xs
xsm
sm
md
lg

ชุดนักซูโม่ต้องเปิดเกือบหมด.. แล้วชุดเกอิชาล่ะ ต้องเปิดแค่ไหน!?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สวัสดีครับผม Mr. Leon มาแล้วครับ อาทิตย์ที่แล้วมีเพื่อนๆ พูดถึงโยโกสุนะ (横綱 : Yokozuna) ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดของซูโม่ ตำแหน่งโยโกสุนะ นั้นนอกจากจะเก่งและต้องชนะการต่อสู้จนเป็นอันดับ 1 Top rank แล้ว ต้องมีลักษณะนิสัยที่ดี เช่น ขยันฝึกซ้อมอย่างจริงจัง เป็นที่ชื่นชอบและรักษาขนบธรรมเนียมปฏิบัติของซูโม่ พูดง่ายๆ คือต้องทั้งเก่งและมีคุณภาพด้วย

ก่อนหน้านี้ที่ญี่ปุ่นมีข่าวคราวเกี่ยวกับเรื่องล้มมวยซูโม่ ตั๋วฟรีพวกยากุซ่า อยู่บ่อยๆ นอกจากนั้นก็มีเรื่องการพนันซูโม่ ไม่เฉพาะแค่นั้นเกิดข่าวเรื่องนักซูโม่เล่นการพนันบอล เบสบอล การพนันอื่นๆ อยู่เรื่อยๆ ต้องบอกก่อนนะครับว่าปกติที่ญี่ปุ่นเรื่องเล่นการพนันประเภทนี้ถือว่าผิดกฏหมาย พอมีข่าวว่าพวกซูโม่เล่นการพนันกันในค่ายก็เลยมีข่าวซุบซิบนินทาและซูโม่เลยค่อนข้างถูกมองในแง่ลบมาเรื่อยๆ แต่อีกมุมก็น่าเห็นใจพวกนักซูโม่นะครับเพราะต้องอยู่แต่ในค่ายกับสนามแข่ง ครั้นจะออกมาเดินเที่ยวตามแหล่งวัยรุ่น แหล่งซื้อไฟฟ้า อกิฮาบาร่า แหล่งวัยรุ่น ชินจูกุ ฮาราจูกุ ต่างๆ นานา พี่เค้าก็คงตัวใหญ่เตะตาคนอื่นๆ ไม่ดีๆ พี่ไม่อยากเตะตาคนครับ จึงไม่ค่อยออกมาในที่สาธารณะชนเท่าไรนัก ครั้งหนึ่งมีข่าวว่าตำรวจทลายแหล่งพนันจับนักซูโม่ที่เล่นพนัน พอตำรวจตรวจสอบมือถือก็ยิ่งเจอหลักฐานเรื่องการล้มมวย หรือที่เรียกว่า 八百長 (yaochou) ก่อนที่ผมจะอธิบายเรื่อง yaochou เพิ่มเติม มีแหล่งข่าวบอกว่าเรื่องรับเงินล้มมวยนี่ที่จริงแล้วมีมาตลอด แต่ไม่มีใครเอะใจอย่างจริงจังว่าทำกันจริงหรือไม่ จนกระทั่งหลังจากที่ถูกตำรวจจับได้ในปัจจุบันนี้ทางผู้รับผิดชอบก็เลยแสดงความรับผิดชอบโดยการออกกฏเข้มห้ามทำการล้มมวยอีกต่อไป

