ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -“แผ่นดินแผ่นฟ้ามืด ดับตะวัน
ปางพระเสด็จดับขันธ์ นิราศแล้ว
สามโลกวิโยค กัน- แสงโศก
โอ้ พระทูนกระหม่อมแก้ว ยะเยียบน้ำตาหนาว
หนาวเหน็บตระหนกพระธรณี
ปฐพีสะทกหาว
โอ้ว่าประชาอุระระร้าว
พระเสด็จ ณ แดนใด
น้ำตาดอกไม้ร่วง
พิลาปร่ำระงมไพร
ปานใจ จะขาดใจ...
จะขาดแล้ว อยู่รอนรอน...
โอ้ว่า พระทูนกระหม่อมแก้ว
นิราศแล้วจากแท่นบรรจถรณ์
ร่มฟ้าประชาชาติ..ราษฎร
มหิธรธำรง พระทศธรรม
พลังแห่งแผ่นดิน..เสด็จแล้ว
พญาโศกโศกแว่ววิเวกย่ำ
ฟ้าจะมืด ดินจะหม่น ก่นระกำ
ยะเยียบย้ำ ร่ำร้าว...หนาวน้ำตา”
นั่นคือบทกวีน้อมเกล้าฯ ถวายความอาลัยชื่อ “พระเสด็จดับขันธ์” ผลงานการประพันธ์ของ “เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์” ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปีพุทธศักราช 2536 และกวีซีไรต์ ปี 2523 ซึ่งถ่ายทอดความรู้สึกของพสกนิกรชาวไทยหลังการเสด็จสวรรคตของ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 ที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี
ตลอดระยะเวลา 70 ปีแห่งการดำรงอยู่ในไอศูรยสมบัติ ปวงชนชาวไทยได้ตระหนักถึงพระราชกรณียกิจ พระราชจริยาวัตร พระบรมราโชวาท พระปรีชาสามารถ ตลอดรวมถึงแนวพระราชดำริที่ทรงบำเพ็ญด้วยพระวิริยะอุตสาหะ จนก่อให้เกิดคุณประโยชน์อย่างใหญ่หลวงนานัปการแก่เหล่าอาณาประชาราษฎร์ ดังคำกล่าวที่ว่า “ประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศที่ดีที่สุด แต่ประเทศไทยมีพระมหากษัตริย์ที่ดีที่สุดในโลก”
อย่างไรก็ดี ไม่เพียงแค่ปวงชนชาวไทยเท่านั้น พระเกียรติคุณด้านต่างๆ ของพระองค์ยังได้แผ่ไพศาลไปทั่วทุกสารทิศ และได้รับการยอมรับจากนานาอารยประเทศ โดยหนึ่งในรางวัลอันเป็นที่ประจักษ์ก็คือ การที่องค์การสหประชาชาติทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์(UNDP Human Development Lifetime Achievement Award)
กระทั่งมีการถวายพระสมัญญานามอันเป็นที่ยอมรับกันว่า King of Kings
สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไนดารุสซาลาม มีพระราชดำรัสในนามพระประมุขและพระราชวงศ์ทั้ง 25 อาณาจักร เมื่อครั้งเสด็จฯ มาเยือนราชอาณาจักรไทยในคราวฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี เอาไว้ในบางช่วงบางตอนว่า....
“...ณ วันนี้ ประชาคมโลกต่างตระหนักถึงความสำเร็จทั้งหลายทั้งปวงของฝ่าพระบาท หม่อมฉัน องค์พระประมุข และพระราชอาคันตุกะทุกพระองค์ ณ ที่นี้ จึงมีความปลาบปลื้มปีติยินดีเป็นอย่างยิ่งที่องค์การสหประชาชาติได้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์แด่ฝ่าพระบาท
“พระราชกรณียกิจและความสำเร็จที่กล่าวมาของฝ่าพระบาท ทำให้หม่อมฉัน องค์พระประมุข และพระราชอาคันตุกะทุกพระองค์ ณ ที่นี้ ต่างรู้ซึ้งตระหนักได้ดีว่า เหตุใดประชาชนของพระองค์จึงพร้อมใจกันน้อมเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญามหาราช
“แต่หม่อมฉัน ตลอดจนองค์พระประมุขและพระราชอาคันตุกะทุกพระองค์ที่มีไมตรีจิตพรั่งพร้อมกันมาร่วมงานในวันนี้ ขอถวายพระราชสมัญญาที่เรียบง่าย แต่มีค่าและสะท้อนถึงความรู้สึกของหม่อมฉันและทุกพระองค์ ณ ที่นี้คือ
“ฝ่าพระบาททรงเป็นมิตรที่รักและพึงเคารพอย่างที่สุดของพวกเรา
“ฝ่าพระบาททรงเป็นพลังบันดาลใจให้กับพวกเราพระประมุขด้วยกัน และสิ่งนี้คือ เหตุสำคัญล้ำลึกของความพร้อมเพรียงกันมาถวายพระเกียรติใน ครั้ง นี้...”
