปัญหาทางการศึกษา สภาพปัญหาทางสุขภาพ และสภาพปัญหาทางการเมือง จะพบว่าสภาพปัญหาทางสุขภาพเป็นด้านที่ดูดีกว่าด้านอื่น โดยญี่ปุ่นอยู่ในลำดับที่ 42 แต่ไปเสียคะแนนในสภาพปัญหาด้านเศรษฐกิจและการเมือง ซึ่งถูกจัดไว้ในลำดับที่ 106 และ 104 ตามลำดับ ส่วนในสภาพปัญหาด้านการศึกษา ญี่ปุ่นตกอยู่ในลำดับที่ 84

ขณะที่สภาพปัญหาความเท่าเทียมหญิง-ชายในด้านสุขภาพมีภาพว่าดีกว่าด้านอื่น ณ ลำดับที่ 42 นั้น แต่กลับมีสัญญาณเตือนภัยเชิงสังคมที่น่าตกใจ เพราะเมื่อ 10 ปีที่แล้ว อันดับที่ญี่ปุ่นได้รับนั้นอยู่ที่หมายเลข 1

สตรีญี่ปุ่นมีความเท่าเทียมกับบุรุษแบบว่าไม่มากก็น้อยนั้น เนิ่นนานได้เพียงถึงช่วงที่เรียนชั้นมหาวิทยาลัย พวกเธอเริ่มเข้าสู่ตลาดงานไล่เลี่ยกับพวกผู้ชายที่เรียนจบมาพร้อมกัน เพียงเพื่อจะพบว่าใน 10 ปีต่อมาพวกเธอกับพวกเขามีฐานะทางอาชีพการงานแตกต่างกันสุดๆ ทั้งนี้ หลังจากทำงานต่อเนื่องราว 6-7 ปี สตรีจำนวนมากประสบภาวะอ่อนแรงหรือเจ็บออดแอด และเริ่มเดือดร้อนกับความรู้สึกถูกกดดันให้แต่งงานและเลิกราออกจากเส้นทางฟันฝ่าเพื่อความก้าวหน้าในอาชีพการงาน

สำหรับแม่หญิงญี่ปุ่นที่แต่งงานและทำงานไปด้วย ปัญหาอุปสรรคที่ต้องรับมือก็จะสาหัสหนักข้อเมื่อพวกเธอตั้งครรภ์ สถานการณ์หนึ่งในนั้นคือเรื่องของ “มาตาฮาระ” ซึ่งเป็นอะไรที่พื้นๆ ซึ่งสตรีตั้งครรภ์ในสถานที่ทำงานต้องเผชิญกันทั่วหน้า มาตาฮาระ ก็คือการล้อเลียนเหยียดหยามรังแกผู้อื่นที่ตั้งครรภ์ ซึ่งมักจะมาจากหัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงาน และเนื่องจากผู้หญิงญี่ปุ่นมักจะขี้เกรงใจแบบ “เมอิวากุ” (คือเกรงว่าจะเป็นเหตุให้ผู้อื่นต้องเดือดร้อนเพราะต้องรับภาระงานเพิ่มขึ้นเนื่องจากต้องแบ่งเบางานของเพื่อนสาวที่ตั้งครรภ์) ผสมกับแรงกดดันทางสังคม สาวแดนปลาดิบจำนวนมากจึงเลือกที่จะลาออกจากที่ทำงานแบบสมัครใจ

สตรีญี่ปุ่นซึ่งให้กำเนิดบุตรแล้วและยังเดินหน้าทำงานรับเงินเดือนต่อเนื่อง ในไม่ช้าพวกเธอจะได้พบว่าคุณสามีของพวกเธอไม่ค่อยจะให้ความช่วยเหลือสนับสนุน ในเรื่องนี้ กฎหมายญี่ปุ่นให้สิทธิ์พนักงานชายขอลาช่วยภรรยาหลังคลอดบุตร แต่ไม่มีชายญี่ปุ่นรายใดใช้สิทธิ์นี้ เพราะเกรงว่าจะส่งผลเสียหายต่อหน้าที่การงาน โดยจะเป็นภัยอันตรายต่อความก้าวหน้าในอาชีพ

