xs
xsm
sm
md
lg

ว่าด้วย “แดนอาทิตย์อุทัย” ในความเชื่อ

เผยแพร่:   โดย: โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์

สุริยเทวีออกจากถ้ำศิลาสวรรค์
ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies


พระอาทิตย์ในตำนาน

เมื่อจะศึกษาจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ชาติไทย สิ่งที่มีการยกมาอ้างอิงมากที่สุดคือศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง ในกรณีของญี่ปุ่น จารึกลักษณะนั้นมีอยู่บ้าง ทว่าสิ่งที่มีการอ้างอิงบ่อยที่สุดไม่ใช่จารึก แต่เป็นบันทึกและตำนาน ที่ทรงอิทธิต่อความคิดของคนญี่ปุ่นมาจนถึงปัจจุบันว่าญี่ปุ่นถือกำเนิดมาจากพระอาทิตย์

ถ้ามองในแง่ภูมิศาสตร์ ญี่ปุ่นได้ชื่อว่าแดนอาทิตย์อุทัยเพราะได้เห็นพระอาทิตย์ก่อนประเทศอื่นเกือบทั้งโลก ชื่อประเทศก็เขียนว่า 日本 อ่านว่า “นิฮง” (Nihon) หรือ “นิปปง” (Nippon; คนไทยมักอ่านว่า “นิปปอน” แต่คำอ่านที่ถูกต้องคือ “นิปปง”) ส่วนในแง่ความเชื่อ พระอาทิตย์เกี่ยวข้องกับญี่ปุ่นอย่างไร? ที่แน่ ๆ คือพระอาทิตย์ที่ว่านี้คงไม่ใช่พ่อของสุครีพในรามเกียรติ์ เพราะพระอาทิตย์ของญี่ปุ่นเป็นผู้หญิง เรื่องราวของญี่ปุ่นเริ่มขึ้นแถว ๆ นั้น

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว...

แผ่นฟ้ากับแผ่นน้ำคือผืนแผ่นเดียวกันทั่วสกล แผ่นดินนั้นเล่าก็ลอยเคว้งดุจน้ำมันบนผิวน้ำ มิได้ปักหลักแน่นิ่ง ครั้นถึงกาลอันสมควร สองเทพพี่น้อง—อิซะนะงิกับอิซะนะมิ—จึงเห็นพ้องกันว่าน่าจะสร้างแผ่นดินที่มั่นคง ให้ผู้คนอาศัยอยู่ได้
เทพอิซะนะงิกับอิซะนะมิ
เทพอิซะนะงิจุ่มหอกลงในผืนน้ำ แล้วเกาะแห่งหนึ่งก็อุบัติขึ้นจากปลายหอกวิเศษ จากนั้นสองเทพก็ลงมาจากสวรรค์ สถิตอยู่ ณ เกาะแห่งนั้น

“กายของเจ้า เป็นอย่างไรหรือ” ผู้พี่ถามน้อง

“กายของข้าเติบโต และมีสิ่งที่มิได้เติบโตยื่นออกมาหนึ่งแห่ง” ผู้น้องตอบ

“ส่วนกายของข้าก็เติบโต และมีสิ่งที่ยื่นออกมามากเกินไปหนึ่งแห่ง” ผู้พี่บอก “ข้าคิดว่า ฉะนั้นแล้ว ด้วยสิ่งที่ยื่นออกมามากเกินไปของข้า ข้าอยากนำไปใส่ในส่วนที่มิได้เติบโตของเจ้า เพื่อให้กำเนิดผืนแผ่นดินและสิ่งต่าง ๆ เจ้าจะว่ากระไรหรือไม่”

“ข้าก็คิดว่าดีนะ”