ขณะที่การเสด็จสวรรคตของพระองค์ได้ส่งผลกษัตริย์ทุกราชวงศ์ทั่วโลกและผู้นำประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้ส่งพระราชสาส์นและสาส์นแสดงความเสียใจต่อการจากไปของพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่พระองค์นี้
และที่พิเศษสุดก็คือการที่ “สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ และสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะแห่งญี่ปุ่น” ทรงประกาศไว้ทุกข์ให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ เป็นเวลา 3 วัน นับตั้งแต่ค่ำวันที่ทรงทราบข่าวการ เสด็จสวรรคต ซึ่งถือว่าไม่ใช่ธรรมเนียมของราชสำนักญี่ปุ่นที่ปฏิบัติกันมา ขณะเดียวกันก็สะท้อนถึงความสัมพันธ์อันใกล้ชิดยาวนานระหว่างพระราชวงศ์ทั้งสอง โดยสายสัมพันธ์นี้เริ่มขึ้นเมื่อครั้งที่สมเด็จพระจักรพรรดิ ซึ่งขณะนั้นยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จฯ เยือนประเทศไทยในปี พ.ศ. 2507 และทรงได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
นอกจากนี้ อีกหนึ่งพระมหากษัตริย์ที่ทรงให้ความเคารพต่อ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเป็นอย่างยิ่งก็คือ สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก แห่งราชอาณาจักรภูฏาน ที่แสดงความเสียพระราชหฤทัยอย่างสุดซึ้ง พร้อมเสด็จฯ มายังราชอาณาจักรไทยพร้อมกับสมเด็จพระราชินีเจตชุน เพมา วังชุกและและเจ้าชายจิกมี นัมเกล วังชุก เพื่อเข้าร่วมพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมพระบรมศพ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เมื่อวันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา
สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมีทรงนับถือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศเป็นเสมือน “ครู” ในด้านการพัฒนาประเทศ โดยเมื่อทรงเป็นมกุฎราชกุมารเคยเสด็จฯ เยือน จ. เชียงใหม่เพื่อศึกษาการดำเนินงานของโครงการหลวงบนดอยอินทนนท์และสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง และยังทรงเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์มาแล้วครั้งหนึ่งด้วย
ในโอกาสที่มหาวิทยาลัยรังสิตได้ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาปรัชญาการเมือง และเศรษฐศาสตร์ เมื่อวันที่ 26 พ.ย. พ.ศ. 2549 มกุฎราชกุมารจิกมี (พระยศในขณะนั้น) ได้มีพระราชดำรัสเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ว่า
“ปีนี้เป็นปีมหามงคลของคนไทยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี และเป็นปีที่พิเศษสำหรับข้าพเจ้าเช่นกัน ข้าพเจ้ารัก เคารพ และชื่นชมพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นอย่างมาก พระองค์ท่านทรงเป็นสุดยอดพระมหากษัตริย์ ข้าพเจ้ามีความศรัทธาต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างลึกซึ้งในหลายๆ เรื่อง...
“เนื่องในโอกาสรับปริญญาบัตรครั้งนี้ จะต้องเป็นเยาวชนที่เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่าง ซึ่งตัวอย่างที่จะเรียนรู้นั้นหาได้ไม่ยากเลย คือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั่นเอง พระองค์ทรงเป็นบุคคลสำคัญสำหรับข้าพเจ้า พระองค์ทรงงานอย่างหนัก ทรงมีพระทัยดี มีความยุติธรรม ทรงเป็นบุคคลที่มุ่งมั่นทำเพื่อประเทศชาติ ข้าพเจ้าอยากให้เยาวชนไทยและคนไทยยึดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นแรงบันดาลใจ และดำเนินชีวิตตามที่พระองค์ทรงปฏิบัติ ข้าพเจ้าเชื่อว่าหากเยาวชนไทยทำได้ดังนั้น ประเทศไทยจะประสบความสำเร็จและมีความเจริญรุ่งเรือง ซึ่งสิ่งนี้เป็นหน้าที่ที่เยาวชนต้องระลึกเอาไว้ในใจเสมอว่า ตัวเรามีโอกาสมากกว่าคนอื่น มีคนไม่มากนักที่ได้มีโอกาสเท่ากับคนไทย”
นอกจากนี้ บรรดาบุคคลสำคัญของโลกจำนวนไม่น้อยต่างก็เทิดทูลฯ และยกย่องในความยิ่งใหญ่ของ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช”
ยกตัวอย่างเช่น ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต แห่งประเทศฟิลิปปินส์ ที่ประกาศว่า “ในชั่วชีวิตของผม ยินดีคุกเข่า(แสดงความเคารพนอบน้อม) ต่อสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไนฯและมหากษัตริย์ของไทยเท่านั้น...”