ทำไมจึงเกิดการล้มมวยหรือ 八百長 (yaochou) คำนี้มีที่มาจากวงจรซูโม่โดยแท้จริง เมื่อร้อยกว่าปีมาแล้วมาจากคำว่า 八百屋 (Yaoya) ร้านขายผัก + 長兵衛 (Choubei) ชื่อคุณโชว คือคุณโชวเจ้าของร้านขายผักเนี่ยเค้าเป็นเพื่อนกับนักซูโม่ เขามักจะเล่นหมากรุกญี่ปุ่นกับนักซูโม่ และคุณโชวก็จะตั้งใจแพ้ เพื่ออะไรก็เพื่อให้เกิดความสัมพันธ์อันดีต่อกันและขายผักได้เยอะๆ ทำไมปัจจุบันจึงยกคำว่า 八百長 (yaochou) ขึ้นมาใช้ เพราะเป็นลักษณะแกล้งแพ้เช่นเดียวกันนั่นเอง การแข่งขันซูโม่คนหนึ่งจะลงแข่งรวมทั้งหมด ปีละ 90 ครั้ง ใน 6 สนามทั่วญี่ปุ่นวนแข่งไปเรื่อยๆ 1 สนามจะลงแข่ง 15 ครั้ง วันที่ลงแข่งครั้งที่ 15 千秋楽 (Senshūraku) ค่อนข้างสำคัญ ใน 15 ครั้งที่ลงแข่งเนี่ยถ้าชนะถึง 8 ครั้งจะได้ up rank โดยบางคนชนะครั้งที่ 8 ก็ใจเย็นแล้ว พูดง่ายๆ คือ การแข่งครั้งสุดท้ายครั้งที่ 15 ของรอบเนี่ย นักซูโม่ที่ได้คะแนนชนะมาแล้ว 8 แข่งกับอีกคนที่ชนะมาก่อนนี้ 7 คนที่ได้ถึง 8 แล้วจะแพ้หรือชนะก็ไม่มีผลอะไรนัก แต่คนที่ได้ 7 นะสิ ถ้าแพ้ก็ไม่ได้ rank แต่ถ้าชนะได้ถึง 8 ก็จะได้ up rank อาจได้เงินเดือนตามระดับที่แต่งตั้ง ดังนั้นจึงมีการล้มมวยหรือยอมแพ้ให้นั่นเอง ยกตัวอย่าง นักแข่ง A แข่งไป 14 ครั้ง แพ้ 7 ชนะ 7 พอครั้งสุดท้ายจึงขอให้คู่แข่งคือนักแข่ง B ยอมแพ้ให้ เมื่อนักแข่ง A ชนะเป็นครั้งที่ 8 ก็ทำให้ rank up⤴️ ขึ้นมา และจ่ายเงินให้นักแข่ง B ไปตามจำนวนที่ตกลงกัน แต่บางสำนักเรียกว่า ยืมเงินไปหมุนก่อน เพราะเมื่อทั้งสองคนโคจรมาแข่งกันอีกที่รอบแข่งสนามอื่น นักแข่ง A ก็จะยอมแพ้ให้ นักแข่ง B และนักแข่ง B ก็จะคืนเงินให้ แบบนี้ก็มีตามตกลงกัน

แต่มีอีกกรณีถ้าชนะมากกว่า 10 ครั้ง จะได้ระดับสูงขึ้นมาเป็นขั้นเทคนิค 技能賞 (Technical prize) 敢闘賞 (Fighting spirit prize) ซึ่งถ้านักซูโม่ที่ต้องการระดับเทคนิคก็จะไม่รับล้มมวย ต่างๆ นานา เหล่านี้มีนักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกาเป็นคนแรกที่ตั้งข้อสังเกตโดยคาดการณ์จากสถิติที่เห็นจากการแข่งว่ามีเรื่องการล้มมวยในลักษณะ ที่พูดไปข้างบนเกิดขึ้นจริงหรือไม่ แล้วเขาก็ตรวจสอบและหาข้อมูลจนพบว่ามีเรื่องการล้มมวยซูโม่จริงๆ มีหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนี้ออกขายที่ญี่ปุ่นเมื่อปี 2006 เป็นเรื่องที่ทำให้คนญี่ปุ่นหันมามองเรื่องการล้มมวยซูโม่ด้วยครับ

แล้วอย่างที่บอกว่า พอปี ค.ศ 2011 นักซูโม่สำนักหนึ่งถูกจับเรื่องเล่นการพนักเบสบอล และพอตรวจสอบมือถือก็เจอหลักฐานการล้มมวยอีกจึงเป็นประเด็นขึ้นมานั่นเองละครับ ทำให้เกิดการรับผิดชอบจากสำนักและนักซูโม่ที่เกี่ยวข้องลาออก กว่า 20 คน

เคยมีรายการโทรทัศน์ญี่ปุ่นที่มักจะนำเสนอว่าระหว่างซูโม่กับมวยไทยถ้าแข่งกันใครจะชนะ เพื่อนๆ ว่าใครจะชนะหนอ แต่ผมเชียร์มวยไทยนะเนี่ย สรุปกันไม่ลงตัวสักทีแต่มีวิจัยว่ามีนักซูโม่ที่เคยจับคู่ต่อสู้ทุ่มสุดตัว ぶちかまし (Buchikamashi) สามารถวัดแรงกระแทกได้กว่าพันกิโลกรัม เท่าๆ กับรถชนกันเลยนะครับ ลองคิดดูนะครับที่ญี่ปุ่นมีข่าวคนตายจากรถจักรยานชนบ่อยอยู่ นี่ถ้าให้คนธรรมดาที่ไม่ได้ฝึกซ้อมการป้องกันตัว ไม่ได้ฝึกทักษะซูโม่แล้วโดนนักซูโม่กระแทกหรือจับทุ่มสุดตัวจะขนาดไหน ไม่อยากคิดเลย

กลับมาเข้าเรื่องอาชีพที่มีตั้งแต่สมัยก่อนและปัจจุบันยังมีให้เห็นอยู่ต่อจากคราวที่แล้วอีกนิดนะครับ ต่อไปเรื่องเกอิชาครับ