แล้วชาวสวรรค์สองพี่น้องก็อยู่กินกันฉันผัวเมียที่เกาะแห่งนั้น แผ่นดินลอยกลายเป็นแผ่นดินลงหลัก ตรึงอยู่กับที่ ทั้งสองช่วยกันเสกสรรค์สิ่งต่าง ๆ ขึ้น ทั้งลม แม่น้ำ หิน และสิ่งต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อชีวิตของมนุษย์ รวมทั้งไฟด้วย

ทว่าเมื่อเสกไฟ อิซะนะมิผู้ภรรยาพลาดท่า ถูกไฟคลอกตายและตกไปอยู่ในอีกโลกหนึ่ง ด้วยความเสียใจที่มีต่อเมียตน อิซะนะงิจึงดั้นด้นไปถึงโลกเทวมรณา พอไปถึง ก็ถูกเมียกำชับว่าอย่ามองหน้าข้าเด็ดขาด แต่ด้วยความรักเมีย อิซะนะงิลอบมอง และเห็นหนอนชอนไชหน้าตาของนางเละเทะ จึงเปลี่ยนใจเพราะเห็นสภาพนางที่เปลี่ยนไปแล้ว

ฝ่ายเมียบันดาลโทสะ จึงให้สมุนไล่ล่า แต่ไม่สำเร็จ ท้ายที่สุด นางก็ลั่นวาจาว่า

“เจ้า! ไอ้คนโลเล! นับแต่นี้ไป ข้าขอตัดขาดกับเจ้า ทั้งความเป็นพี่น้อง และสามีภรรยา จงจำไว้นะ ข้าจะฆ่าคนวันละ 1,000 คน เพื่อล้างแค้นเจ้า”

“หึ เจ้ามันปีศาจ ดีละ ถ้าเจ้าฆ่าวันพันคน ข้าจะสร้างมนุษย์ขึ้นมาวันละ 1,500 คน!”

และต่อมา อิซะนะมิก็กลายเป็นเจ้าแห่งยมโลก และอิซะนะงิเป็นเจ้าแห่งมนุษยโลก

อิซะนะงิกลับจากโลกเทวมรณา น้ำตาไหลนองหน้า ขณะที่ชำระล้างใบหน้านั้น ครั้นใช้มือปาดที่ตาซ้าย ก็ให้กำเนิดธิดาขึ้นมา 1 องค์ ปาดที่ตาขวา ก็ให้กำเนิดโอรสขึ้นมา 1 องค์ และพอปาดที่จมูกก็ได้โอรสอีก 1 องค์

พอได้เวลาอันควร ผู้เป็นพ่อจึงมอบหมาย

“ลูกหญิง เจ้าเป็นลูกคนโต พ่อขอให้เจ้าจงดูแลดวงอาทิตย์นะลูก เจ้าคือสุริยเทวี ส่วนเจ้า เป็นลูกชายคนแรก จงดูแลดวงจันทร์เป็นจันทรเทพ และเจ้าน่ะ คนสุดท้อง ดูแลทะเลและลม จงเป็นสมุทรเทพ”

แล้วสองพี่น้องซึ่งเป็นผู้ครองท้องฟ้าเวลากลางวันกับกลางคืนก็อยู่กินฉันผัวเมียในเวลาต่อมาอย่างสงบ แต่ทว่าน้องชายคนเล็กนิสัยไม่เอาไหน ดีแต่อาละวาด และไม่ถูกกับพี่สาว

วันหนึ่ง น้องชายคนเล็กบุกไปถึงถิ่นของพี่สาว โยนม้าที่ถูกถลกหนังเข้าใส่นาง สร้างความโกลาหลไปทั่ว พี่สาวจึงเข้าไปหลบในถ้ำศิลาสวรรค์ และด้วยเหตุนี้ เมื่อสุริยเทวีหนีหน้าไป โลกทั้งใบจึงมืดมน เดือดร้อนทุกหัวระแหง พอเกิดความลำบากลำบนเพราะความมืด จึงมีการร่วมกันคิดหาวิธีเชิญให้สุริยเทวีกลับออกมา

ในเบื้องต้น ทวยเทพไปขอร้องอย่างไร นางก็ไม่ยอมออกมา ทั่วหล้าเดือดร้อนหนัก

และแล้ววันหนึ่ง ที่หน้าถ้ำศิลาสวรรค์ เกิดเสียงอึกทึก ป๊ง ป๊ง ป๊ง...

