ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies
Tokyo University of Foreign Studies
นี่เดือนพฤษภา...เดือนห้า หา? คุ้นๆ ว่าเพิ่งจะฉลองปีใหม่ไปเมื่อไม่นาน นี่จะครึ่งปีอีกแล้วหรือ
เอาเถอะ แม้จะตกใจเรื่องวันเวลาที่ผ่านไปอย่างรวดเร็ว แต่เดือนนี้ก็มีสิ่งที่ผมและคนญี่ปุ่นตั้งตารอทุกปี นั่นคือวันหยุดยาว
ก็นะ...คนทำงานมักจะรออยู่ 2 อย่าง คือ วันเงินเดือนออก กับวันหยุด
เดือนนี้มีวันหยุดยาวของชาวญี่ปุ่นในช่วงต้นเดือน ซึ่งเรียกว่า “โกลเดนวีก” หรือ “สัปดาห์ทอง” คือวันที่ 3—วันอนุสรณ์รัฐธรรมนูญ, วันที่ 4—วันสีเขียว, วันที่ 5—วันเด็ก ถ้าได้เสาร์อาทิตย์มาเพิ่มด้วย รวมๆ แล้วก็จะได้หยุด 5-7 วัน
ด้วยเหตุที่มีวันหยุด ทำให้ผมได้ดูโทรทัศน์มากขึ้น และได้เห็นภาพข่าวเกี่ยวกับกีฬาซูโม่ (หรือ “ซุโม” [相撲;sumō]) ซึ่งกำลังเข้าสู่ฤดูกาลแข่งขันพอดี พอได้เห็นก็นึกย้อนถึงคนคนหนึ่ง...และเป็นเช่นนั้นเสมอ เดี๋ยวคงได้ทราบว่าเป็นใคร
และพลอยนึกขึ้นมาได้ว่า เอ้อ...เราไม่ได้ดูซูโม่ของจริงมาหลายปีแล้วสินะ ตอนมีเงินก็ไม่มีเวลา ตอนที่มีเวลาก็กลับไม่เงิน
เอาเถอะ ก็ดูโทรทัศน์ไปพลางๆ ก่อนละกัน ว่าแล้วก็ไปค้นสมุดบันทึกเก่าๆ ของสมัยที่เริ่มเรียนภาษาญี่ปุ่นและเริ่มรู้จักซูโม่ในเชิงลึกเป็นครั้งแรกออกมาด้วย
วันนั้นคือวันหนึ่งเมื่อนานมาแล้วในชั่วโมงภาษาญี่ปุ่น
“เห็นตัวใหญ่ๆ อย่างนั้น ไม่ใช่ไขมันอย่างเดียว แต่มีกล้ามเนื้อแข็งแรง และการฝึกก็เข้มงวดมาก”
อาจารย์อธิบายให้ฟังขณะที่นักศึกษาทั้งชั้นกำลังดูภาพยนตร์ญี่ปุ่นเกี่ยวกับซูโม่เรื่องดังที่ชื่อว่า “ชิโกะ ฟุนจัตตะ” (シコふんじゃった;Shiko Funjatta)
ก่อนหน้านั้น ผมได้ดูการแข่งซูโม่ทางโทรทัศน์หลายครั้งเพราะถ่ายทอดออกอากาศเป็นประจำ แต่ช่วงแรกๆ ไม่ค่อยตื่นเต้นเท่าไร และไม่เห็นอะไรในซูโม่มากไปกว่าการที่ “อ้วน” กับ “อ้วน” ชวนมากันมาล้มฝ่ายตรงข้าม ความรู้สึกที่ประทับเด่นเป็นสัญลักษณ์ของกีฬาชนิดนี้จึงกลายเป็นเรื่องความอ้วน
ไม่เคยเห็นใกล้ๆ เห็นตัวใหญ่มาแต่ไกล จึงนึกไว้ก่อนว่าต้องเป็นไขมัน มาตอนนี้เพิ่งได้รับคำยืนยันจากคนญี่ปุ่นว่า ภายใต้ร่างมหึมานั้นคือกล้ามเนื้อทรงพลัง
“มีใครเคยไปดูซูโม่มาบ้างไหม?” อาจารย์ถามต่อ แต่ทุกคนเงียบ
อาจารย์กวาดสายตาหาคนตอบอีกสักพัก แต่ก็ไม่มีใครตอบ ในห้องนี้คงไม่มีใครเคยไปดูของจริง แล้วผมจึงโพล่งออกไปว่า
“เห็นทางโทรทัศน์แล้วคิดว่าไม่น่าสนุกครับ”
“ทำไมคิดอย่างนั้นล่ะคะ”
