ข่าวการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2559 นอกจากจะนำความวิปโยคอย่างใหญ่หลวงมาสู่คนไทยทั้งประเทศแล้ว ราชวงศ์ต่างชาติ และผู้นำรัฐบาลทั่วโลก ก็ได้มีพระราชสาส์น และสาส์นแสดงความอาลัยต่อการจากไปของพระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลที่ ๙ ผู้ทรงเปี่ยมด้วยพระมหากรุณาธิคุณ และพระอัจฉริยภาพด้านต่าง ๆ อันเป็นที่ยอมรับของนานาอารยประเทศ
เมื่อวันที่ 14 ต.ค. สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร ทรงมีพระราชสาส์นส่วนพระองค์ แสดงความเสียพระราชหฤทัยมายังสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ซึ่งแม้พระราชสาส์นดังกล่าวจะไม่มีการเผยแพร่สู่สาธารณชน แต่สื่อมวลชนในอังกฤษคาดหมายว่า คงจะมีเนื้อหาแสดงความอาลัยและคำสดุดี เช่นเดียวกับสาส์นของผู้นำทั่วโลกที่หลั่งไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันพฤหัสบดี (13 ต.ค.)
ราชวงศ์ต่าง ๆ ของยุโรปก็มีพระราชสาส์นแสดงความเสียพระราชหฤทัยหลังจากที่ทราบข่าวการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ อาทิ สมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ลที่ 16 กุสตาฟแห่งสวีเดน ซึ่งตรัสว่า “หม่อมฉันและและพระราชินีทราบข่าวด้วยความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ หม่อมฉันและพระราชินีขอแสดงความเสียใจไปยังสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ รวมถึงประชาชนชาวไทยทั่วประเทศ”
สมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธที่ 2 แห่งเดนมาร์ก ทรงมีพระราชสาส์นว่า “หม่อมฉันรู้สึกเสียใจอย่างสุดซึ้งที่ได้ทราบข่าวการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ความสัมพันธ์ระหว่างสองราชวงศ์ของเราใกล้ชิดมาโดยตลอด เจ้าชายเฮนริค (พระสวามี) และหม่อมฉันขอแสดงความเสียใจมายังพระบรมวงศานุวงศ์และประชาชนคนไทย”
สมเด็จพระราชาธิบดี วิลเลิม-อเล็กซานเดอร์ แห่งเนเธอร์แลนด์ ได้มีพระราชดำรัสเทิดทูนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ในฐานะที่ทรงให้ความสำคัญต่อคุณค่าแห่งความสามัคคีและความร่วมมืออย่างสันติของประชาชนในชาติ ส่วนพระราชสาส์นของสมเด็จพระราชาธิบดีฮารัลด์ที่ 5 แห่งนอร์เวย์ ระบุว่า “หม่อมฉันรู้สึกเสียใจอย่างยิ่งที่ได้ทราบข่าวการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในนามของหม่อมฉันและประชาชนชาวนอร์เวย์ ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งถึงสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ตลอดจนประชาชนคนไทยด้วย”
สำนักพระราชวังญี่ปุ่น แถลงว่า สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ และ สมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะ ทรงไว้ทุกข์ถวายความอาลัยแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ เป็นเวลา 3 วัน และโปรดเกล้าฯ ให้ นายชิกะโอะ คะวะอิ เลขาธิการสำนักพระราชวัง เดินทางไปยังสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโตเกียว เพื่อส่งพระราชสาส์นแสดงความเสียพระราชหฤทัย
การที่สมเด็จพระจักรพรรดิ และจักรพรรดินีแห่งญี่ปุ่น ทรงไว้ทุกข์ทันทีเป็นเวลา 3 วันทั้งที่ไม่ใช่ธรรมเนียมของญี่ปุ่นนั้น สะท้อนถึงความสัมพันธ์อันใกล้ชิดยาวนานระหว่างพระราชวงศ์ทั้งสอง โดยสายสัมพันธ์นี้เริ่มขึ้นเมื่อครั้งที่สมเด็จพระจักรพรรดิ ซึ่งขณะนั้นยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จฯ เยือนประเทศไทยในปี พ.ศ. 2507 และทรงได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
มกุฎราชกุมารอากิฮิโตะ (พระยศในขณะนั้น) ยังได้ทูลเกล้าฯ ถวายปลานิลจำนวน 50 ตัว แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2508 ซึ่งต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้ทดลองเลี้ยงปลานิลในบ่อสวนจิตรลดาจนประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง และปัจจุบันปลานิลได้กลายเป็นหนึ่งในปลาเศรษฐกิจที่สำคัญชนิดหนึ่งของไทย
หลังเสด็จขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ. 2532 สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ และ จักรพรรดินีมิชิโกะ ก็ได้เสด็จฯ เยือนประเทศไทยอีกครั้งในปี พ.ศ. 2534 และต่อมายังได้เสด็จฯ มาร่วมพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในปี พ.ศ. 2549 ด้วย
