xs
xsm
sm
md
lg

“มีน้ำที่ไหน มีปลานิลพระราชทานที่นั่น”! ปลาที่คนไทยเลี้ยงและกินกันทั่วทุกภาค ทรงเริ่มจาก ๕๐ ตัวเท่านั้น!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานปลานิล ๑๐,๐๐๐ ตัวให้กรมประมง
มีคำกล่าวกันมาในเมืองไทยแต่โบราณว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” แต่เดี๋ยวนี้ต้องบอกว่า “มีน้ำที่ไหน มีปลานิลที่นั่น” ปลานิลเป็นปลาพระราชทานที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงขยายพันธุ์จากที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิญี่ปุ่นเมื่อครั้งยังทรงเป็นมกุฎราชกุมารส่งมาถวายเพียง ๕๐ ตัว ทรงเล็งเห็นคุณสมบัติที่ดีของปลานิล จึงทรงขยายพันธุ์ออกแจกจ่ายให้กรมประมงขยายต่อให้ราษฎร จนเป็นปลาเศรษฐกิจที่สำคัญในขณะนี้ ทั้งยังทรงส่งไปช่วยประเทศที่ขาดแคลนอาหารอีกด้วย

ก่อน ๕๐ ปีมานี้ คนไทยยังไม่รู้จักปลานิล เพราะปลานิลไม่ได้เป็นปลาพื้นเมืองของไทย เพิ่งมาเมืองไทยเมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๐๘ มานี่เอง แต่ในวันนี้ทั่วทุกหัวระแหงในประเทศไทย ที่ใดมีน้ำ ที่นั่นมีปลานิล ซึ่งแพร่ขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว กลายเป็นอาหารในชีวิตประจำวันของคนไทย และเป็นปลาที่บริโภคกันมากเป็นอันดับ ๑ เป็นสัตว์น้ำสำคัญทางเศรษฐกิจ เพาะเลี้ยงเป็นอาชีพกันทุกภาค

ปลานิลเป็นปลาที่เติบโตเร็ว อายุเพียง ๑ ปี จะมีน้ำหนักตัวถึงครึ่งกิโลกรัม ความยาวราว ๑ ฟุต ตามแหล่งน้ำขนาดใหญ่ เช่นอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อน จะพบปลานิลมีขนาดถึง ๒-๓ กิโลกรัม ปลานิลสามารถผสมพันธุ์ได้ตลอดปี โดยใช้เวลา ๒-๓ เดือนต่อครั้ง ถ้ามีอาหารอุดมสมบูรณ์ ปลานิลซึ่งเป็นปลากินพืช ในระยะเวลา ๑ ปีจะผสมพันธุ์ได้ถึง ๕-๖ ครั้ง ออกไข่ได้ครั้งละ ๕๐-๖๐๐ ฟอง พ่อแม่ปลาซึ่งมีขนาดโตเต็มที่ เมื่อปล่อยลงเลี้ยงในบ่อ จะเริ่มวางไข่ได้ภายใน ๒-๓ สัปดาห์ และลูกปลาที่เกิดจากพ่อแม่ชุดนี้ จะเริ่มวางไข่ได้เมื่อมีอายุ ๓-๔ เดือน จึงทำให้ปลานิลแพร่กระจายได้เร็วมาก

ลูกปลานิลในแหล่งน้ำธรรมชาติ ยังเป็นอาหารของปลากินเนื้อทั้งหลาย เช่น ปลาช่อน ปลาชะโด ปลาบู่ ฯลฯ จึงทำให้มีปลาประเภทนี้ในแหล่งน้ำธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ขึ้นด้วย แต่เพราะปลานิลแพร่พันธุ์ได้มาก จึงเหลือเติบโตเป็นอาหารของคนได้มากเช่นกัน

ปลานิลมีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปอาฟริกา อยู่ได้ทั้งในน้ำจืดและน้ำกร่อย พบทั่วไปตามหนอง บึง และทะเลสาบในประเทศซูดาน ยูกันดา และทะเลสาบแทนกันยีกา เข้าสู่ประเทศไทยโดยสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ แห่งญี่ปุ่น ขณะดำรงพระยศเป็นมกุฎราชกุมาร ทรงส่งพันธุ์ปลาจากประเทศญี่ปุ่น ขนาดความยาว ๙ เซนติเมตร น้ำหนักประมาณตัวละ ๑๔ กรัม จำนวน ๕๐ ตัว มาถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงทดลองเลี้ยงในบ่อดินขนาด ๑๐ ตารางเมตร ภายในโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา

ต่อมาอีก ๕ เดือนเศษ คือในวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๐๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงย้ายพันธุ์ปลาด้วยพระองค์เอง ไปเลี้ยงในบ่อขนาด ๗๐ ตารางเมตรถึง ๖ บ่อ เนื่องจากปลาขยายพันธุ์เพิ่มขึ้นมาก และมีพระราชดำริให้กรมประมงบันทึกการเจริญเติบโตของปลาทุกเดือน

เนื่องจากปลานิลเลี้ยงง่าย รสชาติดี เนื้อมาก ออกลูกดก และเติบโตได้รวดเร็ว จึงมีพระราชประสงค์ที่จะให้ปลานี้แพร่ขยายพันธุ์ เป็นประโยชน์แก่พสกนิกรของพระองค์ต่อไป

ในวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๐๙ ได้พระราชทานลูกปลาขนาดยาว ๓-๕ เซนติเมตร ให้กรมประมง ๑๐,๐๐๐ ตัว เพื่อให้แจกจ่ายไปยังสถานีประมงประจำจังหวัดเลี้ยง แล้วขยายพันธุ์ต่อแจกจ่ายแก่เกษตรกรต่อไป

ในปี ๒๕๐๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงพระราชทานชื่อปลานี้ โดยทับศัพท์ชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Tilapia Nilotica จากพยางค์แรกของชื่อ Nilotica เป็น Nil คือ “ปลานิล”

ชื่อวิทยาศาสตร์ของปลานิลนี้ ได้มาจากชื่อของแม่น้ำซึ่งเป็นที่อยู่ดั้งเดิมของปลานิล คือแม่น้ำไนล์ (NILE)

ในขณะนั้นไทยเรามี “ปลาหมอเทศ” ปลาในตระกูลเดียวกับปลานิล ซึ่งกรมประมงแห่งเมืองปีนัง รัฐมลายู ได้มอบให้แผนกทดลองเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ กรมประมงของไทย จำนวน ๒๕๘ ตัวเมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๔๙๒ เพื่อทดลองเลี้ยงขยายพันธุ์ ปรากฏว่าเป็นปลาที่เพาะเลี้ยงง่าย โตเร็ว ขยายพันธุ์เร็ว แต่เนื้อหยาบและมีกลิ่นคาวมากกว่า จึงถูกแทนที่ทั้งการเพาะเลี้ยงและบริโภคด้วยปลานิลไป

ปี ๒๕๑๐ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้ขอพระราชทานพันธุ์ปลาที่อุดมด้วยโปรตีนนี้ เพื่อบริจาคให้แก่ชาวบังคลาเทศที่กำลังประสบภาวะขาดแคลนอาหาร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงพระราชทานพันธุ์ปลานิลจำนวน ๕๐๐,๐๐๐ ตัว แก่รัฐบาลบังคลาเทศ โดยผ่านองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF)

รับถวายมาเพียง ๕๐ ตัวในปี ๒๕๐๘ ต่อมาแค่ ๒ ปีก็พระราชทานต่อให้คนร่วมโลกที่กำลังอดอยากได้ถึง ๕๐๐,๐๐๐ ตัว

ในปี ๒๕๑๑ สถานีประมงน้ำจืดอุบลราชธานี ได้พบปลานิลกลายพันธุ์ที่มีลักษณะสีของลำตัวเป็นสีแดง แต่ยังไม่เด่นชัดนัก โดยเฉพาะที่ส่วนหัวยังมีสีกระดำกระด่าง ปะปนอยู่กับฝูงปลานิล จึงนำปลานิลแดงที่เข้าใจว่าผสมข้ามพันธุ์กับปลาหมอเทศนี้มาปรับปรุงพันธุ์ จนกลายเป็นปลานิลแดงที่มีสีสันนิ่งขึ้น