อันที่จริง ผู้บ่าวในแดนปลาดิบเป็นบุรุษของโลกที่ลงมือทำงานบ้านน้อยที่สุดในบรรดาประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งปวง ในทางตรงข้าม ประมาณ 70% ของสตรีญี่ปุ่นลาออกจากงาน ซึ่งถือว่าสูงมาเมื่อเทียบกับสตรีในสหรัฐอเมริกาซึ่งมีการลาออกจากงานหลังมีบุตรในสัดส่วนเพียง 30% ทั้งนี้ ส่วนใหญ่ของพวกเธอจะไม่หวนกลับเข้าสู่ตลาดงานอีกเลย

‘ตายเสียเถิด, ญี่ปุ่น’

ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นมีจำนวนเนิร์สเซอร์รี่รับเลี้ยงเด็กไม่เพียงพอต่อดีมานด์ของเหล่าคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องเข้าออฟฟิศไปทำงานในช่วงกลางวัน และแม้จะมีความต้องการใช้บริการมากมายมหาศาล แต่อัตราการเปิดเนิร์สเซอร์รี่ใหม่ๆ นับว่าขยายตัวในอัตราที่ช้ามาก ทั้งนี้ สถิติ ณ เดือนเมษายน 2015 มีจำนวนเด็กมากกว่า 230,000 รายที่อยู่ในบัญชีรอคิวเข้าเนิร์สเซอร์รี่ ตัวเลขดังกล่าวสูงขึ้นมา 1,800 รายจากเมื่อหนึ่งปีก่อนหน้า

เมื่อหลายเดือนมาแล้ว มีคุณแม่จอมบล็อกเกอร์ท่านหนึ่งเขียนไว้ว่า “ลูกดิฉันล้มเหลวที่จะได้เข้าเนิร์สเซอร์รี่ของรัฐบาล ตายเสียเถิด ญี่ปุ่น” บล็อกนี้สามารถดึงดูความใส่ใจของผู้คนทั่วประเทศ และกระตุ้นให้หนังสือพิมพ์เศรษฐกิจรายใหญ่ที่สุดของประเทศให้ลุกขึ้นเขียนคอลัมน์เกี่ยวกับปัญหานี้

คุณแม่บล็อกเกอร์ท่านนี่รำพรรณว่า ไม่ว่านายกฯ อาเบะจะพยายามทำอะไรก็ตามภายในนโยบายใหม่ของท่าน มันไม่อาจเป็นจริงได้ “(ท่านนักการเมืองทั้งหลาย) พากันรับสินบน และอนุมัติเงินหลายตันให้แก่งานโอลิมปิกโตเกียว 2020 พวกท่านหวังให้เรามีลูกเยอะๆ แต่กลับไม่มีโรงเรียนเนิร์สเซอร์รี่มาช่วยรองรับเมื่อถึงเวลาที่สตรีจะกลับเข้าตลาดงาน ทำไมท่านไม่เฉือนงบโอลิมปิก แล้วมาสร้างมาเพิ่มจำนวนเนิร์สเซอร์รี่ให้มากขึ้น เพื่อที่ว่าผู้หญิงอย่างพวกเราจะไม่ต้องสูญเสียงานการของพวกเรา! เอาพวกสมาชิกสภานิติบัญญัติโละออกไปสักครึ่งหนึ่งจะดีไหม แล้วพวกท่านจะได้มีเงินมาสร้างเนิร์สเซอร์รี่เพิ่ม” คุณแม่เขียนไว้อย่างนี้

แล้วทำไมกันเล่าจึงมีเนิร์สเซอร์รี่ไม่เพียงพอ ทำไม่ญี่ปุ่นจึงไม่จัดสรรเงินงบประมาณให้เพียงพอแก่การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมสำหรับตอบสนองความต้องการของบรรดาผู้ปกครองที่ออกทำงานนอกบ้าน เป็นเพราะนักการเมืองญี่ปุ่นคิดว่านี่เป็นประเด็นของสตรี หาใช่ประเด็นของบุรุษ หรือประเด็นของประเทศ หรืออย่างไร ถ้าจะประมาณการหาคำตอบ จงมองไปยังรูปการของรัฐสภาญี่ปุ่น คำตอบส่วนหนึ่งอยู่ตรงนั้น: สมาชิกสภานิติบัญญัติที่เป็นเพศหญิงนั้นมีสัดส่วนเพียงประมาณ 8% ซึ่งทำให้ญี่ปุ่นรั้งอันดับแถวหลังๆ เอามากๆ ในเรื่องของจำนวนอิสตรีในสภานิติบัญญัติ โดยอยู่ ณ อันดับที่ 157 จากจำนวนประเทศและรัฐทั้งหมด 185 แห่งทั่วโลก ตามการสำรวจของธนาคารโลก

