ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -บนบทบาทแห่งตำแหน่งผู้ว่าการกรุงโตเกียวที่เป็นผู้หญิงคนแรกของ Yuriko Koike ซึ่งเริ่มเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 2 สิงหาคมที่ผ่านมา การปรากฏตัวด้วยชุดกิโมโนสีอ่อน เข้าร่วมพิธีรับการส่งมอบธงประจำกีฬาโอลิมปิก ในฐานะเจ้าภาพการแข่งขันครั้งต่อไป ให้ภาพของความสุภาพลุ่มลึกและแฝงด้วยรากฐานทางวัฒนธรรมอย่างยากปฏิเสธ
นักการเมืองหญิงนาม Yuriko Koike ในวัย 64 ปีผู้นี้ ไม่ใช่มือใหม่ที่ด้อยประสบการณ์ หากแต่ในช่วงกว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา เธอได้รับการจับตามองและคาดหมายว่าจะก้าวขึ้นสู่บทบาทสำคัญในทางการเมืองญี่ปุ่นในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้รับการคาดหมายว่าอาจจะได้รับเลือกและเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของญี่ปุ่นในอนาคตอันใกล้
แม้ว่าการคาดหมายดังกล่าวอาจแปลกแยกออกจากความเป็นไปได้สำหรับสังคมญี่ปุ่น ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นสังคม male dominant มาอย่างยาวนาน แต่ความเป็นมาและเป็นไปของ Yuriko Koike กลับสะท้อนภาพที่ข้ามพ้นขีดจำกัดนานาประการไปก่อนหน้านี้แล้ว
Koike เกิดเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 1952 ที่เมือง Ashiya จังหวัด Hyogo และผ่านการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจาก Konan Girl's Junior/Senior High School ก่อนที่จะเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษาในคณะสังคมวิทยา (School of Sociology) ที่มหาวิทยาลัย Kwansei Gakuin ในปี 1971
เรื่องราวว่าด้วยภูมิหลังทางการศึกษาของ Yuriko Koike อาจไม่มีสิ่งใดน่าสนใจติดตาม หากไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่ว่าในปี 1972 เธอได้ย้ายเข้าศึกษาในคณะ Oriental Studies ของ American University of Cairo ที่ประเทศอียิปต์ เพื่อเรียนวิชา Arabic Intensive Course และเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยไคโรจนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ในปี 1976
เมื่อกลับสู่มาตุภูมิ Yuriko Koike เริ่มอาชีพด้วยการเป็นล่ามภาษาอาหรับ และก้าวเข้าสู่แวดวงสื่อมวลชนด้วยการเป็นผู้ประสานงาน และสัมภาษณ์ Yasser Arafat และ Qaddafi ให้กับ Nippon TV ก่อนผันตัวมาเป็นผู้ประกาศข่าวและผู้ดำเนินรายการให้กับทั้ง Nippon TV และ TV Tokyo ตั้งแต่เมื่อปี 1978 และต่อเนื่อง ยาวนานนับ 10 ปี
ชีวิตทางการเมืองของ Yuriko Koike เริ่มขึ้นในปี 1992 เมื่อเธอได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกวุฒิสภา (House of Councillors) ในสัดส่วนของพรรค Japan New Party และได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (House of Representatives) จากเขตเลือกตั้งในจังหวัด Hyogo ในปีต่อมา
แม้ว่า Yuriko Koike จะได้รับการเลือกตั้งให้เป็นผู้แทนจากจังหวัด Hyogo อีกหลายครั้ง แต่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษ 1990 ซึ่งประกอบด้วยการยุบย้าย และสร้างพรรคใหม่ของกลุ่มขั้วการเมืองที่ดำเนินอย่างต่อเนื่อง ทำให้ Yuriko Koike มีสถานะเป็นสมาชิกรัฐสภา ภายใต้สังกัดของพรรคการเมืองที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น New Frontier Party หรือ Liberal Party ซึ่งเธอมีส่วนร่วมเป็นสมาชิกก่อตั้งพรรค และ New Conservative Party ก่อนที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกของ Liberal Democratic Party (LDP) ตั้งแต่ปี 2003 ถึงปัจจุบัน
ความน่าตื่นตาตื่นใจ ของ Yuriko Koike มิได้จำกัดอยู่เฉพาะบทบาทในตำแหน่งทางการเมืองหลากหลายตลอดระยะเวลาที่เธอโลดแล่นอยู่ หากประสบการณ์ในฐานะนักสื่อสารมวลชนทำให้ Yuriko Koike สนใจและให้ความสำคัญกับงานสารนิเทศและการประชาสัมพันธ์อย่างหาตัวจับยาก
