xs
xsm
sm
md
lg

ญี่ปุ่นอาลัย ไทยสูญ “พ่อหลวง” ผู้สานสัมพันธ์ 2 แผ่นดิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รัฐบาลและประชาชนชาวญี่ปุ่นร่วมอาลัยต่อการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระองค์ทรงมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพระบรมวงศานุวงศ์ของญี่ปุ่น และเป็นผู้สานสัมพันธ์ระหว่างไทย - ญี่ปุ่น
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จเยือนญี่ปุ่นหลังสงครามโลกสิ้นสุด
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงริเริ่มในการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับญี่ปุ่นหลังสงครามโลก โดยในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2506 หนึ่งปีหลังจากการแก้ไขปัญหาเงินกู้ยืมในสมัยสงครามได้สำเร็จลุล่วง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ ทั้งพระราชวงศ์ของญี่ปุ่นและประชาชนชาวญี่ปุ่นได้ถวายการรับเสด็จอย่างอบอุ่น
หนังสือที่ระลึกในโอกาสมกุฎราชกุมารแห่งญี่ปุ่นเสด็จเยือนประเทศไทย
หลังจากนั้น ในเดือนธันวาคม ปี พ.ศ.2507 เจ้าชายอากิฮิโต มกุฎราชกุมาร พร้อมด้วย เจ้าหญิงมิชิโกะพระชายา ได้เสด็จเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการเป็นการตอบแทน หลังจากนั้น พระราชวงศ์ของประเทศทั้งสองได้แลกเปลี่ยนการเยี่ยมเยือนระหว่างกันเป็นการกระชับพระราชไมตรีระหว่างสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
พระบรมฉายาลักษณ์หมู่ ทรงฉาย ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทในการถวายพระกระยาหารค่ำ แด่สมเด็จพระจักรพรรดิและสมเด็จพระจักรพรรดินีแห่งญี่ปุ่น ในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 26-30 กันยายน 2534

“ปลานิล” สัญลักษณ์แห่งสัมพันธ์ 2 แผ่นดิน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพระบรมวงศานุวงศ์ของญี่ปุ่นอย่างยิ่ง สมเด็จพระจักรพรรดิแห่งญี่ปุ่น เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นมกุฎราชกุมาร ได้ทูลเกล้าฯ ถวายปลาน้ำจืดสายพันธุ์หนึ่งในช่วงทศวรรษที่ 1960 จำนวน 50 ตัว หลังจากทั้ง 2 พระองค์ได้ปรึกษากันเรื่องที่ประชาชนไทยขาดแคลนอาหารโปรตีนราคาประหยัดในยุคนั้น

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงสนับสนุนให้เลี้ยงปลาชนิดนี้เป็นอาหารทั่วประเทศไทย พร้อมพระราชทานชื่อปลานี้ว่า “ปลานิล”

ปลานิล ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวแทนสัมพันธภาพระหว่างไทยและญี่ปุ่น ยังได้แพร่ขยายไป โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานปลานิล 5 แสนตัวให้กับประเทศบังกลาเทศเพื่อขยายพันธุ์เป็นอาหารโปรตีนเช่นเดียวกัน


การเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จึงสร้างความอาลัยให้กับทุกภาคส่วนของญี่ปุ่นเฉกเช่นเดียวกับประชาชนชาวไทย เนื่องจากทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดทั้งในระดับราชวงศ์ ภาคธุรกิจ และประชาชน.

ย้อนอ่าน: มองย้อนความสนิทสนมราชวงศ์ญี่ปุ่น-ไทย

กำลังโหลดความคิดเห็น