แม่หญิงญี่ปุ่นวัยละอ่อนกับทางแพร่ง: จะเลือกงานหรือเลือกชีวิตแต่งงาน

แม่หญิงวัยทำงานเมื่อเข้าสู่อายุขัย 20 กว่าๆ และ 30 กว่าๆ ต้องเผชิญกับแรงกดดันที่สาหัสมากขึ้นเรื่อยๆ ที่ต้องต้องเขาประตูวิวาห์และตั้งครอบครัว เมื่อถึงหลักอายุที่ 35 คุณพ่อคุณแม่ของพวกเธอ ตลอดจนเพื่อนฝูง มิตรสหาย และใครต่อใคร ต่างจะเริ่มเป็นห่วงกับสถานภาพโสดสนิทของพวกเธอ ในทางตรงข้าม การที่ผู้บ่าวครองความโสดไปจนถึงหลักอายุที่ 35 กลับเป็นอะไรที่ปกติธรรมดามาก บางชายหนุ่มถึงกับตั้งใจไว้เลยว่าจะยอมแต่งงานก็เมื่อเข้าสู่ช่วงอายุ 30ปลายๆ หรือช่วง 40 ปีไปโน่นเลย ในการนี้ มีผลสำรวจแหล่งหนึ่งรายงานว่า 43% ของแม่หญิงที่ใช้ชีวิตในกรุงโตเกียวยังอยู่เป็นโสดหน้าใสแต่อายุขัยจะปาเข้าไป 30 ปี และ 35 ปีก็ตาม

คุณคาโอริ นิชิฮาระ วัย 37 ปี ซึ่งทำงานในสำนักงานท่องเที่ยวชั้นนำแห่งหนึ่ง เล่าว่าเธอจะไม่สามารถยืนอยู่ในสถานภาพการทำงานอย่างนี้ได้ถ้าเธอเข้าประตูวิวาห์เหมือนผู้หญิงญี่ปุ่นทั่วไป คุณคาโอริประจำอยู่ในสำนักงานที่ประเทศจีนมาได้สองสามปีแล้ว และงานส่วนหนึ่งของเธอคือการเดินทางไปทั่วโลก ทำงานล่วงเวลาหลายๆ ชั่วโมงทุกวัน บางครั้งก็ต้องทำงานในช่วงสุดสัปดาห์ด้วย คุณพ่อคุณแม่ของคุณคาโอริ และพี่สาวของเธอซึ่งเป็นคุณแม่เต็มเวลาให้แก่ลูกสองพระหน่อ พากันเป็นห่วงวิถีชีวิตของเธอ เพราะพวกเขาคิดว่าสำหรับคุณคาโอริแล้ว เวลาที่จะหาสามีดีๆ และตั้งครอบครัวน่ารักอบอุ่น นับวันแต่จะลดน้อยถดถอย

มีเกร็ดที่น่าประหลาดใจในมุมหนึ่งว่า มหาวิทยาลัยในเมืองเล็กๆ บางแห่งมีการเรียนการสอนให้นักศึกษาสตรีมีองค์ความรู้ว่าด้วย “วิธีวางแผนชีวิตที่ดี” เพื่อที่ว่าในหลายๆ ปีข้างหน้า นักศึกษาหญิงทั้งปวงจะไม่ตกอยู่ในปัญหาว่าได้แต่งงานช้าเกินไป แล้วต้องเดือดร้อนกับปัญหาการสืบพันธุ์

รายงานหลายฉบับให้ข้อมูลว่าเด็ก 1 ราย จากเด็กทุกๆ 24 รายในประเทศญี่ปุ่นที่ถือกำเนิดขึ้นมาในปัจจุบันนั้นเป็นเด็กหลอดแก้ว โดยปฏิสนธิด้วยวิธีสังเคราะห์ ในปี 2013 จำนวนของความพยายามทำการปฏิสนธินอกร่างกายอยู่ที่ 368,754 เคส เทียบเท่ากับ 3.6 เท่าของเมื่อ 10 ปีก่อน ในเวลาเดียวกัน ก็มีข้อเท็จจริงอีกด้านหนึ่งว่า อัตราเกิดในญี่ปุ่นอยู่ที่เพียง 1.42 ถือว่าต่ำเกือบที่สุดของโลก โดยเป็นรองให้แก่เกาหลีใต้ชาติเดียว

