รายการโทรทัศน์ของญี่ปุ่น ยกย่องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ และรัชกาลที่ ๙ เป็นกษัตริย์ผู้นำพาประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตการณ์ตั้งแต่ยุคล่าอาณานิคม และสร้างความทันสมัยในทุกด้านให้กับประเทศ เฉกเช่นเดียวกับสมเด็จพระจักรพรรดิเมจิของญี่ปุ่น
รายการ “ย้อนรอยประวัติศาสตร์” นำเสนอโดยสถานีโทรทัศน์ของญี่ปุ่น นำเสนอเรื่องราวของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ซึ่งเรื่องราวของพระองค์คล้ายกับของสมเด็จพระจักรพรรดิเมจิของญี่ปุ่นอย่างยิ่ง
พระจักรพรรดิเมจิ คือ ผู้สร้างการการปฏิรูปครั้งสำคัญประเทศญี่ปุ่นในปี ค.ศ. 1868 โดยรวบอำนาจจากรัฐบาลโชกุน กลับคืนสู่จักรพรรดิญี่ปุ่นอีกครั้งหนึ่ง
การปฏิรูปครั้งนี้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อระบบการปกครองและโครงสร้างทางสังคมของญี่ปุ่นอย่างมหาศาล ทั้งการสร้างสาธารณูปโภคต่าง ๆ, พัฒนาระบบกฎหมายและเศรษฐกิจ, เพิ่มอำนาจทางการทหาร ภายใต้คำขวัญว่า “ประเทศมั่งคั่ง กองทัพแข็งแกร่ง” และทำให้ประเทศญี่ปุ่นก้าวสู่ระบบอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว นำไปสู่ความทันสมัยของญี่ปุ่นในปัจจุบัน
พระจักรพรรดิเมจิ มีพระราชประวัติคล้ายกับพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ อย่างมาก พระจักรพรรดิเมจิ ขึ้นครองราชย์ในวัย 16 ชันษา ในปี 1867 ส่วนรัชกาลที่ ๕ ทรงขึ้นครองราชย์ในปี 1868 ในวัย 15 ชันษา
คุณูปการของทั้งสองพระองค์ คือ การนำพาประเทศญี่ปุ่น และ ไทย รอดพ้นจากการเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตก รวมทั้งสร้างความทันสมัยในทุกด้านให้กับประเทศ
ปี 1853 สหรัฐอเมริกา โดยนายพลเพอร์รี่ ส่ง “เรือรบดำ” มาข่มขู่ญี่ปุ่นให้เปิดประเทศ ขณะที่สยามก็ต้องยอมทำสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมกับชาติตะวันตก ยุวกษัตริย์ทั้ง 2 พระองค์ ตระหนักดีว่า หนทางเดียวที่จะรักษาเอกราชให้พ้นจากภัยคุกคามจากชาติตะวันตก คือ การพัฒนาประเทศให้ทันสมัยในทุกด้าน
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสว่า “ด้วยการปกครองของบ้านเมืองอย่างมีอยู่ปัจจุบันนี้ โดยทางยุติธรรม หรืออยุติธรรมของศัตรูก็ดี ต้องอาศัยความเปลี่ยนแปลงไปในทางบำรุงรักษาบ้านเมือง ทางญี่ปุ่นได้เดินตามยุโรปมาแล้ว แลซึ่งประเทศทั้งปวงซึ่งมีศิวิไลซ์ นับว่าเป็นทางอันเดียวที่จะรักษาบ้านเมืองได้”
ในขณะที่ญี่ปุ่นได้ส่งคณะทูตไปศึกษาอารยธรรมตะวันตก สยามก็ได้พัฒนาระบบการปกครองด้านต่าง ๆ เช่น ใช้ระบบการคลังแบบอังกฤษ ระบบกฎหมายของฝรั่งเศส การทูตแบบอเมริกา และ ระบบรถไฟแบบเยอรมนี เป็นต้น
ในรัชสมัยของ ร.๕ มีชาวญี่ปุ่นหลายคนที่มีส่วนสำคัญในการปฏิรูปสยาม “มาซะโอะ โทคิชิ” ได้ช่วยราชสำนักวิจัยเรื่องการปรับปรุงกฎหมายไทยให้เป็นไปอย่างยุโรปนานถึง 15 ปี จนสามารถแก้ไขสัญญาที่ไม่เป็นธรรมกับฝ่ายตะวันตก
มาซะโอะ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากรัชกาลที่ ๕ ให้มีหน้าที่การงานอย่างสำคัญในยุคนั้น และได้รับแต่งตั้งเป็นเอกอัคราชทูตญี่ปุ่นประจำสยามในเวลาต่อมา
ญี่ปุ่นยังได้ส่งคนมาช่วยสอนการเลี้ยงไหมและทอผ้าไหมในภาคอีสานของไทย ช่วยสร้างอาชีพในชาวบ้านในยุคนั้น
ด้านการศึกษา รัชกาลที่ ๕ ทรงริเริ่มการให้การศึกษากับผู้หญิง โดยจัดตั้งโรงเรียนราชินี ซึ่งญี่ปุ่นได้ส่ง “นางเทตสุ ยาสุอิ” มาช่วยสอนและเป็นครูใหญ่คนแรกของโรงเรียน
ผู้เชี่ยวชาญชาวญี่ปุ่น อธิบายว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระจักรพรรดิเมจิ ต่างทรงเผชิญความยากลำบากในการปฏิรูปและพัฒนาประเทศให้ทันสมัย ซึ่งทำให้ญี่ปุ่นและไทยเป็นเพียง 2 ชาติ ในเอเชียที่รักษาเอกราชของประเทศไว้ได้
ผู้เชี่ยวชาญชาวญี่ปุ่น ระบุว่า คุณูปการอันยิ่งใหญ่ของพระมหากษัตริย์ ได้สะท้อนผ่าน “ความเป็นไทย” ในสีแดง ขาว และ น้ำเงิน ของธงชาติไทย
พระปิยมหาราช สวรรคตในปี 1910 และอีก 2 ปีต่อมา สมเด็จพระจักรพรรดิเมจิ ก็สวรรคตในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน คือ ในปี 1912 ทั้ง 2 พระองค์ไม่เพียงมีช่วงชีวิตที่ใกล้เคียงกันอย่างมาก แต่คุณูปการของของกษัตริย์ไทย และพระจักรพรรดิญี่ปุ่น ทำให้ไทยและญี่ปุ่นเป็นเพียง 2 ชาติในเอเชียเท่านั้น ที่รักษาเอกราชไว้ได้
จากพระปิยมหาราช ถึงพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงรักษาเอกราชของชาติไทยในยุคล่าอาณานิคม ขณะที่พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ทรงช่วยคลี่คลายวิกฤตในประเทศหลายครั้ง ตั้งแต่เหตุการณ์นักศึกษาเรียกร้องประชาธิปไตยในเดือนตุลาปี 2516 และ 2519, พฤษภาทมิฬ จนถึงความวุ่นวายทางการเมืองต่าง ๆ
สื่อญี่ปุ่นเห็นตรงกันว่า พระมหากษัตริย์ทรงสร้างเสถียรภาพให้กับประเทศไทย และนำพาประเทศกลับคืนสู่ความสงบเรียบร้อยได้ทุกครั้ง นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จนประชาชนชาวไทยเรียกขานทั้ง 2 พระองค์ด้วยความรักว่า “พระปิยมหาราช” และ “พ่อหลวง”