“เห็นมีแต่ดันกัน เดี๋ยวเดียวจบ จะสนุกตรงไหนครับ” ผมพูดไปอย่างที่คิด
อาจารย์ยิ้มน้อยๆ แล้วอธิบายพร้อมแววภูมิใจของคนญี่ปุ่นอยู่บนใบหน้าว่า ซูโม่ไม่ได้มีแค่ดันกับยันเพียงท่าสองท่า และถ้าเป็นซูโม่คู่เก่งๆ จะได้ลุ้นกันตัวโก่งเลยทีเดียว คนญี่ปุ่นถึงได้ชอบดู
เอ...หรือที่ผมดูแล้วไม่สนุกนั้นเป็นเพราะดูคู่ที่ฝีมือไม่เข้าขั้นหรือเปล่า? แต่ผมก็ยังทำหน้าแบบเชื่อไม่ลง ด้วยความคุ้นหูกับสารพัดท่าของแม่ไม้มวยไทยอย่างจระเข้ฟาดหาง ไต่เขาพระสุเมรุ เถรกวาดลาน จึงจินตนาการไม่ออกว่ายักษ์ตัวเทอะทะจะทำท่าวิจิตรพิสดารที่ต้องใช้ความประเปรียวแบบมวยไทยได้อย่างไร แล้วอย่างนี้จะมีอะไรหวือหวาน่าตื่นเต้นหรือ
อาจารย์คงไม่อยากเสียเวลาถกอภิปรายเรื่องความสนุกต่อไปเพราะไม่ใช่ประเด็นหลักของการเรียนวันนั้น จึงตัดปัญหาด้วยการส่งเสริมนักศึกษาในชั้นว่า
“คราวหน้า ลองหาโอกาสไปดูเองดีกว่าค่ะ แล้วจะรู้ว่าสนุกจริง”
ได้ข้อสรุปอยู่ในใจว่าคงจะเป็นอย่างที่อาจารย์พูดไว้ คือดูซูโม่ทางโทรทัศน์อาจไม่ถึงใจเท่ากับไปดูที่เวทีจริง ตอนนั้นถึงแม้โอกาสยังมาไม่ถึง แต่ภาพยนตร์ที่ทุกคนได้ดูในชั่วโมงเรียนเป็นการกระตุ้นความอยากได้มาก
เมื่อมาค้นคว้าต่อ จึงทราบว่าซูโม่เป็นกีฬาเก่าแก่ของญี่ปุ่น เชื่อกันว่ามีอายุยาวนานราว 2,000 ปี เรื่องราวแรกเกี่ยวกับซูโม่ปรากฏใน “โคะจิกิ” (古事記;Kojiki) ซึ่งเป็นบันทึกเก่าแก่ที่สุดของญี่ปุ่นแห่งศตวรรษที่ 8 โดยพูดถึงซูโม่ในระดับตำนานว่าเทพเจ้าสายฟ้า (ผู้มีชื่อเรียกยากมากว่าทะเกะมิเกะซุชิ [タケミカヅチ; Takemikazuchi]) แข่งปล้ำซูโม่กับเทพอีกองค์หนึ่ง แล้วชนะจึงได้เป็นผู้ปกครองญี่ปุ่น
ซูโม่มีรากฐานเกี่ยวข้องกับศาสนามาแต่โบราณ เป็นทั้งพิธีบวงสรวงเทพเจ้าให้ประทานความอุดมสมบูรณ์ เป็นการทำนาย และเป็นการแสดงฉลองการเก็บเกี่ยว ราชสำนักสมัยนะระ (奈良;Nara; พ.ศ. 1253 -1337) จัดซูโม่เป็นเทศกาลประจำปี มีทั้งดนตรีและการเต้นรำ ซึ่งฝ่ายที่ปล้ำชนะจะเข้าร่วมแสดงด้วย แรกๆ ซูโม่ไม่มีกฎอะไรมากมาย ทั้งต่อยทั้งปล้ำ รัวกันเอามันส์เข้าว่าเสียมากกว่า ต่อมาค่อยๆ ปรับรูปแบบจนมีซูโม่อาชีพในสมัยเอะโดะ (江戸;Edo; พ.ศ. 2143 - 2411) และได้รับความนิยมเรื่อยมาถึงปัจจุบัน โดยขณะนี้สมาคมซูโม่แห่งญี่ปุ่นเป็นผู้ดูแลวงการซูโม่และจัดการแข่งขัน