เมื่อเป็นเช่นนี้ ทำไมมหาวิทยาลัยต่างๆ จึงกดดันให้สตรีวัยเยาว์เข้าสู่ประตูวิวาห์และมีทายาทเร็ววันนัก เรื่องอย่างนี้ปัจจัยว่าด้วยฉันทะส่วนบุคคลคือปัจจัยสำคัญ กระนั้นก็ตาม ทำไม่สถานศึกษาระดับสูงจึงเดินหน้ากดดันผู้หญิง แทนที่จะช่วยเหลือสนับสนุนให้พวกเธอเห็นทางเลือกที่จะดำเนินชีวิตได้ดีขึ้นและง่ายดายมากขึ้น ความจริงมีอยู่ว่านี่ไม่ใช่ประเด็นของตัวผู้หญิงเอง แต่เป็นประเด็นที่ใหญ่โตกว่านั้นมาก ซึ่งควรจะดูแลจัดการโดยสังคมโดยรวม ทางแก้ปัญหาควรจะครอบคลุมถึงภาระความรับผิดชอบของบริษัทนายจ้างและรัฐบาล ทำไม่ผู้หญิงต้องเป็นผู้แบกรับความรับผิดชอบโดยลำพัง

‘ดิฉันไม่ใช่ซูเปอร์วูเมนนะคะ’

“ดิฉันไม่ใช่ซูเปอร์วูเมนนะคะ คุณขา” กล่าวโดยแม่หญิงญี่ปุ่นวัย 45 ปีซึ่งเคยเป็นสาวมุงานบ้างานสุดๆ เธอมีปริญญาทางธุรกิจจากการศึกษา 4 ปีในมหาวิทยาลัย เธอทำงานในบริษัทข้ามชาติหลายแห่งในกรุงโตเกียว “ดิฉันทำงานแบบบ้าคลั่ง มุงานลุยงานให้ลุล่วงจนดึกดื่นตลอดช่วงวัย 20 กว่าปี และ 30 กว่าปี พร้อมกับบริหารจัดการชีวิต ดูแลสามีและลูกเล็กหลายคน กระนั้นก็ตาม สามีของดิฉันเป็นผู้ชายหัวโบราณมาโดยตลอด ดังนั้น ดิฉันจะไปคาดหวังอันใดจากเขาได้ใช่ไหมคะ ในท้ายที่สุด ดิฉันต้องตัดสินใจเลิก ดิฉันไม่มีทางเลือก” เธอกล่าว

ด้านสามีของคุณผู้หญิงท่านนี้ทำงานในบริษัทเทรดดิ้งชั้นนำของญี่ปุ่น และทุกคืนจะกลับถึงบ้านหลัง 4 ทุ่ม เขาไม่มีเวลาให้แก่งานบ้าน หรือการดูแลพูดคุยกับลูกๆ “ในประเทศญี่ปุ่น พวกผู้ชายถูกส่งเสริมให้ทำงานหนัก และถือเป็นเรื่องโอเคถ้าพวกเขาจะยอมสละชีวิตด้านครอบครัวเพื่อเห็นแก่งานในความรับผิดชอบ แต่ผู้หญิงจะถูกคาดหวังให้ทุ่มเทแก่ภาระทั้งสองด้าน คือทั้งทำงานให้เลอเลิศ และทั้งดูแลครอบครัว แต่มันไม่มีทางหรอกที่พวกเราจะสามารถทำได้ทุกสิ่งอย่าง” คุณผู้หญิงท่านนี้ปรับชีวิตมาเป็นครูสอนภาษาอังกฤษพาร์ทไทม์ให้แก่เด็กนักเรียนประถม โดยที่เด็กๆ เข้ามาเรียนที่บ้านเธอ ดังนั้น เธอจึงสามารถสร้างสมดุลระหว่างการงานกับครอบครัว