นายกรัฐมนตรี ชินโซ อะเบะ แห่งญี่ปุ่น ซึ่งได้เดินทางไปยังสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโตเกียว เพื่อลงนามถวายความอาลัย และโค้งคำนับต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ระบุว่า ตนในฐานะตัวแทนของรัฐบาลและประชาชนชาวญี่ปุ่น ขอแสดงความเสียใจมายังพระบรมวงศานุวงศ์ของไทย ตลอดจนรัฐบาลและประชาชนไทย โดยชาวญี่ปุ่นจะสวดภาวนาและส่งความคิดคำนึงถึงคนไทยในห้วงเวลาแห่งความโศกเศร้านี้
เมื่อวันที่ 13 ต.ค. สมเด็จพระราชาธิบดี จิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก แห่งราชอาณาจักรภูฏาน ทรงโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “His Majesty King Jigme Khesar Namgyel Wangchuck” ว่า ทรงรับทราบข่าวการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ด้วยความเสียพระราชหฤทัยอย่างยิ่ง ทรงกำหนดให้มีการลดธงครึ่งเสา และประกาศให้วันที่ 14 ต.ค. เป็นวันหยุดราชการ เพื่อเปิดโอกาสให้ชาวภูฏานได้สวดมนต์ถวายเป็นพระราชกุศล
ก่อนหน้านั้น 1 วัน เฟซบุ๊กของสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ก็ได้โพสต์พระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ ๙ พร้อมข้อความว่า ทรงมีพระบรมราชโองการให้วัดวาอารามทั่วภูฏานจัดพิธีสวดมนต์เป็นกรณีพิเศษ เพื่อขอให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ของไทยทรงมีพระพลานามัยแข็งแรง
หลังจากมีแถลงการณ์สวรรคต สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี พระราชบิดา และพระบรมวงศานุวงศ์ ได้ทรงนำคณะสงฆ์ เจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาล และคนไทยในภูฏาน ร่วมกันจุดเทียน 1,000 เล่ม และสวดมนต์เพื่อรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ที่ป้อมทาชิโชซองในกรุงทิมพู
ต่อมาในวันที่ 16 ต.ค. สมเด็จพระราชาธิบดี จิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก ได้เสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วย สมเด็จพระราชินี เจ็ตซุน เปมา วังชุก ไปยังพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง เพื่อทรงวางพวงมาลาถวายราชสักการะพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และทรงร่วมพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมพระบรมศพ จากนั้นทรงพระดำเนินไปทรงลงพระนามถวายความอาลัย ณ ศาลาว่าการพระราชวังพระบรมมหาราชวัง
ในวันเดียวกันนั้น เฟซบุ๊กของสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งภูฏาน ยังได้เผยแพร่ข้อความที่ทรงพระอักษรถึงในหลวงรัชกาลที่ ๙ ของไทย ว่า “แด่พระมหากษัตริย์ไทยผู้ทรงหาที่เปรียบมิได้ ทรงเปี่ยมด้วยพระวิสัยทัศน์ ดุจดั่งอัญมณีล้ำค่า ซึ่งได้เสด็จฯ เข้าสู่ปรินิพพานแล้วนั้น ข้าพเจ้าของแสดงความเคารพอย่างสูงสุด และขอสวดภาวนาถวายแด่พระองค์ด้วยใจจริง ขอให้พระองค์ท่านเสด็จพระราชสมภพเป็นธรรมราชาตลอดกาล เพื่อประโยชน์สุขแห่งมวลสรรพชีวิต”
ชาวไทยเริ่มรู้จักสมเด็จพระราชาธิบดี จิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก ตั้งแต่เมื่อครั้งที่เสด็จฯ มาทรงร่วมพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระจริยาวัตรที่งดงามและความไม่ถือพระองค์ทำให้ “เจ้าชายจิกมี” จากแดนมังกรสายฟ้าทรงครองใจคนไทยนับแต่นั้นมา
สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ทรงนับถือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ เป็นเสมือน “ครู” ในด้านการพัฒนาประเทศ เมื่อทรงเป็นมกุฎราชกุมารเคยเสด็จฯ เยือน จ. เชียงใหม่ เพื่อศึกษาการดำเนินงานของโครงการหลวงบนดอยอินทนนท์ และสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง และยังทรงเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์มาแล้วครั้งหนึ่งด้วย
ในโอกาสที่มหาวิทยาลัยรังสิตได้ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาปรัชญาการเมือง และเศรษฐศาสตร์ เมื่อวันที่ 26 พ.ย. พ.ศ. 2549 มกุฎราชกุมารจิกมี (พระยศในขณะนั้น) ได้มีพระราชดำรัสเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ว่า
“ปีนี้เป็นปีมหามงคลของคนไทยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี และเป็นปีที่พิเศษสำหรับข้าพเจ้าเช่นกัน ข้าพเจ้ารัก เคารพ และชื่นชมพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นอย่างมาก พระองค์ท่านทรงเป็นสุดยอดพระมหากษัตริย์ ข้าพเจ้ามีความศรัทธาต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างลึกซึ้งในหลาย ๆ เรื่อง...