หรือนายแจ็ค หม่า ผู้ก่อตั้งและประธานบริหารกลุ่มบริษัท อาลีบาบา ที่กล่าวแสดงความรู้สึกเอาไว้ว่า “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นบุคคลที่น่านับถือที่สุดในโลก พระองค์ทรงเป็นที่รักและเคารพของพวกเราทุกคน ซึ่งรวมถึงผมด้วย ตลอด 10 ปีที่ผ่านมาที่ผมมีโอกาสเดินทางไปยังประเทศไทยมากกว่าสิบครั้ง ทุกครั้งที่ไปประเทศไทย ผมพบเห็นว่าประชาชนทั้งรักและเทิดทูนพระองค์ เพราะเราทราบดีว่าพระองค์ทรงประกอบพระราชกรณียกิจต่างๆ มากมายเพื่อประเทศไทย เพื่อชาวเอเชีย และชาวโลก เพื่อสร้างสันติภาพ และทำให้ผู้คนทุกศาสนาประพฤติและปฏิบัติดีตามความเชื่อและคำสอนของแต่ละศาสนา”
แม้กระทั่ง “สโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูล” แห่งประเทศอังกฤษ ก็ยังน้อมเกล้าฯ ถวายความอาลัยด้วยการส่ง “จอร์แดน เฮนเดอร์สัน” กัปตันทีมมากล่าวความอาลัยผ่านวิดีโอคลิป และขึ้นข้อความในจอ LED ข้างสนามแสดงความเสียใจกับคนไทยในระหว่างการแข่งขันกับสโมสรแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด ซึ่งต้องถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของวงการฟุตบอลเลยก็ว่า นับเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างยิ่งใหญ่สุดประมาณ
กล่าวสำหรับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้น นอกจากราชอาณาจักรไทยแล้ว ตัวอย่างของการนำแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปใช้ก็คือ ประเทศติมอร์-เลสเต ซึ่งดำเนินงานภายใต้แผนงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาไทย-ติมอร์-เลสเต กับ “โครงการพัฒนาหมู่บ้านต้นแบบตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่เมืองเฮรา”
เมื่อครั้งที่ นางสาวบุษกร พฤกษพงศ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงดิลี เดินทางไปเยี่ยมชมโครงการพัฒนาหมู่บ้านฯ เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2558 นาย Alex หัวหน้าชุมชนเมืองเฮรา และนาย Joseเจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรติมอร์ฯโดยนาย Alexได้รายงานว่า ตนเองเป็นผู้นำชุมชนดูแลโครงการนี้มา 2 ปีแล้ว ได้เรียนรู้ประสบการณ์จากประเทศไทยและนำมาเผยแพร่ให้สมาชิกของโครงการได้เรียนรู้ และนำไปปฏิบัติ ส่งผลให้การเพาะปลูกพืชผักเป็นไปอย่างเป็นระบบ ปัจจุบันมีสมาชิก 29 คน และสามารถสร้างรายได้ให้แก่สมาชิกเดือนละประมาณ 200-400 ดอลลาร์สหรัฐ รวมทั้งได้ใช้บริโภคในครัวเรือนด้วย
นอกจากนั้น ประเทศจอร์แดน ยังได้นำ “โครงการฝนหลวง” โครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ไปใช้ในการทำฝนเทียม เพื่อกระตุ้นหรือเพิ่มปริมาณน้ำฝนทั่วประเทศอีกด้วย
นี่คือความยิ่งใหญ่และพระบุญญาบารมีใน “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” อันเป็นที่ประจักษ์ จนกล่าวได้ว่าพระองค์ไม่ได้ทรงเป็นเพียงพระมหากษัตริย์ของปวงชนชาวไทยเท่านั้น หากยังทรงเป็นพระมหากษัตริย์ของมวลมนุษยชาติอีกด้วย