นายหญิงซีอีโอของบริษัทอินเทอร์เน็ตแห่งหนึ่ง ซึ่งแต่งงานกับหนุ่มต่างชาติ เล่าว่าเธอโชคดีที่สามีของเธอไม่มีชีวทัศน์แบบหนุ่มญี่ปุ่นโบราณทั่วไป เขาจึงไม่คาดหวังให้ผู้หญิงทำงานบ้านเกือบทุกอย่างพร้อมกับเลี้ยงดูลูกๆ ในการนี้ สามีภรรยาคู่นี้ต่างทำงานเต็มเวลาและจ้างแม่บ้านมาทำความสะอาดกับดูแลบ้าน และจ้างพี่เลี้ยงมาช่วยเลี้ยงลูกชายวัยหนึ่งขวบของพวกเขา คุณสามีจะป้อนข้าวลูกๆ และทำกล่องข้าวให้ลูกสาววัย 7 ปี ทุกเช้า นายหญิงซีอีโอท่านนี้บอกว่าในบ้านของเธอมีแม่ 2 คนและมีพ่อ 2 คน กระนั้นก็ตาม แม้เธอจะมีสภาพแวดล้อมแบบฟ้าประทานดั่งที่หญิงญี่ปุ่นอื่นๆ มากมายมองดูครอบครัวเธอ เธอยังคร่ำครวญว่าปัจจัยเอื้ออื่นๆ ควรที่จะดีกว่าที่เป็นอยู่

“ดิฉันคิดว่าโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมในประเทศแห่งนี้ ที่จะมาช่วยสนับสนุนให้ผู้หญิงเราสามารถมั่นคงในตำแหน่งงานที่มีภาวะแข่งขันสูงนั้น ยังไม่เพียงพอเอาเสียเลย” เธอกล่าวไว้อย่างนั้น และเสริมด้วยว่าบันไดไต่เต้าอาชีพการงานของเธอ ยังไม่ราบรื่นและง่ายดายเอาเสียเลย

“ขณะที่การสนับสนุนจากคู่ชีวิตนั้นนับว่าสำคัญมาก กระนั้นก็ตาม โครงสร้างพื้นฐานทางสังคมซึ่งจัดสรรโดยรัฐบาลและบริษัทนายจ้าง เป็นส่วนที่มีความสำคัญจริงๆ” นายหญิงซีอีโอกล่าว ทั้งนี้ในวันที่เธอให้พบเพื่อสัมภาษณ์นั้น เธอเพิ่งกลับมาจากการเดินทางไปทำธุรกิจที่สหรัฐอเมริกานานหนึ่งสัปดาห์ โดยในระหว่างนั้น สามีของเธอรับเหมาดูแลเด็กๆ และทำงานออฟฟิศไปด้วย

ในฐานะที่เป็นคุณแม่ลูกสอง ดิฉันอยากจะเห็นประเทศแห่งนี้มีความเปลี่ยนแปลง เพื่อที่ว่าลูกสาวของดิฉันจะเติบโตขึ้นมาโดยมีสิ่งแวดล้อมที่ดีกว่าสภาพที่ดิฉันประสบ และเป็นสิ่งแวดล้อมที่ลูกๆ จะสามารถติดตามความใฝ่ฝันในเส้นทางอาชีพ พร้อมกับสามารถสร้างสมดุลกับชีวิตครอบครัวได้เป็นอย่างดี คนญี่ปุ่นเรามีภาพลักษณ์โบราณเก่าก่อนว่ามีจิตใจแบบ “กามาน” และ “ตาเอรุ” ซึ่งก็คือทัศนคติแบบที่เก็บความรู้สึกไว้ภายใน และทัศนคติแบบอนุรักษ์และอยู่ไปกับสิ่งที่ต้องเผชิญ ดิฉันไม่อยากให้ลูกสาวของดิฉันต้องมีชีวิตอย่างนั้น ดิฉันอยากให้ลูกๆ มีอิสระมากกว่านั้น และดำเนินชีวิตปลอดจากข้อกำหนดเคร่งครัดในเรื่องบทบาทของเพศหญิงเพศชาย อีกทั้งปลอดจากความคาดหวังจากสังคม แต่จะเป็นเช่นนั้นได้ ต้องมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจากความพยายามร่วมกันระหว่างรัฐบาล ผู้บริหารบริษัท และทุกคนที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้เป็นเพราะว่าในท้ายที่สุด มันมีความหมายอย่างยิ่งต่ออนาคตของประเทศเรา และต่อลูกหลานเราในหลายๆ เจนเนอเรชั่นข้างหน้า

จุนโกะ อาชิดะ เป็นครูสอนภาษาอังกฤษพาร์ทไทม์ และอดีตนักข่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น