ทีแรก นั่งฟังอาจารย์ไป รู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง เพราะวงการซูโม่มีคำญี่ปุ่นที่ไม่ค่อยคุ้นหูเยอะแยะไปหมด ซูโม่มีอายุยาวนานและเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมญี่ปุ่น จึงมีคำศัพท์เฉพาะวงการเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก คงเหมือนกับที่ศิลปกรรมไทยมีศัพท์เฉพาะว่าช่อฟ้า ใบระกา หน้าบัน อะไรทำนองนั้น ซึ่งคำลักษณะนี้ถ้าไม่ใช้แบบทับศัพท์ การจะแปลให้กระชับบางทีก็ทำได้ยาก
ซูโม่อาชีพเรียกเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า “โอซุโม” (大相撲;Ōzumō) และการแข่งซูโม่อาชีพก็มีดิวิชั่นกับเขาเหมือนกัน แบ่งตามความเก่งกาจโดยไม่เกี่ยวกับน้ำหนักตัวเหมือนมวย แกร่งที่สุดไปจนถึงระดับล่างมี 6 ชั้น ได้แก่ มะกุอุชิ (幕内;Maku-uchi), จูเรียว (十両;Jūryō), มะกุชิตะ (幕下;Maku-shita), ซันดันเมะ (三段目;Sandanme), โจะนิดัง (序二段;Jonidan), โจะโนะกุชิ (序ノ口;Jonokuchi)
แน่นอนว่า ยิ่งแกร่งยิ่งดูมันส์ เพราะฉะนั้นคนจึงนิยมดูมะกุอุชิที่สุด ในระดับนี้ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดยังแบ่งออกเป็น 5 ตำแหน่งที่ถือว่าเป็นสุดยอดแห่งวงการซูโม่ คือ โยะโกะซุนะ (横綱;Yokozuna), โอเซะกิ (大関;Ōzeki), เซะกิวะเกะ (関脇;Sekiwake) , โคะมุซุบิ (小結;Komusubi), และมะเอะงะชิระ (前頭;Maegashira) ตามลำดับลงมา ตำแหน่งเหล่านี้ไม่ใช่ได้มาง่ายๆ และมีขึ้นมีลงตามการแพ้ชนะของตน อยู่สูง ถ้าอ่อนซ้อมแล้วแพ้บ่อยก็ถูกลดตำแหน่งได้ มีเฉพาะโยะโกซุนะที่เป็นแล้วเป็นเลย ไม่ถูกลดชั้น แต่ถ้าแพ้บ่อยอาจถูกกดดันให้เลิกอาชีพซูโม่ไปเลย การจะขึ้นเป็นโยะโกะซุนะได้ต้องชนะเลิศติดต่อกันในสองรอบการแข่งขันขณะที่ครองตำแหน่งโอเซะกิอยู่ และต้องมีคุณสมบัติเชิงค่านิยมของญี่ปุ่นอีกในด้านความประพฤติ (ซึ่งไม่มีการระบุเกณฑ์ไว้แน่ชัดตายตัว) ถ้าใครได้ขึ้นแท่นเป็นโยะโกะซุนะเมื่อไร จงภูมิใจต่อไปจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลานได้เลยว่า คนญี่ปุ่นจะจารึกชื่อไว้ในประวัติศาสตร์เลยทีเดียว
อาจารย์อธิบายว่า “ซูโม่” คือชื่อกีฬา ส่วน “นักปล้ำซูโม่” ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “ริกิชิ” (力士;rikishi) มีทั้งมือใหม่ไล่ไปจนถึงมือหนึ่ง แต่ละคนสังกัดค่าย กว่าจะไต่เต้าและพุงขึ้นสู่แนวหน้าต้องมานะบากบั่นฝึกซ้อมอย่างหนัก ถึงแม้เรื่องหลักประจำวันของริกิชิมีแค่ 2 อย่าง คือ ซ้อมกับกินก็จริง แต่เป็นสองสิ่งที่หนักหนาสาหัสทั้งความเข้มข้นและปริมาณ