★เกอิชา (芸者: Geisha) เพื่อนๆ เคยไปเที่ยวญี่ปุ่นแล้วเคยเห็นสาวญี่ปุ่นแต่งชุดกิโมโนที่ทำงานให้ความบันเทิงและดูแลลูกค้ามั้ยครับ เกอิชาเป็นอีกอาชีพหนึ่งของสาวญี่ปุ่นในสมัยก่อน ถือว่าเป็นผู้ที่ชำนาญทางศิลปะวัฒนธรรม และให้ความเพลิดเพลินบันเทิงใจ ทำหน้าที่ให้การต้อนรับและปรนนิบัติแขก ปัจจุบันแม้ว่าจะยังมีอาชีพเกอิชา แต่จำนวนค่อย ๆ ลดลงแล้วครับที่เหลือๆ อยู่ก็สาวเหลือน้อยแล้ว เกอิชาแท้ๆ ดั้งเดิมคงมีอายุเกือบๆ 70 ปีแล้วล่ะ สำหรับเกอิชาฝึกหัดจะเรียกว่า ไมโกะ (舞子: Maiko) ต้องแอบไปดูแถวกิอ้น (祇園 :Gion) เกียวโตครับเดินกันเยอะเลยช่วงเย็นๆ สวยครับ

เกอิชานั้นมักจะได้รับการว่าจ้างให้ปรนนิบัติลูกค้าที่มาเป็นหมู่คณะ และมักทำงานร่วมกันในโรงน้ำชา (茶屋 : Chaya) หรือร้านอาหารแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่น ต้องมีการจองคิวกันล่วงหน้าและราคาค่อนข้างแพงมากๆ เชียวครับ

เกอิชานั้นพัฒนาขึ้นมาจาก 太鼓持ち(Taikomochi) หรือ 幇間(Houkan) ซึ่งคล้ายกับพวกตลกหลวงในราชสำนัก เกอิชาในสมัยแรกนั้นเป็นผู้ชาย ส่วนผู้หญิงที่ทำหน้าที่อย่างเดียวกันนั้นจะเรียกกันว่า 女芸者(Onna-Geisha) หรือเกอิชาหญิง แต่ในปัจจุบันเกอิชาจะเป็นหญิงเท่านั้นครับ

สมัยก่อนนั้นเด็กหญิงที่จะทำอาชีพเกอิชาจะได้รับการฝึกอบรมตั้งแต่เด็ก อายุสิบต้นๆ ก็ถูกสำนักเกอิชาซื้อตัวมาจากครอบครัวที่ยากจน แล้วให้การฝึกฝนเลี้ยงดูโดยตลอด แต่ปัจจุบันรัฐบาลบังคับให้ทุกคนต้องเรียนจบขั้นต่ำที่ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น หรือประมาณ 15 ปี ดังนั้นถ้าจะฝึกเกอิชาได้ต้องมีอายุเกิน 15 ปีไปแล้ว การฝึกการเป็นเกอิชาตั้งแต่เด็กๆ นั้น จะเริ่มฝึกด้วยการทำงานเป็นหญิงรับใช้ และผู้ช่วยเกอิชารุ่นพี่ในสำนัก เรียนงานและทำตามที่รุ่นพี่ครูฝึกสอนทุกอย่าง รวมถึงการช่วยเหลือเรื่องการจัดการทำความสะอาดบ้านพักเมื่อชำนาญขึ้นตามช่วงวัยแล้วก็จะได้เลื่อนเป็นไมโกะ เมื่อหญิงสาวได้ผ่านเข้ามารับการฝึกฝนเป็นไมโกะ (หรือเกอิชาฝึกหัด) ก็จะเริ่มติดตามเกอิชารุ่นพี่ไปยังโรงน้ำชา งานเลี้ยง และการสังสรรค์ต่าง ๆ ที่เป็นสภาพแวดล้อมการทำงานจริงของเกอิชา ทำให้ได้ประสบการณ์ทำงานจริงและมีความชำนาญขึ้นเรื่อย ๆ

พออายุถึง 20 ปี เป็นวัยที่จะได้รับการตัดสินว่าจะผ่านได้เป็นเกอิชาหรือไม่ ถ้าได้เป็นเกอิชาแล้วก็มักจะทำงานเป็นเกอิชาตลอดไป ถ้าไม่ได้เป็นก็อาจจะลาออกไป แต่วันนั้นก็อาจจะได้แต่งงานกับลูกค้าหรือคอนเนคชั่นที่เคยรู้จัก หรือไม่อย่างน้อยก็ใช้ทักษะที่เคยร่ำเรียนมาทำมาหากินอื่นๆ ต่อไป เช่น เปิดร้านขายขนม หรือครูสอนชงชา จัดดอกไม้ เล่นดนตรี เป็นต้น เกอิชาแต่งตัวสวยงามรัดกุมตามสไตล์กิโมโนหลายชั้นมาก ยิ่งช่วงฤดูหนาวชุดที่ใส่พันแล้วพันอีกปราณีตสวยงามมากครับ