“เสียง?” สุริยเทวีได้ยิน นั่นคือสิ่งที่เรียกว่า ‘กลอง’ และตามมาด้วยเสียงหัวเราะ

“เอ๊ะ เกิดอะไรขึ้นหรือนั่น” นางรู้จักเสียงหัวเราะ สุริยเทวีได้ยินเสียงนั้นดังขึ้นอีกและสงสัยมากขึ้น ผ่านไปพักใหญ่ เสียงหัวเราะก็ไม่มีมีท่าว่าจะแผ่วลง

“ต้องมีอะไรแน่ ๆ เลย” นางสงสัยยิ่งขึ้น

“สุริยเทวีเจ้าข้า มีเทพผู้ยิ่งใหญ่ปรากฏกายขึ้นมา พวกเรากำลังเฉลิมฉลองกันเลยทีเดียว” มีเสียงตะโกนบอก “ออกมาดูสิ”

“เอ๊ะ ใครกัน” และด้วยความสงสัยที่กลั้นไม่อยู่ นางจึงแง้มประตูหินผาที่ปิดถ้ำ

พอชะโงกหน้าออกมาดู นางก็เห็นหน้าตัวเองในกระจกแปดคืบ! นางไม่รู้จักกระจกเงา นั่นคือกระจกที่เทพองค์หนึ่งนำมาแขวนไว้เพื่อส่องหน้าของสุริยเทวี

“ใครกันหรือนี่” ไม่เคยมีใครเห็นกระจกมาก่อน และนั่นคือครั้งแรกที่นางได้เห็นหน้าตัวเอง

เทพล่อให้นางออกมาอีก ออกมาให้เห็นใกล้ขึ้น และใกล้ขึ้น จนพ้นปากถ้ำ แล้วเทพองค์อื่นก็ลอบปิดปากถ้ำเสีย และสุริยเทวีก็กลับออกมาให้แสงสว่างอีกครั้ง ไม่อาจกลับเข้าไปในถ้ำที่ถูกปิดตายนั้นได้


ศาลเจ้าอิเซะกับสุริยเทวี

เรื่องราวที่เล่ามาปรากฏอยู่ในสิ่งที่เรียกได้ว่าเป็นพงศาวดารของญี่ปุ่น ที่ชื่อ“โคะจิกิ” (古事記;kojiki) เขียนขึ้นเมื่อ ค.ศ. 712 เรื่องราวลักษณะเดียวกันนี้ ปรากฏในพงศาวดารที่สำคัญอีกชุดหนึ่งของญี่ปุ่นด้วย คือ “นิฮงโชะกิ” (日本書紀;nihon shoki) เขียนขึ้นเมื่อ ค.ศ. 720 แม้มีรายละเอียดบางอย่างแตกต่างออกไปบ้าง แต่ความเชื่อเกี่ยวกับ “สุริยเทวี” ก็เหมือนกัน
ราชกกุธภัณฑ์ญี่ปุ่นตามจินตนาการของศิลปิน
เนื้อเรื่องที่นำมาถ่ายทอดนี้ ผมเล่าแบบง่าย ๆ โดยลดความซับซ้อนของชื่อตัวละครและชื่อเฉพาะลงไปมาก เพราะแต่ละชื่อนั้นยาวและออกเสียงยาก หากจะค้นคว้าเพิ่มเติม ก็แปลงชื่อสำคัญกลับเป็นชื่อจริงของญี่ปุ่นได้ดังนี้