การซ้อม เรียกว่า เคโกะ (稽古;kēko) เป็นคำศักดิ์สิทธิ์สำหรับผู้ที่คิดจะเป็นนักปล้ำซูโม่ บรรดาริกิชิจะเริ่มกิจวัตรในค่ายประมาณตี 4 หรือตี 5 พวกรุ่นเล็กจะต้องตื่นก่อน เริ่มซ้อมก่อน รุ่นใหญ่ได้นอนนานกว่า ชั้นมะกุชิตะตื่น 6 โมงครึ่ง เริ่มซ้อม 7 โมง ชั้นจูเรียวเข้าซ้อม 8 โมง มะกุอุชิมาหลังจากนั้นนิดหน่อย สิ่งสำคัญในการปล้ำซูโม่คือ สมดุลทางกาย ความคล่องแคล่ว ความยืดหยุ่น ความแข็งแรงของต้นขา และจุดศูนย์ถ่วงของร่างกายซึ่งจะต้องทำให้ต่ำใกล้พื้นที่สุด การจะได้มาซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้ มี 3 ท่าหลักที่ต้องฝึกหนักคือ ชิโกะ เท็ปโป และมะตะวะริ
“ชิโกะ” คือ ท่าที่คนต่างชาติคงได้เห็นกันจนชินตาอยู่แล้ว คือ การยืนกางขาสองข้างออกแล้วย่อตัวลง ยกขาขวาขึ้น ทิ้งน้ำหนักลงขาซ้ายที่ยืนเป็นหลักอยู่ ย่ำขาขวาลงไปที่พื้นพร้อมกับปล่อยลมหายใจ แล้วทำสลับขากัน ผู้เริ่มต้นจะฝึกทำชิโกะอย่างน้อยประมาณวันละ 500 ครั้ง
“เท็ปโป” คือ การฝึกกล้ามเนื้อแขนและไหล่ด้วยการออกแรงใช้ฝ่ามือดันเสาไม้ต้นใหญ่ที่ลงฐานไว้ในพื้นดินโดยดันสลับมือซ้ายมือขวา เพื่อฝึกการกะจังหวะและการประสานงานของมือ
“มะตะวะริ” คือ การนั่งลงไปที่พื้น กางขาออกให้กว้างที่สุดจนใกล้เคียงกับหนึ่งร้อยแปดสิบองศา แล้วโน้มตัวไปข้างหน้าจนร่างกายท่อนบนตั้งแต่สะดือขึ้นมาแตะแนบลงไปกับพื้น ท่านี้ลือกันว่าเจ็บมาก เพราะหากใครโน้มตัวได้ไม่ติดพื้น จะมีรุ่นพี่ใจดี๊ดีที่อุตส่าห์มายืนกดหลังให้โน้มไปจนถึง
จากนั้นเป็นการฝึกปล้ำกับคู่ต่อสู้ เสร็จแล้วทุกคนจะมารวมตัวทำชิโกะเป็นการปิดท้าย ประมาณ 10 หรือ 11 โมงจะเป็นเวลาอาบน้ำ รุ่นเล็กต้องรอให้รุ่นใหญ่อาบเสร็จก่อน แล้วก็ได้เวลากินอาหารมื้อบรันช์ ซึ่งก็คือมื้อสายหรือกึ่งเที่ยง เป็นมื้อแรกและเป็นมื้อใหญ่ที่สุดของวัน
คำว่า “ท้องยุ้งพุงกระสอบ” ของไทยน่าจะใช้ได้ดีกับการกินของเหล่าริกิชิ เพราะกินกันแต่ละทีกินเป็นหม้อๆ อาหารที่กิน เรียกว่า “จังโกะนะเบะ” (ちゃんこ鍋;chanko-nabe) เป็นต้มจืดในหม้อไฟใส่ผักกับเนื้อสัตว์ คัดเอาแบบที่แคลอรีสูงๆ มาบำรุงกันโดยเฉพาะ เมนูที่พบบ่อย คือ ต้มจืดมีน้ำซุปยืนพื้นปรุงจากสาหร่ายทะเล ใส่เต้าหู้ หมู ไก่ ปลา ถั่วงอก ผักกาดขาว แครอต หัวหอม หรือพูดง่ายๆ คือต้มจืดสารพัดผักบวกเนื้อสัตว์ และอีกเช่นเคย รุ่นใหญ่ได้อภิสิทธิ์กินก่อน ท่ามกลางสายตาเว้าวอนของรุ่นเล็กว่าเหลือไว้ให้พอยาไส้บ้างเต๊อะ