ในปี 2005 เธอได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อม ซึ่งพันธกิจเร่งด่วนของ Yuriko Koike ในด้านหนึ่งอยู่ที่การจัดวางมาตรการสำหรับลดปริมาณสารทำลายชั้นบรรยากาศให้สัมฤทธิผล ตามข้อกำหนดในปฏิญญาเกียวโต (Kyoto Protocol) และในฐานะเจ้าภาพจัดงาน World Exposition 2005 (Aichi Expo 2005) ซึ่ง Yuriko Koike ไม่ได้ปล่อยให้ผ่านเลยอย่างไร้ความหมาย
Koike เสนอโครงการ Cool Biz และเปิดตัวออกสู่สาธารณะอย่างมีสีสัน เมื่อ Junichiro Koizumi นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในขณะนั้น พร้อมด้วยบุคคลระดับนำในคณะรัฐบาล ต่างขานรับนโยบายดังกล่าวด้วยการปรับเปลี่ยนเครื่องแต่งกายและเป็นพรีเซ็นเตอร์กิตติมศักดิ์ให้กับ Cool Biz ตั้งแต่เมื่อเริ่มโครงการ
ขณะที่ Cool Biz กลายเป็นกุศโลบายที่เข้ามาเติมเต็มการขับเคลื่อนนโยบายหลักของรัฐบาลญี่ปุ่นในห้วงเวลาดังกล่าว และมีผลสืบเนื่องไปสู่มิติอื่นๆ อย่างกว้างขวางยิ่งกว่าการเป็นนโยบายประหยัดพลังงาน และลดปริมาณสารเรือนกระจกที่ดำเนินอยู่ก่อนหน้าเสียอีก
ผลจาก Cool Biz ที่มีต่อแวดวงธุรกิจญี่ปุ่น มิได้จำกัดอยู่เฉพาะรูปแบบของเครื่องแต่งกายที่เปลี่ยนไปเท่านั้น หากกรณีดังกล่าวได้ส่งผลให้เกิดความตื่นตัวในการออกแบบและการใช้วัสดุเส้นใยจากธรรมชาติในการตัดเย็บ ขณะที่ห้างสรรพสินค้าชั้นนำทั่วประเทศญี่ปุ่น เริ่มจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้า Cool Biz อย่างเอิกเกริก ซึ่งมีส่วนกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงฤดูร้อนไปโดยปริยาย
นอกจากนี้ Yuriko Koike ยังผลักดันให้รัฐสภาพิจารณาแก้ไขกฎหมายว่าด้วยวัสดุห่อหุ้มและบรรจุภัณฑ์ เพื่อให้สอดรับกับนโยบาย 3Rs (Reduce, Reuse and Recycle) ซึ่งย่อมมีผลนำไปสู่การปรับเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจอุตสาหกรรม และมาตรการทางเศรษฐกิจการค้าของญี่ปุ่นทั้งระบบอีกด้วย
ในปี 2007 ภายใต้รัฐบาลของ Shinzo Abe สมัยแรกเธอได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ผู้หญิงญี่ปุ่นได้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว แม้ว่าเธอจะลาออกจากตำแหน่งหลังจากปฏิบัติหน้าที่ได้เพียง 54 วันก็ตาม
ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจประการหนึ่งก็คือในช่วงปี 2008 เธอเคยเสนอตัวร่วมชิงชัยสำหรับตำแหน่งผู้นำพรรคเสรีประชาธิปไตย (Liberal Democratic Party: LDP) ซึ่งถือเป็นผู้สมัครหญิงคนแรกที่เข้าสู่การแข่งขันเพื่อเป็นผู้นำพรรคที่อาจปูทางให้เธอเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของญี่ปุ่นอีกด้วย
แม้ว่าผลการลงคะแนนในครั้งนั้นจะทำให้เธอพ่ายแพ้ด้วยการได้รับเสียงสนับสนุนเพียง 46 เสียงจากสมาชิกพรรคที่มีสิทธิออกเสียงรวม 527 เสียง โดย Taro Aso เป็นผู้ที่รับเลือกให้เป็นผู้นำพรรค LDP ด้วยเสียงสนับสนุนรวม 351 เสียงและก้าวสู่การเป็นนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นต่อไป
แต่นั่นไม่ได้ทำให้ชื่อของ Yuriko Koike จางหายไปจากวงการเมืองญี่ปุ่น เพราะเธอยังดำรงบทบาทเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 1993-2016 ก่อนที่จะก้าวสู่การสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับการเมืองญี่ปุ่นด้วยการเป็นผู้หญิงคนแรกที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการกรุงโตเกียวจากการเลือกตั้งเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ในปี 2013 ชื่อของ Koike ถูกกล่าวถึงในฐานะที่จะเป็นผู้สมัครคนสำคัญในการชิงชัยตำแหน่งผู้ว่าการกรุงโตเกียว หลังจากที่ Naoki Inose ผู้ว่าการฯ และเป็นประธานคณะกรรมการเสนอชื่อโตเกียวให้ได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก 2020 เป็นผลสำเร็จจากการลงคะแนนเลือกเมื่อเดือนกันยายน 2013 ต้องเผชิญกับคดีอื้อฉาวทางการเงิน จนต้องลาออกจากตำแหน่ง