สุริยเทวี—อะมะเตะระซุ โอมิกะมิ (天照大神 ; Amaterasu Ōmikami)
จันทรเทพ—สึกุโยะมิ (月読命 ; Tsukuyomi)
สมุทรเทพ—ซุซะโนะโอะ (須佐之男 ; Susanoo)
ถ้ำศิลาสวรรค์—อะมะโนะอิวะโตะ (天岩戸 ; Ama no Iwato )
กระจกแปดคืบ—ยะตะโนะกะงะมิ (八咫鏡 ; Yata no Kagami)


ท้องเรื่องเป็นบันทึกที่มีอยู่จริง ผมปรับแต่ภาษากับจังหวะ โดยไม่ได้เปลี่ยนเนื้อหา เมื่ออ่านกันแล้ว คงจะได้ข้อสังเกตหลายอย่าง เช่น อิซะนะงิ (イザナギ;Izanagi) กับอิซะนะมิ (イザナミ;Izanami) เป็นพี่น้องกัน แต่อยู่กินฉันสามีภรรยา? ใช่ เป็นเช่นนั้น และไม่ได้มีแค่กรณีเดียวด้วย จากจุดนี้มีการนำมาตีความต่อไปว่า การแต่งงานกันระหว่างพี่น้องนั้นเป็นเรื่องของเทพ มนุษย์จึงห้ามเลียนแบบ

นอกจากนี้ บทเข้าพระเข้านางระหว่างเทพสององค์นี้ก็เป็นไปตามบันทึกโบราณ องค์หนึ่งคือชาย องค์หนึ่งคือหญิง และสัญลักษณ์ที่ใช้นั้นหมายถึงอะไร ผู้อ่านคงทำความเข้าใจได้ อีกเรื่องคือเทพแห่งพระอาทิตย์ของญี่ปุ่นเป็นผู้หญิง เทพแห่งพระจันทร์เป็นผู้ชาย ซึ่งอาจจะค้านกับภาพลักษณ์ทั่วไปที่คนไทยรู้สึก และอีกเรื่องหนึ่งคือ สมัยก่อน กระจกเงาเป็นสิ่งที่หายากมาก แม้แต่เทพก็ยังถูกหลอกให้ออกมาดูหน้าตัวเองในกระจก!
จักรพรรดิจิมมุ
เหตุที่นำมาเล่าในครั้งนี้ เพราะผมมีโอกาสได้ไปศาลเจ้าอิเซะ (伊勢神宮;isejingū) เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งถือว่าเป็นศาลเจ้าที่สำคัญที่สุดของญี่ปุ่นว่าด้วยความเป็นมาของประเทศและสถาบันจักรพรรดิ ในจำนวน 84,924 แห่งทั่วญี่ปุ่น (ปี 2014) ซึ่งว่ากันว่ามีมากกว่าร้านสะดวกซื้อเสียอีก ศาลเจ้า 3 แห่งที่สำคัญที่สุด ได้แก่ ศาลเจ้าอิเซะ (伊勢神宮;Ise Jingū) ในจังหวัดมิเอะ, ศาลเจ้าอิซุโมะ (出雲大社;Izumo Ōyashiro หรือ Izumo Taisha) จังหวัดชิมะเนะ และศาลเจ้าเมจิ (明治神宮;Meiji Jingū) กรุงโตเกียว

สำหรับคนญี่ปุ่นทั่วไป หากมีโอกาส มักจะอยากไปศาลเจ้าเหล่านี้สักครั้งในชีวิต ในบรรดา 3 แห่งนี้สถานที่ที่ไปได้สะดวกที่สุดคือศาลเจ้าเมจิ เพราะอยู่ใจกลางกรุงโตเกียว ใกล้สถานีฮะระจุกุซึ่งเดินทางสะดวก ส่วนอีก 2 ศาลเจ้าเดินทางไปยาก จึงอาจไม่ค่อยคุ้นหูนักท่องเที่ยวชาวไทยมากนัก