ในวันที่ ๒ มกราคม ๒๕๒๗ อธิบดีกรมประมงได้น้อมเกล้าฯ ถวายปลานิลแดง ๘๑๐ ตัว แด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ซึ่งทรงเลี้ยงไว้ในบ่อสวนจิตรลดา ใช้เวลาเพียง ๓ เดือน ก็ทรงพระราชทานลูกปลานิลแดงจำนวน ๑๔,๕๐๙ ตัว คืนแก่กรมประมงเพื่อนำไปเลี้ยงขยายพันธุ์ต่อไป พระราชทานชื่อว่า “ปลานิลแดง” ต่อมาเป็นที่รู้จักทั่วโลกในชื่อ “ปลานิลแดงไทย” หรือ “Thai Red Tilapia”

กลายเป็นประเทศไทยเป็นผู้ให้กำเนิดปลานิลสายพันธุ์ใหม่ ที่มีตัวปลาเป็นสีชมพู และเนื้อปลาเป็นสีขาวอมชมพูคล้ายปลากะพงแดง ซึ่งเป็นที่นิยมรับประทานในต่างประเทศ

บริษัทซีพี หรือเครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้นำจุดเด่นของปลานิลสายพันธุ์ต่างๆ รวมทั้งสายพันธุ์ปลานิลจากต่างประเทศ มาพัฒนาสายพันธุ์ จนได้สายพันธุ์ปลานิลใหม่ หัวเล็ก สันหนา มีปริมาณเนื้อมากถึง ๔๐ เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัว เติบโตเร็ว เนื้อปลาสีขาวอมชมพูแน่นละเอียด รสชาติดีกว่า มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ลำตัวมีสีแดงอมชมพู ได้รับพระราชทานชื่อว่า “ปลาทับทิม” เป็นปลาเศรษฐกิจสายพันธุ์ใหม่ที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคอย่างสูง

เนื่องจากปลานิลทั่วไปมีการกลายพันธุ์ มีขนาดเล็กลงและโตช้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชปรารภให้รักษาปลานิลสายพันธุ์เดิมที่ได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตไว้ กรมประมงจึงสนองพระราชดำริ พัฒนาสายพันธุ์ปลานิลจากบ่อในพระตำหนักจิตรลดา เกิดเป็นปลานิลสายพันธุ์จิตรลดา ๑ ปลานิลสายพันธุ์จิตรลดา ๒ ปลานิลสายพันธุ์จิตรลดา ๓ ซึ่งได้ผลผลิตสูงกว่าปลานิลพันธุ์ทั่วไป มีปริมาณเนื้อมาก

ปัจจุบันปลานิลกระจายอยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติทั่วไป จนกลายเป็นปลาพื้นเมืองของไทย เพิ่มพูนความอุดมสมบูรณ์ทางอาหารให้ประเทศไทยขึ้นอย่างมาก เป็นสัตว์น้ำที่นิยมบริโภคกันเป็นอันดับหนึ่ง

นี่ก็เป็นเรื่องหนึ่งซึ่งแสดงถึงสายพระเนตรที่ยาวไกล และพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงห่วงใยในความเป็นอยู่ของพสกนิกรชาวไทย และเป็นหนึ่งในโครงการจากพระราชดำริ ๔,๑๗๖ โครงการ ที่ทรงสร้างความอุดมสมบูรณ์ผาสุกไว้ให้ประเทศนี้

นึกภาพไม่ออกจริงๆว่า ถ้าไม่มีโครงการพระราชดำริ ๔,๑๗๖ โครงการนี้ วันนี้ประเทศไทยจะเหลืออะไรบ้าง
ปลานิล ปลาพระราชทานที่คนไทยกินมากที่สุดในวันนี้
ปลาทับทิม สายพันธุ์ใหม่ของปลานิล
การเลี้ยงปลาทับทิมในกระชัง
ปลานิลในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ตัวจะโตมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น