♢ระดับความยากที่จะทำงานนี้สำหรับคนญี่ปุ่น : 🎎🎎🎎🎎🎎++
ให้ 5++ เป็นเกอิชายากครับ ในเบื้องต้นนั้นเด็กสาวต้องถูกฝึกตั้งแต่เด็กวัยรุ่นต้นๆ จะได้เรียนศิลปะหลายแขนง ได้แก่ การเล่นดนตรี (โดยเฉพาะ 三味線 (Shamisen) รูปร่างคล้ายกีตาร์) การขับร้อง การเต้นรำ การชงชา การจัดดอกไม้ (生け花 :Ikebana) รวมถึงเรื่องบทกวีและวรรณคดี การได้คอยเป็นผู้ช่วยและได้เห็นเกอิชารุ่นพี่ทำงาน พวกเขาก็จะมีความชำนาญมากขึ้นและเรียนรู้ศิลปะที่ซับซ้อนขึ้น เช่น วัฒนธรรมญี่ปุ่น การแต่งชุดกิโมโน การรวบเกล้าผม การแต่งหน้า รวมถึงการพนันหลายแบบ หรือเรียกอีกแบบหนึ่งว่าเกมส์เพื่อการเอนเตอร์เทรนลูกค้า เช่น การใช้พัดเล่นมายากลทายแต้ม ต้องรู้จักการสนทนา และการโต้ตอบกับลูกค้า เพื่อสร้างความประทับใจ หนทางการฝึกฝนค่อนข้างยากและกว่าจะผ่านบททดสอบก็ยากเช่นกัน

♢ระดับความยากที่จะทำงานนี้สำหรับคนไทย : 諦めて下さい。 m(_ _)m ไม่ต้องคิดครับน่าจะไม่รับคนต่างชาติเลย เพราะต้องมีความเป็นญี่ปุ่นที่ถูกฝึกและเรียนเกี่ยวกับขนบธรรมเนียม วัฒนธรรมทุกอย่าง และเข้าใจคนญี่ปุ่น เอาอกเอาใจได้ แถมมักจะต้องฝึกตั้งแต่เด็กๆ ด้วยอย่างที่บอกไปนั่นเอง

♢ความอันตรายของงาน : 🔞🔞🔞 ให้ 3 คะแนนครับ เพราะคนญี่ปุ่นเองก็ยังมีเข้าใจเกอิชาผิดบ้าง อาจมีการล่วงเกินขึ้นได้

♢กรณีไปได้ถึงดวงดาว(ประสบผลสำเร็จในสายงานนี้) : 💎💎💎💎 ให้ 4 คะแนน เมื่อหญิงที่ทำงานเป็นเกอิชาแต่งงานก็จะเลิกจากอาชีพนี้ หากไม่แต่งงาน เมื่ออายุมากขึ้นก็จะเลิกอาชีพนี้เช่นกัน แต่อาจทำงานเป็นเจ้าของร้านอาหาร ครูสอนดนตรี เต้นรำ หรือครูสอนเกอิชาต่อไปก็ได้ ก็จะมีทักษะหลายอย่างติดตัวไปครับ

♢กรณีไปไม่ถึงดวงดาว(ไม่ประสบผลสำเร็จในสายงานนี้) : ก็มีหลายคนที่อดทนการฝึกซ้อมไม่ได้ ลาออกไปกลางคันก็เยอะ แบบนี้ถือว่าไม่ประสบความสำเร็จในอาชีพได้ไหม เกิดจากบุคคล แล้วแต่คนและหนทางที่เลือกเดินนั่นเอง

ปัจจุบันเกอิชาแท้ๆ มีจำนวนไม่มากแล้วครับ แม้แต่ที่เกียวโตที่เป็นแหล่งเกอิชา คงมีไม่ถึงหนึ่งร้อยคน ไมโกะก็น้อยลงมาก ถึงแม้ว่าจะมีภาพยนต์ที่ทำให้คนดูอยากเป็นเกอิชากันมากขึ้นแต่หลายคนอีกเช่นกันที่มาฝึกซ้อมและเรียนทักษะต่างๆ แต่ก็ไปต่อไม่ไหวล้มเลิกกลางทางก็เยอะ เลยไม่ผ่านการเป็นเกอิชาสักที เหมือนกับการฝึกซ้อมซูโม่เช่นกันล้มเลิกกลางทางก็มากไป เพื่อนๆ ยังรู้สึกอยากเป็นเกอิชาหรือซูโม่ไหมครับ หรือแค่ชื่นชมก็พอแล้ว วันนี้สวัสดีครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น