เนื่องในโอกาสรับปริญญาบัตรครั้งนี้ จะต้องเป็นเยาวชนที่เรียนรู้อะไรหลาย ๆ อย่าง ซึ่งตัวอย่างที่จะเรียนรู้นั้นหาได้ไม่ยากเลย คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นั่นเอง พระองค์ทรงเป็นบุคคลสำคัญสำหรับข้าพเจ้า พระองค์ทรงงานอย่างหนัก ทรงมีพระทัยดี มีความยุติธรรม ทรงเป็นบุคคลที่มุ่งมั่นทำเพื่อประเทศชาติ ข้าพเจ้าอยากให้เยาวชนไทยและคนไทยยึดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นแรงบันดาลใจ และดำเนินชีวิตตามที่พระองค์ทรงปฏิบัติ ข้าพเจ้าเชื่อว่า หากเยาวชนไทยทำได้ดังนั้น ประเทศไทยจะประสบความสำเร็จและมีความเจริญรุ่งเรือง ซึ่งสิ่งนี้เป็นหน้าที่ที่เยาวชนต้องระลึกเอาไว้ในใจเสมอว่า ตัวเรามีโอกาสมากกว่าคนอื่น มีคนไม่มากนักที่ได้มีโอกาสเท่ากับคนไทย”
ประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ ยกย่องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ว่า ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ไม่เคยเหน็ดเหนื่อยในการพัฒนาประเทศ และชื่นชมที่ทรงอุทิศพระองค์อย่างไม่ย่อท้อเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของพสกนิกรภายใต้ร่มพระบริบาล
“พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นมิตรที่ใกล้ชิดกับสหรัฐฯ และทรงเป็นหุ้นส่วนที่มีค่ายิ่งของประธานาธิบดีสหรัฐฯ หลายต่อหลายคน... ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เข้าเฝ้าฯ พระองค์ท่านระหว่างการเดินทางเยือนไทยในปี 2012 และตระหนักถึงความสง่างามและความอบอุ่น เช่นเดียวกับความรักที่พระองค์ทรงมีต่อปวงชนชาวไทย” โอบามา กล่าว
อดีตประธานาธิบดี บิล คลินตัน แห่งสหรัฐฯ และ นางฮิลลารี คลินตัน ภริยา ได้มีถ้อยแถลงแสดงความเสียใจต่อข่าวการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ใจความตอนหนึ่งว่า “ฮิลลารี และผมขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งมายังประชาชนแห่งราชอาณาจักรไทย ต่อการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตลอดระยะเวลา 70 ปี พระองค์ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย เพื่อให้พวกเขาได้มีอนาคตที่สดใสยิ่งขึ้น พระองค์ทรงเป็นผู้นำที่รับใช้ปวงชนอย่างแท้จริง... ข้าพเจ้ารู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ไปเยือนประเทศไทยในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี... และ ฮิลลารี ก็รู้สึกซาบซึ้งใจที่มีโอกาสได้เข้าเฝ้าฯ พระองค์พร้อมกับประธานาธิบดี บารัค โอบามา เมื่อคราวไปเยือนไทยครั้งล่าสุด
“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ทรงเป็นผู้นำที่ดี และมีน้ำพระทัยเมตตา โลกกำลังต้องการผู้นำเฉกเช่นพระองค์มากยิ่งขึ้น เราทั้งสองขอส่งความระลึกถึง การสวดภาวนา และกำลังใจไปยังสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์”
ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก ได้ยืนสงบนิ่งเพื่อไว้อาลัยต่อการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดย นาย บัน คี มุน เลขาธิการสหประชาชาติ ได้แสดงความหวังว่าไทยจะยึดถือมรดกของพระองค์ที่ทรงยึดมั่นในค่านิยมสากล และการเคารพต่อสิทธิมนุษยชน
นายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัก แห่งมาเลเซีย ได้แสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งถึงพระบรมวงศานุวงศ์และประชาชนชาวไทยต่อการเสด็จสวรรคต ขณะที่รัฐบาลสิงคโปร์ก็ได้เทิดทูนพระเกียรติคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ว่า “ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่โดดเด่นและเป็นที่เคารพรักอย่างสูง... พระองค์ได้ทรงงานหนักอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนไทย”
นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี แห่งอินเดีย ได้โพสต์ข้อความถวายความอาลัยทางทวิตเตอร์ ใจความว่า “ประชาชนชาวอินเดียและผมรู้สึกเศร้าเสียใจเช่นเดียวกับคนไทยในการสูญเสียผู้นำที่ยิ่งใหญ่ที่สุดพระองค์หนึ่งในยุคของเรา คือ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช”
ประธานาธิบดี สี่ จิ้นผิง ของจีน ได้เทิดพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ ๙ ว่าทรงอุทิศพระองค์เพื่อส่งเสริมการพัฒนาของชาติไทย และสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศได้ทรงปฏิบัติไว้นั้น “มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการเชื่อมความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยและจีน”
ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ได้ส่งสาส์นแสดงความอาลัยใจความว่า “ตลอดหลายสิบปีที่ทรงครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเป็นที่รักและเทิดทูนอย่างจริงใจของพสกนิกรชาวไทย และทรงเป็นที่เคารพนับถืออย่างยิ่งในต่างประเทศ” ส่วนนายกรัฐมนตรี เทเรซา เมย์ แห่งอังกฤษ ระบุว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ “ได้พระราชทานแนวทางแก่พสกนิกรชาวไทยด้วยความสง่างาม การอุทิศพระองค์ และพระวิสัยทัศน์อันยาวไกลตลอดพระชนม์ชีพ และจะทรงเป็นที่รำลึกถึงอย่างยิ่งตลอดไป”
นายกรัฐมนตรี ฮุน เซน แห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ได้ส่งสาส์นแสดงความเสียใจมายัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใจความว่า “ข้าพเจ้าได้ทราบด้วยความเศร้าสลดใจยิ่งเรื่องการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่เคารพเทิดทูนสูงสุดของไทย และกษัตริย์ผู้ทรงครองราชย์ยาวนานที่สุดในโลก เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2559”
“การเสด็จฯ สวรรคตของพระองค์ไม่เพียงเป็นความสูญเสียสำหรับประเทศไทยและคนไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นความสูญเสียสำหรับมิตรประเทศทั่วโลก... พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงอุทิศพระองค์เพื่อความเป็นเอกภาพ ความเจริญรุ่งเรือง และความสุขของปวงชนชาวไทย ความเป็นกษัตริย์ที่เปี่ยมด้วยพระอัจฉริยภาพ และการอุทิศพระองค์เพื่อบ้านเมืองอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อยด้วยพระราชจริยวัตรที่งดงาม จะอยู่ในความทรงจำของประชาชนคนไทยตลอดไป”
“ในห้วงเวลาแห่งความโศกเศร้าสำหรับท่านและคนไทยทั้งประเทศ ขอให้ผมในฐานะผู้แทนรัฐบาลและประชาชนชาวกัมพูชาได้แสดงความเห็นอกเห็นใจและความเสียใจอย่างสุดซึ้งไปยังสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ รวมถึงรัฐบาลและปวงชนชาวไทย เนื่องในความสูญเสียอันยิ่งใหญ่นี้”
จากถ้อยคำแสดงความอาลัยที่ยกมาได้เพียงบางส่วนแสดงให้เห็นว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ไม่เพียงทรงเป็นที่รักและเทิดทูนในฐานะ “พ่อ” ของพสกนิกรชาวไทยเท่านั้น แต่ยังทรงเป็นกษัตริย์นักพัฒนาผู้ยิ่งใหญ่ที่ทั่วโลกต่างแซ่ซ้องพระเกียรติคุณ และจะน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อปวงชนชาวไทยและผู้คนทั่วโลกตลอดไป