วงการซูโม่มีวัฒนธรรมองค์กรอย่างหนึ่งที่สืบทอดกันมาอย่างเข้มงวดและยาวนาน คือ พวกรุ่นพี่จะได้สิทธิพิเศษอิ่มก่อน นอนนาน และมีรุ่นน้องเป็นลูกมือ รุ่นเล็กๆ จะต้องซักผ้า กวาดบ้าน ทำอาหารรับใช้รุ่นพี่ กินอาหารเสร็จก็ต้องล้างจาน ปัดกวาดเช็ดถูก ทำความสะอาดห้องและลานฝึก รุ่นใหญ่สบาย จะอ่านการ์ตูน นอนตีพุง หรือพุ่งไปเล่นปาชิงโกะข้างนอกก็ได้ เพียงแต่ต้องแต่งกายแบบซูโม่ คือชุดกิโมโนชาย และรวบผมเป็นมวยผูกไว้บนศีรษะ...ก็เท่านั้น
รุ่นเล็กทั้งหลาย กว่าจะยิ่งใหญ่ขึ้นมาได้ ต้องผ่านการฝึกทั้งทางกายและทางใจในสภาพที่เป็นฝ่ายรองรับแต่อย่างเดียว แต่ความอดทนเท่านั้นที่จะทำให้คนเราสบายและยืดได้ในที่สุด เมื่อมุมานะซ้อมและแข่งจนชนะถึงชั้นจูเรียวเมื่อไร เมื่อนั้นเงินเดือนประจำเป็นกอบเป็นกำก็จะเป็นของท่าน ผมได้รู้ตัวเลขเงินเดือนของริกิชิแล้วยังอดนึกไม่ได้ว่า นี่ถ้ารู้เร็วกว่านี้อาจจะเลิกเรียนแล้วเปลี่ยนไปเล่นซูโม่กับเขาบ้าง เงินเดือนของริกิชิโดยประมาณถ้าแปลงเป็นเงินไทย หลายคนคงอิจฉาเพราะสูงไม่ใช่เล่น
โยะโกะซุนะ 2 ล้าน 8 แสนเยน
โอเซะกิ 2 ล้าน 3 แสนเยน
ซันยะขุ (三役;Sanyaku; ได้แก่ เซะกิวะเกะ และโคะมุซุบิ) 1 ล้าน 7 แสนเยน
มะเอะงะชิระ 1 ล้าน 3 แสนเยน
จูเรียว 1 ล้าน 3 หมื่นเยน
นี่เงินเดือน ไม่ใช่เงินปี และนอกจากเงินเดือนแล้ว เมื่อชนะการแข่งขันแต่ละครั้งก็จะได้เงินรางวัลต่างหากอีกด้วย แค่เงินเดือนนี่ พอคำนวณเป็นเงินไทยคร่าวๆ โดยเอาสามหาร ก็คงจะทราบว่าเงินดีขนาดไหน ผมจึงได้ถึงบางอ้อว่า มิน่าล่ะ ถึงได้มีคนต่างชาติเข้ามาเป็นนักปล้ำซูโม่อยู่หลายคน คนที่ครองตำแหน่งโยะโกะซุนะ ณ ปี 2559 ซึ่งมี 3 คนก็ไม่ใช่คนญี่ปุ่นเลย แต่เป็นคนมองโกล
แล้วก็เป็นไปตามคาดคือ ตอนนั้น เพื่อนร่วมชั้นคนหนึ่งมีคำถามละลาบละล้วงถามอาจารย์ว่าในยุคสมัยที่หุ่นผอมเพรียวเป็นที่นิยม ริกิชิผู้หนักเป็นร้อยโลขึ้นไปเหล่านี้มีแฟนด้วยหรือ?
“โอ้...บางคนภรรยาสวยด้วยค่ะ” อาจารย์ตอบโดยไม่ลังเลเลย
ส่วนชีวิตรักที่อาจจะลับด้วยนั้นเป็นยังไง คงหาคำตอบได้ยาก แต่ที่รู้กันทั่วไปคือ นักซูโม่หลายคนแต่งงานมีภรรยาเป็นตัวเป็นตน ทำเอาคนโสดซิกแพ็กอายไปตามๆ กัน เพราะริกิชิเด่นๆ มีภรรยาสวย มีลูกน่ารัก...และรวย!
ความเป็นริกิชิในวงการซูโม่จึงไม่ใช่แค่ความอ้วนอย่างที่ผมเห็นเพียงเผินๆ ทีแรก แต่เป็นความอ้วนแล้วเด่น อ้วนแล้วดัง อ้วนแล้วขลัง อ้วนมีพลัง อ้วนมีตังค์ และมีคนมานั่งห้อมล้อมพร้อมกับปรบมือให้...เป็นการอ้วนที่ได้ประโยชน์ แต่เราจะยอมอ้วนแบบนั้นด้วยไหม...ฮื่ม น่าคิด
**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.manager.co.th