ศาลเจ้าอิเซะสร้างอุทิศแด่สุริยเทวีอะมะเตะระซุ ซึ่งเป็นต้นตระกูลจักรพรรดิ ว่ากันว่าสุริยเทวีมอบกระจกแปดคืบให้แก่เทพนินิงิ (ニニギ;Ninigi) ซึ่งเป็นหลานย่า/ยาย (เพราะพ่อแม่เป็นพี่น้องกัน) เทพองค์นี้ลงมาปลูกข้าวให้ มีลูกหลานสืบต่อกันมา และเป็นทวดของจักรพรรดิองค์แรกแห่งญี่ปุ่น ซึ่งมีพระนามว่าจักรพรรดิจิมมุ ด้วยเหตุนี้ กระจกแปดคืบจึงเป็น 1 ใน 3 ของราชกกุธภัณฑ์แห่งจักรพรรดิญี่ปุ่น (อีก 2 อย่างคือดาบ และอัญมณี) และปัจจุบัน ‘ว่ากันว่า’ กระจกนี้อยู่ที่ศาลเจ้าอิเซะ

ศาลเจ้าอิเซะและพื้นที่ใกล้เคียงน่าสนใจไม่น้อยสำหรับนักท่องเที่ยวที่มีเวลามากหน่อย เป็นศาลเจ้าที่มีบริเวณกว้างขวาง ภายในอาณาบริเวณมีสะพาน วิวสวย มีต้นไม้สูงใหญ่มากมาย ร่มรื่น มีแม่น้ำตื้น ๆ ให้ลงไปพักผ่อนริมน้ำได้อย่างสบาย ถ้าค่อย ๆ เดินทั่วศาลเจ้าจะใช้เวลา 1-2 ชั่วโมง เมื่อออกมาด้านนอกก็มีถนนเส้นเล็กที่เต็มไปด้วยร้านค้า แลดูคึกคักคล้ายกับที่อะซะกุซะ ของขึ้นชื่อของที่นี่คืออุด้ง

การสืบเชื้อสายเช่นนี้คือที่มาแห่งความเป็นลูกหลานพระอาทิตย์ของญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม หากใครหวังจะได้เห็นกระจกแปดคืบละก็ ต้องขอบอกไว้ก่อนว่าจะไม่ได้เห็นแน่นอน เพราะไม่มีใครเคยเห็น มีแต่เสียงลือว่าอยู่ที่ศาลเจ้าอิเซะ และมีเสียงเล่าอ้างอีกด้วยว่า แม้แต่พระจักรพรรดิเองก็อาจไม่เคยทอดพระเนตรกระจกที่ว่านี้เช่นกัน
ภายในบริเวณศาลเจ้าอิเซะ
ภายในบริเวณศาลเจ้าอิเซะ
ภายในบริเวณศาลเจ้าอิเซะ
ภายในบริเวณศาลเจ้าอิเซะ
ภายในบริเวณศาลเจ้าอิเซะ
ภายในบริเวณศาลเจ้าอิเซะ
ภายในบริเวณศาลเจ้าอิเซะ
ภายในบริเวณศาลเจ้าอิเซะ
ภายในบริเวณศาลเจ้าอิเซะ
ผู้นำ G7 เยือนศาลเจ้าอิเซะช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2559
ข้อมูลโดยสังเขปสำหรับการไปศาลเจ้าอิเซะ :

จากโตเกียว นั่งรถไฟ Shinkansen ไปที่ Nagoya (1 ชั่วโมง 40 นาที) และต่อรถไฟ Kintetsu ไปยังสถานี Ujiyamada (1 ชั่วโมง 20 นาที) หรือจากเกียวโต/โอซะกะ นั่งรถไฟไปยังสถานี Ujiyamada (2 ชั่วโมง 10 นาที) จากนั้นนั่งรถเมล์ (ค่าโดยสารขาละ 400 เยนเศษ) ไปอีกประมาณ 15 นาที

**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.manager.co.th

กำลังโหลดความคิดเห็น