รอยเตอร์ - นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ แห่งญี่ปุ่น ได้รับการโหวตเป็นหัวหน้าพรรคเสรีประชาธิปไตย (แอลดีพี) ต่อเนื่องเป็นสมัยที่ 2 ในวันนี้ (8 ก.ย.) ซึ่งทำให้เขายังคงรั้งตำแหน่งผู้นำรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นต่อไป โดยอาเบะให้สัญญาว่าจะเน้นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแดนปลาดิบที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก และเปิดให้มีการอภิปรายอย่างถึงแก่นเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญใฝ่สันติ
อาเบะซึ่งเข้ารับตำแหน่งนายกฯ ในปี 2012 ด้วยคำมั่นสัญญาว่าจะพลิกฟื้นเศรษฐกิจและยกระดับการป้องกันประเทศ ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคแอลดีพีต่อไปอีก 3 ปี หลังคู่แข่งเพียงคนเดียวอย่างนาง เซอิโกะ โนดะ อดีตผู้บริหารพรรคแอลดีพี ไม่สามารถระดมเสียงสนับสนุนจากคนในพรรคได้มากพอ
“ผมจะสร้างวงจรเศรษฐกิจที่ดี และทำให้ประชาชนทุกพื้นที่ ทุกภูมิภาคของประเทศ รู้สึกได้ว่าเศรษฐกิจของเรากระเตื้องขึ้น ปราศจากภาวะเงินฝืด และเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งในอนาคต” อาเบะ กล่าวต่อกลุ่มผู้สนับสนุนก่อนจะลงทะเบียนโหวต
อาเบะยังรับปากจะแก้ไขปัญหาอัตราการเกิดที่ต่ำและสวนทางกับจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในญี่ปุ่น และจะเปิดโอกาสให้สาธารณชนได้ร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญใฝ่สันติที่ใช้มาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2
ผลสำรวจพบว่า ชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่ยังรู้สึกกังวลหากจะมีการแก้ไขมาตรา 9 ที่ว่าด้วยบทบาทของกองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่น
ทีมนโยบายของอาเบะให้คำมั่นว่า รัฐบาลจะกลับไปมุ่งเน้นที่การกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น หลังจากที่ใช้ต้นทุนทางการเมืองตลอดช่วง 1 ปีที่ผ่านมาผลักดันร่างกฎหมายที่จะเปิดทางให้กองกำลังญี่ปุ่นสามารถออกไปรบต่างแดนเพื่อช่วยเหลือชาติพันธมิตรได้เป็นครั้งแรก ท่ามกลางกระแสต่อต้านอย่างหนักจากชาวญี่ปุ่นเอง
หลังจากสิ้นสมัยของอดีตนายกรัฐมนตรีจุนอิจิโร โคอิซุมิ (2001-2006) ญี่ปุ่นก็เปลี่ยนตัวผู้นำประเทศเป็นว่าเล่นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยเริ่มจาก อาเบะ เองที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ สมัยแรกได้แค่ช่วงปี 2006-2007
สำหรับการเลือกตั้งทั่วไปในญี่ปุ่นมีกำหนดจัดขึ้นอีกครั้งในปี 2018
ค่าเงินเยนอ่อนยวบลงมากว่า 30% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ราคาหุ้นและผลกำไรองค์การก็ขยับขึ้นกว่าเท่าตัว นับตั้งแต่ อาเบะ เข้ามากุมบังเหียนหัวหน้าพรรคแอลดีพีในเดือนกันยายน ปี 2012 และนำพรรคของเขาให้ได้รับชัยชนะในศึกเลือกตั้งปีเดียวกัน ด้วยยุทธศาสตร์กระตุ้นเศรษฐกิจ “อาเบะโนมิกส์” ที่สร้างความฮือฮาอย่างมากในขณะนั้น
อย่างไรก็ดี การลงทุนภาคเอกชนในญี่ปุ่นเวลากลับมาซบเซาอีก ขณะที่นโยบายขึ้นค่าแรงก็ยังไม่สอดรับกับราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น จนส่งผลให้อัตราการบริโภคลดลง
จีดีพีญี่ปุ่นช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้หดตัว 1.2% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว เนื่องจากภาคการส่งออกทรุดและประชาชนลดการจับจ่ายใช้สอย
นักเศรษฐศาสตร์ชี้ว่า อาเบะควรจะลงมือปฏิรูปเชิงโครงสร้างอย่างจริงจัง เช่น เปิดตลาดแรงงานเพื่อกระตุ้นความสามารถในการผลิต (productivity) แต่ขณะเดียวกันก็เชื่อว่ารัฐบาลคงจะยังพึ่งพานโยบายที่รับได้ในทางการเมือง เช่น การเบิกจ่ายงบเสริมสำหรับปีงบประมาณปัจจุบัน และนโยบายผ่อนคลายทางการเงิน