xs
xsm
sm
md
lg

Q4 จีดีพีญี่ปุ่นหด 1.1% ลุ้นเลื่อนขึ้น VAT

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพเอพี
เอพี – จีดีพีญี่ปุ่นหดตัวลงร้อยละ 1.1 ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2558 เมื่อเทียบแบบปีต่อไป บ่งบอกให้เห็นถึงความล้มเหลวของความพยายามฉุดระบบเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสามของโลกให้ฟื้นตัวขึ้น แม้ทางธนาคารกลางญี่ปุ่นจะมีพยายามอย่างยิ่งยวดก็ตาม

จากตัวเลขที่เปิดเผยออกมาในวันนี้ (8 มี.ค.) ปรากฎว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นระหว่างเดือนตุลาคม ถึงธันวาคม 2558 หดตัวลงร้อยละ 1.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (กรกฎาคม ถึง กันยายน 2558) ที่ขยายตัวร้อยละ 1.4 โดยดีกว่าตัวเลขที่คาดการณ์ว่าจะหดตัวร้อยละ 1.4 เล็กน้อย

ตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจล่าสุดเป็นสัญญาณให้เห็นว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นอ่อนแรงในช่วงต้นปี 2559 และเพิ่มความเป็นไปได้ที่รัฐบาลแดนอาทิตย์อุทัยจะต้องออกแรงกระตุ้นเศรษฐกิจให้มากขึ้น โดยอาจรวมถึงนโยบายการเงินจากธนาคารกลางญี่ปุ่นที่จะต้องกระตุ้นให้เกิดการกู้ยืมเงินมากขึ้น การจับจ่ายภาครัฐที่จะต้องเพิ่มขึ้น และการเลื่อนการขึ้นภาษีขายออกไปอีกครั้ง จากที่เดิมวางแผนไว้ว่าจะปรับขึ้นในเดือนเมษายน 2560

มาร์กแซล ธีเลียน จากแคปิตอล อีโคโนมิกส์ กล่าวว่า “บริษัทเอกชนยังไม่เห็นการกระเตื้องขึ้นของการผลิตในเดือนถัดไป นับตั้งแต่เศรษฐกิจถดถอยในปี 2551 นอกจากนี้การใช้จ่ายของผู้บริโภคก็ลดต่ำลงอีกในเดือนมกราคม ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการใช้จ่ายหลักในภาคครัวเรือนและการขายปลีกขยับลง”
ภาพเอพี
เมื่อมองเป็นไตรมาสต่อไตรมาส ในไตรมาส 4 ของปี 2558 เศรษฐกิจญี่ปุ่นหดตัวลงร้อยละ 0.3 น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ว่าจะหดตัวร้อยละ 0.4 ทั้งนี้การลงทุนในภาคธุรกิจที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 ได้ช่วยชดเชยการหดตัวลงของการใช้จ่ายในภาคครัวเรือน ส่วนการลงทุนภาคสาธารณะนั้นตกลงร้อยละ 3.4

ในปี 2558 เศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโตร้อยละ 0.5 ส่วนปี 2557 นั้นทรงตัว โดยนักเศรษฐศาสตร์มีความเห็นค่อนข้างแตกต่างกันว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่นซึ่งมีประชุมเชิงนโยบายในช่วงสัปดาห์หน้าจะพิมพ์เงินเยนออกสู่ระบบเศรษฐกิจเพื่อทานกระแสการชะลอตัวของเศรษฐกิจหรือไม่

ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ธนาคารกลางญี่ปุ่นเริ่มคิดค่าธรรมเนียมกับบัญชีเงินฝากในธนาคารพาณิชย์ ด้วยการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยเงินฝากติดลบ ซึ่งทำให้อัตราผลตอบแทนในตราสารหนี้ และดอกเบี้ยจำนองนั้นปรับตัวลดลงอีก

นโยบายอัตราดอกเบี้ยเงินฝากติดลบดังกล่าวสร้างความไม่พอใจให้กับชาวญี่ปุ่น และการบังคับใช้ระบบทะเบียนราษฎร์ใหม่ที่เรียกว่า มาย นัมเบอร์ ทำให้ชาวญี่ปุ่นปรับการลงทุนไปยังต่างประเทศ หรือถือเงินสดไว้กับบ้าน ส่งผลให้ยอดขายตู้นิรภัยนั้นทะยานขึ้น จนผู้ผลิตตู้นิรภัยนั้นแทบทำขายไม่ทัน

อย่างไรก็ตาม วานนี้ (7 มี.ค.) ฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นก็ออกมาปกป้องยุทธศาสตร์ของธนาคารกลางญี่ปุ่นว่า บริษัทเอกชนและผู้บริโภคจะค่อยๆ จับจ่ายมากขึ้น ซึ่งจะทำให้อัตราเงินเฟ้อของเศรษฐกิจญี่ปุ่นถึงเป้าร้อยละ 2 และคลายภาวะเศรษฐกิจถดถอยไปเอง

“เศรษฐกิจญี่ปุ่นกระเตื้องขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญเมื่อเทียบกับสามปีก่อน” คุโรดะระบุ โดยอัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ และกำไรของบริษัทเอกชนนั้นก็ทะลุเป้า เนื่องมาจากการใช้นโยบายเยนอ่อน ซึ่งเกิดจากมาตรการผ่อนคลายทางการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น

ทั้งนี้ทั้งนั้น ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติญี่ปุ่นได้เตือนว่าการเติบโตในการลงทุนของบริษัทเอกชน และค่าจ้างนั้นยังดูไม่ค่อยสดใส เนื่องจากผลกำไรที่น้อยลงของธนาคาร และความกังวลจากผลกระทบของการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยเงินฝากติดลบ แต่คุโรดะก็ยืนยันว่าหากพ้นสภาวะของเศรษฐกิจถดถอยในระยะยาวอัตราดอกเบี้ยจะปรับสูงขึ้นเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น