xs
xsm
sm
md
lg

“ปลานิล” ปลาพระราชทานจากรัชกาลที่ 9 สร้างอาหารแก่คนไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงริเริ่มโครงการเลี้ยงปลาบริเวณโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา
“ปลานิล” เป็นปลาน้ำจืดที่คนไทยนิยมกินกันเป็นจำนวนมาก ด้วยเพราะมีประโยชน์มากคุณค่า หาซื้อง่าย นำมาปรุงเป็นเมนูอาหารจานอร่อยได้มากหลาย ใครเลยจะรู้บ้างว่า “ปลานิล” ที่กินอยู่ทุกวันนี้นั้น เป็นปลาที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานชื่อให้ และให้เป็นอาหารแก่คนไทย

เรื่องราวความเป็นมาของ “ปลานิล” เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2508 สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโต เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศมกุฏราชกุมารแห่งประเทศญี่ปุ่น ได้น้อมเกล้าฯ ถวายปลาน้ำจืดในตระกูลทิลาเปีย (tilapia) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Tilapia nilotica Linn. จำนวน 50 ตัว แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และทรงพระราชทานชื่อปลาชนิดนี้เป็นภาษาไทยว่า "ปลานิล" มีความหมายว่า มีสีดำ คือสีนิล และออกเสียงตามพยางค์ต้นของชื่อชนิด คือคำว่า "nil" มาจาก "nilotica" ซึ่งชื่อพระราชทานนี้เป็นชื่อที่สั้น มีความหมายชัดเจนและง่ายแก่การจดจำสำหรับประชาชนทั่วไป ทรงพระราชทานแนวทาง ในการอนุรักษ์พันธุ์ปลานิล จากการทดลองเลี้ยงด้วยพระองค์เอง
ปลานิล ปลาพระราชทานจากในหลวงรัชกาลที่ 9
หลังจากทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายปลานิล พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ให้นำปลานิลไปพักเลี้ยงไว้ในบ่อปลาสวนจิตรลดา และได้มีพระราชกระแสรับสั่งให้กรมประมงเพาะขยายพันธุ์ เมื่อเลี้ยงได้ประมาณ 5 เดือนเศษ ปลานิลได้ขยายพันธุ์มีลูกปลาเป็นจำนวนมาก ทรงเห็นว่าปลาอาศัยอยู่กันอย่างแออัดมาก จึงโปรดให้ขุดบ่อเพิ่มอีกจำนวน 6 บ่อ และทรงย้ายปลาจากบ่อเดิมมายังบ่อใหม่ด้วยพระองค์เอง หลังจากนั้นประมาณปีเศษ ปลานิลได้ขยายพันธุ์เป็นจำนวนมากพอสมควรแล้ว ในวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2509 จึงได้พระราชทานลูกปลานิลขนาด 3-5 เซนติเมตร จำนวน 10,000 ตัวให้แก่อธิบดีกรมประมง เพื่อนำไปเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ที่แผนกทดลอง และเพาะเลี้ยง ในบริเวณเกษตรกลาง บางเขน และสถานีประมงต่าง ๆ อีกจำนวน 15 แห่ง ทั่วราชอาณาจักร

จากนั้นกรมประมงได้ทำการเพาะเลี้ยงปลานิลพระราชทานและปล่อยในแหล่งน้ำทั่วประเทศ จนทำให้ปลาชนิดนี้แพร่หลาย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชดำริให้กรมประมงรักษาพันธุ์แท้ไว้ในสวนจิตรลดา ทั้งนี้เพื่อให้แน่ใจว่าปลาที่พระราชทานให้นำไปแพร่พันธุ์ไม่กลายพันธุ์ไป ต่อมาพระองค์ทรงมีรับสั่งถามนักวิชาการเสมอ ด้วยทรงรู้สึกว่าปลานิลเดี๋ยวนี้มีขนาดเล็กลงเข้าใจว่าจะกลายพันธุ์ ทรงให้เร่งรัดเรื่องการศึกษาวิจัยทางพันธุกรรม ทรงรับสั่งว่าถ้าหาปลานิลพันธุ์แท้ไม่ได้ก็ให้มาเอาที่สวนจิตรลดา ด้วยมีพระประสงค์ให้กรมประมงปรับปรุงพันธุ์ปลานิลให้ดีขึ้น ให้มีตัวโตมีเนื้อมาก ซึ่งจากการศึกษาต่อมาพบว่าสายพันธุ์ปลานิลพระราชทาน เรียกทั่วไปว่า "สายพันธุ์จิตรลดา" เป็นสายพันธุ์ที่มีความบริสุทธิ์ ไม่มีการปะปนของสายพันธุ์ปลาหมอเทศ ซึ่งทำให้ปลามีขนาดเล็กลง ทรงพระราชทานลูกพันธุ์ปลานิลแก่เกษตรกรและพสกนิกรชาวไทย
เมนูปลานิลนึ่ง
เมื่อกรมประมงได้รับพระราชทานพันธุ์ปลานิล ในวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2509 แล้ว ได้ทำการเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ปลานิลเพื่อแจกจ่ายไปยังเกษตรกร นอกจากนี้กรมประมงยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพันธุ์ปลานิลที่ทรงเพาะเลี้ยงได้จากบ่อทั้ง 6 บ่อ ในพระราชวังสวนจิตรลดา และทรงโปรดเกล้าฯ ให้ขุดบ่อขึ้นใหม่อีก 2 บ่อ รวมเป็น 8 บ่อ ในสวนจิตรลดา เพื่อทำการขยายพันธุ์และนำ ไปแจกจ่ายแก่ราษฎรอีกเป็นประจำทุกเดือน และเมื่อความทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ว่ามีราษฎรต้องการพันธุ์ปลานิลมาก ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุดบ่อขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งบ่อ เป็นบ่อที่ 9 เพื่อช่วยเร่งผลิตพันธุ์ปลานิล ให้เพียงพอแก่ความต้องการของพสกนิกรของพระองค์
เมนูปลานิลทอด
จากวันนั้นจนถึงทุกวันนี้ “ปลานิล” จึงกลายมาเป็นปลาเศรษฐกิจที่ชาวบ้านนำมาเลี้ยงเป็นอาชีพสร้างรายได้ และปลานิลก็เป็นอาหารที่สามารถนำมาปรุงเป็นเมนูต่างๆ ที่กินดีมีประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย อาทิ ปลานิลมีโอเมก้า 3 ช่วยเพิ่มการจดจำของสมอง ป้องกันโรคสมองเสื่อม ช่วยป้องกันโรคหลอดเลือด และหัวใจ เพราะว่าปลานิลที่มีโปรตีนที่ดีต่อสุขภาพ มีคอเลสเตอรอลและไขมันต่ำ

และด้วยเหตุที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นผู้ทรงเลี้ยงปลานิล ทำให้พระองค์ทรงไม่โปรดเสวยปลานิล เวลาที่มีผู้นำปลานิลไปตั้งเครื่องเสวย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จะโบกพระหัตถ์ให้ย้ายไปไว้ที่อื่น เมื่อมีผู้กราบบังคมทูลถามพระองค์ว่า เพราะเหตุใดพระองค์จึงไม่โปรดเสวย ปลานิล ท่านทรงมีรับสั่งว่า

“ก็เลี้ยงมันมาเหมือนลูก แล้วจะกินมันได้อย่างไร”
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น