แต่ Koike กลับเลือกที่จะไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งซึ่งกำหนดในเดือนกุมภาพันธ์ 2014 และทำให้ Yoichi Masuzoe ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งพร้อมกับบทบาทที่จะต้องเร่งเตรียมการพัฒนาและก่อสร้างเพื่อรองรับการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก 2020 ที่กำลังงวดเข้ามา
Yoichi Masuzoe คงมีโอกาสได้ไปเป็นตัวแทนของกรุงโตเกียวในพิธีรับมอบการเป็นเจ้าภาพ Tokyo 2020 หากไม่ปรากฏข่าวนับตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม 2016 ถึงการใช้เงินจากกองทุนการเมืองไปอย่างไม่เหมาะสม ก่อนที่ในเดือนพฤษภาคม เขาจะแถลงข่าวขออภัยที่ใช้เงินของรัฐไปอย่างสุรุ่ยสุร่ายและผิดวิธี โดยยืนยันว่าจะชดใช้เงินจำนวนกว่า 4.4 ล้านเยนให้กับรัฐแต่ปฏิเสธที่จะลาออก
ถึงกระนั้นกระแสกดดันที่ถาโถมเข้าใส่ Yoichi Masuzoe ทั้งจากความไม่พึงพอใจของประชาชนและกลุ่มการเมืองที่เคยสนับสนุน ทำให้เขาต้องจำใจยื่นใบลาออก แม้จะพยายามหน่วงเวลาเพื่อให้ได้เข้าร่วมในพิธีปิด Rio 2016 ในฐานะตัวแทนกรุงโตเกียว อย่างยิ่งยวด
การเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างซึ่งถูกกำหนดขึ้นในวันที่ 31 กรกฎาคม 2016 กลายเป็นความท้าทายที่ทำให้ Yuriko Koike ประกาศตัวเข้าชิงชัย จนได้รับชัยชนะและกลายเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการกรุงโตเกียวนี้ ทั้งที่ได้รับการปฏิเสธและไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นทางการจากพรรค LDP ก็ตาม
ประเด็นการหาเสียงในช่วงการเลือกตั้งผู้ว่าการฯ ที่น่าสนใจของ Koike ซึ่งมีภาพลักษณ์ของการเป็นผู้สนับสนุน pop culture ของญี่ปุ่นอย่างแข็งขัน อยู่ที่การประกาศว่าเธอต้องการปรับโฉมหน้าและภูมิทัศน์ของกรุงโตเกียวทั้งระบบให้เป็น Anime Land ซึ่งดูเหมือนจะสอดรับกับยุทธศาสตร์ Cool Japan และต่อยอดนโยบายเศรษฐกิจแบบ Creative Economy ของ Abenomics 2.0 ไปในคราวเดียวกัน
แต่นั่นอาจไม่ใช่บทบาทและภารกิจหลักหนึ่งเดียวที่เธอต้องดำเนินในช่วงเวลานับจากนี้ เพราะในความเป็นจริงการเป็นเจ้าภาพ Tokyo 2020 ยังประกอบส่วนด้วยโครงการลงทุนเพื่อปรับปรุง รื้อสร้าง ขยาย และพัฒนาสาธารณูปโภคและสาธารณูปการขนาดมหึมาอีกมากมายรวมเป็นเงินงบประมาณการลงทุนที่มีมูลค่ามหาศาล
ประเด็นที่น่าสนใจมากอีกประการหนึ่งก็คือ กำหนดการแข่งขัน Tokyo 2020 ที่กำหนดพิธีเปิดไว้ในวันที่ 24 กรกฎาคม 2020 และมีพิธีปิดในวันที่ 9 สิงหาคม 2020 ดูจะคาบเกี่ยวกับระยะเวลาของการดำรงตำแหน่งผู้ว่าการฯ ที่มีวาระ 4 ปีอยู่ไม่น้อย ซึ่งหาก Koike สามารถฝ่าพ้นมรสุมและอุปสรรคทางการเมืองไปได้จนครบวาระ การเลือกตั้งครั้งใหม่ตามวาระอาจอยู่ระหว่างกลางของการจัดการแข่งขันที่ว่านี้
และไม่แน่ว่าเธอจะได้เป็นผู้ส่งมอบธงในพิธีปิด Tokyo 2020 ในฐานะที่เป็นผู้สร้างความสำเร็จครั้งใหม่นี้หรือไม่ หรือกรุงโตเกียวอาจมีการเปลี่ยนแปลงผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการฯ ไปมากกว่าที่จะคาดเดาได้ เพราะทั้ง Naoki Inose และ Yoichi Masuzoe อดีตสองผู้ว่าการฯ ก็มีเหตุให้พ้นจากตำแหน่งก่อนเวลาอันควรทั้งสิ้น
Yuriko Koike จะสามารถแบกรับภาระและแรงกดดันจาก Tokyo 2020 เพื่อเป็นบันไดอีกขั้นสำหรับการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับการเมืองญี่ปุ่นอีกครั้ง หรือจะถอดใจแบบเมื่อครั้งที่เป็นรัฐมนตรีกลาโหมได้เพียง 54 วัน เวลาจากนี้คงเป็นเครื่องพิสูจน์