xs
xsm
sm
md
lg

ผู้เลี้ยงปลานิลในกระชังแม่น้ำโขงย้ำจะรักษาพันธุ์ปลานิลพระราชทานให้ดีที่สุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายกษิดิศ พ่อค้าไทย เกษตรกรผู้เลี้ยงปลานิลกระชังในแม่น้ำโขง อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย
หนองคาย - ผู้เลี้ยงปลานิลจังหวัดหนองคาย ซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงพระราชทานพันธุ์ปลานิลให้พสกนิกรเลี้ยง ยืนยันว่าจะรักษาพันธุ์ปลานิลพระราชทานให้ดีที่สุด จะเป็นให้มากกว่าคนเลี้ยงปลาเพื่อในหลวง

นายกษิดิศ พ่อค้าไทย อายุ 54 ปี เกษตรกรผู้เลี้ยงปลานิลกระชังในแม่น้ำโขง อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ประกอบอาชีพปลูกใบยาสูบ และมะเขือเทศขาย มีรายได้ไม่มากนัก วันหนึ่งเมื่อปี 2540 ได้รับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ประมงชักชวนให้ลองเลี้ยงปลานิลกระชังในแม่น้ำโขง จึงลองศึกษาหาข้อมูลและลงมือเลี้ยงปลานิลกระชังเริ่มจาก 4 กระชัง เมื่อปลานิลโตได้ขนาดพอขายก็มีผู้มารับซื้อได้ราคาดี จนตอนนี้ได้เลี้ยงปลานิลไว้ 80 กระชัง ทำเงินได้วันละไม่ต่ำกว่าหมื่นบาท โดยปลานิลที่เลี้ยงในแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นน้ำไหลทำให้ปลาเนื้อแน่น ไขมันน้อย ไม่มีกลิ่นโคลน รสชาติดี จึงเป็นที่นิยมของผู้บริโภคมีตลาดรองรับที่แน่นอน โดยพ่อค้าจะมารับซื้อถึงหน้าฟาร์ม

ทุกวันนี้ตนมีรายได้ที่มั่นคง สร้างครอบครัวที่เข้มแข็ง ซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงพระราชทานพันธุ์ปลานิลให้พสกนิกรได้เลี้ยง ซึ่งเกษตรกรในจังหวัดหนองคายที่เลี้ยงปลานิลในกระชัง มีอยู่ 3 อำเภอ ประกอบด้วย อ.เมืองหนองคาย, อ.ศรีเชียงใหม่, และ อ.ท่าบ่อ ยึดอาชีพเลี้ยงปลานิลกระชังในแม่น้ำโขง 259 ราย ปริมาณปลามากกว่า 10 ล้านตัว สร้างรายได้มากกว่าปีละ 1 พันล้านบาท

ทั้งนี้ ประวัติความเป็นมาของปลานิล เมื่อปี พ.ศ. 2508 สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะเมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศมกุฎราชกุมารแห่งประเทศญี่ปุ่น ทรงจัดส่งปลาเข้ามาทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชจำนวนหนึ่ง ครั้งนั้นได้โปรดเกล้าฯ ให้ทดลองเลี้ยงปลาในบ่อภายในสวนจิตรลดา เป็นหนึ่งในโครงการส่วนพระองค์ ซึ่งผลการทดลองเลี้ยงพบว่าเจริญเติบโตและแพร่ขยายพันธุ์ได้เป็นอย่างดี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จึงพระราชทานชื่อว่า ปลานิล และพระราชทานพันธุ์ปลานิลให้แก่กรมประมงจำนวนหนึ่งหมื่นตัวนำไปขยายพันธุ์และแจกจ่ายแก่พสกนิกร


กำลังโหลดความคิดเห็น